จับตา: ทำความรู้จัก Grab VS Uber

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 9866 ครั้ง


Grab Taxi จากมาเลเซียตีตลาดอาเซียน 

บริษัท Grab Taxi ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งจากเพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบัน Harvard Business School มีนายแอนโทนี่ แทน ชาวมาเลเซีย พัฒนาแอพพลิเคชัน Grab Taxi ร่วมกับเพื่อนชาวเวียดนาม จนได้รับรางวัลรองชนะเลิกการประกวดแผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนี้ ต่อมาจึงร่วมกันเปิดบริษัทในประเทศไทยกับ น.ส.จุฑาศรี คูวินิชกุล กรรมการผู้จัดการ หลังจากที่ Grab Taxi ประสบความสำเร็จในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศมียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 4 แสนครั้ง

Grab Taxi เป็นแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน รองรับทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไอโอเอส และวินโดวส์โฟน ที่ดาวน์โหลดลงเครื่องเพียงครั้งเดียว สามารถนำไปใช้งานได้ทั้ง 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ จุดเด่นของแอพนี้ก็คือ นำระบบค้นหาตำแหน่งผ่านดาวเทียม หรือ GPS มาใช้งานเพื่อค้นหาตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้อัตโนมัติ เพียงกำหนดตำแหน่งปลายทางของผู้ที่ต้องการเดินทาง แอพพลิเคชั่นจะค้นหารถแท็กซี่ที่อยู่ใกล้ที่สุด และแสดงระยะทางจากจุดเรียกไปยังจุดหมาย และค่าโดยสารโดยประมาณให้ทราบ เมื่อกดเรียกรถแล้ว ผู้โดยสารจะได้รับการยืนยันภายใน 1 นาที พร้อมข้อความที่ระบุใบหน้า และเบอร์โทรศัพท์ของพนักงานขับรถ รวมถึงทะเบียนรถและเวลาถึงที่หมายโดยประมาณ อีกทั้งยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถได้ตลอดเวลาขณะขับมารับผู้โดยสาร รวมถึงสามารถโทรศัพท์พูดคุยเพื่อนัดแนะตำแหน่งที่รอหรือจะให้รับได้ด้วย

Uber จากอเมริกาเน้นหรูจ่ายบัตรเครดิตได้

ส่วนแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่อีกแบรนด์ ที่เปิดตลาดในประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน ในปี 2557 ได้รับความนิยมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการใช้รถรับจ้างระดับไฮคลาส คือ Uber หรือ อูเบอร์ บริษัทให้บริการแท็กซี่ที่ถือกำเนิดในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก่อนขยายไปทั่วโลกถึงปัจจุบัน 38 ประเทศ โดย Uber เป็นผู้ให้บริการแท็กซี่แบบที่มีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง ใช้การเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน มีตำแหน่งของรถที่มารับ และคำนวณเวลาให้เรียบร้อย ข้อแตกต่างสำคัญเมื่อเทียบกับ Grab Taxi คือผู้โดยสารสามารถจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต ผ่านแอพลิเคชั่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องจ่ายด้วยเงินสด

รูปแบบการให้บริการของ Uber อาจไม่ต่างกับ Grab มากนัก โดยเป็นการให้ข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ข้อมูลจึงจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่รถแท็กซี่ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทั้ง 3 บริษัทนี้ โดยระบุว่า 2 บริษัทแรกดีกว่า เนื่องจากคนขับเป็นอิสระในการขับรถและสามารถหยุดพัก ได้ตามต้องการ เพียงแต่มาเข้าระบบเพื่อต้องการให้มีรายได้ที่มั่นคงและไม่ต้องขับรถตระเวนหาลูกค้า ขณะที่ผู้ขับรถของ Uber จะได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจาก Uber ไม่มีค่าคอมมิชชั่น ไม่มีรายได้พิเศษอื่น ๆ และต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุด ขึ้นอยู่กับคนขับว่าจะหยุดงานวันไหน และวันไหนหยุดงานจะไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่มุมมองของผู้โดยสารมองในประเด็นเรื่องความปลอดภัยว่าไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ความแตกต่างอยู่ที่รถและคนขับมากกว่า เพราะรถที่ร่วมกับ Grab Taxi เป็นรถแท็กซี่ทั่วไป ขึ้นอยู่กับนิสัยของคนขับแต่ละคน ขณะที่รถของ Uber เป็นรถหรูกว่าและคนขับสุภาพกว่า และราคาค่าบริการแพงกว่า โดยบริษัทมีรถระดับไฮคลาสให้บริการ คือ Mercedes-Benz E-Class กับ Toyota Camry เป็นต้น

ค่าบริการของ Grab และ Uber

สำหรับค่าโดยสารของ Grab ผู้โดยสารจะต้องจ่ายเพิ่มให้คนขับแท็กซี่อีก 25 บาท นอกเหนือจากค่ามิเตอร์ตามระยะทาง ขณะที่อัตราการให้บริการของ Uber Taxi ตั้งราคาค่าโดยสารไว้เริ่มต้นที่ 45 บาท แต่มีขั้นต่ำต่อเที่ยวที่ 75 บาท ที่เป็นการบวกค่าบริการเพิ่ม

เว็บไซต์ Minimore เสนอรายงานเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างการให้บริการของ Grab และ Uber โดยนำเรื่องราคาค่าบริการมาแสดงเป็นกราฟเปรียบเทียบ และคิดราคาให้ดูอย่างชัดเจน ว่าค่ายไหนมีอัตราค่าบริการถูกกว่ากัน เปรียบเทียบหลายการบริการในทุกระดับ ทั้ง GrabTaxi, GrabCar, GrabCarPremium, UBER X และ UBER Black โดยกราฟแนวตั้งแสดงราคา และกราฟแนวนอนแสดงระยะทางเป็นกิโลเมตร

ช่วงที่รถติด

ช่วงที่รถไม่ติด

ที่มาภาพ: Minimore

 

โดยสรุปจะเห็นว่า UBER Black แพงกว่า Grab Car Premium ส่วนสำหรับรถราคาประหยัดนั้น ในช่วงที่รถไม่ติด UBER X กับ GrabTaxi จะมีราคาเท่ากัน แต่ในกรณีของ UBER X อาจได้เปรียบตรงที่มีคุณภาพของรถที่ดีกว่า ขณะที่ในช่วงที่รถติดพบว่า GrabCar จะมีราคาถูกที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: