‘ส่องไฟในที่มืด’ มีอะไรในมหาสมุทร Dark Web

การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์ * TCIJ School รุ่นที่ 4 : 16 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 25852 ครั้ง

เว็บไซต์ที่เราใช้งานหรือพบเห็นอยู่ทุกวัน เป็นเพียงส่วนน้อยของอินเทอร์เน็ตทั้งมวล หรือเป็นแค่พื้นผิวมหาสมุทรที่เรามองเห็นเท่านั้นเอง ที่มาภาพประกอบ: Markus (CC0 Public Domain)

เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบ บรรจุไว้ด้วยข้อมูลขนาดใหญ่เจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร เอกสารต่างๆ  โซเชียลมีเดีย มัลติมีเดีย หนังสือ เอกสาร ธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงบริการมากมายที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตจึงเป็นโลกอีกใบหนึ่งซึ่งมีดินแดนหรือเว็บไซต์อยู่มากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน แต่ในความเป็นจริงนั้น เว็บไซต์ที่เราใช้งานหรือพบเห็นอยู่ทุกวัน ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของอินเทอร์เน็ตทั้งมวล หรือเป็นแค่พื้นผิวมหาสมุทรที่เรามองเห็นเท่านั้นเอง

ทำความรู้จักมหาสมุทรอินเตอร์เน็ต

ภาพจำลองประเภทของเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต (ภาพจาก deepwebtech.com)

เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ หนึ่งคือ Surface Web หรือเว็บพื้นผิว ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ถูกจัดเข้าไปอยู่ในระบบดัชนีของการค้นหา กล่าวคือเว็บไซต์เหล่านี้สามารถถูกค้นหาได้จากเครื่องมือค้นหา (Search Engine) เช่น Google, Yahoo, Bing เป็นต้น 

ส่วนประเภทที่สองคือ Deep Web หรือเว็บส่วนลึก ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ไม่สามารถถูกค้นพบได้จากเครื่องมือค้นหามาตรฐานทั่วไป ส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เว็บไซต์ที่เป็นฐานข้อมูลชั้นความลับ เว็บไซต์ส่วนตัว หรือเว็บไซต์ที่เป็นคลังเก็บเอกสารสำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ของหน่วยราชการ รัฐบาล หรือธุรกิจระดับชาติหรือข้ามชาติ การจะเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นจำเป็นต้องมีที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) จึงจะเข้าถึงได้  

การแบ่งประเภทของเว็บไซต์ดังกล่าว สามารถเปรียบเทียบได้ว่าอินเทอร์เน็ตที่เราเห็นหรือใช้อยู่ทุกวัน ก็เหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ที่มีเพียงส่วนยอดโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา แต่ส่วนที่อยู่ลึกลงไปไม่สามารถมองเห็นได้จากผิวน้ำ ซึ่งมีจำนวนมหาศาลโดยประมาณกันว่ามีอยู่ถึง 96 % ของมวลมหาสมุทร

นอกจากนี้ ภายใต้มหาสมุทรนี้ก็ยังมีส่วนลึกของก้นบึ้งอีก ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป เว็บไซต์เหล่านี้ถูกเรียกว่า Dark Web หรือเว็บมืด ซึ่งหมายถึงบรรดาเว็บไซต์ที่ต้องใช้วิธีหรือเครื่องมือพิเศษในการเข้าถึง สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็บมืดก็คือ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเว็บส่วนลึก (Deep Web) แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของเว็บส่วนลึก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่) สิ่งที่อยู่ในเว็บมืดนั้นมีความหลากหลายมาก แต่ภาพลักษณ์ของมันคือพื้นที่ที่เอาไว้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย

มีอะไรใน Dark Web

การที่ใครสักคนจะทำธุรกรรมหรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานต้องปกปิดตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ หรือผู้ใช้บริการก็ตาม เนื่องจากบริการในเว็บไซต์ทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงสูง เพราะว่ามีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ รวมทั้งสามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นคือใคร และสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้งของพวกเขาได้โดยง่าย แต่เว็บมืดไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าลักษณะโครงสร้างของเว็บมืดคือการปกปิดตัวตนของผู้ใช้อย่างแน่นหนา ผ่านเครือข่ายพิเศษที่ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานไม่สามารถถูกสอดส่องได้เลย ตัวตนจริงของพวกเขาจะไม่สามารถถูกรับรู้ได้โดยง่าย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสภาวะไร้ตัวตนบนอินเทอร์เน็ต

โดยปกติการเข้าถึงเว็บมืดนั้นสามารถทำได้โดยการใช้โปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า TOR Browser เพราะเว็บมืดนั้นซ่อนตัวอยู่บนเครือข่ายส่วนตัวที่ชื่อ TOR หรือ The Onion Router ซึ่งลักษณะทั่วไปของเว็บมืดที่อยู่บนเครือข่าย TOR คือจะมีชื่อโดเมนเป็น .onion หลักการทำงานอย่างง่ายของ TOR คือการสร้างเครือข่ายพิเศษขึ้นมาโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครจำนวนมากทั่วโลก ส่งต่อข้อมูลไปมา หลายครั้ง ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เราเชื่อมต่ออยู่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมอะไร และตัว เว็บไซต์ที่เรากำลังเข้าชมก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมจากที่ไหน ทำให้ทางหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถติดตามได้ว่าเราทำอะไรบ้างในเว็บมืดเหล่านี้

บริการบนเว็บมืดนั้นมีหลากหลาย ซึ่งส่วนมากล้วนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งการเกิดขึ้นของสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์ (Bit Coin) (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบิตคอยน์ได้ที่นี่) ทำให้การทำธุรกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ในเว็บมืดมีการเกิดขึ้นของบริการ และตลาดมืดต่าง ๆอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก รายงานพิเศษนี้จึงอยากชี้ให้เห็นว่ามีบริการอะไรอยู่ในเว็บมืดบ้าง มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และอันตรายในการใช้บริการเหล่านั้น

ตลาดยาเสพติด และสารเคมีผิดกฎหมาย (Drug Markets) ตลาดแลกเปลี่ยนยาเสพติดบนเว็บมืดนั้นมีขนาดใหญ่มาก จากการสำรวจรวบรวมของเว็บไซต์ Dark Web News นั้นพบว่ามีตลาดยาเสพติดบนเว็บมืดอย่างน้อย 43 เว็บ (บางส่วนปิดตัวไปแล้ว) โดยเว็บไซต์จำนวนหนึ่งมีชื่อเสียงในที่สาธารณะ และมีเงินหมุนเวียนมหาศาล ลักษณะของเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากเว็บ e-commerce อย่างอีเบย์ หรืออเมซอนเลย เพียงแต่สินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นยาเสพติด สารเคมี บางเว็บมีบริการจัดส่งทั่วโลกอีกด้วย

ตลาดยาเสพติดบนเว็บมืดนั้นมีลักษณะของตลาดเสรีเต็มขั้น กล่าวคือเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างตัวบุคคลโดยตรง บางเว็บอาจจะเปิดในลักษณะของร้านค้าที่มีผู้ขายเป็นเจ้าของเว็บไซต์ บางเว็บก็เป็นเพียงตัวกลางในการสร้างพื้นที่ตลาดให้ผู้อื่นเข้ามาใช้บริการซื้อขาย อีกทั้งยังมีการคัดกรองผู้ใช้ด้วยการใช้ระบบ “เชิญชวน” (invitation) สำหรับคนที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ

สินค้าที่ขายในเว็บไซต์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเมทแอมเฟตามีน, แอมเฟตามีน, โคเคน, เฮโรอีน, กัญชา, เคตามีน, แอลเอสดี รวมทั้งสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาท ความน่าสนใจอยู่ที่บางเว็บนั้นผู้ขายอ้างว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเภสัชกรรมและสารเคมีโดยตรง แต่จะจริงหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จากการสังเกตเพียงอย่างเดียว การแลกเปลี่ยนในเว็บลักษณะนี้จึงต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการหลอกลวง

หนึ่งในเว็บไซต์ตลาดยาเสพติดที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก คือกรณีที่ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Silk Road ถูกจับดำเนินคดีได้ในปี 2013 หนึ่งในข้อหาที่เขาได้รับก็คือมีส่วนร่วมในการฆาตกรรมหนึ่งในทีมงานเว็บไซต์ แสดงให้เห็นว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัยนัก

เว็บ Silk Road ก่อตั้งโดยชายชาวนิวยอร์คที่ชื่อว่า Ross Ulbricht  ในปี 2011 และถูกปิดนับตั้งแต่ที่ Ulbricht โดนจับดำเนินคดีในปี 2013 โดย Silk Road 2.0 กลับมาให้บริการอีกในปี 2014 และถูกปิดอีก ส่วนปัจจุบันเป็น Silk Road 3.0 ที่ยังให้บริการตามปกติ นอกจากยาเสพติดแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนของผิดกฎหมายชนิดอื่นด้วย

 

ภาพจากเว็บไซต์ Silk Road 3.0 สังเกตได้ว่าใช้บิตคอยน์ในการแลกเปลี่ยน

บริการซื้อขายหนังสือเดินทาง, วีซ่าและปลอมแปลงตัวตน (Fake ID and Citizenship) บริการนี้มีค่อนข้างมากในเว็บมืด เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถซื้อพาสปอร์ตของประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงสิทธิพลเมือง (ส่วนใหญ่จะเป็นสหรัฐอเมริกา) โดยเว็บเหล่านี้จะโฆษณาว่าสามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมได้จริง แต่ความน่าเชื่อถือจากเว็บเหล่านี้ก็ยังค่อนข้างต่ำและสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเสียเงินโดยไม่ได้อะไรกลับมา เพราะตรวจสอบได้ยากหากไม่ลองซื้อมาจริง ๆ

 

ภาพจากเว็บไซต์ Fake ID ซึ่งบริการขายพาสปอร์ตปลอมจากหลายประเทศ ในราคาที่ต่างกันไป

บริการฟอกเงินและบิตคอยน์ (Money Laundry Services) บริการฟอกเงินเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้บริการนำเงินที่ผิดกฎหมายไปเปลี่ยนเป็นเงินสะอาดได้ โดยเฉพาะสกุลเงินบิตคอยน์ โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนตัวเงินกัน ซึ่งจะทำให้การสืบย้อนไปยังบัญชีของเงินเหล่านี้ทำได้ยากมาก จากที่ยากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ภาพจาก Easy Coin เว็บบริการฟอกเงินและแลกเปลี่ยนบิตคอยน์

บริการลอบสังหาร, ฆาตกรรมและทำร้ายร่างกาย (Hit man and Assassination) บริการนี้เป็นการรับจ้างลอบสังหาร หรือทำร้ายร่างกายเป้าหมายที่ผู้ใช้บริการกำหนด โดยค่าใช้จ่ายนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และวิธีการ เช่น ลอบสังหารนักการเมืองราคาก็จะสูงกว่าคนธรรมดา หรือทำร้ายร่างกายก็จะราคาต่ำกว่า ตามแต่ความยากง่ายของภารกิจ

บริการนี้มีอยู่ทั่วไปในเว็บมืด แต่ความคิดเห็นจากนักท่องเว็บมืดล้วนลงความเห็นกันว่าเป็นเรื่องหลอกหลวง กล่าวคือพอจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดการลอบสังหารจริง ตัวอย่างที่โด่งดังคือกรณีการฉ้อโกงของเว็บ Besa Mafia ที่ออกมาคุกคามนักกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเขาได้พยายามเปิดโปงการหลอกลวงของเว็บไซต์นี้ สุดท้ายแล้วเว็บไซต์ของ Besa Mafia ก็ถูกแฮ็คเกอร์นิรนามเข้าไปเจาะระบบ จนต้องปิดบริการไปในที่สุด

หน้าเว็บไซต์ของ Besa Mafia หลังจากมีคนอ้างว่าสามารถเจาะระบบเข้าไปได้ ข้อความที่แสดงอยู่บอกไว้ว่าบริการของเว็บนี้เป็นเรื่องหลอกลวง และทำเงินไปได้ราว 100 บิทคอยน์

บริการซื้อขายบัญชีธนาคาร และบัตรเครดิต (Stolen Account and Credits) เป็นอีกหนึ่งบริการที่ค่อนข้างแพร่หลายในเว็บมืด มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ และยังเป็นบริการที่สามารถพบเห็นได้บนเว็บไซต์ทั่วไปด้วย บัญชีที่มักจะนำมาขายก็คือบัญชีจาก Pay pal หรือธนาคารออนไลน์อื่นๆ  รวมทั้งตัวบัตรเครดิตที่ถูกขโมยมา แต่ข้อแตกต่างระหว่างเว็บไซต์เหล่านี้ที่อยู่ในเว็บมืดกับเว็บไซต์ทั่วไป ก็คือเว็บมืดจะมีความเป็นมืออาชีพสูงกว่า

หน้าเว็บไซต์ Clone Card Crew ที่เสนอขายบัตรเครดิตที่ถูกขโมยมา

ตลาดอาวุธ (Weapon Markets) อาวุธเป็นอีกรายการที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างผิดกฎหมายในเว็บมืด เนื่องจากในโลกจริงนั้นการครอบครองอาวุธนั้นมีความยุ่งยาก และต้องดำเนินการทางกฎหมายหลายขั้นตอน รวมถึงมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมายที่ผู้ครอบครองต้องมี การซื้ออาวุธเถื่อนจึงเป็นอีกทางเลือกที่คนมักจะใช้เมื่อต้องการอาวุธมาไว้ในครอบครอง การซื้อขายอาวุธในเว็บมืดนั้นมีความหลากหลายของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นปืนชนิดต่างๆ กระสุน และอุปกรณ์เสริม

หน้าเว็บไซต์ Guns Dark Market ที่เสนอขายอาวุธและอุปกรณ์เสริม

อีเมล์ลวง (Phishing e-Mail) อีเมล์ลวง หรือฟิชชิ่ง เป็นระบบการหลอกลวงประเภทหนึ่งที่แพร่หลายกันมากในหมู่แฮ็คเกอร์ที่ประสงค์ร้าย ลักษณะการทำงานของฟิชชิ่งคือการส่งอีเมล์ที่ปลอมเป็นหน่วยงานต่าง ๆ (ส่วนมากคือธนาคาร) โดยทำการล่อหลอกให้ผู้รับเมล์คลิกเข้าหน้าเว็บที่มีการปลอมแปลงขึ้นมาจนเหมือนกับเว็บของหน่วยงานนั้นจริง ๆ และเมื่อผู้ที่โดนหลอกหลงเชื่อ กรอกข้อมูลลงไป ข้อมูลของพวกเขาก็จะถูกขโมยไปได้อย่างง่ายดาย แม้ว่า ฟิชชิ่งเกิดขึ้นเป็นปกติบนเว็บไซต์ทั่วไป แต่ในเว็บมืดทำให้การหลอกลวงนั้นเป็นไปได้ง่ายกว่า จึงเป็นภัยที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง

การค้ามนุษย์ (Human Trafficking) การค้ามนุษย์ในเว็บมืดนั้นมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องหลอกลวง เว็บที่เสนอขายสินค้าที่เป็นมนุษย์นั้นมีอยู่จริงในเว็บมืด แต่การพิสูจน์เรื่องดังกล่าวก็ทำได้ยาก เพราะว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ถ้าไม่ลองใช้บริการเสียก่อน จากความพยายามสำรวจของผู้ใช้เว็บมืดนั้น พบว่า เว็บไซต์ที่ชื่อว่า “Black Death”  เสนอขายสินค้าที่เป็นมนุษย์จริง ๆ มีการให้ข้อมูล และรูปถ่ายของสินค้า แต่จากการสืบค้นก็พบว่ารูปภาพดังกล่าวเอามาจากสื่อลามกอย่างหนังโป๊ ทำให้พอจะคาดเดา ได้ว่าเป็นเพียงแค่การหลอกลวงเท่านั้น โดยปัจจุบัน เว็บไซต์ Black Death ก็งดบริการอย่างไม่มีกำหนด  และยังไม่พบเว็บไซต์อื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน

ปัญหาสำคัญของบริการผิดกฎหมายในเว็บมืดก็คือ เราไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าบริการเหล่านั้นเป็น การหลอกลวงหรือไม่ นอกเสียจากว่าจะลองใช้บริการจริง ๆ และถึงจะเป็นเรื่องหลอกลวงก็ยังยากมากที่จะมีคนมาบอกว่าตัวเองโดนหลอก เว็บมืดจึงเป็นพื้นที่ที่คนไม่กล้าพูดความจริง เพราะจะสร้างภาพลักษณ์ที่ ไม่ดีให้กับพวกเขา รวมถึงอาจจะโดนดำเนินคดีทางกฎหมายได้ด้วย

นอกจากนี้จากการสอบถาม ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ยังไม่มีกรณีที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ในไทยที่เกี่ยวข้องกับเว็บมืดโดยตรง เนื่องจากสาเหตุหลักคือเหตุการณ์ต่างๆในเว็บมืด มักจะไม่ถูกเปิดเผยผ่านสาธารณะเลย

เสรีภาพและของดีในเว็บมืด

เว็บมืดถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่กฎหมายไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ดังนั้นแล้วข้อมูลผิดกฎหมายจึงมีจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่การแสดงออกเป็นไปได้อย่างเสรี จึงมีชุมชนมากมายที่เข้ามารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเรื่องที่ไม่สามารถทำในที่สาธารณะได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีอันตรายอีกหลายรูปแบบเช่น ไวรัส, มัลแวร์, หนังสือที่สอนเกี่ยวกับการใช้อาวุธ, ข้อมูลลับของรัฐบาลหรือเหล่าคนดัง, รหัสผ่านที่ได้มาจากการแฮ็ค, สื่อลามกเด็ก รวมทั้งอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถเผยแพร่ในเว็บไซต์ทั่วไป

อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของการใช้เว็บมืดก็คือ การแสดงออกด้านอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น กรณีของเว็บไซต์ Silk Road ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แฝงอุดมการณ์ทางการเมืองเอาไว้ เนื่องจากผู้ก่อตั้งพยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองของเขาควบคู่ไปด้วย ลักษณะสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์เหล่านี้แตกต่างจากร้านค้าออนไลน์ทั่วไปคือมีสิ่งที่เรียกว่า “กระดานสนทนา” ที่เอาไว้แลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์มากมายที่ใช้พื้นที่ของเว็บมืดในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะพวกแนวคิดอิสระนิยม (Libertarian) และกลุ่มอนาธิปไตย (Anarchism)

เว็บมืดยังเต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ เอกสารที่มีประโยชน์ เช่น ห้องสมุดออนไลน์ที่รวบรวมหนังสือหายากไว้มากมาย คู่มือต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สถานีวิทยุที่เน้นเปิดเพลงแปลก ๆ หายากที่อาจจะหาฟังไม่ได้ตามเว็บไซต์ทั่วไป  แหล่งข้อมูลความรู้เฉพาะทาง เอกสารหายาก หรือเก่าแก่ ชุมชนแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นแบบเฉพาะทาง บริการอีเมล์ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยขั้นสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในเว็บมืดปะปนไปกับบริการผิดกฎหมายที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่าให้เว็บมืดทำร้ายตัวเอง

สิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บทั่วไปหรือเว็บมืด ก็คือการที่ผู้ใช้ต้องตระหนักรู้ถึงการหลอกลวงและภัยอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง และรู้วิธีป้องกันภัยเหล่านั้นด้วย

เมื่อใครก็ตามที่เข้าใช้เว็บมืดผ่านทางเครือข่าย TOR ย่อมถูกปกปิดตัวตนอย่างแน่นหนา และเป็นไปได้ยากที่จะถูกสอดส่องว่าคุณเป็นใครในโลกจริง ซึ่งแน่นอนว่าเราก็จะไม่มีทางรู้ว่าคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยในเว็บมืดนั้นเป็นใครมาจากไหน การจะทำธุรกรรมใด ๆ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงิน จะต้องมั่นใจว่าไม่ถูกหลอกลวง เพราะเราจะเอาผิดใครไม่ได้ และอีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวังคือ เราอาจจะได้รับไวรัสคอมพิวเตอร์ที่แฝงตัวอยู่บนเครือข่ายโดยไม่รู้ตัว

มัลแวร์ และสปายแวร์เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ควรระวังอย่างมากระหว่างการท่องเว็บมืด เนื่องจากมีมัลแวร์กระจัดกระจายอยู่มากมาย หนึ่งในประเภทมัลแวร์ที่โด่งดังและมีความอันตรายมากอย่าง “มัลแวร์เรียกค่าไถ่” (Ransomware) ก็ล้วนฝังตัวอยู่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ในเว็บมืดเช่นกัน

สุดท้ายแล้ว เว็บมืดก็เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายอยู่ในตัว คือมีทั้งส่วนที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ และส่วนที่ผู้ใช้สามารถหาประโยชน์จากมัน โดยที่ไม่อาจจะหาได้จากเว็บไซต์พื้นผิว การใช้เว็บมืดจึงไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์เสมอไป แต่เมื่อเราสามารถเข้าถึงเว็บมืดได้แล้ว หมายความว่าเราก็มีโอกาสที่จะพบเจอหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ไปจนถึงภัยอันตรายที่เราอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้น การรู้เท่าทันเว็บไซต์เหล่านี้จึงสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น

 

*การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์  นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาชัยเชียงใหม่

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: คำแนะนำเรื่อง 'Bitcoin' จาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: