การจ้างงานของทุนจีนในต่างประเทศไม่ดีเท่าที่ควร และแรงงานในจีนก็ประท้วงมากขึ้น

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 18 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 2939 ครั้ง

การจ้างงานของทุนจีนในต่างประเทศไม่ดีเท่าที่ควร และแรงงานในจีนก็ประท้วงมากขึ้น

แม้จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจอย่างเต็มตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ิส่งผลสะเทือนต่อประเทศตะวันตก แต่จีนได้เร่งกระบวนการก่อวิกฤตมากขึ้นด้วยเช่นกัน พบการจ้างงานของทุนจีนในต่างประเทศไม่ดีเท่าที่ควร ประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนในเหมืองแร่มักมีข้อพิพาทแรงงานกันในเรื่องค่าจ้าง การถ่ายโอนความรู้ที่จำกัด สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานชาวจีนกับคนงานในท้องถิ่นที่มีการปฏิบัติต่อคนงานที่แย่ ส่วนในจีนเองก็มีการประท้วงและหยุดงานประท้วง 2,205 ครั้ง ในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว ที่มาภาพประกอบ: AK Rockefeller (CC BY-SA 2.0)

ความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้โลกเสียสมดุล ทำให้จีนกลายเป็นผู้ชนะในระบบโลกาภิวัตน์ หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ที่หลายประเทศกำลังสู้กับผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและเศรษฐกิจของหลายประเทศเสียหายอย่างมาก จีนได้บริหารจัดการสภาวะวิกฤตนี้ได้ดีกว่าประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ภาพลักษณ์และบทบาททางเศรษฐกิจ การเมืองบนเวทีโลกของจีนได้รับการยอมรับตั้งแต่นั้นมา ด้วยวิกฤตนี้ การเคลื่อนไหวในระดับโลกของจีนไปไกลกว่าเรื่องความมั่นคงในการแสวงหาวัตถุดิบในการผลิตจากทวีปแอฟริกาและลาตินอเมริกา

การค้าของจีนกับประเทศอื่น ๆ ในโลกสูงขึ้น 8 เท่าตั้งแต่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 จีนได้เข้าถึงตลาดของประเทศตะวันตกตามที่คาดหมาย ได้จัดซื้อสินทรัพย์และเทคโนโลยีที่ขาดแคลน จีนดำเนินเศรษฐกิจการเงินและมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนับร้อยโครงการในประเทศที่กำลังพัฒนา และด้วยเงินกู้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนได้ช่วยเหลือทางการเงินให้บางประเทศ ข้อมูลจากบริษัทงานวิจัยด้านเศรษฐกิจ Rhodium group คาดว่าการลงทุนต่างประเทศของจีนจะถึงล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020

การฟื้นตัวของจีนกำลังเกิดขึ้นท่ามกลางความอ่อนแอของประเทศตะวันตกที่มีความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจอย่างมาก ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจนี้กลายเป็นรากฐานทางความคิดในหลายประเทศที่มองว่าจีนสำคัญต่อการรื้อฟื้นทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคตของประเทศต่าง ๆ จึงมีหลายประเทศที่พยายามจะดึงดูดการลงทุนจากจีนด้วยข้อเสนอการลงทุนที่น่าสนใจ หลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งทางการเมืองและตัดเรื่องสิทธิมนุษยชนออกจากการต่อรองทางการค้าทวิภาคี แต่โอกาสที่ว่ามาข้างต้น ความรุ่งเรืองของจีนก่อให้เกิดความท้าทายในประเด็นมาตรฐานแรงงาน สังคมและสิ่งแวดล้อม

เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากในโลกที่กำลังพัฒนาที่จีนให้การสนับสนุนทางการเงินและสร้างเขื่อน ถนน ทางรถไฟ สนามฟุตบอลและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ กล่าวคือ มีการวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศโมซัมบิค แซมเบีย เปรู เอกวาดอร์ ซูดาน พม่า แองโกลา และประเทศอื่นที่ผู้เขียนได้ไปสืบสวนสภาพการจ้างงานในบรรษัทข้ามชาติของจีน

"พวกเขายื่นข้อเสนอการจ้างงานที่เลวร้ายให้แก่นักลงทุนต่างประเทศทุกคน" นักสหภาพแรงงานในแซมเบียกล่าว ประเทศที่จีนเข้าไปลงทุนในเหมืองแร่มักมีข้อพิพาทแรงงานกันในเรื่องค่าจ้าง การถ่ายโอนความรู้ที่จำกัด สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานชาวจีนกับคนงานในท้องถิ่นที่มีการปฏิบัติต่อคนงานที่แย่มาก

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าจีนเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการลงทุน ส่วนประเทศที่ได้รับการลงทุนจากจีน แทบจะไม่เรียกร้องให้บริษัทของจีน ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานแรงงาน อย่างในเปรูกว่า 36% ของการลงทุนเหมืองแร่ทั้งหมดเป็นของจีน โครงการที่ใหญ่ที่สุดกำลังสร้างความขัดแย้งอย่างมาก คือ มีการนัดหยุดงานเป็นประจำและความรุนแรงที่เกิดจากการจ้างงานราคาถูกและสภาพการทำงานที่เลวร้าย รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกที่มาตรฐานแรงงานได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของจีน

ข้อปฏิบัติทางสังคม สิ่งแวดล้อมและแรงงานของบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการดำเนินงานในประเทศจีนเอง มันเป็นโมเดลที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก China Labour Bulletin องค์กรพัฒนาเอกชนในฮ่องกง รายงานว่ามีการประท้วงและหยุดงานประท้วง 2,205 ครั้ง ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2016 (อ่านเพิ่มเติม: ปี 2558 แรงงานจีนประท้วงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ แค่ครึ่งปีคนทำงานในจีนประท้วงไปแล้ว 1,454 ครั้ง) นอกจากนี้ China Labour Bulletin รายงานด้วยว่ามีอุบัติเหตุในที่ทำงาน 501 ครั้งในประเทศแถบเอเชียในปี 2016 ปัญหาเกิดจากการมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่ย่ำแย่ในช่วง 40 กว่าปีมานี้

นับจากการจากไปของผู้นำเหมาเจ๋อตุง ปี 1976 การใช้แรงงานราคาถูกเป็นหนึ่งในแรงจูงใจ 5 ข้อ ได้แก่ การลดหย่อนภาษี ที่ดินราคาถูก กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เข้มงวด และค่าเงินหยวนต่ำ ที่ทำให้เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping ระหว่าง ปี 1978-1989) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและถือว่าเป็นการมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจกลไกตลาด

การผลิตด้วยต้นทุนต่ำและการจัดเก็บภาษีที่ต่ำ ดำเนินการหลังจากที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก รวมทั้งการสร้างตลาดภายในที่มีศักยภาพของผู้บริโภค นับล้านคน ทำให้มีบริษัทต่างประเทศเข้าไปในจีนเป็นจำนวนมาก คู่ขนานไปกับการลงทุนสาธารณะในสินทรัพย์ถาวร (fixed asset) ภาคการส่งออกก็เป็นตัวขับเคลื่อนหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงถึง 9% ตั้งแต่ปี 1977 แต่ใช้แรงงานราคาถูก เช่นแรงงานก่อสร้างในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างเมืองใหม่ ๆ ในช่วง 40 ปีมานี้ จีนได้รับสมญานามว่า มหัศจรรย์แห่งจีนหากเปรียบเทียบจีดีพีกับความเติบโตของค่าจ้าง จะเห็นว่า GDP เป็นเส้นโค้งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เส้นการเติบโตของค่าจ้างราบนิ่งจนกระทั่งปัจจุบัน

ประเทศที่มีความยุติธรรมนั้นความมั่งคั่งจะต้องแบ่งปันไปให้แก่ชนชั้นแรงงานให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยการขึ้นค่าจ้างและกระจายความมั่งคั่งไปยังพวกเขา การขึ้นค่าจ้างเคยเกิดขึ้นเมื่อ ปี 2010 เพราะรัฐบาลจีนต้องการลดแรงกดดันทางสังคมที่กำลังสูงขึ้น

แบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างความมั่งคั่งของรัฐบาลจีน และการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ จึงหมายรวมถึงการไม่เคารพสิทธิแรงงาน มาตรฐานการจ้างงานและความโปร่งใสตรวจสอบได้ ผลประโยชน์จึงตกเป็นของชนชั้นนำ ส่วนคนชั้นล่าง ผู้ไร้อำนาจก็เป็นผู้ที่ต้องเสียสละต่อไป

 

แปลและเรียบเรียงจาก:
China is not the model, Juan Pablo Cardenal, equaltimes.org, 7/2/1017

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: