ชงเลิก 'กฎหมายขายฝาก' ชี้ทำชาวบ้านเสียที่ดินให้นายทุน

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6785 ครั้ง

ชงเลิก 'กฎหมายขายฝาก' ชี้ทำชาวบ้านเสียที่ดินให้นายทุน

กระทรวงยุติธรรมชงเลิก 'กฎหมายขายฝาก' ชี้ทำชาวบ้านสูญเสียทรัพย์สินและที่ดินให้กับนายทุนจำนวนมาก ต่างจากการจำนองที่จะต้องเข้ากระบวนการบังคับคดี พบภาคอีสาน-เหนือ หนี้นอกระบบท่วม

มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 ว่าที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(ทีไอเจ) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนักศึกษาหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา ร่วมจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "หนี้นอกระบบ บริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างไร" โดยมี น.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท กรรมการสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค คณะทำงานขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย น.ส.บุบผา รุ่งสว่าง และ นางเยาวรัตน์ เหลาดวงดี สองตัวแทนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 100 คน

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กระทรวงยุติธรรมมีประชาชนเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากปัญหาหนี้นอกระบบมาโดยตลอด แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ยุติธรรมจังหวัด และยุติธรรมชุมชนให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเมื่อถูกบังคับคดี แต่ปัญหาไม่ได้ลดลง เนื่องจากนายทุนที่เป็นเจ้าหนี้ มีความรู้ด้านกฎหมายมักจะใช้ช่องทางเอาเปรียบชาวบ้าน ทำให้ที่ดินทำกินหรือบ้านพักอาศัยตกเป็นของเจ้าหนี้ด้วยการให้กู้ด้วยวิธีขายฝาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันว่าอยากให้มีการเสนอยกเลิกกฎหมายขายฝาก หลังจากก่อนหน้านี้สามารถแก้ไขกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจนสำเร็จมาแล้ว

"การทำสัญญาขายฝากทำให้สูญเสียทรัพย์สินและที่ดินให้กับนายทุนจำนวนมาก ต่างจากการจำนองที่จะต้องเข้ากระบวนการบังคับคดี โดยพบว่าพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือพบปัญหาประชาชนเป็นหนี้นอกระบบและต้องเสียทรัพย์จากการขายฝากมากที่สุด เนื่องจากการขายฝากเป็นการทำสัญญาในระยะสั้น 3-6 เดือน ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ทัน รวมถึงบางรายเมื่อครบกำหนดสัญญาเจ้าหนี้ไม่ยอมโอนทรัพย์คืนให้ลูกหนี้ ทรัพย์ดังกล่าวต้องตกเป็นของเจ้าหนี้ เบื้องต้นพบว่าเจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย มีความรู้เรื่องกฎหมายเป็นอย่างดี" พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าว

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ามีหลายกรณีที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือได้ เนื่องจากมีจำนวนหนี้มาก รวมถึงบางรายมีรายได้ไม่สัมพันธ์กับจำนวนหนี้ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) มีวงเงินช่วยเหลือจำกัด ทำให้ไม่สามารถอนุมัติเงินสินเชื่อได้ และขณะนี้มีลูกหนี้ 200-300 ราย เข้าขอความช่วยเหลือจากศูนย์ลูกหนี้ฯ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะพยายามทำให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้เป็นศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร พร้อมให้ความรู้ คำปรึกษาด้านข้อกฎหมายพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งเรื่องการทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาขายฝาก สัญญาจำนองและสัญญาเช่าซื้อ แต่ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน คือ ประชาชนจะต้องมีวินัยในการใช้จ่ายและอดออมด้วย

ด้าน นางรัชฎาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ภาคอีสานส่งผลกระทบหนักกว่าปัญหาหนี้ในระบบมาก ทุกชุมชนจะมีนายหน้าของเจ้าหนี้เพื่อคอยเรียกเก็บดอกเบี้ยและบังคับใช้ลูกหนี้หาเงินมาใช้ตามกำหนด หากลูกหนี้รายใดไม่สามารถหาเงินมาคืนได้จะถูกข่มขู่ คุกคาม หลายรายไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านได้ต้องอพยพออกจากชุมชน หรือในกรณีที่มีการทำสัญญาจำนอง หรือขายฝาก เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลจะถูกฟ้องขับไล่ ต้องยอมรับว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย และหากมีการทำสัญญาเงินกู้หรือสัญญาขายฝาก ลูกหนี้จะมีหน้าที่เซ็นชื่อกำกับไว้ในสัญญาทั้งสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนโดยไม่ได้อ่านรายละเอียด จากนั้นเอกสารต่างๆจะถูกเก็บไว้ที่เจ้าหนี้

"จากประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านพบว่า การเซ็นสัญญาหรือเอกสารกู้ยืมเงินของเกษตรกร จะไม่มีการกรอกตัวเลขกู้ยืมบางรายกู้เงิน 400,000 บาท แต่เมื่อต่อสู้ในชั้นศาลกลับพบว่าฝ่ายเจ้าหนี้ที่ถือเอกสารจะกรอกตัวเลขเมื่อคดีใกล้จะฟ้องร้องอยู่ที่1.6ล้านบาท ทุกอย่างจะถูกดำเนินการโดยนายหน้าทั้งหมด ในส่วนชาวบ้านแม้จะเป็นหนี้แต่ไม่มีใครที่อยากจะเสียที่ดินทำกิน พร้อมยอมผ่อนชำระให้เจ้าหนี้ แต่ปัญหาคือเจ้าหนี้ไม่ยอมประนีประนอมและพร้อมจะยึดที่ดินเพื่อนำไปขายต่อ จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเร่งให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะการให้ความรู้ด้านข้อกฎหมาย" นางรัชฎาภรณ์ กล่าว

ด้าน นางเยาวลักษณ์ เหลาดวงดี ตัวแทนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ขณะนี้ถูกนายทุนยึดบ้านและที่ดินทำกิน จนต้องอพยพครอบครัวทั้ง 12 ชีวิตออกมาเช่าบ้านอยู่ โดยบ้านเดิมถูกปรับปรุงใหม่และติดประกาศขายแล้ว ก่อนจะถูกยึดบ้านและที่ดินได้เดินทางไปศาลจังหวัดขอนแก่นทุกนัด หวังว่าเจ้าหนี้จะประนีประนอมให้ชำระหนี้ที่กู้ยืม แต่เจ้าหนี้ได้ส่งทนายมาและให้เซ็นเอกสารเพื่อปัญหาจะได้ยุติ หลังจากนั้นจึงทราบว่าถูกฟ้องร้องบังคับคดีไปแล้ว และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล มีคำพิพากษาให้ตนและครอบครัวย้ายออกจากบ้าน ไม่เช่นนั้นจะถูกจับดำเนินคดี

"ในพื้นที่ภาคอีสานชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินให้นายทุนเยอะมาก นายทุนไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่มาจากจังหวัดใหญ่ๆเช่น ขอนแก่น นครราชสีมา เข้ามาปล่อยเงินกู้ โดยจะมีนายหน้าพาเข้ามาหาชาวบ้านถึงในชุมชนที่บ้านกู้มาลงทุนทำนา ใช้จ่ายอื่นๆ 4 แสนบาท เขาให้เซ็นสัญญาเสร็จ นายทุนก็รีบกลับไปเลย บอกจะรีบไปปล่อยกู้ที่อื่นต่อ โดยไม่ได้ทิ้งสัญญาหรือให้เอกสารการกู้ยืมไว้ให้ต่อมาภายหลังจึงทราบว่าถูกฟ้องบังคับคดีจนถูกไล่ออกมา รู้สึกช้ำใจมากที่รักษาที่ทำกินและที่บ้านไว้ไม่ได้" นางเยาวลักษณ์ กล่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: