ก็ทำได้นี่ไง! กฟผ.เปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาทดลอง 'โซลาร์เซลล์-ปลูกหญ้าเนเปียร์' ที่ทับสะแก

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3721 ครั้ง

ก็ทำได้นี่ไง! กฟผ.เปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาทดลอง 'โซลาร์เซลล์-ปลูกหญ้าเนเปียร์' ที่ทับสะแก

จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกทำไม? ในเมื่อ กฟผ. ทดลองเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 250 ไร่สามารถนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าได้ 500 กิโลวัตต์อีกด้วย จากพื้นที่นี้มีราว 3,000 ไร่ ซึ่งเดิมที กฟผ. ซื้อไว้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อราว 20 ปีก่อนแต่ถูกต่อต้าน ที่มาภาพข่าว: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธี

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ที่ กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 - 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่

โดย กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ในพื้นที่นี้ยังมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 250 ไร่สามารถนำไปใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าได้ 500 กิโลวัตต์อีกด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่นี้มีราว 3,000 ไร่ ที่เดิม กฟผ. ซื้อไว้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อราว 20 ปีก่อนแต่ถูต่อต้านล่าสุดผู้นำชุมชนเรียกร้องให้ใช้พื้นที่นี่สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซแอลเอ็นจี 1 พันเมกะวัตต์ เพื่อสร้างรายได้พัฒนาชุมชน

ที่มาภาพ: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: