ทุนจีนรุกพื้นที่ 'เชียงใหม่-ลำพูน' ใช้นอมินีเปิดล้งรับซื้อลำไย

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 มี.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6361 ครั้ง

ทุนจีนรุกพื้นที่ 'เชียงใหม่-ลำพูน' ใช้นอมินีเปิดล้งรับซื้อลำไย

เผยภาครัฐไม่สนับสนุนด้านเงินทุน ล้งของคนไทยต้องผันตัวเองเป็นมือรับซื้อนอมินีปล่อยล้งให้ทุนจีนเช่าพื้นที่ปีละ 400,000 – 500,000 บาท ระบุ อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน เป็นแหล่งรับซื้อใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าปี 1,000 ล้านบาท เผยจำนวนล้งรับซื้อในพื้นมีไม่ต่ำกว่า 40- 50 ล้ง ร้อยละ 70-80 เป็นล้งจากจีน ที่มาภาพประกอบ: falco (CC0)

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายประเทือง นรินทรางกูล ณ อยุธยา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันลำไยเริ่มมีปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากล้งของพ่อค้าคนจีนเข้ามาผูกขาด ตั้งล้งเถื่อนรับซื้อลำไยของเกษตรกร สถานการณ์ขณะนี้จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากล้งที่เป็นของคนไทยเองแทบจะไม่มีเหลืออยู่ในพื้นที่แล้ว ส่วนใหญ่ที่ทำการรับซื้ออยู่ในปัจจุบันนี้เป็นล้งของคนจีน หรือล้งนอมินีแทบทั้งสิ้น เนื่องจากล้งของพ่อค้าที่เป็นคนไทยนั้นมีทุนหมุนเวียนไม่มากนัก จึงเข้าร่วมกับคนจีนรับเป็นผู้ดำเนินการให้ และทำราคารับซื้อโดยการกดราคากับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ประกอบกับกฎระเบียบในการตั้งล้งรับซื้อลำไยนั้น ค่อนข้างยากกับเกษตรกรรายย่อย เช่นระเบียบว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ต้องผ่านมาตรฐานระบบ GMP และมาตรฐาน HACCP โรงรมควันจะต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นรายย่อย ไม่มีระบบดังกล่าวเนื่องจากต้องใช้ทุนในการดำเนินการสูง

พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือพื้นที่ที่ปลูกลำไยเพื่อการส่งออก เช่นที่ อ.พร้าว อ.จอมทอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ อ.บ้านโฮ้ง จ.ลำพูน ล้งบางแห่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่เพาะปลูกแต่กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีล้งรับซื้ออยู่หลายแห่งและเชื่อว่าเป็นล้งของพ่อค้าคนจีนโดยให้คนไทยเป็นผู้ดำเนินการ มีการส่งบุคคลเข้ามาเพื่อทำการสำรวจสวนลำไย และประสานซื้อตั้งแต่ช่วงติดช่อดอก

นอมินีที่เข้ามาดำเนินการล้งรับซื้อลำไยมีหลายรูปแบบ แบบถาวรคือการเข้ามาแต่งงานกับคนไทย และ แบบไม่ถาวรคือการหาคนไทยมาร่วมดำเนินการ แต่ไม่ได้เป็นการร่วมลงทุนตามระเบียนที่แสดงรายละเอียดในเอกสารจะทะเบียนร่วมทุน โดยการหาคนที่ไว้ใจได้ในการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและกว้านซื้อผลผลิตถึงในสวนลำไยเป็นการเหมาซื้อล่วงหน้า ทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตามระเบียบข้อกำหนดของไทยในการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุนที่ปล่อยออกมารับซื้อนั้นเป็นของคนจีนทั้งหมด

การรุกคืบเข้ามาของทุนจีน ทำให้ล้งของคนไทยเริ่มสูญหายไปเนื่องจากไม่มีทุนที่จะสู้กับทุนจากจีนได้ วิธีการแก้ไขปัญหาต้องพยายามทำให้เกิดล้งขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคารับซื้อ พร้อมกันนั้นต้องลดกฎระเบียบด้านการส่งออกสินค้าให้กับรายย่อย พร้อมกันนั้นต้องเข้ามาจัดระเบียบการส่งออกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรายย่อยทำการค้าได้เพิ่มมากขึ้น

นายทวีศักดิ์ ไชยเสน เจ้าของล้ง หงไท้หยาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กล่าวว่า ล้งในปัจจุบันเป็นของคนจีนร้อยละ 70-80 บางแห่งเป็นล้งของคนไทยแต่ให้คนจีนเช่าดำเนินการเช่าปีละ400,000-500,000 บาท ในขณะที่หากต้องลงทุนดำเนินการเองจะต้องใช้เงินลงทุนสร้างล้งไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้หากผู้ประกอบการคนไทยมีเงินทุนเพื่อสร้างล้งพร้อมทั้งมีเงินทุนหมุนเวียน คงไม่นำล้งไปปล่อยให้คนจีนเช่าเพื่อแลกกับค่าเช่าปีละ 400,000 – 500,000 บาท

ช่วงที่มีปริมาณลำไยออกสู่ท้องตลาดมากคือช่วงเดือนมิถุนายน ภาครัฐน่าจะอนุโลมในการให้แรงงานต่างชาติเข้ามารับจ้างเก็บผลผลิตลำไย หลังจากที่ภาครัฐกีดกันไม่ให้แรงงานเขมรเข้ามาทำงานรับจ้างเก็บลำไย ทำให้ค่าจ้างแรงงานจากที่เคยจ้างแรงงานต่างชาติเก็บและบรรจุลงตระกร้าในราคา 30- 40 บาท/ตระกร้า ราคาเก็บและบรรจุลงตระกร้าพุ่งสูงขึ้นเป็น 70 บาท/ตระกร้า ทำให้ต้นทุนลำไยสูงขึ้น ผู้ประกอบการคนไทยจึงไม่สามารถที่จะแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ และผันตัวเองไปเป็นมือรับซื้อหรือปล่อยล้งให้คนจีนเช่าดำเนินการ เนื่องจากพ่อค้าชาวจีนมีเงินทุนหมุนเวียนสูงและพร้อมที่จะซื้อผลผลิต จากประเด็นปัญหาเรื่องแรงงานที่ไม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะ แรงงานจากเขมร เข้ามาดำเนินการเก็บลำไยนั้น ได้มีการเสนอเรื่องไปในที่ประชุมจังหวัดเพื่อขอให้อนุโลมในช่วงลำไยกำลังออกผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้ต้นทุนการเก็บลำไยสูงขึ้น ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ปัจจุบันเริ่มมีทุนต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่สวนลำไยของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อทำการปลูกลำไยและส่งออกไปยังต่างประเทศ ในพื้นที่ อ.แม่ทา อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และกำลังจะขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น สวนของเกษตรกรที่ดำเนินการเองเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากตัวเกษตรกรมองว่า ในเมื่อไม่มีแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้สามารถดำเนินการทำสวนได้ด้วยตัวเอง จึงตัดสินใจให้แหล่งทุนจากจีนเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อทำสวนและส่งผลผลิตออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อจะได้มีเงินมาใช้ในครอบครัว จากปัญหาดังกล่าวนี้ หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรเพื่อนำมาดูแลสวนของตัวเอง โดยไม่ต้องพึงพาทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจีน จะเป็นการดีกว่า เนื่องจากเกษตรกรจะได้มีรายได้จากผลผลิตที่แน่นอน และมีรายได้สูงกว่าการปล่อยพื้นที่ให้ต่างชาติเช่าดำเนินการ ในอนาคตเกษตรกรไทยจะค่อยๆ หายไป ในพื้นที่ อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ถือเป็นแหล่งรับซื้อลำไยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ในแต่ละปีมีเงินหมุนเวียนใช้รับซื้อลำไยในพื้นที่ภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในพื้นที่มีล้งรับซื้อลำไยประมาณ 30-40 ล้ง เป็นล้งของคนไทยเพียงไม่กี่ล้งเท่านั้น

ด้าน นายสุข ไชยเสน เกษตรกรผู้ปลูกลำไย อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน กล่าวว่า ล้งของคนจีนเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น สาเหตุเนื่องมาจากเงินทุนมีเยอะมากกว่า หากสามารถช่วยทำให้ล้งคนไทยเพิ่มขึ้นมาจะส่งผลไปถึงการต่อรองราคาได้เพิ่มขึ้น อยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งเรื่องการตลาดที่ไทยเองยังด้วยกว่าจีน นอกจากนั้นในเรื่องของแรงงาน ที่ผ่านมามีแรงงานจากต่างชาติเข้ามาช่วยเก็บผลผลิต ทำให้เกิดปัญหาในการเก็บเกี่ยวลำไยซึ่งมีตนทุนที่สูงขึ้นจากแรงงาน จึงขอให้ภาครัฐช่วยฝึกงานด้านการเก็บลำไยให้กับแรงงานต่างชาติเพื่อทำการคัดลำไยให้มีคุณภาพ ลำไยลำพูนเป็นลำไยที่มีคุณภาพแต่ขึ้นอยู่กับการคัดแยกบรรจุ ที่ผ่านมาส่งไปจีนแล้วเกิดการตีสินค้ากลับ เนื่องจาผลผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เกิดมาจากแรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมในการคัดแยกเกรดสินค้า ทำให้ชาวสวนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เชื่อว่าคุณภาพลำไยของลำพูนไม่ได้แตกต่างจากจันทบุรี เมื่อล้งคนจีนที่เข้ามาในพื้นที่เกิดการรวมตัวกันกำหนดราคา การต่อรองของเกษตรกรทำได้น้อย แต่หากทางภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินทุน ให้กับผู้ประกอบการรับซื้อคนไทยให้มีเพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนเท่ากับ หรือมากกว่าล้งคนจีน จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์และไม่เดือดร้อนเพราะสามารถกำหนดราคาและต่อรองราคากันได้ ปัจจุบันที่คนไทยไม่สามารถดำเนินการรับซื้อได้ เนื่องจากเงินทุนมีน้อย ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อทำการรับซื้อผลผลิต ในขณะที่ทุนจากจีนมีความพร้อมที่จะเข้ามารับซื้อ ทั้งนี้ไม่เพียงแค่ทุนจากจีนที่เข้ามาเท่านั้น ขณะนี้เริ่มมีทุนจากกัมพูชาเข้ามารับซื้อผลผลิตในพื้นที่บ้างแล้ว

นายนพดล คำแล รองประธานสมาพันธ์ ผู้ปลูกลำไยคุณภาพเพื่อการส่งออกภาคเหนือ กล่าวว่า ล้งที่ทำการรับซื้อลำไยน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 ล้ง ปกติจะมีการรับซื้อผลผลิตในฤดู ตั้งแต่เดือดสิงหาคม – ตุลาคม หลังจากที่ความต้องการของต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจึงมีล้งต่างถิ่นหิ้วกระเป๋าเข้ามาในพื้นที่ โดยอาศัยมือรับซื้อเข้ามาติดต่อกับเจ้าของสวนโดยตรง คนไทยเองก็มีส่วนในการสนับสนุนให้ล้งเถื่อนเหล่านี้เข้ามานำผลประโยชน์ในพื้นที่ออกไป แต่ผลเสียตกอยู่กับเกษตรกรชาวสวน และล้งเดิมที่เป็นของคนไทย ซึ่งเคยรับซื้ออย่างเป็นธรรม

เงินทุนหมุนเวียนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เนื่องจากล้งที่หิ้วกระเป๋าเข้ามาจะมีทุนหมุนเวียนพร้อม วิธีการจะเข้ามาเช่าสถานที่หรือล้งของคนไทย เพื่อรับซื้อผลผลิตก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีคนกลางหรือมือซื้อเข้าไปติดต่อกับเจ้าของสวน ทั้งนี้ก่อนเข้าไปเจรจากับเจ้าของสวน จะมีการวางแผนในการเข้ารับซื้อเป็นอย่างดี โดยมีการกำหนดราคาไปอย่างชัดเจน บางครั้งทำให้เกษตรกรขาดโอกาสในการต่อรองหรือนำผลผลิตออกไปจำหน่ายให้กับล้งอื่นได้

สำหรับการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ปัจจุบันจะเข้ามาสำรวจพื้นที่ สำรวจสวนของเกษตรกรในช่วงติดช่อ พร้อมทั้งตีราคาและวางมัดจำ ส่วนการเข้ามาจองผลผลิตตั้งแต่ยังไม่ติดช่อนั้นยังไม่ปรากฏในพื้นที่ภาคเหนือ แต่เริ่มมีบางแล้วที่จันทบุรี ซึ่งมีความกังวลว่าในอนาคตพื้นที่ภาคเหนืออาจจะมีการเข้ามาจับจองผลผลิตตั้งแต่ยังไม่ติดช่อก็เป็นได้ ผลที่จะตามมาสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเด็นคือ 1. ทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าผลผลิตจำหน่ายได้แน่นอน 2. หากเข้ามาเป็นจำนวนมากจะเกิดการผูกขาดในเรื่องของราคา ทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิต

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: