คิดมากเกินไปไม่เป็นผลดี: เมื่อนักคิดปะทะแพทย์

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ 19 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3790 ครั้ง


ประเทศฝรั่งเศสในยุคแห่งภูมิธรรมหรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เกิด gens de lettres (men of letters) หรือนักคิดนักวิชาการขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ว่าต้องเป็นนักคิดนักปรัชญาเท่านั้น แต่หมายรวมเป็นวงกว้างถึงคนที่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเช่นเดียวกัน เช่น กวี นักเขียนบทละคร ศิลปิน ฯลฯ แม้ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาที่หลากหลายตามความสนใจ แต่สิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้มีร่วมกันคือ ความกระตือรือร้นหรือกระหายอยากที่จะเรียนรู้ (passion)

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีความกระตือรือร้นจะเรียนก็สามารถที่จะเรียนรู้หรือเข้าถึงความรู้ได้ แต่กระบวนการขั้นตอนของการเสาะแสวงหาความรู้จำเป็นที่จะต้องได้รับการสั่งสอน ชี้แนะจากผู้ที่รู้จริงด้วยเช่นกัน ไอเดียของ "ความรู้" ในยุคแห่งภูมิธรรมของฝรั่งเศสถูกนิยามให้เป็นเสมือนความจริงแท้แน่นอนที่มาแทนที่ความเชื่อทางศาสนาในยุคกลางที่ผ่านมา ดังนั้นการจะเข้าถึงความรู้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความกระหายอยากที่จะเรียนรู้ มีแรงปรารถนาที่จะเข้าถึงความรู้ (desire) เสียก่อน (One cannot have a great soul or somewhat penetrating mind without some passion for Letters.)

มองในแง่นี้ แรงผลักดันของการค้นคว้าหาความรู้และการเข้าถึงความรู้ที่จริงแท้ของนักคิดนักปรัชญา ดูจะไม่ต่างกับนักบวชในสมัยก่อนหน้าที่จะต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ บริสุทธิ์จริงแท้ต่อการ "รู้แจ้ง" ในความรู้ที่ตนเองเสาะแสวงหา

อย่างไรก็ตาม เกิดข้อกังวลในวงการแพทย์เกี่ยวกับสภาวะการเข้าถึงความรู้ของนักคิดและนักปรัชญาเหล่านี้ แพทย์จำนวนไม่น้อยเขียนบทความแนะนำบรรดา gens de lettres ว่าไม่ควรที่จะคิดมากเกินไปหรือทำกิจกรรมที่ใช้สมองมากเกินไป เนื่องจากจะส่งผลด้านลบสองทาง ทางแรก คือ ทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ เนื่องจากประสาททำงานหนัก และเมื่อเอาแต่ครุ่นคิด ก็จะทำให้ไม่ดูแลร่างกาย ส่งผลให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ มีวงจรชีวิตและการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานเป็นเวลานานเกินไป และสอง คือ จะทำให้หลุดออกจากโลกแห่งความจริง บทวิเคราะห์ทางการแพทย์ชิ้นหนึ่งกล่าวว่า

"ถ้าลองพิจารณาผู้ที่มีความสนใจอย่างเต็มที่กับการศึกษาตรงหน้า จะเห็นได้ว่าคนเหล่านี้แปลกประหลาดอย่างยิ่ง พวกเขาจะไม่เห็นหรือไม่ได้ยินสิ่งใดๆ หรืออาจจะแทบไม่หายใจด้วยซ้ำ ถ้าลองจับชีพจรดูก็จะพบว่ามันเต้นช้ามาก ไม่มีเหงื่อออกและไม่ปัสสาวะ" (จริงๆตรงนี้มีการศึกษาปัจจุบันพบว่าคนที่ตั้งใจอ่านหนังสือเมื่อมีสมาธิมากๆจะมีอาการแบบนี้จริงๆ วู้ว การแพทย์สมัยนั้นน่าอัศจรรย์จัง)

นอกจากนี้ แพทย์บางคนยังเเสดงความเห็นว่าอาการของคนที่คิดมากเกินไป ยังเหมือนอยู่ในภวังค์หรือถูกสะกดจิต ในกรณีที่คนเหล่านี้ดื่มด่ำกับความรู้มากเข้า อารมณ์และความรู้สึกก็จะสวิงกลับไปสู่ความเศร้าอย่างลึกซึ้ง อันเป็นสภาวะขั้วตรงข้ามที่อาจเกิดขึ้นได้หากเอาแต่ครุ่นคิดถึงความรู้ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำว่านักคิดนักปรัชญาทั้งหลาย ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตน ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสม ปรับท่านั่งและท่ายืนให้ถูกต้อง มีตารางเวลาการอ่านหนังสือและการทำงานให้พอเหมาะ รวมไปถึงพยายามเข้าสังคมให้มากขึ้น ณ จุดนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าในสายตาของแพทย์ฝรั่งเศสยุคนั้น จิตใจสัมพันธ์กับร่างกาย ทั้งสองอย่างไม่ได้แยกส่วนกัน และถ้าคิดมากเกินไป พลังด้านลบก็จะส่งผลต่ออวัยวะหรือระบบที่สำคัญของร่างกาย อย่างเช่น ระบบย่อยอาหาร

ทำไมจึงต้องเข้าสังคมให้มากขึ้น? แพทย์ยังเป็นห่วงเป็นใย เหล่า gens de lettres เพราะเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งของการครุ่นคิดมากเข้า จะทำให้นักคิดเหล่านี้หลุดเข้าไปในภวังค์ของตนเอง และลืมว่าโลกความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร (หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นบ้า ไม่อยู่กับความเป็นจริง) การหลุดออกจากโลกความเป็นจริง ยังทำให้นักคิดไม่สามารถ/ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่ไม่ใช่โลกแห่งวิชาการอีกด้วย

เหล่านักวิชาการทั้งหลายต่างก็ตอบโต้กับข้อเสนอของแพทย์ โดยอ้างว่า ตรงกันข้าม การที่ตนเองสนใจและมุ่งเป้าไปที่การทำงานและการค้นคว้าหาความรู้ต่างหาก ที่ทำให้ลืมความเจ็บป่วย ลืมความเศร้าภายในจิตใจ และแม้แต่ทำให้ผ่านช่วงเวลาเลวร้ายของชีวิตไปได้

จะเห็นได้ว่าในยุคแห่งภูมิธรรมที่แนวคิดเกี่ยวกับความรู้ ความจริงสูงสุดที่บรรดานักคิดคนสำคัญได้ผลิตผลงานออกมาให้เราได้อ่าน อย่าง Descartes, Diderot, Isabelle de Charriere ต่างก็เกือบตกอยู่ใต้การวินิจฉัยของแพทย์ว่าคิดจนเป็นบ้าทั้งสิ้น การที่ความจริงสูงสุดได้เปลี่ยนผ่านจากแนวคิดทางศาสนามาสู่ความรู้ที่เกิดจากการคิด ค้นคว้า ไตร่ตรอง จึงไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปเพราะการพัฒนาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านก็ได้มีการปะทะกันในเชิงอุดมการณ์ระหว่างสายมนุษยศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์เช่นกัน

 

เก็บความจาก

Vila, Anne C. "Finer Feelings: Socialability, Sensibility and the Emotions of Gens de Lettres in Eighteenth-Century France." ใน A History of Emotions, 1200-1800. 79-94. Jonas Liliequist. ed. London and New York: Routledge, 2016.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: