สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจพบระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ในฟาร์มปศุสัตว์ จำนวน 116 ฟาร์ม พบมีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต ชี้ควรมีการปรับปรุงระบบตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ที่มาภาพประกอบ: msu.edu
Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2560 ว่านายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2538-2556 ที่ผ่านมากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดย สนพ. ได้ให้การสนับสนุนโครงการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,164 ฟาร์ม ซึ่งในบางฟาร์มที่มีอายุการใช้งานระบบยาวนานกว่า 10 ปี อาจะมีประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพลดลง
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของระบบก๊าซชีวภาพฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ทาง สนพ. จึงได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการตรวจเยี่ยม และสำรวจโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก และโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่มีอายุการใช้งานของระบบฯ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 310 แห่ง เพื่อให้คำแนะนำและฝึกอบรม การดูแลแก้ไขปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบให้กับผู้ประกอบการฟาร์มแบบ Onsite Training โดยเริ่มเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา
ซึ่งจากผลการสำรวจฟาร์มทั้ง 310 แห่ง พบว่ามีกลุ่มฟาร์มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต จำนวน 116 ฟาร์ม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 9,262,770 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ในขณะที่กลุ่มฟาร์มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบสูงกว่า 80% ของกำลังการผลิต จำนวน 194 ฟาร์ม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 15,704,040 ลูกบาศก์ เมตรต่อปี
ทั้งนี้ หากฟาร์มที่อยู่ในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบฯ ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต มีการปรับปรุงระบบตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ที่ได้เข้าฝึกอบรมจากโครงการฯ แบบ Onsite Training ก็จะทำให้สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้นอีก และจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ