ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าจากการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการขนส่งรถยนต์มือสองผ่านแดนอย่างต่อเนื่องจากที่มีการร้องเรียน ทำให้พบปัญหารถยนต์ตกค้างอยู่ในเขตประเทศไทยจำนวนมาก โดยมีการนำมาจอดพักตามแนวชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งที่ต้องนำผ่านแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเร็ว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ประกอบการมีการปฏิบัติทางศุลกากรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียภาษี และมีการทำเป็นกระบวนการค้ารถผิดกฎหมาย หรือลักลอบซื้อขายประมูล สวมสิทธิ หรือนำอะไหล่ออกมาขาย ซึ่งกรณีนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ และผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์มือสองมาปรับสภาพที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยจากข้อมูลผ่านแดนรถยนต์มือสองไปยังประเทศพม่าเดือนพฤศจิกายนปี 2558-กรกฎาคม ปี 2559 รวม 9 เดือน พบข้อมูลไม่ตรงกันระหว่างไทยกับพม่า โดยกรมศุลกากรระบุว่าได้ให้รถยนต์มือสองผ่านแดนส่งออกไปยังพม่า 34,834 คัน แต่เมื่อคณะกรรมาธิการฯ สอบถามไปยังประเทศพม่ากลับได้รับแจ้งว่ามีรถยนต์มือสองผ่านแดนที่ด่านศุลกากร อ.แม่สอด เพียง 2,082 คัน
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่าเรื่องสินค้าผ่านแดนเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน ซึ่งมาตรการที่กรมศุลกากรดำเนินการเป็นไปตามประกาศกำหนดให้ของผ่านแดนต้องส่งไปนอกราชอาณาจักรภายใน 90 วันนับแต่วันที่เข้ามา ถ้าไม่เอาของออกไป ก็ให้ถือว่าของนั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะดำเนินการกับของผ่านแดนทั้งหมดตามระเบียบว่าด้วยของตกค้าง ทั้งนี้จากการประสานงานกับด่านแม่สอด ได้รับรายงานว่า รถยนต์ผ่านแดนแม่สอดนั้น ขณะข้ามแดนจะมีการบันทึกภาพยานพาหนะในการขนส่งสินค้า ถ่ายภาพ และขูดตัวถังรถยนต์เก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันและตรวจสอบ ส่วนการควบคุมสินค้าที่อยู่ในคลัง ด่านให้เจ้าของคลังสินค้ารายงานเข้า-ออกสินค้าเป็นรายวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ถูกต้อง และยังจัดชุดป้องกันปราบปรามเพื่อสอดส่องลักลอบรถยนต์ออกจากคลังสินค้า มีจุดสกัดบริเวณบ้านห้วยหินสน ร่วมกับด้านความมั่นคงอื่น เพื่อไม่ให้ลอบนำสินค้าออกไปได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตได้มีการหารือกับกรมศุลกากรแล้วเบื้องต้นอาจมีการลดกำหนดเวลาให้ของผ่านแดนต้องส่งออกเหลือเพียง 30 วัน ยังไม่เอาออกก็จะจะนำไปขายทอดตลาด ส่วนการควบคุม จะทำให้สินค้าอยู่ในไทยสั้นลง รวมทั้งยังออกมาตรการอนุญาตคลังสินค้าที่มีอยู่กว่า 20 คลังสินค้า ซึ่งเป็นที่พักสินค้าให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และจะไม่อนุญาตให้ตั้งคลังสินค้าเพิ่มจากที่มีอยู่อีก ซึ่งขณะที่เส้นทางที่จะออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมี 2 เส้นทาง คือ 1. เส้นทางอย่างเป็นทางการบนสะพาน 2. เส้นทางอนุมัติชั่วคราวในเขตชนกลุ่มน้อย และพม่ามักมีปัญหาการปะทะตามแนวชายแดนเรื่องชนกลุ่มน้อย ซึ่งประมาณ 90% เป็นการออกโดยผ่านเส้นทางชั่วคราวทำให้ตัวเลขอาจจะคลาดเคลื่อนเพราะตัวเลขที่ไม่เป็นทางการฝั่งพม่าคงไม่นำมาตรวจสอบ แต่จากนี้ไปสต๊อกที่อยู่ในคลังข้อมูลต้องตรงกัน
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: wikimedia.org
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ