เนื้อวัวเถื่อนจากอินเดียแม้จะมีราคาถูก แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย ปัจจุบันพบการลักลอบนำเข้าเนื้อวัวเถื่อนจากอินเดีย ผ่านมายังประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนนำมาจำหน่ายในไทย (ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
ปัจจุบันไทยยังมีปัญหาการนำเข้าเนื้อวัวเถื่อนจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นทางมาจากประเทศอินเดีย ลักลอบผ่านทางชายแดนโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เนื้อวัวเถื่อนเหล่านี้ไม่มีเอกสารรับรองด้านสุขศาสตร์ซากสัตว์ อาจเป็นพาหะของโรคระบาดสัตว์ได้ หากมีการกระจายออกไปจำหน่ายในท้องตลาด โดยเฉพาะการลักลอบนำเนื้อวัวเถื่อนจากอินเดียผ่านทางชายแดนไทย-มาเลเซีย เนื้อวัวเถื่อนเหล่านี้แม้จะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กระนั้นพบว่ายังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเนื้อวัวในประเทศ
เนื้อวัวเถื่อนทะลักไทยหลายหมื่นตัน ตั้งแต่ 2544
สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดเนื้อวัวไทย ได้เคยออกมาร้องเรียนตั้งแต่ปี 2550 ให้มีการปราบปรามการลักลอบจำหน่ายเนื้อวัวเถื่อนอย่างจริงจัง โดยเรียกร้องให้มีการตั้งค่าหัวและให้รางวัลผู้ให้เบาะแสการจับกุมการค้าเนื้อวัวเถื่อน เนื่องจากเนื้อวัวเถื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกร เนื้อวัวเถื่อนที่มีการลักลอบจำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเนื้อวัวเถื่อนจากประเทศอินเดีย
นอกจากการบริโภคแล้ว ยังนิยมนำเนื้อวัวเถื่อนไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นหรือผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ โดยในช่วงปี 2550 เนื้อวัวเถื่อนหน้าเขียงตลาดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยต้นทุนการนำเข้าเนื้อวัวเถื่อนในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนเนื้อวัวไทยหน้าเขียงตลาดอยู่ที่เกือบกิโลกรัมละ 100 บาท (ราคาวัวเนื้อมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 40-45 บาท) และในปี 2551 เนื้อวัวเถื่อนหน้าเขียงตลาดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-100 บาท ส่วนเนื้อวัวไทยหน้าเขียงตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 130-150 บาท ปัจจัยด้านราคานี้เอง ทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อวัวเถื่อนมากขึ้น ข้อมูลจากสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ประมาณการณ์ว่าในปี 2544 มีการลักลอบนำเข้าเนื้อจากอินเดียประมาณ 24,000 ตัน จากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 36,500 ตันในปี 2549 และอยู่ในระดับที่ประมาณ 36,000 ตัน ในปี 2551
เส้นทางเนื้อวัวเถื่อนจากต่างประเทศ
สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเส้นทางการลักลอบนำเข้าเนื้อวัวว่า มีด้วยกัน 3 ทาง คือ 1. ทางบก ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อวัวจากอินเดีย ที่มีขบวนการลักลอบนำเข้าผ่านทางประเทศมาเลเซียแล้วขนเนื้อเข้าไทยข้ามชายแดน จ.นราธิวาส ส่งต่อไปยัง จ.สงขลา และสตูล เพื่อเก็บไว้ในห้องเย็นแล้วส่งต่อมายังกรุงเทพฯ 2. ทางน้ำ เป็นเนื้อวัวจากอินเดียเช่นเดียว กัน โดยจะขนใส่เรือประมงมาทางฝั่งอันดามัน ขึ้นที่ จ.ภูเก็ต และฝั่งอ่าวไทยขึ้นที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม 3. ทางอากาศ วิธีนี้ใช้เฉพาะเนื้อโกเบ (Kobe beef) ซึ่งเป็นเนื้อคุณภาพดีจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถ้านำเข้าถูกต้อง ราคาจะตกกิโลกรัมละหลายพันบาท แต่ผู้ลักลอบใช้วิธีบรรจุในกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องบิน เพื่อส่งขายตามร้านอาหารหรูในกรุงเทพ นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบนำเข้าวัวที่เป็นตัวเป็น ๆ ตามแนวชายแดนอีกด้วย
เนื้อวัวจากอินเดีย
ที่มาภาพประกอบ: stacymoir0 (CC0) ประเทศอินเดียเลี้ยงโคเนื้อกว่า 245 ล้านตัว แต่ชาวอินเดียไม่รับประทานเนื้อโคตามหลักศาสนา จึงชำแหละเอาเฉพาะหนังไปใช้ประโยชน์ ส่วนเนื้อและซากส่งออกตามประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้การการลักลอบนำเข้าเนื้อเถื่อนจากอินเดียถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงที่สุด ทั้งเรื่องผลกระทบต่อตลาดเนื้อวัวของไทย รวมทั้งด้านโรคติดต่อ เนื่องจากการเลี้ยงวัวในอินเดียไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแบบปล่อย จึงเสี่ยงต่อการติดโรคปากเท้าเปื่อย รวมทั้งโรงเชือดที่ไม่ได้มาตรฐานสากล |
หลังจากสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ออกมาเคลื่อนไหวและร้องเรียนตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ภาครัฐได้ตื่นตัวกวดขันมากขึ้น โดยกรมปศุสัตว์ออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะว่า ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดเข้มงวดในเรื่องการลักลอบนำเข้าเนื้อวัวเถื่อน โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ รวมทั้งมีการหารือกับประเทศพม่า โดยไทยพร้อมจะไปช่วยในเรื่องการทำคอกกักกันวัวที่ชายแดนฝั่งพม่า เพื่อกักโรคและเพื่อกระตุ้นให้มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย
2559 ปัญหายังไม่หมด ลามขึ้นห้างต่างจังหวัด
หลังจากกระแสข่าวเงียบหายไปหลายปี จนถึงปี 2557 ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในตลาดเนื้อวัวอีกครั้ง ทั้งเรื่องการเข้มงวดในการควบคุมการชำแหละเนื้อสัตว์ให้สะอาด ปลอดภัยถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล มีการออกตรวจสอบจับกุมผู้ประกอบการชำแหละเนื้อวัวที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือมีการลักลอบชำแหละเนื้อวัวนอกโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจากจากการตรวจสอบของกรมปศุสัตว์ยังพบว่าในปี 2557 นั้น ยังมีการลักลอบชำแหละเนื้อวัวอยู่อีกเป็นจำนวนมากในหลายจังหวัด เนื้อวัวที่ถูกชำแหละจะขายในเขียงเนื้อของตัวเองหรือถูกนำไปใส่รถเร่ขาย ทั้งที่ไม่ผ่านการตรวจโรคและสถานที่ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ก็ไม่ถูกสุขลักษณะ
ต่อมาในปี 2558 ข้อมูลจาก สหกรณ์โคเนื้อพัทลุง จำกัด ระบุว่ากลุ่มผู้เลี้ยงวัวกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากมีเนื้อวัวเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดอีกครั้ง ซึ่งนอกเหนือจากเนื้อวัวเถื่อนจากประเทศอินเดียที่เข้ามาทางประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจำหน่ายในราคาที่ถูกมากเพียงกิโลกรัมละ 90 บาทแล้ว ก็ยังพบว่ามีนายทุนจากประเทศออสเตรเลียได้สร้างฟาร์มวัวในประเทศเวียดนามและกัมพูชาอีกด้วย
ในปี 2559 การจับกุมเนื้อวัวเถื่อนเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง โดยเริ่มในเดือน ม.ค. 2559 ตำรวจสอบสวนกลางและศุลกากร บุกจับห้องเย็นย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ซุกซ่อนเนื้อและเครื่องในวัวแช่แข็งจำนวนกว่า 20,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท จากนั้น ตำรวจภูธรสกลนคร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุด ปทส.ประจำพื้นที่ จ.สกลนคร เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร และชุดปฏิบัติการ กอ.รมน. เข้าตรวจสอบร้าน P-Mart ซุปเปอร์สโตร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าส่ง สินค้าอาหารแช่แข็ง ตั้งอยู่ริมถนน สกลฯ-อุดรฯ เขตเทศบาลนครสกลนคร
ก.พ. 2559 ปศุสัตว์ จ.ระยอง สนธิกำลังทหารจากค่ายมหาสุรสิงหนาท เข้าตรวจยึดเนื้อวัวเถื่อน จำนวน 2,000 กิโลกรัม ได้ที่ อ.เมือง จ.ระยอง ก่อนนำตัวผู้ต้องหาส่งตำรวจ สภ.เมืองระยอง ดำเนินคดี และนำของกลางทั้งหมดไปทำลาย
ก.ย. 2559 เจ้าหน้าที่ทหารสังกัด กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับกองกำลังเทพสตรีและตำรวจ สภ.สทิงพระ จับกุมเนื้อวัวเถื่อนแช่แข็งน้ำหนัก 3,700 กิโลกรัม มีต้นทางมาจากประเทศอินเดีย และลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่าเกือบ 9 แสนบาท บนถนนสายสงขลา-ระโนด พื้นที่ ต.สทิงพระ จ.สงขลา โดยในเดือนเดียวกันนี้ นายด่านศุลกากรวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ระบุว่าปัจจุบันมีการลักลอบขนสินค้าหลบหนีภาษีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง บุหรี่ เหล้า และล่าสุดที่พบคือเนื้อวัว ทั้งนี้เพราะความต้องการบริโภคเนื้อวัวในประเทศสูงขึ้นมากและมีราคาแพง อันเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากไข้หวัดนกระบาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เนื้อไก่ขาดตลาด คนจึงหันมาบริโภคเนื้อวัวกันมากขึ้น ผู้กระทำผิดมักจะนำซุกซ่อนมากับหัวหอมและกระเทียมที่เป็นสินค้าเสียภาษี โดยตั้งแต่ต้นปี 2559 มีเนื้อวัวเถื่อนลักลอบขนผ่านด่านชายแดนศุลกากรวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล รวม 4,590 กิโลกรัมเลยทีเดียว
เสียงจากผู้ประกอบการ ที่มาภาพประกอบ: alanjovan (CC0) ผู้ประกอบการเขียงเนื้อรายหนึ่งใน จ.ลำพูน ที่เคยสั่งซื้อเนื้อวัวเถื่อนที่ขนส่งมาจากภาคใต้ ให้ข้อมูลกับ TCIJ ว่าภายหลังการเข้มงวดอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้นปี 2560 นี้ไม่สามารถสั่งเนื้อวัวเถื่อนมาขายได้ และในช่วงต้นปีจนถึงกลางปี 2559 ที่เคยสั่งเนื้อมานั้น มีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บา นำมาขายหน้าเขียงในราคาประมาณกิโลกรัมละ 200-240 บาท โดยมีหลายเกรด ทั้งเนื้อสัน เนื้อสะโพก เนื้อต้นขา เครื่องใน เป็นต้น โดยผู้ประกอบการรายนี้ระบุว่าถ้าหากการเข้มงวดของรัฐลดลง ก็คงจะสั่งเนื้อวัวเถื่อนนี้มาจำหน่ายอีก เพราะสามารถสร้างกำไรมากกว่าการขายเนื้อวัวในประเทศ |
ภาคเหนือคุมเข้มนำเข้าวัว หลังพบวัวผิดกฎหมายจากพม่า
วัวจากประเทศพม่าที่ถูกกักไว้ที่ จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
สำหรับเนื้อวัวที่บริโภคในภาคเหนือนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าทั้งอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบนำวัวเข้ามาตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนส่งมายัง จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ เพื่อขุนเลี้ยงและเข้าโรงฆ่าชำแหละ ก่อนที่จะกระจายเนื้อวัวออกจำหน่ายทั่วภาคเหนือ
ปัจจุบัน แม้ไทยและพม่าจะพยายามสร้างความร่วมมือในระยะยาว พร้อมทั้งหาแนวทางเพิ่มมูลค่าของวัว ด้วยการรณรงค์ต้อนฝูงวัวเข้าระบบโรงฆ่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้พม่าเป็นแหล่งเลี้ยงวัว ส่วนไทยรับหน้าที่แปรรูป เพื่อสนองความต้องการในประเทศและส่งออกไปยังประเทศที่สาม เช่น จีน และเวียดนาม แต่แนวทางนี้ ก็ยังอยู่ในช่วงการเจรจาหารือกับประเทศพม่าอยู่
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุว่าด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ที่เกิดขึ้นในสัตว์กีบ ยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องในบ้านเรา โดยเฉพาะพื้นที่เขตติดต่อชายแดนนั้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลักลอบนำวัวติดโรคเข้ามาตามชายแดน ทำให้เกิดการติดต่อมายังวัว กระบือ แพะ แกะ ที่เลี้ยงภายในประเทศ หากไม่มีการควบคุม ตรวจสอบ นอกจากส่งผลเสียต่อฝูงสัตว์กีบยังทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ได้คุณภาพความปลอดภัย โดยจากการสำรวจในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อปลายปี 2559 พบว่ามีความพร้อมในเรื่องของโรงฆ่า ซึ่งถือว่าเป็นตลาดซื้อ-ขายวัวและกระบือชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ หากประเทศไทยสามารถนำวัวจากพม่าเข้าสู่ระบบโรงฆ่าได้อย่างถูกกฎหมาย ก็จะลดปัญหาเรื่องการลักลอบต้อนวัวตามเขตชายแดนเข้ามาอย่างผิดกฎหมายได้
รวมทั้งการดำเนินนโยบายคุมเข้มการนำเข้าวัวและกระบือเข้ามาในราชอาณาจักรของฝ่ายความมั่นคงไทย ล่าสุดช่วงต้นเดือน ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จ.แม่ฮ่องสอน ดำเนินการกักวัวนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายคุมเข้มนี้ โดยการกักวัวได้ทำการสุ่มตรวจสอบรถบรรทุกวัวจำนวน 2 คัน บรรทุกวัวรวมกันกว่า 40 ตัว มีมูลค่ากว่า 6 แสนบาท ซึ่งรถบรรทุกที่ถูกสุ่มตรวจ ได้ลำเลียงวัวมาจากชายแดนบ้านปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อจะนำไปขุนและจำหน่ายที่ อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ทั้งนี้จากการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นพบว่า เอกสารการขนย้ายไม่สัมพันธ์กับตั๋วรูปพรรณการนำเข้าและการฉีดยา อีกทั้งยังไม่มีการติดคลิปที่หูของวัวเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่า วัวจำนวนดังกล่าวได้ฉีดยาป้องกันโรคก่อนการนำเข้า ตลอดจนไม่ได้ทำตามระเบียบเอกสารตั๋วรูปพรรณและหนังสืออนุญาตนำเข้าโคกระบือ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ของโลก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ