เมื่อการศึกษาไม่ตอบสนองคุณค่าและความมุ่งหวังในชีวิต

มนทิชา วงศ์อินตา 18 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 5740 ครั้ง


"The unexamined life is not worth living." –Socrates
“ชีวิตที่ปราศจากการพินิจพิเคราะห์นั้นไม่มีค่าพอที่จะอยู่”โสคราตีส (แปลโดยผู้เขียน)

 

หากถามว่าจุดมุ่งหมายของชีวิตกับการศึกษามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ก็พอจะหาคำตอบได้ เช่น คุณค่าของปัญญาความรู้ของมนุษย์ตามหลักปัญญานิยม คือการใช้เหตุผลเพื่อการแสวงหาความจริง มีชีวิตที่สมบูรณ์และมีค่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่างจากสัตว์ทั่วไป และจุดหมายของชีวิตมนุษย์คือการรู้จักตัวเองและรู้จักโลกด้วยปัญญา

ประเทศไทยมีร่างพระราชบัญญัติการศึกษาตลอดชีวิต (lifelong learning) โดยเป็นผลมาจากวาระทางการศึกษาสากลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นหมายถึงกระบวนการการเปลี่ยนแปลงพัฒนาที่เป็นผลมาจากการได้รับความรู้ ทักษะ ความสามารถ และประสบการณ์จากการเรียนหรือกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในหรือนอกระบบ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันเด็กจนถึงวัยชรา

ในอีกมุมมองหนึ่ง เป้าหมายของการศึกษาของรัฐไทย ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการบริหารภาคส่วนนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างเสริมให้เกิดการผลิตแรงงานเพื่อเข้าไปตอบสนองตามตลาดแรงงานทุกๆ แขนง นั่นหมายความว่าแนวโน้มที่เด็กเยาวชนจะเลือกเรียนในวิชา หรือวิชาชีพนั้นๆ ก็เป็นผลมาจากการเติบโตของแต่ละสาขาวิชาชีพ ด้วยเหตุนี้จุดประสงค์ของสถาบันการศึกษาภายใต้การกำกับของรัฐนั้นก็คือผลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาด ซ้ำร้ายยังมีการวัดผลความสำเร็จของการศึกษาด้วยจำนวนผู้ที่จบการศึกษาและถูกจ้างงาน

นี่ยังไม่นับรวมความล้มเหลวหรือเรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จในกระบวนการจัดการศึกษา ระบบการศึกษาที่อ้างอิงตัวบุคคลมากกว่าการสร้างความเชื่อมั่นในสถาบัน ซึ่งผลกระทบนั้นส่งถึงผู้เรียนโดยตรง เช่น การขัดเกลาทางสังคมและทางเพศสภาพ วัฒนธรรมอำนาจนิยม และการสร้างชาติผ่านอุดมการณ์ชาตินิยม

ในฐานะที่ฉันเองก็เป็นผลผลิตมาจากการศึกษาของไทย ฉันไม่เชื่อว่าแค่จบการศึกษา สมัครเข้าทำงานที่มั่นคง และได้รับเงินเดือนจะถือเป็นความสำเร็จในชีวิต หากแต่เป็นการได้เรียนรู้ และอยู่กับสิ่งที่ชอบซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่ได้สอนในห้องเรียน การมีสุนทรียะในการใช้ชีวิต การมองเห็นคุณค่าและความงามในสิ่งที่ทำต่างหาก มันอาจไม่ได้ถูกตอบแทนเป็นรูปแบบของตัวเงิน แต่มันคือความสุข เป็นการใช้ชีวิตที่เห็นคุณค่าของการดำรงอยู่อย่างมั่นใจ นี่ต่างหากที่ฉันคิดว่ามันคือความสุขที่จะมาหล่อเลี้ยงจิตใจของฉันได้

ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก ฉันต้องคอยคิดคำตอบว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ฉันไม่เคยมีเป้าหมายในการทำงานที่ตายตัวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ฉันสนใจหลายอย่าง ทั้งการทำงานศิลปะหลายๆ แขนง ฉันชอบอ่านหนังสือหลายๆ แนวทั้งวิทยาศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา จิตวิทยา และวรรณกรรม และฉันก็ไม่เคยมีความคิดที่ว่าตัวเองคิดผิดเลยที่เลือกที่จะชอบ สนใจ และสร้างเสริมทักษะในหลายๆ แขนงพร้อมกัน คำถามนี้มันแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ว่าต้องเลือกหนึ่งทาง และเอาดีด้านนั้นไปเลย ไม่มีความเชื่อที่ว่าคนเราสามารถสนใจและเก่งหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดนี้มันอาจมีเหตุผลมาจากระบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตแบบแบ่งงานกันทำ มันจึงทำให้คนเราต้องเลือกที่จะเก่งด้านเดียวไปเลย…ทั้งชีวิต

ดังนั้นฉันจึงมีความเชื่อว่าหากการศึกษาจะช่วยสร้างคนให้เจริญเติบโตงอกงามไปพร้อมๆ กับความรู้ ความสามารถ และทักษะเพื่อการดำรงชีวิต มันไม่ควรจะหยุดอยู่แค่ช่วงเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา หากแต่ช่วงเวลาการเรียนรู้สามารถเป็นไปได้ตลอดชีวิต หรือที่เรียกว่า lifelong learning การเรียนรู้เพื่อมีความคิดที่หลากหลาย ซับซ้อน และมีสุนทรียะในความเป็นมนุษย์ มีความเข้าใจโลก พร้อมที่จะปรับตัวไปกับสถานการณ์ต่างๆ ของโลก และตามกระแสโลกาภิวัตน์ได้

ในระยะเวลาเมื่อไม่นานมานี้ เป้าหมายของการศึกษาของไทยเป็นไปเพื่อการมุ่งเน้นการผลิตแรงงานเข้าสู่ตลาดมากกว่าการส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้แบบตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าวาระการศึกษาในระดับสากลอย่าง UNESCO จะมียุทธศาสตร์นโยบายเฉพาะเพื่อการศึกษาแบบตลอดชีวิต แต่กรอบแนวคิดในระบบการศึกษาประเทศไทยก็เป็นไปเพื่อเหตุผลของการเสริมสร้างตัวเลขเศรษฐกิจ สิ่งที่ไม่สามารถวัดได้ทางเศรษฐกิจเช่น การมีพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ พลเมืองที่มีสุขภาวะทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นความสำเร็จจากระบบการศึกษา ด้วยเหตุนี้ การใช้ชีวิตที่เป็นผลมาจากระบบการศึกษาของไทยจึงไม่ตอบโจทย์ในแง่การสร้างความหมายบางอย่างในชีวิต การได้สร้างสรรค์หรือทำงานอะไรสักอย่างที่เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ไม่ได้นั้นถือว่าเป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์และมีความหมายต่อโลกนี้ได้แล้ว

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: congerdesign (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: