เปิดแฟ้มปฏิรูป ‘ตำรวจไทย’ ภายใต้ 2 ทศวรรษแห่งความยุ่งเหยิง

ทีมข่าว TCIJ : 15 ต.ค. 2560 | อ่านแล้ว 7908 ครั้ง

เกิดอะไรขึ้นกับตำรวจบ้างในช่วง 2 ทศวรรษแห่งความยุ่งเหยิง 2535-2557 ก่อนการ‘ปฏิรูป’ระลอกล่าสุด  งานวิจัยของตำรวจเองระบุถูก ‘การเมือง’ แทรกแซงมาตลอด ในประวัติศาสตร์พบถูกแทรกแซงจากทั้งนักเลือกตั้ง-เผด็จการ งบปฏิบัติงานต่อหัวน้อยกว่าดีเอสไอ 3 เท่า น้อยกว่าอัยการ 8 เท่า ตำรวจสูงวัยขึ้น ขาดแคลนชั้นประทวนซึ่งทำงานแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยตรง ที่น่าตกใจมีงบฝึกอบรมพัฒนาตำรวจไม่ถึง 1% และยังต้องปวดหัวกับการ ‘ติดหล่ม’ จากการชุมนุม ‘เหลือง-แดง’

เนื่องในวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 17 ต.ค. กอปรกับกระแส 'การปฏิรูปตำรวจ' ระลอกล่าสุด  TCIJ ชวนย้อนไปดูว่าในระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (2535-2557) ตำรวจไทยต้องประสบปัญหาอะไรบ้าง ผ่านมุมมองจากงานวิจัยของคนในองค์กรตำรวจเอง

จาก งานวิจัยเรื่อง 'ตำรวจกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย' โดยพันตำรวจเอก ดร.ปรีดา สถาวร สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับสถาบันทางการเมืองตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงการปรับตัวของสถาบันตำรวจ ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย และการปรับตัวของสถาบันตำรวจในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ   

งานวิจัยนี้พบว่า สถานการณ์การเมืองไทยที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้อย่างลงตัว และยังไม่สามารถบรรลุสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ สถาบันตำรวจจึงกลายเป็น ‘เครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งในการแสวงหาและรักษาฐานอำนาจ’ โดยฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมสถาบันตำรวจ ผ่านการควบคุมผู้นำสูงสุดขององค์กรและมีอำนาจแทรกแซงการบริหารงานบุคคลขององค์กรตำรวจมาโดยตลอด และในช่วงปี 2535-2557 นั้น ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยได้

'นักการเมือง’ ทั้งจากการเลือกตั้ง-รัฐประหาร แทรกแซงแต่งตั้งตำรวจ

ในงานวิจัยฯ ของพันตำรวจเอก ดร.ปรีดา ระบุว่า ปัญหาการแทรกแซงจากการเมืองในการบริหารงานบุคคลของตำรวจ เกิดขึ้นตั้งแต่การแต่งตั้งผู้นำสูงสุดขององค์กรคือ ‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 53 (1) ประกอบกับมาตรา 51 กำหนดวิธีการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก แล้วเสนอสำนักงานคณะ กรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อำนาจในการพิจารณาจึงอยู่กับฝ่ายการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมี ก.ต.ช.เป็นองค์กรในการให้ความเห็นชอบ แต่เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของ ก.ต.ช. ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาโดยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการใน ก.ต.ช. เป็นฝ่ายการเมือง 3 คน เป็นข้าราชการประจำ 3 คน (ไม่รวม ผบ.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ซึ่งมาจากการสรรหาโดยกรรมการโดยตำแหน่ง ดังนั้นการพิจารณาของ ก.ต.ช. จึงถูกครอบงำโดยนายกรัฐมนตรี เนื่องจากข้าราชการประจำอื่นก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองเช่นกัน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเอง ก็ไม่มีอิสระในการพิจารณาเนื่องจากถูกครอบงำโดยผู้ที่สรรหาและแต่งตั้งตนเองเข้ามา

ในปี 2557 หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 เรื่อง  การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ44 แก้ไของค์ประกอบของ ก.ต.ช. โดยให้ ก.ต.ช. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ, ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ, ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ  และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกจากวุฒิสภา จำนวน 2 คน การแก้ไของค์ประกอบของ ก.ต.ช. นี้เป็นการลดสัดส่วนกรรมการที่เป็นฝ่ายการเมืองลง โดยตัดกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีออกไป 2 คน ตัดเลขาธิการสภาความมั่นคง เพิ่มรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน เพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ลดจานวนเหลือ 2 คน และเปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหาโดยให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือก

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเดิมเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วเสนอ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นการให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเดิมที่กาลังจะพ้นตำแหน่งไปเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคนใหม่ ปัญหาที่สืบเนื่องตามมาของประกาศ คสช. ฉบับนี้คือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ ผู้บังคับการถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเทียบเท่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 53 กำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง องค์ประกอบของ ก.ตร. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน ซึ่งองค์ประกอบที่มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่เสนอชื่อคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็นประธาน ก.ต.ช. ที่ให้ความเห็นชอบการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรียังเป็นประธาน ก.ตร. ซึ่งทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับการถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่กรรมการใน ก.ตร. ไม่อาจมีอิสระในการพิจารณาแต่อย่างใด การแต่งตั้งจึงถูกแทรกแซงจากอำนาจทางการเมืองได้โดยง่าย การถูกแทรกแซงจากการเมืองโดยผ่านการแต่งตั้ง รวมทั้งการที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจในด้านการบริหารงานบุคคลมาก ย่อมทำให้กระทบต่อการบริหารราชการ การปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายรวมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยในหน้าที่ของตำรวจอย่างมาก ดังเช่น ข้าราชการตำรวจที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการบางท่าน ได้เคยถูกฝ่ายการเมืองกดดันโดยจะเสนอย้ายออกจากตำแหน่ง

ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 54-55 กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับต่าง ๆ โดยให้อำนาจผู้บัญชาการมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในสังกัดได้ แต่จากการที่ฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้บัญชาการ ย่อมทำให้การใช้อำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเป็นอิสระ เช่นเดียวกัน ต่อมาในปี 2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 ดังกล่าวได้มีการแก้ไของค์ประกอบของ ก.ตร. โดยกำหนดให้องค์ประกอบของ ก.ตร.ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ, เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการ, จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน เป็นกรรมการ ทั้งนี้ยิ่งทำให้องค์ประกอบของ ก.ตร. มีจำนวนน้อยลง โดยตัดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเดิมเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกมาจากข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการขึ้นไป เปลี่ยนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเลือกจากวุฒิสภา นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจอีกด้วย

งบปฏิบัติงานของ ‘ตำรวจ’ ต่อหัวน้อยกว่า ‘ดีเอสไอ-อัยการ’

ตั้งแต่ปี 2535 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับงบประมาณในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 4.07 ของบประมาณรายจ่ายประเทศ โดยแนวโน้มของสัดส่วนดังกล่าว พบว่าในระยะยาวตั้งแต่ปี 2535 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.22 และมีแนวโน้มสัดส่วนลดลง จนกระทั่งในปี 2557 ได้รับงบประมาณคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.44 ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ (คลิ๊กดู: งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2535-2557 ของกรมตำรวจ/สานักงานตำรวจแห่งชาติ เปรียบเทียบกับกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และกองทัพบก)

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่รัฐจ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในภาพรวมแล้ว พบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐได้จ่ายงบประมาณให้สำหรับการปฏิบัติงานทั้งหมดคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ / คน / ปี คือ 322,361 บาท เปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ 989,745 บาท ส่วนพนักงานอัยการ 2,391,535 บาท ดังนั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้รับน้อยกว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษถึง 3 เท่า และน้อยกว่าพนักงานอัยการถึงเกือบ 8 เท่า

ปัญหาด้านงบประมาณสำหรับองค์กรตำรวจ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลไปถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พบว่าหน่วยงานระดับสถานีตำรวจ ปัจจุบันประสบปัญหางบประมาณสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของหน่วยระดับบน นโยบายของรัฐบาลที่ต้องปฏิบัติ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณมาให้อย่างเพียงพอ รวมทั้งงบประมาณปกติที่เป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการปฏิบัติหน้าที่มีไม่เพียงพอ และที่สำคัญคืองบประมาณสำหรับการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย ที่มีค่าใช้จ่ายซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ เป็นสาเหตุที่ทำให้ตำรวจบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย

ขาดแคลนกำลังพล โดยเฉพาะชั้นประทวน-ระดับปฏิบัติการ และตำรวจสูงวัยขึ้น

บุคลากรในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ในปี 2557 มีข้าราชการตำรวจอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป จำนวน 57,149 นาย คิดเป็นร้อยละ 26.34 ที่มาภาพประกอบ: maeorpolice.go.th

ปัญหาด้านบุคลากรที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาด้านกำลังพล ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ปี 2557) มีตำแหน่งข้าราชการตำรวจ 296,341 ตำแหน่ง แต่มีคนครองตำแหน่ง 213,398 นาย คิดเป็นร้อยละ 72 และเมื่อจำแนกเป็นชั้นข้าราชการตำรวจจะพบว่า ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน มีตำแหน่ง 233,235 ตำแหน่ง แต่มีคนครองเพียง 155,287 นาย คิดเป็นร้อยละ 66.6 ส่วนข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร มีตำแหน่ง 63,106 ตำแหน่ง มีคนครองตำแหน่ง 58,111 นาย คิดเป็นร้อยละ 92.1 ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงประสบปัญหาด้านกำลังพล โดยเฉพาะการขาดแคลนข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถเพิ่มเติมกำลังพลเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เต็มตำแหน่งที่มีอยู่ได้ เนื่องจากได้รับการจัดสรรอัตราเงินอย่างจำกัด โดยตั้งแต่ปี 2541 หลังจากประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลได้มีมาตรการจำกัดขนาดกำลังพลภาครัฐ ทำให้แต่ละปีส่วนราชการต่าง ๆ ไม่สามารถบรรจุข้าราชการมาทดแทนผู้เกษียณอายุได้เท่าเดิม ส่วนราชการต่าง ๆ จึงสูญเสียกำลังคนไปทุกปี จนกระทั่งปี 2551 จึงมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว และมีการจัดสรรอัตราเงินเดือนว่างจากการเกษียณอายุราชการคืนให้

นอกจากนี้ ในขณะที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย องค์กรตำรวจก็กลายเป็นองค์กรผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation Development-OECD) กำหนดไว้ว่าองค์กรที่ก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรผู้สูงอายุ คือ องค์กรที่มีเจ้าหน้าที่ที่อายุ 50 ปี ขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 20 ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้าราชการตำรวจอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป จำนวน 57,149 นาย คิดเป็นร้อยละ 26.34 ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นองค์กรผู้สูงอายุตามนิยามดังกล่าว ส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีลักษณะงานต้องใช้บุคคลอายุไม่มาก

ค่าตอบแทนอัตราเดียวกับข้าราชการพลเรือน ทั้งที่ทำงานเสี่ยงกว่า

ปัญหาค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจ แม้จะมีการกล่าวถึงความไม่พอเพียงของค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจมาเป็นเวลานาน แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังใช้การเปรียบเทียบจากอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนทั่วไปและข้าราชการทหารมาโดยตลอด จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจ พบข้าราชการตำรวจมีความเสี่ยงทั่วไป (common risk) มากกว่าข้าราชพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง 13.56-22.57 เท่า ข้าราชการตำรวจสายปฏิบัติการ ได้แก่ ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม สายงานสอบสวนและสายงานจราจร มีความเสี่ยงเฉพาะ (Specific Risk) มากกว่าข้าราชการตำรวจกลุ่มงานอำนวยการและสนับสนุน เท่ากับ 2.97 เท่า 3.08 เท่า และ 2.66 เท่า ตามลำดับ โดยความเสี่ยงดังกล่าวคำนวณจากอัตราการเสียชีวิต การบาดเจ็บ เจ็บป่วยของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากการจับกุมผู้กระทำผิด การเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่นอกที่ตั้งสำนักงานและการเดินทางออกสืบสวนจับกุมคนร้ายในพื้นที่ ความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยอันเนื่องจากสภาพการปฏิบัติงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในต่างประเทศ ค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีจำนวนมากกว่าข้าราชการพลเรือนทั่วไป (อ่านเพิ่มเติม จับตา: เปรียบเทียบอัตราเงินเดือน 'ตำรวจ' กับ 'ข้าราชการพลเรือน' ในต่างประเทศ)

การพัฒนาบุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมพัฒนาข้าราชการตำรวจในระดับปฏิบัติการ และการพัฒนาผู้บริหารทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ที่น่าตกใจคือในงบประมาณภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในช่วง 5 ปี 60,000 - 86,000 ล้านบาท นั้นมีงบประมาณที่ใช้สำหรับการฝึกอบรมพัฒนาข้าราชการตำรวจไม่ถึงร้อยละ 1

ตำรวจและการชุมนุมประท้วง ในห้วงทศวรรษแห่งความสูญเปล่า

ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงมีภาพ ‘ทหาร’ เป็นปีศาจร้ายคู่ตรงข้าม กลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายตรงข้ามกลุ่มเสื้อแดงก็มี‘ตำรวจ’เป็นปีศาจร้ายด้วยเช่นกัน ภาพประกอบคือการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2556 ที่มาภาพประกอบ: งานวิจัยเรื่อง 'ตำรวจกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย'

ระหว่างปี 2535-2557 หลัง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การชุมนุมประท้วงของมวลชนจำนวนมากถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองและเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง วิกฤตความแตกแยกตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ได้แบ่งคนไทยออกเป็นสองฝ่าย นอกจากจะมีคำอธิบายถึงต้นตอแห่งปัญหาที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีคำอธิบายต่อ 'ประชาธิปไตย' ที่แตกต่างกันอีกด้วย ระหว่างประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับที่มาแห่งอำนาจทางการเมือง ความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง กับประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาการใช้อำนาจแบบประชาธิปไตย โดยกลุ่มการเมืองหลัก ๆ คือ 'ฝ่ายเหลือง' (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส.) และ 'ฝ่ายแดง' (นปก. นปช. และแดงกลุ่มย่อยอื่น ๆ)

(อ่านรายละเอียดความขัดแย้งในสังคมไทยในช่วงนี้: วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 /การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551/ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 /การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 /วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557)

โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 2550 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 เป็นยุคที่การพ้นตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้น 3 ลักษณะ คือ การตัดสินจากศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ / การยุบสภา ได้แก่   นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการรัฐประหาร ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการออกจากอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าการเมืองฝ่ายใดก็ตาม เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด

ข้อค้นพบที่สำคัญสำหรับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในยุคนี้ (โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 2550) คือภาพลักษณ์ของตำรวจกลับไม่ได้ถูกจัดวางสถานะให้อยู่ข้างเดียวกับ ‘รัฐบาลเผด็จการ’ เหมือนดั่งเช่นในอดีต แต่ตำรวจกลับถูกจัดวางให้อยู่กับขั้วการเมืองฝ่ายหนึ่ง (ที่เรียกตนเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’) ซึ่งมีฐานมวลชนจำนวนมากเคลื่อนไหวสนับสนุน พร้อมกับมีขั้วการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง (ฝ่ายอนุรักษ์นิยม) ซึ่งมีมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวสนับสนุนเช่นกัน มีการสร้างความรู้สึกเกลียดชังตำรวจอย่างรุนแรง เมื่อองค์กรบังคับใช้กฎหมายถูกจัดวางสถานะให้อยู่กับฝ่ายการเมือง และสถานการณ์ซึ่งมีผู้ใช้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อเป้าหมายให้บรรลุผลทางการเมือง การปฏิบัติงานในการบังคับใช้กฎหมายจึงถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง ตำรวจถูกฝ่ายหนึ่งกล่าวหาถึงความเป็นกลางในการบังคับใช้กฎหมาย และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม

ในงานวิจัยฯ ของพันตำรวจเอก ดร.ปรีดา ยังระบุว่าการบริหารจัดการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมประท้วง เนื่องจากรูปแบบการชุมนุมที่เกิดขึ้นในยุคนี้ มีความแตกต่างจากการชุมนุมในอดีตเป็นอย่างมาก มีการเคลื่อนไหวของฝูงชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ มีแกนนำ มีส่วนสนับสนุน กำหนดทิศทางความเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพ มีการปลุกระดม สร้างสัญลักษณ์พลังมวลชน มีสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการระดมมวลชนและเผยแพร่ความคิด พัฒนาการของมวลชนลักษณะนี้ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งการเตรียมกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ กลยุทธ์ ยุทธวิธีในการบริหารจัดการฝูงชน นอกจากนี้ ได้มีการนำแนวคิดเรื่องการปฏิบัติการควบคุมฝูงชนตามหลักการขององค์การระหว่างประเทศ มาใช้ในการฝึกและการปฏิบัติ แม้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ปรับปรุงการปฏิบัติงานในด้านการควบคุมฝูงชนในหลายส่วน แต่การปฏิบัติงานควบคุมฝูงชนในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งรุนแรง จำนวนมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมมีจำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดหลายประการ ในหลายสถานการณ์จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจและได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งสามารถร่วมปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น ๆ ได้ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ข้าราชการอื่น เป็นต้น สถานการณ์การชุมนุมที่มีเหตุความวุ่นวายและกระทบต่อสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป จึงมีการเสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม เพื่อจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ในระยะแรกมีกระแสต่อต้านกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อมีสถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงจำนวนมาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงออกเป็นกฎหมายได้

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: เปรียบเทียบอัตราเงินเดือน 'ตำรวจ' กับ 'ข้าราชการพลเรือน' ในต่างประเทศ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: