ภาคเอกชนร่วมโครงการสมัครใจลดใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลาสั่งการหรือ Demand Response ช่วงแหล่งก๊าซยาดานาหยุดซ่อมบำรุงเพียง 121 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมาย 400 เมกะวัตต์ เกือบ 4 เท่าตัว ที่มาภาพประกอบ: Ken Kistler (CC0)
หลังจากที่ TCIJ ได้นำเสนอรายงาน 'เปิดแผน ก.พลังงาน ใช้ 'Demand Response' ลดพีคไฟฟ้าปี 2560' โดยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่านโยบาย Demand Response นี้ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังขาดแรงจูงใจที่มากพอโดยเฉพาะการกำหนดอัตราเงินชดเชยสำหรับผู้ลดใช้ไฟฟ้านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่านายอดุลย์ พิทักษณ์ชาติวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า ได้รับแจ้งตัวเลขเบื้องต้นจากสำนักงาน กำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)ว่า มีเอกชนร่วมโครงการใช้มาตรการ Demand Response เพื่อรองรับผลกระทบจากแหล่งก๊าซยาดานา หยุดซ่อมบำรุง 121 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายการลดใช้ไฟฟ้ารวม 400 เมกะวัตต์ รองรับการปิดซ่อมยาดานาในช่วง 25 มี.ค.- 2 เม.ย. 60 ซึ่งทำให้การจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์หรือฝั่งตะวันตกต้องหยุดจ่ายทั้งหมด 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันส่งผลให้โรงไฟฟ้าภาคตะวันตกหยุดผลิตรวม 6,400 เมกะวัตต์
นายอดุลย์ กล่าวว่า กฟผ.และกระทรวงพลังงาน ปตท.ได้ ดำเนินการเตรียมพร้อมไว้แล้วจึงขอให้มั่นใจไฟฟ้ามีเพียงพอไม่ขาดแคลน แต่ก็ขอความร่วมมือประชาชนลดใช้พลังงาน เพื่อลดความเสี่ยงด้านไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้เป้าหมายที่ กกพ.ประกาศรับสมัครมาตรการ Demand Response ครั้งนี้ กำหนด ช่วงวันเวลาที่จะขอความร่วมมือให้ลดการใช้ไฟฟ้า คือ ระหว่างวันที่ 27 – 31 มีนาคม 2560 รวมระยะเวลา 5 วัน เพื่อลดเป้าหมาย 400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ 200 เมกะวัตต์ และพื้นที่จังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม 200 เมกะวัตต์ ซึ่งในครั้งนี้ กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าชดเชยสำหรับผู้เข้าร่วมมาตรการที่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ในช่วงเวลาที่กำหนด ที่ 3 บาทต่อหน่วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ