ในโลกที่เปลี่ยนแปลงสื่อแบบเก่าไม่ได้หมายความถึงกาลหมดสมัยลง ความเป็นมืออาชีพในด้านเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ มุมมองอันเฉียบคมล้วนไม่ใช่เรื่องที่ฝึกกันได้ง่ายนัก สิ่งเหล่านี้ยังเป็นจุดแข็งสำคัญของนักสื่อสารมวลชน แม้จะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของการ Live อย่างสะดวกสบาย แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือย่อมมีความแตกต่างจากการ Live สดทั่ว ๆ ไป
ที่มาภาพประกอบ: Steve Mays (CC BY-NC-ND 2.0)
พลันที่ Facebook อนุญาตให้คนธรรมดาสามัญอย่างเราท่านสามารถถ่ายทอดสดหรือ live ได้ จากเดิมที่เป็นฟีเจอร์เปิดเฉพาะสำหรับบรรดาเซเลปเท่านั้น นี่คือสัญญาณที่กำลังบ่งบอกอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า โลกของการสื่อสารกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ แน่นอนว่า ผลตอบรับของมันย่อมไม่ธรรมดาและดูเหมือนกำลังเป็นไปดังที่ Mark Zuckerberg เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2014 ในงาน Community Town Hall Q And A session ว่า “อีก 5 ปีข้างหน้า คอนเทนท์ส่วนใหญ่ใน Facebook จะเป็นวิดีโอ” ปัจจุบันคนไทยมีบัญชี Facebook ราว 37 ล้านคน การ live จึงหมายถึงอนาคตการสื่อสาร นั่นคือ ปริมาณคลิปวีดีโออันมหาศาลซึ่งจะถูกผลิตขึ้นโดยประชากรเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศของเราเลยทีเดียว
ในด้านการสื่อสาร นัยยะที่ซ่อนอยู่ คือสัญญาณเตือนไปถึงการสื่อสารในรูปแบบเดิม ไม่ว่าสิ่งพิมพ์ที่ชัดเจนขึ้นทุกทีว่าถึงเวลาต้องปรับตัว เช่นเดียวกับสื่อโทรทัศน์ที่เคยโดดเด่นมาหลายทศวรรษ แต่สำหรับอนาคตอันใกล้นี้คงไม่ใช่อีกแล้ว การออกอากาศที่เป็นโลกของความรู้เฉพาะทาง เทคโนโลยี กระบวนการผลิตอันซับซ้อน และผู้คนที่ต้องเกี่ยวข้องมากมาย ถึงเวลาลดทอนลงสู่ความง่าย การทยอยล้มหายตายจากของช่องทีวีดิจิตอลที่แม้เพิ่งมาใหม่และผ่านลงทุนอย่างคึกคักคือภาพสะท้อนอันเด่นชัด ซึ่งในช่วงเวลาไม่กี่ปีกลับพบว่าประสบปัญหาอย่างหนัก จนท้ายที่สุดยังยากคาดเดาว่าจะเหลือยืนหยัดเหลือรอดกี่ช่อง แต่ในทางตรงกันข้าม การเกิดใหม่ของ Facebook live กลับกำลังถูกนำมาใช้งาน ‘ออกอากาศ’อย่างคึกคัก ไม่ว่าในทางการเมือง บันเทิง กีฬา วงเสวนา หรือกระทั่งเป็นคู่มือ How to ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความใหม่และเก่ายังไม่แน่เสมอไป อะไรจะเป็นสิ่งชี้ขาดว่า ‘สาร’ ในการสื่อสารและเครื่องมือใหม่จะมีพลังทางการสื่อสาร เพราะในโลกที่กระบวนการผลิตทำได้ง่ายเพียงแค่ซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ บวกการติดตั้งแอพลิเคชั่นบางตัว เนื้อหาจำนวนมหาศาลจะพร้อมหลั่งไหลสู่ผู้รับชมที่มีโทรศัพท์หรือช่องรับอยู่กับตัว ซึ่งปัจจุบันจำนวนของโทรศัพท์มือถือมีมากกว่าจำนวนประชากรของประเทศเสียอีก ดังนั้น สิ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยความสำเร็จของการสื่อสารจึงไม่ใช่แค่การมี ‘ช่อง’ เพื่อออกอากาศเหมือนการมีสื่อโทรทัศน์ในมือเท่านั้น แต่ท่ามกลางโลกของข้อมูลอันมหาศาลนี้ การบริหารจัดการ Network หรือเครือข่ายน่าจะปัจจัยกำหนดการกระจายข้อมูลได้ดีกว่า
ความเด่นดังของบุคคล/เพจที่สามารถสร้างการติดตามได้ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยกำหนดเป้าหมายของการสื่อสารได้ เนื่องจากมีลักษณะของการรวบรวมข้อมูลหรือมีเครือข่ายไว้ในมือ ยิ่งมีจำนวน ‘เชิงปริมาณ’ มหาศาล จะยิ่งได้เปรียบทั้งในแง่ของการสื่อสารแบบกระจายหรือจะเป็นการวิเคราะห์คัดกรองเพื่อสื่อสารให้ตรงเป้า ลักษณะนี้เป็นจุดเด่นให้แอพพลิเคชั่นหรือโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คหลายตัวประสบความสำเร็จด้วยลักษณะของการสร้าง platform ที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้เอาไว้ แม้ว่าจะไม่เปิดเผยหรือผู้ใช้ไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสาร เพราะการกำหนดกลยุทธเพื่อสร้างฐานข้อมูลหรือสร้างการติดตามได้มากพอ หมายถึง โอกาสของสารที่จะสื่อไปถึงได้ การมีฐานเครือข่ายเชิงปริมาณจะเป็นจุดแข็งใหม่ของผู้ผลิตสื่อในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการ live เพื่อกระตุ้นเตือนว่าฉันกำลังออกอากาศอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปเพียงใด เนื้อหาที่ดียังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าในรายละเอียดอาจอาจแตกต่างไปจากเดิม เช่น การปรับเนื้อหาให้เข้ากับ Platform ของมือถือถือ ความเคยชินกับการสไลด์ขึ้นลงซ้ายขวา ใช้การกวาดผ่านตาอย่างรวดเร็ว การทำให้เนื้อหาสะดุดตาในขั้นแรก หรือความสั้นกระชับจะเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
การกำกับดูแลจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างข้อถกเถียงจากการปรากฏตัวของ Facebook live กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเช่น การสาธารชนตั้งคำถามอย่างหนักกับสื่อถึงการถ่ายทอดสดผ่านมือถือในการเจรจาของเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องหาหลบหนีคดีสังหารอาจารย์ร่วมสถาบันและขู่ฆ่าตัวตาย ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้สังหารชีวิตตนเองไปจริง ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวถูกนำมาถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live อย่างไร้วิจารณญาณที่ต้องใส่ใจในประเด็นละเอียดอ่อน จนเกิดเป็นคำถามต่อหน้าที่สื่อยุคใหม่ภายใต้ความเร็วที่การกำกับดูแลยังไปไม่ถึง ซึ่งคำถามนี้ยังล่วงล้ำไปถึงระดับจริยธรรมที่เคยกำหนดเป็นจรรยาบรรณหรือสถานะสูงส่งของสื่อสารมวลชนในอดีต ทั้งยังสะเทือนไปถึงความเข้มแข็งในการกำกับดูกันเองของสมาคมวิชาชีพสื่อต่าง ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้วต่อการรองรับปรากฏการณ์เหล่านี้ สิ่งที่ถึงเวลาทบทวนกันใหม่คือ การเปิดรับต่อแนวคิดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นพลเมืองที่สื่อพลเมืองเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะนำเสนอสารนั้นจะเป็นในรูปแบบ live หรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ การมุ่งหน้าไปสู่แนวคิดพื้นฐานของความเป็นพลเมืองอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนสิทธิ หรือสิทธิของปัจเจกบุคลให้กลายเป็นเรื่องทั่วไป เหล่านี้ล้วนเป็นหลักกำกับทางจริยธรรมโดยการรวมกลุ่มเพื่อกำกับแบบเดิมอาจลดความจำเป็นลง หากแต่ควรมีบทบาทที่เป็นไปในการสนับสนุนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางความคิดและแสดงออกเสียมากกว่า
ทั้งนี้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงสื่อแบบเก่าไม่ได้หมายความถึงกาลหมดสมัยลง ความเป็นมืออาชีพในด้านเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ มุมมองอันเฉียบคมล้วนไม่ใช่เรื่องที่ฝึกกันได้ง่ายนัก สิ่งเหล่านี้ยังเป็นจุดแข็งสำคัญของนักสื่อสารมวลชน แม้จะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของการ Live อย่างสะดวกสบาย แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือย่อมมีความแตกต่างจากการ Live สดทั่ว ๆ ไป
การที่สื่อแบบเก่าจะอยู่รอดหรือไม่ในโลกที่เปลี่ยนไป ข้อมูลข่าวสารที่หาเสพได้ง่าย การแก่งแย่งคนดูกัน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่การรักษามาตรฐานและหลักการของตนไว้ให้มั่นไม่ตกหล่น เหมือนที่หลายสื่อต่างทำหลุดหายไปหมดหลังความโกลาหลทางการเมืองไทยในรอบทศวรรษนี้ต่างหากที่น่ากลัวเสียมากกว่า
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ