ภาพประกอบจากข่าวหน่วยเฉพาะกิจกรทหารพรานที่ 36 ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้ต้องหาค้ายาเสพติด เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
การนำเสนอข่าวการจับกุมผู้ค้ายาเสพติด เมื่อผู้ต้องหาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สื่อมวลชนมักพาดหัวข่าวในทำนอง ’รวบ 5 ม้งค้ายา’ ‘ปส.จับชาวเขาเผ่าม้งเชียงราย’…แต่ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะระบุแต่เพียง ‘จับผู้ร้ายค้ายา’… ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นการตีตราและเหมารวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นนักค้ายาหรือไม่? กรณี ‘ชัยภูมิ’ ป่าแส นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ถูกวิสามัญเป็นข่าวโด่งดังเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นผลมาจากมายาคตินี้นี้หรือไม่?
เคยตั้งข้อสังเกตการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบ้านเรากันบ้างไหมว่า เมื่อมีการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ ถ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สื่อมวลชนมักจะพาดหัวข่าวในทำนอง ’รวบ 5 ม้งค้ายา’ ‘ปส.จับชาวเขาเผ่าม้งเชียงราย’…แต่ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ก็จะระบุแต่เพียงว่า ‘จับผู้ร้ายค้ายา’…
ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกอะไรเรา? การนำเสนอข่าวแบบนี้ถือเป็นการตีตราและเหมารวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นนักค้ายาหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ กรณีที่ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกวิสามัญเป็นข่าวโด่งดังเมื่อเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากมายาคตินี้หรือไม่?
การนำเสนอข่าวเช่นนี้ถือเป็นการสร้างอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ให้กับผู้บริโภคข่าวสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือเกิดความเข้าใจในเชิงลบต่อกลุ่มชาติพันธุ์และยังขัดต่อ แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง ‘การเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ’ ที่เพิ่งปรับปรุงและประกาศใช้ไปเมื่อเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา
สถิตตัวเลขการพาดหัว-โปรย
การพาดหัวและโปรยในข่าวยาเสพติดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ในข่าว ผลการค้นหาข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ ผ่านบริการสืบค้นข้อมูลข่าวแห่งหนึ่ง ค้นคำว่า ‘ชาวเขา ค้ายา’ จาก 1 ม.ค. 2557 - 26 มิ.ย. 2560 พบมีทั้งหมด 1,325 ข่าว และเมื่อค้นคำว่า ‘ม้ง ค้ายา’ จาก 1 ม.ค. 2557 - 26 มิ.ย. 2560 พบมีทั้งหมด 1,039 ข่าว |
วาทกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ค้ายาเสพติด’ ผ่านการเมือง นโยบาย และการศึกษา
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เล่าย้ำถึงที่มาของมายาคติกลุ่มชาติพันธุ์ค้ายาว่า มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเย็นกับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา ถ้าย้อนดูนโยบายจะมีกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดบนที่สูง เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่บนที่สูงจะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือปลูกฝิ่นมาตลอด แถมความเชื่อนี้ยังถูกรับรู้และสั่งสมมาในระบบการศึกษาด้วย
“ในแบบเรียนก็จะพูดถึงว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด เรารับรู้ผ่านระบบการศึกษาและถูกสร้างเป็นมายาคติที่ฉายซ้ำทุก ๆ วัน ภาพลักษณ์ของชาวเขาก็จะมีสองเรื่องคือ ยาเสพติดและการตัดไม้ทำลายป่า นี่เป็นที่มาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาโดยตลอด”
หนังสือ ‘อำนาจ พื้นที่ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์: การเมืองวัฒนธรรมของรัฐชาติในสังคมไทย’ ของ ยศ สันตสมบัติ พูดถึงที่มาของวาทกรรมการสร้างอัตลักษณ์ม้งค้ายาเสพติดไว้ชัดเจน โดยยกตัวอย่างกรณีดอยปุย ซึ่งเป็นชุมชนม้งที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด ดังนั้นเมื่อมีประเด็นยาเสพติด นับตั้งแต่ฝิ่น เฮโรอิน จนถึงยาบ้า ผู้คนภายนอกไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการและสื่อมวลชน ต่างเข้าไปหาข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และถ่ายภาพชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อนำมาประกอบการอธิบายสถานการณ์โดยทั่วไปของชาวม้งและกลุ่มคนบนพื้นที่สูงอื่นๆ ในภาคเหนือ ที่นี่จึงกลายเป็นหนึ่งในหมู่บ้านหลักที่คนภาย นอกมักใช้เป็นตัวอย่างอัตลักษณ์ของการเป็นผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดแก่ชาวม้ง
สุมิตรชัย เห็นว่าสังคมไทยต้องตระหนักว่ามายาคตินี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการบางอย่างทางการเมือง นโยบาย หรือการศึกษา รวมทั้งการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วย เช่น การพาดหัวข่าว ที่มีปัญหามาตลอด ทำไมต้องใส่ว่าม้งค้ายา กะเหรี่ยงค้ายา แต่คนทั้งชาติพันธุ์ก็ไม่ได้เป็นคนค้ายาทั้งหมด เราก็สะท้อนผ่านสื่อไปเยอะว่า มันยิ่งไปตอกย้ำมายาคติหนักเข้าไปอีก กลุ่มชาติพันธุ์เองก็ทำหนังสือถึงสมาคมสื่อฯ มีการตักเตือนกันพอสมควร โดยเฉพาะช่วงสงครามยาเสพติด
“มีการรณรงค์ มีการทำหนังสือถึงสมาคมสื่อฯ ให้ระมัดระวังการพาดหัวข่าวหรือนำเสนอข่าวที่อ้างอิงชาติพันธุ์แบบนี้ ก็ต้องไปถามทางสื่อเองด้วยว่ามีความระมัดระวังเรื่องการใช้คำพวกนี้แค่ไหน สมาคมสื่อเองแม้จะพยายามปรามเรื่องนี้ แต่มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบของตัวนักข่าวเองด้วย หลังจากมีการรณรงค์ทำหนังสือถึงสมาคมสื่อฯ สถานการณ์ก็ดีขึ้นแต่ไม่ถึงกับหายไป”
ผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมกับการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติของสื่อ
นายจักร์ฤกษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาและกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล่าถึงการแก้ไขแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง ‘การเสนอข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนา’ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยชี้ว่า การปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน มีความสลับซับซ้อนอ่อนไหว ต่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือ พิมพ์ พ.ศ. 2559 และสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและให้สัตยาบันไว้
“หนังสือพิมพ์พึงหลีกเลี่ยงการเสนอข่าว ภาพข่าว และบทความ บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหา โดยใช้ชาติพันธุ์หรือศาสนาที่บุคคลนั้นนับถือ มากล่าวถึงแบบเหมารวม และสื่อความหมายในทางลบ”
แนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ พ.ศ.2560 ข้อที่ 2
“แนวปฏิบัตินี้จะเน้นไปถึงการสื่อความหมายในทางลบที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้งหลาย เช่น การค้ายาเสพติด การก่ออาชญากรรม แต่ถ้าพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในทางสังคมทั่วไป หรือในเชิงบวกเช่น ม้งเป็นคนที่เรียนเก่ง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”
จักร์กฤษกล่าวถึงที่มาของ’การผลิตซ้ำ’ มายาคตินี้ผ่านสื่อมวลชนว่า เป็นประเพณีสืบต่อเนื่องกันมา ที่ไม่มีความละเอียดถี่ถ้วนทางความรู้ว่าถ้าพาดหัวแบบนี้จะมีผลกระทบไหม จะทำให้เดือดร้อนไหม สื่อมวลชนไม่ค่อยคิดกันและไม่ใส่ใจเพราะต้องการจะขายข่าว ขายภาพ ขายประเด็น ในแง่ทางเทคนิคหนังสือพิมพ์ใช้คำว่า ‘ม้ง’ ในการพาดหัวข่าว เพราะเป็นคำสั้น สามารถสื่อความหมายได้เพราะสังคมคุ้นชินกับคำพวกนี้
“เรื่องนี้มันอยู่ที่จิตสำนึกของคนทำสื่อว่า มีความละเอียดอ่อน ถี่ถ้วนพอไหม การพูดแบบเหมารวม ทำให้รู้สึกว่าทั้งชาติพันธุ์ม้งเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด เป็นความเคยชินและไม่ได้รู้สึกอะไรด้วย ถ้าจะพูดกันเรื่องอุดมคติ ก็ต้องอบรบบ่มเพาะกันตั้งแต่เรียนหนังสือ ต้องย้ำคิดย้ำทำและพูดเรื่องเหล่านี้ เน้นให้เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
การเลือกใช้คำไม่สำคัญเท่าวิธีคิด
ด้าน ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตนักข่าว มีการสอนเรื่องจริยธรรมอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องสิทธิมนุษยชน ทางด้านวารสารศาตร์ก็มีการเรียนแนวคิดทางสังคมวิทยา ทฤษฎีทางด้านสังคม ศาสตร์มนุษยศาสตร์ด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นผลกระทบของการรายงานข่าว ทั้งการเลือกใช้คำหรือการนำเสนอข่าวที่ไม่ได้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งสอนตั้งแต่การตั้งประเด็น ไปจนถึงการนำเสนออย่างไรที่จะไม่ไปซ้ำเติมหรือเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแหล่งข่าว
“เรื่องคำไม่สำคัญเท่ากับวิธีคิดที่มองว่าอัตลักษณ์ของคุณ คือจุดขายเรื่องอาชญากรรม เรื่องค้ายา มีอยู่ทุกวัน แต่ทำไมคุณถึงเลือกเอาประเด็นนี้มาเป็นข่าว หรือเพราะเข้ากับแนวคิดของคุณที่ว่าพวกนี้แหละค้ายา พอมีการค้ายามันก็เข้ากับวิธีคิดของคนทั้งสังคมและนักข่าว ในการนำเสนอข่าวต้องมองว่ามันเป็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคลหรือปัญหาทางโครงสร้าง ถ้าเป็นปัญหาทางโครงสร้าง ก็ควรมีการทำข่าวเจาะลึกมากกว่านี้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และควรเลิกใช้คำที่จะไปโจมตีชาติพันธุ์หรืออัตลักษณ์”
ดร.พรรษาสิริ ตั้งคำถามต่อว่า ถ้าสื่อไม่เล่นเรื่องอัตลักษณ์ จะทำให้ผู้รับสารหลุดหรือขาดข้อความสำคัญอะไรไปไหม ผู้กระทำความผิดจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือเป็นม้งแล้วสำคัญอย่างไร การที่สื่อนำเรื่องอัตลักษณ์มาเป็นจุดขาย ยิ่งเป็นการสร้างภาพจำให้กับสังคมหรือเปล่า ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือเป็นเป็นม้งแล้วต้องค้ายา ซึ่งการนำเสนอข่าวแบบนี้ไม่ได้ทำให้สังคมกระจ่างมากขึ้น เพราะไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงโครงสร้างหรือที่มาของปัญหาอย่างแท้จริง
“ถ้าถามว่าทำไมสื่อถึงเลือกคดีม้งค้ายา-ชาวเขาค้ายามาเป็นข่าว สมมุติในวันเดียวกันมี2 คดี คือจับยาบ้า 500 เม็ด กับจับม้งค้ายาบ้า 10 เม็ด คุณจะเลือกนำเสนอข่าวไหน ที่นี้ก็ต้องเอาปริมาณมาแข่งกับอัตลักษณ์ หรือถ้าเลือกนำเสนอทั้งสองข่าว แต่นำข่าวม้งขึ้นก่อน ก็ยิ่งชัดใหญ่ว่า ต้องการเน้นอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ที่แปลกไปจากมาตรฐานสังคม เพื่อแสดงว่าไม่ใช่พวกฉัน เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่พวกเรา”
จาก ‘ชาวเขา’ สู่ ‘ชนเผ่า’ จนถึง ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ หนุ่มชาวม้ง 2 คน ที่ถูกทหารไทยฝึกเพื่อต่อสู้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2517 ที่มาภาพ: New Mandala วาทกรรม ‘พวกเขา’ ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ เริ่มต้นมาตั้งแต่การบัญญัติคำว่า ‘ชาวเขา’ ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2503 เพื่อแบ่งคนที่อยู่พื้นที่สูงออกจากคนที่อยู่ในที่ราบต่ำ คำนี้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติ อัตลักษณ์ของชาติและนิยามของ ‘ความเป็นไทย’ ผูกติดกับคุณสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธและภาษาไทย โดยสร้างภาพเหมารวมให้ชาวเขากลายเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า ผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ ผู้ปลูกฝิ่นรวมทั้งค้ายาเสพติด ทำให้พวกเขาถูกนิยามให้ ‘ไม่เป็นไทย’ ขาดการพัฒนาและเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อมานักวิชาการและประชาชนบนที่สูงได้ผลักดันแนวคิดใหม่เพื่อต้านทัศนคติแง่ลบเหล่านั้น ประชากรบนที่สูงเริ่มเรียกตัวเองว่า ‘ชนเผ่า’ ซึ่งเป็นคำที่แปลมาอย่างสั้นๆ จากคำว่า indigenous people ต่อมานักวิชาการบางส่วนและนักสิทธิมนุษยชนต่างเรียกชนเผ่าว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ เพื่อลดมายาคติและลดการสร้างความเป็นอื่นให้แก่พวกเขาหรือลบล้างมายาคตินี้ได้อย่างไร |
แนะผู้เสียหายใช้สิทธิตามกฎหมาย ฟ้องให้เป็นคดีตัวอย่าง
เมื่อวาทกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ค้ายาถูกสร้างมาอย่างยาวนาน และถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อมวลชน แล้วเราจะถอดรื้อหรือลบล้างมายาคตินี้ได้อย่างไร
ในขณะที่จักร์ฤกษ ย้ำว่า ถึงแม้จะมีแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์หรือองค์กรวิชาชีพสื่อออกมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะปฏิบัติตามกันจริง สื่อที่ยึดถือหรือที่ใช้แนวปฏิบัติจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ชัดเจนว่าจะปฏิบัติอย่างไร ก็ใช้แนวปฏิบัตินี้เป็นแนวทาง จึงแนะว่าควรมีการใช้สิทธิตามกฎหมายในการฟ้องร้องคดีสำหรับผู้เสียหายที่เกิดจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ถ้าคนที่เสียหายไม่นิ่งดูดายและเข้าใจสิทธิของตนเอง ต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเองหรือญาติพี่น้องที่ถูกละเมิด
“กรณีชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมและตำรวจออกมาบอกว่าเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถ้าสื่อไปวิพากษ์วิจารณ์หรือเชื่อตามตำรวจจริงว่าชัยภูมิค้ายา ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว โดยที่ชัยภูมิถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริง กฎหมายให้สิทธิกับญาติพี่น้องที่จะเอาข้อความ ภาพ เสียงที่พูดถึงตัวชัยภูมิว่าเป็นคนไม่ดี สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายได้”
“ถ้าพ่อแม่เขาไปใช้สิทธิทางกฎหมายว่าถูกกล่าวหา ทั้งกฎหมายหมิ่นประมาทและคอมพิวเตอร์ ก็ถือว่าเป็นการระงับความไม่ละเอียดถี่ถ้วนในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนได้” จักรฤกษ์ทิ้งท้าย
ไม่ใช่แค่สื่อเปลี่ยน สังคมต้องเปลี่ยนด้วย
ดร.พรรษาสิริ ยังเห็นว่า ปัจจุบันองค์กรสื่อมีความพยายามจะตั้งกฎเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติออกมา เพื่อที่จะลดการผลิตซ้ำวาทกรรมนี้ แต่ถ้าคนในสังคมยังไม่ตระหนักเรื่องนี้ ยังมีการชี้หน้าคนและบอกว่า เจ๊ก แขก ม้ง แม้ว แล้วเรื่องอะไรที่นักข่าวจะต้องเปลี่ยน เพราะสังคมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการเหยียด แต่เป็นการชี้เฉพาะว่าคนกลุ่มนี้เป็นใครเท่านั้นเอง
“ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรรม ที่เรื่องสิทธิมนุษยชนเริ่มมีที่ยืนในสังคม มีการถกเถียงกันมากขึ้น สื่อก็เริ่มตระหนักมากขึ้น ดังนั้น การต่อสู้กับเรื่องนี้จะต้องไปเคลื่อนกันไปทั้งสังคม เคลื่อนกับวิธีคิดของคน ไม่ใช่แค่นำเสนอคำใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเดียวเท่านั้น ต้องปรับวิธีคิดที่จะไม่เอาอัตลักษณ์มาเป็นจุดขาย ถ้าอยากให้สื่อเปลี่ยน ภาคสังคมในส่วนต่างๆก็ต้องเปลี่ยนด้วย ต้องคุยกันว่าควรสร้างวาทกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาหรือเปล่า เพื่อที่ เราจะไม่ถูกครอบงำโดยวาทกรรมเก่าหรือวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้น”
กฎหมายภายในประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
ด้านทนายสุมิตรชัย แนะว่าเพื่อแก้ปัญหาการเหมารวมและลบล้างมายาคติดังกล่าว รัฐบาลและสังคมไทยควรจะจริงจังที่จะกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันรัฐไทยเป็นภาคี อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ชัดเจนมาก ง่ายที่สุดคือนำอนุสัญญานี้มาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในประเทศ ก็จะมีกฎเกณฑ์ ตัวบทกฎหมายชัดเจน แต่ทางไทยไม่เคยเอาอนุสัญญานี้มาปฏิบัติเป็นรูปธรรม
ฉะนั้นกฎหมายในประเทศไทยจึงไม่มีลักษณะเฉพาะแบบนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยกำกับดูแล ไม่ใช่แค่เฉพาะสื่อ แต่รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ด้วย ที่มองคนชนเผ่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมีมายาคติ ซึ่งเข้าข่ายการละเมิดสิทธิทั้งหมด เช่น ตั้งด่านตรวจยาเสพติด แต่เรียกเฉพาะชนเผ่ามาตรวจเท่านั้น มายาคติแบบนี้ฝังอยู่ในตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ ถ้ามีการออกกฎหมายเป็นรูปธรรมมากขึ้น ให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติตาม จะดีขึ้นและลดการเลือกปฏิบัติแบบนี้ลงได้
“ที่จริงเป็นความรับผิดชอบของรัฐด้วยที่ไม่ควรปล่อยให้สื่อทำแบบนี้ การปล่อยให้สื่อพาดหัวข่าวแบบนี้เท่ากับเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เขียนชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดการกับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือการเหยียดเชื้อชาติโดยเฉพาะสื่อ” สุมิตรชัย กล่าวทิ้งท้าย
เนาวรัตน์ เสือสอาด * เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อ Amnesty ประเทศไทย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: แนวปฏิบัติการเสนอข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และสถานะทางเพศ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ