ดันสร้าง 'โรงไฟฟ้าเบตง' แม้เสาไฟ-สายส่งคือเป้าระเบิด!?

ทีมข่าว TCIJ : 17 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 9585 ครั้ง

รัฐบาลผลักดัน ‘โรงไฟฟ้าเบตง’ ตามนโยบาย ‘เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ หวังสร้างความมั่นคงพลังงานหลังเสาไฟฟ้าและสายส่งถูกวินาศกรรมบ่อย พบต้นทุนก่อสร้างสูงกว่าที่อื่นเพราะมีค่าเสี่ยงภัยก่อการร้าย-ค่าประกัน ช่วงหลังกลุ่มคนร้ายวางระเบิดระบบไฟฟ้าผลรุนแรงมากขึ้น ตั้งคำถามหากมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ฝ่ายความมั่นคงจะปกป้องยังไง

‘โรงไฟฟ้าชุมชน’ หนึ่งในแผน 'สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน'

ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าผลักดันโครงการ ‘เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่และผลักดันให้เศรษฐกิจแต่ละจังหวัดขยายตัว ซึ่งตามโครงการนี้รัฐบาลได้ไฟเขียวให้ ‘เร่งเครื่อง’ สร้าง ‘โรงไฟฟ้าชีวมวล’ อย่างน้อย 2 แห่งที่ อ.เบตง จ.ยะลา โดยระบุว่าจะพัฒนาให้ อ.เบตง เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

หนึ่งในเหตุผลการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ อ.เบตง ก็คือเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยนายอำเภอเบตง ระบุว่า จากการที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน แต่ อ.เบตง มักจะเจอปัญหาเรื่อง 'ไฟฟ้าดับ' สร้างผลกระทบกับประชาชน ทั้งด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและความมั่นคง ตัวอย่างจากการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าหลายจุดในพื้นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อปี 2558 ได้ส่งผลให้สายไฟฟ้าชำรุดเสียหายจนไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปยัง อ.เบตง ได้ จากจุดนั้นเองที่นายอำเภอเบตงระบุว่าในพื้นที่ไม่มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทยอยออกจากพื้นที่จำนวนมาก แม้ในพื้นที่อำเภอเบตงจะสงบสุขไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง และมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งก็ตาม หากไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน ก็ไม่มีใครอยากเข้าไปเที่ยวและลงทุน (อ่านเพิ่มเติม: “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ความมั่นคงทางพลังงานของเมืองเบตง จังหวัดยะลา)

ระบบไฟฟ้า อุปสงค์และอุปทาน พื้นที่ อ.เบตง ในปัจจุบัน

 
สถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์ ที่มาภาพ: สฟฟ.ยุพราชันย์ เบตง

ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระบุว่าในเขตพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา รับไฟฟ้าจาก สถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์ (115/33 kV) ของ กฟภ. ซึ่งอยู่ห่างจากตัว อ.เบตง ไปทาง จ.ยะลา ประมาณ 7 กม. ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 25 MVA ทำหน้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าจากระดับแรงดัน 33 kV จำนวน 4 วงจร สถานีจ่ายไฟฟ้าแห่งนี้รับกระแสไฟฟ้ามาจากระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่สถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยบางลาง ด้วยสายส่งระดับแรงดัน 115 kV ระยะทางประมาณ 55 กม. โดยมีช่วงหนึ่งที่ไม่ได้พาดไปตามแนวถนน แต่เป็นลักษณะ Cross Country ก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กระยะทางประมาณ 23 กม. นอกจากนี้ หากสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์มีปัญหาไม่สามารถจ่ายไฟได้นั้น การรับไฟฟ้าของ อ.เบตง จะไปรับไฟฟ้าบางส่วนจากสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยบางลางแทน ซึ่งสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยบางลางติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาด 7.5 kVA จำนวน 2 เครื่อง มีวงจรจ่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงกับสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์ จำนวน 2 วงจร ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าในปี 2558 อ.เบตง มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 59.697 ล้านหน่วย และความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่ 13 เมกะวัตต์ ส่วนการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของ อ.เบตง ในปี 2568 จะอยู่ที่ระหว่าง 19.45-22.14 เมกะวัตต์ (อ่านเพิ่มเติม จับตา: พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด อ.เบตง ปี 2561-2568)

 

ดัน ‘โรงไฟฟ้าเบตง’ เพื่อความมั่นคงพลังงานในพื้นที่?

เนื่องจาก อ.เบตง มีเส้นทางเข้าไปยังพื้นที่ได้เพียงทางเดียว (จากประเทศไทย) และมีระบบสายส่งของ กฟภ. เข้าไปเพียงเส้นทางเดียว ซึ่งบางช่วงต้องพาดผ่านแนวต้นไม้หนาแน่นตามเส้นทางป่าเขา ทำให้เกิดไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง จากรายงานสถิติกระแสไฟฟ้าขัดข้องของ กฟภ. รอบปี 2558 พบว่าใน อ.เบตง มีค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบไฟฟ้าขัดข้อง (System Average Interruption Frequency Index: SAIFI) 8.13 ครั้งต่อรายปี และค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบไฟฟ้าขัดข้อง (System Average Interruption Duration Index: SAIDI) 212.41 นาทีต่อรายครั้งต่อครึ่งปีแรก รวมถึงปัญหา ‘การก่อความไม่สงบ’ ในพื้นที่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เบตง เป็นอย่างมาก

ข้อมูล ณ พ.ย. 2559 กฟภ. มีแผนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เบตง อาทิเช่น การติดตั้ง Generator ขนาด 1 MW จํานวน 7 เครื่องในพื้นที่ (อนุมัติหลักการแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการทำ TOR), การเตรียมก่อสร้างสายส่ง 115 KV แนวริมถนนเสริมช่วง Cross Country ระยะทางประมาณ 50 กม. ใช้งบประมาณก่อสร้าง 321 ล้านบาท (กฟภ.อยู่ระหว่างนำเสนอเพื่อขออนุมัติโครงการ) การทบทวนการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียใหม่ [แม้จะเคยเคยมีการเสนอแล้ว แต่ก็มีการปัดตกไปโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีความเหมาะสมในการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย เนื่องจากยังไม่คุ้มค่า โดยเห็นควรให้สร้างระบบไมโครกริด (Micro grid) พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) แทน] รวมถึงการบรรจุแผนงานพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก ระยะที่ 1 ไว้ในการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินการช่วงปี 2561-2564 โดยในพื้นที่ อ.เบตง มีแผนที่จะติดตั้งไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงาน ฯลฯ วงเงินงบประมาณ 355 ล้านบาท (กฟภ. อยู่ระหว่างนำเสนอแผน)

นโยบายที่สำคัญในความพยายามสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับ อ.เบตง คือการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบชีวมวลของ ‘บริษัท เบตง กรีน เพาเวอร์ จำกัด’ ขนาด 7 เมกะวัตต์ และของ ‘บริษัท พี.ซี.เบตง กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด’ ขนาด 5 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับ กฟภ. ไว้แล้ว ซึ่งจาก รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ) เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ระบุถึงรายละเอียดของทั้ง 2 โครงการไว้ดังนี้

ที่ตั้งโครงการของบริษัท เบตง กรีน เพาเวอร์ จำกัด ที่มาภาพ: แบบแสดงรายการข้อมูล (69-1) บริษัท บีเอ็มพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 ก.ย. 2560)

โครงการของบริษัท เบตง กรีน เพาเวอร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท บีเอ็มพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (BMP) มูลค่าการลงทุน 610 ล้านบาท ที่ตั้งโครงการอยู่ที่ กม.19 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา อยู่ห่างจากสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์ ประมาณ 2 กม. โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังติดตั้ง 7.5 เมกะวัตต์ แต่ทำสัญญาขายกับ กฟภ. 7 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีหม้อไอน้ำเสถียรภาพสูง (Reliable Technology) ส่วนเชื้อเพลิงชีวมวลคือ 'เศษไม้' ใช้วันละ 270 ตัน (ประมาณปีละ 90,000 ตัน) ในด้านใบอนุญาต บริษัทฯ ได้รับสัญญาซื้อขายจาก กฟภ. ลงวันที่ 5 เม.ย. 2555 จัดทำประชาคมและได้รับหนังสือยืนยันความเห็นชอบจากชุมชน โดย อบต.ตาเนาะแมเราะ ให้อนุญาตดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ได้ ส่วนการสนับสนุนการลงทุน BOI ตอบรับการส่งเสริมเมื่อ 6 ก.ค. 2555 ซึ่งระยะเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนหมดอายุแล้ว บริษัทฯ ได้ทำเรื่องยื่นขอรับการลงทุนจาก BOI ใหม่ เมื่อ 15 ก.ค. 2559) ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2559 ส่วนใบอนุญาตก่อสร้าง (อ.1) ได้ยื่นเรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559 ส่วนใบอนุญาตผลิตพลังงานไฟฟ้าและใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม กพพ.จะออกใบอนุญาตนี้ให้เมื่อโครงการมีการก่อสร้างแล้วมากกว่าร้อยละ 90 ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงาน เมื่อเดือน พ.ย. 2559 บริษัทฯ ได้เปิดเผยแผนดำเนินการว่า ในด้านงานก่อสร้างโยธาจะใช้เวลา 12 เดือน (ม.ค.-ธ.ค. 2560) การติดตั้งเครื่องจักรจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2561 จะมีการทดสอบเดินเครื่องระหว่าง ก.ค.-ส.ค. 2561 และเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในเดือน ก.ย. 2561

โครงการของบริษัท พี.ซี.เบตง กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราในเครือ บริษัท พี.ซี.พาราวู้ด จำกัด มูลค่าลงทุนโคงการ 847 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ น.ส.3 เลขที่ 2 เล่ม 8 หน้า 1 และ น.ส. 3 ข. เลขที่ 213 เล่ม 8 หน้า 43 หมู่ที่ 5 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา โดยจะใช้จุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า 33 kV ของสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์วงจรที่ 5 โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังติดตั้ง 5.2 เมกกะวัตต์ แต่ทำสัญญาซื้อขายกับ กฟภ. ไว้ที่ 5 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น (Gasification) บริษัทฯ ได้รับสัญญาซื้อขายจาก กฟภ. ลงวันที่ 11 ก.ย. 2558 ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง (อ.1) ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2559 ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ลงวันที่ 7 ธ.ค. 2559 โครงการได้ขอรับการส่งเสริมจาก BOI เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ณ เดือน ต.ค. 2559 บริษัทฯ ได้อยู่ในขั้นตอนเตรียมเอกสารเรื่องประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Pratice : CoP) เพื่อยื่นต่อ กกพ.

'เสาไฟฟ้าและสายส่ง' คือเป้าหมายผู้ก่อความไม่สงบชายแดนใต้ แล้วถ้ามี ‘โรงไฟฟ้า’ ล่ะ?

'เสาไฟฟ้า' และ 'สายส่งไฟฟ้า' อีกหนึ่งเป้าหมายการวินาศกรรมยอดฮิตของผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]

แม้ปัจจุบันมาตรการเฝ้าระวังสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์จะมีอยู่อย่างเข้มข้น ควบคู่กับการซ้อมแผนเผชิญเหตุร้ายในพื้นที่ อ.เบตง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดการซ้อมแผนเป็นประจำทุกเดือน (อ่านเพิ่มเติม: ฉก.ทพ.33-ตร. ซ้อมแผนเผชิญเหตุถนนสาย เบตง-ยะลา รับมือพวกป่วน) แต่กระนั้น อ.เบตง อยู่ในพื้นที่ที่ผู้ก่อความไม่สงบก่อเหตุบ่อยครั้ง ซึ่ง ‘เสาไฟฟ้า’ และ ‘สายส่งไฟฟ้า’ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของผู้ก่อเหตุ ต่อปัญหาเหล่านี้ ในการประชุมของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2560 ก็เคยมีการหยิบยกมาพูดคุยและหาทางออก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า อ.เบตง มีเส้นทางเข้าไปยังพื้นที่ได้เพียงเส้นทางเดียว (จากประเทศไทย) ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา คือการจ่ายไฟฟ้าจากสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์ มักเกิดปัญหาจากผู้ก่อความไม่สงบมักจะวางระเบิดเสาไฟฟ้าสายส่งระบบ 115 kV ส่วนช่วงที่ก่อสร้างด้วยเสาโครงสร้างเหล็กแบบ Cross Country ระยะทาง 23 กม. นั้น กฟภ. ดูแลรักษาลำบาก เพราะไม่ค่อยมีผู้รับเหมาตัดต้นไม้เนื่องจากกลัวผู้ก่อเหตุไม่สงบ ต้องอาศัยเฮลิปคอปเตอร์ทหารในการลาดตระเวนบำรุงรักษาสายส่ง และจาก รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ) เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ยังระบุว่าการต้นทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เบตง จะสูงกว่าโครงการในพื้นที่อื่นประมาณร้อยละ 2 เนื่องจากผู้รับเหมาคิดราคาเพิ่มจากค่าความเสี่ยงภัยและค่าแรงที่สูงขึ้น อีกทั้งค่าวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ อ.เบตง มีราคาสูงเพราะต้นทุนค่าขนส่งและยังต้องมีต้นทุนด้านประกันภัยก่อการร้าย โดยบริษัทผู้ลงทุนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านการประกันภัยการก่อการร้ายนี้ด้วย

ตัวอย่างเหตุการณ์ก่อความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ครั้งที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบไฟฟ้าของ อ.เบตง ก็ได้แก่เมื่อครั้งมีการลอบวางระเบิดเสาสายส่งไฟฟ้า 115 kV ในช่วง Cross Country บริเวณบ้านบัวทอง อ.ธารโต จ.ยะลา ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2551 ใช้เวลาซ่อมถึง 7 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเดือน ก.ค. 2558 ใช้เวลาซ่อมนานถึง 10 เดือน ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ทำให้การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เบตง ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าจากสถานีจ่ายไฟฟ้ายุพราชันย์ได้ ต้องย้ายโหลดทั้งหมดของ อ.เบตง ไปใช้ไฟฟ้าที่จ่ายมาจากสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยบางลางแทน โดยในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของในแต่ละวันเมื่อครั้งนั้น กฟภ. จะต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเสริมด้วย

‘ปัตตานีโมเดล’ คนร้ายมุ่งเป้า ‘เสาหม้อแปลง’ สร้างผลกระทบใหญ่หลวง

 

เหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้หลายจุด เมื่อ 7 เม.ย. 2560 โดยเฉพาะที่จังหวัดปัตตานี เกิดเหตุลอบวางระเบิดและเผาเสาไฟฟ้า ทำให้ไฟดับทั้งเมือง ที่มาภาพประกอบ: voicetv.co.th 

เหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา จ.ปัตตานี ถือว่าโดนผลกระทบด้านไฟฟ้าหนักที่สุด บ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจและโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเพราะกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอต่อจำนวนการใช้ ต้องใช้การเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของกองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก 4 เครื่อง, รถโมบายจากการไฟฟ้า อ.เบตง จ.ยะลา การไฟฟ้า อ.สะเดา จ.สงขลา และการไฟฟ้า จ.พัทลุง เข้ามาช่วยผลิตกระแสไฟฟ้า จำนวน 6 คัน เพื่อป้อนส่งให้กับประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้ การระเบิดเสาไฟฟ้าในครั้งนี้กลุ่มคนร้ายมุ่งเป้าไปที่เสาหม้อแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้วิเคราะห์ว่ากลุ่มคนร้ายมีความรู้และเข้าใจในการวางระเบิดเสาไฟฟ้าแต่ละจุดเป็นอย่างดี ทำให้เกิดผลกระทบหนักกว่าที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ในรอบปี 2560 (ถึง ณ วันที่ 15 ก.ย.) ยังพบการก่อวินาศกรรมภายในพื้นที่ จ.ยะลา และใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายคือ ‘เสาไฟฟ้า’ และ ‘สายส่ง’ ตัวอย่างเช่น 3 เม.ย. 2560 คนร้ายไม่ต่ำกว่า 30 คนแต่งชุดดำ ใช้อาวุธปืนสงครามและระเบิดขว้างชนิดทำเอง (ไปป์บอมบ์) ถล่มจุดตรวจยุทธศาสตร์ร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตลาดกรงปินัง อ.เมืองยะลา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กรงปินังได้รับบาดเจ็บจำนวน 12 นาย ในเหตุการณ์นี้วางระเบิดไปป์บอมบ์ที่เสาไฟฟ้าริมทาง ถนนสายยะลา-กรงปินัง ได้รับความเสียหาย 1 ต้น ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 2560 เกิดเหตุคนร้ายลอบสร้างสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยในพื้นที่ จ.ยะลา นั้นคนร้ายได้วางเพลิงเสาไฟฟ้าบริเวณริมถนนสายยะลา-เบตง จำนวน 1 จุด ที่ อ.เมืองยะลา และวางเพลิงเผาเสาไฟฟ้าหน้าแฟลตตำรวจ นปพ.อีก 1 จุด

และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 ผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนที่บ้านลาเต๊าะ บ้านย่อยบ้านลาแล ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา ทำให้เสาไฟฟ้าได้รับความเสียหาย 1 ต้น หลังเกิดเหตุชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 47 พร้อมเจ้าหน้าที่ชุด EOD หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย และชุด EOD ตำรวจ จ.ยะลา เดินทางเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ ซึ่งระหว่างขบวนรถขับผ่านถนนสาย 4070 บ้านปะแดรู ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ก่อนถึงจุดเกิดเหตุประมาณ 10 กิโลเมตร คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ลอบวางไว้ริมถนน ทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ ขบวนรถจึงจอดเพื่อลงไปช่วยเหลือเคลียร์พื้นที่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้กดระเบิดลูกที่ 2 แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 21 นาย ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 8 นาย

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หากการผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.เบตง สำเร็จแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือฝ่ายความมั่นคงจะสามารถ ‘ปกป้อง’ จุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งใหม่นี้ได้อย่างไร ? รวมถึงจะใช้งบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ในการปกป้องโรงไฟฟ้าแห่งนี้จากการก่อวินาศกรรมเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยแค่ไหน ?

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: พยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด อ.เบตง ปี 2561-2568

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: