กรมการค้าภายในเผย 5 เดือน ประชาชนแห่ร้องถูกเอาเปรียบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 3461 ครั้ง

กรมการค้าภายในเผย 5 เดือน ประชาชนแห่ร้องถูกเอาเปรียบ

สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ประชาชนแห่ร้องถูกเอาเปรียบ 5 เดือนแรกพุ่ง 864 เรื่อง หมวดอาหารและเครื่องดื่มมาอันดับ 1 โวยไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายปลีกมากสุด

เว็บไซต์ ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่า นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยถึงการร้องเรียนของประชาชนผ่านสายด่วน 1569 ของกรมการค้าภายในว่า ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มียอดร้องเรียน 864 คำร้อง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 726 คำร้อง โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มมียอดร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 มีประชาชนโทร.มาร้องเรียนจำนวน 449 คำร้อง รองลงมาคือหมวดของใช้ส่วนบุคคล 51 คำร้อง หมวดเกษตรกรรม 49 คำร้อง หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 46 คำร้อง และหมวดบริการ 44 คำร้อง

ทั้งนี้ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ผู้ค้าไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีกมีจำนวน 418 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนอยู่ในกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม เนื้อสุกรชำแหละ นํ้าดื่ม ผัก ผลไม้ บุหรี่ ก๊าซหุงต้ม บริการแต่งผมสุภาพบุรุษและสตรี บริการซ่อมรถ เป็นต้น นอกจากนี้เป็นเรื่องแสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาที่จำหน่ายจริง 115 เรื่อง เช่น อาหารปรุงสำเร็จ ก๊าซหุงต้ม ถ่านไฟฉาย อัญมณี เครื่องสำอาง แปรงแต่งหน้า รองเท้า โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ขณะที่ร้องเรียนจำหน่ายราคาแพง 105 เรื่อง ความผิดตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด 89 เรื่อง เช่น ใช้เครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐาน นํ้าหนักขาด ชำรุด ปรับแต่งเครื่องชั่ง ใช้หัวจ่ายไม่ได้มาตรฐาน ปริมาณไม่เต็มลิตร เป็นต้น และร้องเรียนราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า 27 เรื่อง

“ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบแบบปูพรมทั่วประเทศ โดยในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจรวม 10 สาย และยังมีสายตรวจเฉพาะกิจออกตรวจสอบทันทีหากมีการร้องเรียนมา”

สำหรับอัตราโทษ หากตรวจสอบพบผู้ค้ากระทำผิดไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า หรือค่าบริการ หรือการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือแสดงไว้ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย หรือค่าบริการที่เรียกเก็บ เป็นความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ส่วนกรณีกระทรวงพลังงานประกาศปล่อยลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีทั้งระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป จากการวิเคราะห์ต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม พบว่าอาจทำให้อาหารปรุงสำเร็จมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 12 สตางค์ต่อถัง ดังนั้นจะไม่มีผลกระทบต่อราคาอาหารปรุงสำเร็จปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปดูแลกรณีผู้ผลิตสินค้า และห้างค้าปลีกมีการขึ้นราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคทางอ้อมโดยการลดปริมาณและขนาดบรรจุภัณฑ์แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ทั้งนี้หากจะมีการปรับลดขนาดผู้ประกอบการจะต้องแจ้งราคาขายใหม่มายังกรมการค้าภายในเพื่อตรวจสอบต้นทุนภายใน 15-30 วันก่อนนำไปวางจำหน่ายจริง เพื่อไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค อย่างไรก็ดีในส่วนของการขอปรับราคาสินค้าของผู้ประกอบการขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในว่ามีรายใดยื่นขอปรับราคา

นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า แม้เวลานี้ราคาข้าวสารในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาข้าวเปลือก ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวถุงมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 20% (กรณีข้าวใหม่) แต่สถานการณ์ราคาข้าวถุงในขณะนี้ยังทรงตัว เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวที่ผู้ประกอบการใช้กิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น การเพิ่มปริมาณข้าว หรือซื้อ 2 แถม 1 เป็นต้น จากการแข่งขันที่สูงมีผลให้ราคาข้าวถุงในขณะนี้มีแนวโน้มลดลงจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยราคาข้าวถุงหอมมะลิอยู่ที่บวก/ลบ 200 บาทต่อขนาด 5 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นราคาจัดโปรโมชันเฉลี่ยอยู่ที่ 140-150 บาท ส่วนข้าวขาว 5% เฉลี่ยบวก/ลบ 100 บาท และราคาโปรโมชัน 60-70 บาทต่อ 5 กิโลกรัม

“การปรับขึ้น-ลงของราคาข้าวถุงผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องแจ้งไปที่กรมการค้าภายในเพราะไม่มีราคาเพดานสูงสุด กรมมีหน้าที่เพียงสอดส่องดูแลราคาเท่านั้น ซึ่งข้าวที่ผู้ประกอบการนำมาผลิตข้าวถุงจะมีต้นทุนที่แตกต่างกันขึ้นกับการบริหารจัดการสต๊อกว่าซื้อข้าวในช่วงไหนมา”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: