ก.เกษตรและสหกรณ์ เผยการให้เงินจูงใจเกษตรกรให้เลิกปลูกข้าวเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น พบพอเกษตรกรรับเงินเพื่อไปปลูก ข้าวโพด ปอเทือง จากรัฐบาลแล้วก็กลับไปปลูกข้าวแบบเดิม ชี้คือปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปแล้วรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ที่มาภาพประกอบ: Tedd (CC0)
เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กำกับดูแลแผนการบริหารจัดการข้าวครบวงจรว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนข้าวครบวงจรอยู่ระหว่างการทบทวนแผนข้าวครบวงปี 2560/61 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณา หลังจากตามแผนข้าวครบวงจรปี 2559/60 มีปัญหาหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด อาทิ การให้เงินจูงใจเกษตรกรให้เลิกปลูกข้าว เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น พอเกษตรกรรับเงินเพื่อไปปลูก ข้าวโพด ปอเทือง จากรัฐบาลแล้วก็กลับไปปลูกข้าวแบบเดิม ซึ่งนี่คือปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปแล้ว รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้
ดังนั้นปีการผลิต 2560/61 การจะควบคุมผลผลิตให้ได้เหมาะสมไม่เกินความต้องการตลาด ที่อาจกระทบต่อราคาที่ชาวนาจะขายได้ จึงจำเป็นต้องทบทวนแผนการเพาะปลูกใหม่ รวมทั้งการจูงใจ โดยการให้เงินทั้งสำหรับการเปลี่ยนอาชีพจากชาวนาไปปลูกพืชอื่น ต้องทำให้ชาวนารู้ว่าปลูกพืชอื่นมีรายได้ดีกว่าปลุกข้าวให้ได้ แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูกข้าว ไทยเพิ่งเริ่มเพียง 1 ปี ขณะที่หลายๆประเทศต้องใช้เวลานานเป็น 100 ปีกว่าจะสำเร็จ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น
“สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในคนทำแผน มาอยู่ในส่วนผลิต พาณิชย์ต้องบอกผลผลิต ว่าต้องการเท่าไหร่ ผู้ซื้อนำตลาด ผลิตไม่ตรงกับความต้องการ ก็ต้องลดปริมาณการผลิต ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตรงความต้องการ แต่กฎหมายเมืองไทย บังคับใครไม่ได้ และ ชาวนาไม่เชื่อใครง่ายๆ เค้าเคยทำอย่างไรเค้าก็ยังคงทำต่อไปเพราะทำได้ แผนการผลิตข้าวครบวงจรถ้าจะสำเร็จ ชาวนาต้องเข้าใจ นบข.ต้องทบทวนทั้งหมดหาก เงินที่จ่ายไปเพื่อจูงใจชาวนาหรือเกษตรกรต้องตรงกับกับสถานการณ์และความต้องการ ไทยเพิ่งเริ่มปีที่ 1 เรื่องนี้ กระทรวงเกษตร ต้องคุยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังเป็นหัวใจ ต้องตั้งโต๊ะคุยกันให้ชัดๆแผนข้าวครบวงจรจึงจะเดินหน้าได้” น.ส.ชุติมา กล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่าทั้งนี้ผลผลิตข้าวในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะดูจากปริมาณความต้องการของกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก แต่ยอมรับว่าปีนี้น้ำมีปริมาณมากเหมาะสมกับการเพาะปลูก ปีนี้น้ำดีอาจมีการปลูกข้าวเยอะขึ้นมากกว่าแผนที่กำหนด อย่างกรณีปีการผลิตก่อน มีการกำหนดให้ผลผลิตไม่เกิน 27 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งผลผลิตออกมาจริงประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนที่เกินมาจะอยู่ในภาคกลาง ประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือกจึงกระทบต่อราคาข้าวของชาวนาที่ขายได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ