ฮีโร่ผู้ทำงานด้าน HIV และ LGBT ในเอเชียแปซิฟิก เข้ารับรางวัลในงานกาล่า ณ กรุงเทพฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 2578 ครั้ง

ฮีโร่ผู้ทำงานด้าน HIV และ LGBT ในเอเชียแปซิฟิก เข้ารับรางวัลในงานกาล่า ณ กรุงเทพฯ

ฮีโร่ผู้เรียกร้องความเท่าเทียมในการแต่งงาน การป้องกันเชื้อเอชไอวี สิทธิ์ของคนข้ามเพศ และสุขภาพชุมชน เป็น 4 ใน 8 บุคคลและองค์กรที่ได้รับมอบรางวัลในงาน HERO Awards ซึ่งเป็นงานกาล่าระดมทุนที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ 

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีงานมอบรางวัล HERO Awards ซึ่งย่อมาจาก HIV (เอชไอวี) Equality (ความเสมอภาค) และ Rights (สิทธิ์) จัดขึ้นเพื่อเชิดชูผลงานที่โดดเด่นในการรับมือกับปัญหาเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและการทำงานเพื่อกลุ่มหญิงรักหญิงหรือเลสเบี้ยน (Lesbian) ชายรักชายหรือเกย์ (Gay) คนรักสองเพศ (Bisexual) และคนข้ามเพศ (Transgender) หรือที่เรียกว่า “LGBT” ในภูมิภาคนี้

แขกผู้มีเกียรติกว่า 300 ท่านเข้าร่วมงานอันทรงเกียรติในครั้งนี้ ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งงานนี้จัดขึ้นเพื่อฉลองการครบรอบ 10 ปีของมูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนทำงานด้าน HIV และ LGBT ชั้นนำในภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น งานนี้ยังมีการระดมทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานที่สำคัญของมูลนิธิแอ็พคอมในการให้ความรู้ การป้องกัน การรักษา การดูแล และการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาเอชไอวี รวมไปถึงการรณรงค์สิทธิมนุษยชนด้วย

ผู้ได้รับมอบรางวัลได้รับการคัดเลือกจากผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 21 ท่าน ซึ่งคัดเลือกจากผู้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลกว่า 350 ท่านจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนหนึ่งของผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ นายChi Chia-wei ชาวไต้หวันผู้ได้รับรางวัลในประเภทฮีโร่ของชุมชน (Community Hero) เป็นผู้เรียกร้องสิทธิ์ให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแต่งงานในประเทศไต้หวันจนประสบผลสำเร็จเมื่อไม่นานมานี้ นาย Khartini Slamah ชาวมาเลเซียผู้ได้รับรางวัลในประเภทฮีโร่ของคนข้ามเพศ (Transgender Hero) เป็นนักรณรงค์ผู้อุทิศตนทำงานในด้านสิทธิ์และสุขภาพของกลุ่มคนข้ามเพศมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ส่วนรางวัลฮีโร่ผู้ต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี (HIV Hero) เป็นของนาย Gautam Yadav อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นผู้รณรงค์ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและเป็นแบบอย่างให้กับคนที่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่อายุยังน้อยในประเทศอินเดีย

ในส่วนของตัวแทนจากประเทศไทย 2 ท่านที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ประพันธ์ ภาณุภา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยมาเป็นเวลานาน ได้รับรางวัลในประเภทพันธมิตรชุมชน (Community Ally) และ Dr Frits van Griensven ผู้อาศัยในประเทศไทย ได้รับรางวัลในประเภทฮีโร่เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Wellbeing Hero) จากการทำงานอันโดดเด่นในฐานะผู้วิจัยด้านเอชไอวีและผู้สนับสนุนสุขภาพชุมชน นาย Qasim Iqbal ชาวปากีสถาน ได้รับรางวัลในประเภทฮีโร่เพื่อความยุติธรรมในสังคม (Social Justice Hero) จากการเป็นผู้บุกเบิกสนับสนุนสิทธิ์และสุขภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศปากีสถาน และ Bandhu Social Welfare Society ได้รับรางวัลในประเภทองค์กรชุมชน (Community Organisation) จากผลงานอันโดดเด่นในการรับมือกับปัญหาเอชไอวี รวมถึงสุขภาพและสิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศบังคลาเทศ

นาย Ashok Row Kavi จากประเทศอินเดีย ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Shivananda Khan Award for Extraordinary Achievement เพื่อเป็นการยกย่องการทุ่มเททำงานเป็นผู้รณรงค์เรียกร้องสิทธิ์ให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและรับมือกับปัญหาเอชไอวีมาเป็นเวลากว่า 40 ปี มูลนิธิแอ็พคอมเป็นผู้มอบรางวัลนี้ให้ โดยตั้งชื่อตาม Shivananda Khan ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิแอ็พคอมและเป็นฮีโร่ผู้บุกเบิกการรับมือกับปัญหาเอชไอวี รวมถึงสิทธิ์และสุขภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

นายเดเด้ โอเอโตโม (Dédé Oetomo) ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาค (Regional Advisory Committee) มูลนิธิแอ็พคอม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลและยกย่องผู้เข้ารอบสุดท้ายทุกท่านสำหรับความสำเร็จและการดำเนินงานเพื่อชุมชน 

“งานในค่ำคืนที่ผ่านมาเป็นงานที่มีทั้งความสนุกสนานและจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี และเป็นการฉลองการร่วมแรงร่วมใจครั้งใหญ่ในชุมชนของเรา ผมอยากจะขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลมาให้กับเรา รวมไปถึงคณะกรรมการอิสระ ชุมชน และพันธมิตรในการจัดงานในครั้งนี้ ตลอดจนผู้ร่วมบริจาคในงานประมูลระดมทุน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมงานและให้การสนับสนุนงานของมูลนิธิแอ็พคอมโดยระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมและบริการต่างๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนของเรา” นายเดเด้ กล่าว

Details of the award recipients are below:

รายละเอียดผู้ได้รับรางวัล มีดังนี้

ผู้ได้รับรางวัล HERO Awards

ฮีโร่ของชุมชน (Community Hero): Chi Chia-wei (ไต้หวัน)

ผู้เดินหน้าเรียกร้องสิทธิ์ให้แก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากว่า 30 ปีโดยไม่มีความหวั่นเกรง รวมไปถึงการเดินเรื่องยาวนานหลายสิบปีเพื่อช่วยผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันออกกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในปีนี้  ซึ่งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่

ฮีโร่สำหรับคนข้ามเพศ (Transgender Hero): Khartini Slamah (มาเลเซีย)

ผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่กลุ่มคนข้ามเพศที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นผู้อุทิศตนทำงานด้านเอชไอวีในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติมากว่า 30 ปี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนกลุ่มคนข้ามเพศและผู้ขายบริการทางเพศ

ฮีโร่ผู้ต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี (HIV Hero): Gautam Yadav (อินเดีย)

เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการเป็นผู้รณรงค์และแบบอย่างผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่อายุยังน้อยในประเทศอินเดีย

ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice): Qasim Iqbal (ปากีสถาน)

ผู้ริเริ่มบุกเบิกงานด้านสุขภาพและสิทธิ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศปากีสถาน และเป็นผู้ยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้ติดเชื้อเอชไอวีในฐานะผู้ก่อตั้งเครือข่าย NAZ ระดับประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในชุมชน

สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Wellbeing): Dr Frits van Griensven (ประเทศไทย)

นักวิจัยด้านเอชไอวีที่มีผลงานโดดเด่นและผู้สนับสนุนสุขภาพชุมชน โดยมีส่วนสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พันธมิตรชุมชน (Community Ally): ศาสตราจารย์ ประพันธ์ ภาณุภา (ประเทศไทย)

นักวิจัยด้านเอชไอวีที่มีผลงานโดดเด่น ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยมายาวนาน และเป็นผู้ดำเนินงานที่ทุ่มเทให้กับชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี (ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม HIV+)

องค์กรชุมชน (Community Organisation): Bandhu Social Welfare Society (บังคลาเทศ)

มีผลงานโดดเด่นในฐานะผู้ดำเนินโครงการต่างๆ เกี่ยวกับเอชไอวี ผู้ให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนสำหรับชุมชนและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศบังคลาเทศซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล

Shivananda Khan Award for Extraordinary Achievement: Ashok Row Kavi

เป็นผู้นำในการสนับสนุนกลุ่มบุคคลและชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอินเดียมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ซึ่งเขาเป็นนักรณรงค์รุ่นบุกเบิกในช่วงปี 70, 80 และ 90 โดยใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการนักหนังสือพิมพ์ช่วยผลักดันความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอินเดียจนเป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้น เขาได้ก่อตั้งและเป็นผู้นำองค์กร Humsafar Trust ซึ่งเป็นองค์กรด้านเอชไอวีชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย โดยทุ่มเทไปที่การรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในชุมชนชายขอบที่มีความเปราะบาง นอกจากนั้น เขายังมีบทบาทสำคัญในการช่วยวางแผนการรับมือกับเชื้อเอชไอวีและสิทธิ์/สุขภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกโดยมีส่วนร่วมที่สำคัญในการสนทนาแลกเปลี่ยนและโครงการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญหลายโครงการในภูมิภาคนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: