ข้อมูลชี้ 'วิกฤตการเงินโรงพยาบาล' ปีงบฯ 2560 ลดลง 32 แห่ง จากปีงบฯ 2559

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 6024 ครั้ง

ข้อมูลชี้ 'วิกฤตการเงินโรงพยาบาล' ปีงบฯ 2560 ลดลง 32 แห่ง จากปีงบฯ 2559

กระทรวงสาธารณะสุขเปิดเผยข้อมูลโรงพยาบาลรัฐประสบปัญหาวิกฤตการเงินระดับ 7 ที่เป็นระดับสูงสุดในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวน 119 แห่ง แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2560 คงเหลือเพียง 87 แห่ง ลดลง 32 แห่ง ที่มาภาพประกอบ: hfocus.org

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่าหลังจากที่ 2559 ที่ผ่านมามีข่าวฮือฮาว่าโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลายแห่งขาดสภาพคล่อง จนกระทรวงต้นสังกัดต้องของบประมาณอุดหนุนโรงพยาบาลละ 5 พันล้านบาท นั้น ล่าสุด นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมา เปิดเผยถึงเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าโรงพยาบาลสังกัดของกระทรวง มีอยู่ประมาณ 10,000 แห่ง เป็น โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลเฉพาะทาง (รพท.) 100 กว่าแห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 800 กว่าแห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,000 กว่าแห่ง ดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งประเทศประมาณ 70% ของทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมจะมีบ้างที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

โดยในส่วนที่ประสบปัญหาวิกฤตการเงินระดับ 7 ที่เป็นระดับสูงสุดในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวน 119 แห่ง แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2560 คงเหลือเพียง 87 แห่ง ลดลง 32 แห่ง ถือว่าการบริหารจัดการเป็นที่น่าพอใจ เป็นผลจาก การที่รัฐบาลได้จัดสรรงบกลางให้เฉพาะ 5,000 ล้านบาท รวมถึง สปสช.มีการปรับเปลี่ยนการสรรงบ เหมาจ่ายรายหัว และการให้ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแก่ผู้บริหารโรงพยาบาล

"ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพ ประชาชน ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีงบประมาณ เพียงพอ แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้มากอย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่น ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลได้จัดสรรงบให้ลงมาอย่างจำกัด ในปี ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น แม้งบประมาณทั้งประเทศจะลดลง"

อย่างไรก็ตาม จากสัดส่วนประชากรของประเทศที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นถึง 1 ใน 4 ย่อมมีจำนวนผู้เจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา และจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลรักษา ในขณะที่ เทคโนโลยีในการรักษาสูงขึ้น แต่ราคาก็แพงขึ้นด้วย ซึ่งโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดมาแล้วหลายปี และ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณ เพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมากระทรวง สาธารณสุขได้มีการประเมินอย่างใกล้ชิด และร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้สถานการณ์ค่อย ๆ ลดลง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า แนวทางในการ แก้ปัญหาวิกฤตทางการเงินของโรงพยาบาลในห้วง ที่ผ่านมาได้มีการปรับระบบการจัดสรรงบเหมาจ่าย รายหัวของบัตรทองให้เกิดความสมดุล ตามแต่ละ พื้นที่ของโรงพยาบาล โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลที่รับผิดชอบประชากรน้อย เงินเหมาจ่ายที่ได้รับก็น้อยตั้งแต่ เริ่มต้น ส่วนโรงพยาบาลที่มีประชากรหนาแน่น เงินก็ได้รับเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้น จึงมีการปรับให้มีการจัดสรรตามต้นทุนจริง รวมถึงการปรับบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลโดยผู้บริหารและทีมงาน ด้วยการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

อย่างเช่นเปิดให้มีการรับบริจาคเข้า โรงพยาบาล และการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลา ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความแออัด และมีความพร้อมเพื่อให้ประชาชนสามารถ มาใช้บริการนอกเวลา แต่เสียค่าใช้จ่ายส่วนที่ เพิ่มขึ้น ทำให้ความแออัดของคนไข้ช่วงกลางวันลดลง ประชาชนสามารถได้รับบริการนอกเวลา ขณะที่แพทย์ก็ไม่ต้องออกไปทำงานในคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาล เองก็สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิด ประโยชน์ โดยเฉพาะเครื่องมือที่จะต้องมีค่าเสื่อม ตามระยะเวลา ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องไปแล้ว 9 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต 2.โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต 3.โรงพยาบาลชลบุรี 4.โรงพยาบาลระยอง 5.โรงพยาบาลหนองคาย 6.โรงพยาบาลขอนแก่น 7.โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา 8.โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และ9.โรงพยาบาลศรีสะเกษ ซึ่งทั้งหมด กำลังอยู่ในระหว่างการติดตามประเมินผล

ส่วนประเด็นที่เป็นข้อสงสัยว่าโรงพยาบาลจะมีการแยกส่วนระหว่างเงินได้จากงบประมาณของรัฐและเงินบริจาคอย่างไร นพ.ปิยะสกล กล่าวว่าที่ผ่านมางบประมาณของรัฐไม่เพียงพอ อยู่แล้วในการบริหารจัดการดูแลสุขภาพประชาชน ทุกคน ซึ่งการบริจาคให้กับโรงพยาบาล เป็นเรื่องที่ มีการดำเนินการกันมานานแล้ว

เพราะฉะนั้นมีความชัดเจนในส่วนของ การบริหารจัดการ แยกส่วนระหว่างเงินงบ จากรัฐ ซึ่งไม่ค่อยเพียงพอ ขณะที่ โรงพยาบาล จะมีเงินที่เรียกว่าเงินบำรุง ซึ่งเป็นรายได้ของโรงพยาบาลเอง เงินบริจาคก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของเงินในส่วนนี้ที่ โรงพยาบาลจะสามารถนำมาบริหารจัดการของตนเองได้

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข มีการ หารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุน เงินบริจาค ซึ่งจะมีคณะกรรมการดูแลรับผิดชอบ มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นประธาน และมี ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมดูแล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งเงินบริจาคหากเป็นเงินที่ผู้บริจาคแจ้งวัตถุประสงค์ชัดเจนก็จะดำเนินการตามนั้น เช่น บริจาคเพื่อผู้ป่วยยากไร้ หรือบริจาคเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่ง หากไม่ได้ระบุโรงพยาบาลก็สามารถนำมาบริหาร ภายในได้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบได้อย่างชัดเจนว่าผลที่เกิดขึ้นจากการบริจาคเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนที่กังวลกันว่าการขาดสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต นพ.ปิยะสกล กล่าวว่าระบบบัตรทองมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตลอด เพราะประชากรเพิ่มขึ้นแม้สัดส่วนไม่มาก แต่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และเทคโนโลยี ในการรักษาสูงขึ้นและมีราคาแพง เพราะฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่ไม่ดีก็เพิ่มขึ้น ต้องยอมรับว่างบด้านสุขภาพไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น นโยบายของรัฐพยายามมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพให้เจ็บป่วย น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้งบด้านนี้จะเพิ่มขึ้นน้อย ก็จะต้องบริหารให้เพียงพอ และอย่าปล่อยให้ ภาครัฐทำเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะโรงพยาบาลเป็นของชุมชนท้องถิ่น ของคนไทย ไม่ใช่ของรัฐบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: