จากความน่ามหัศจรรย์ของอาณาบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมอันหลากหลาย ลักษณะภูมิประเทศสวยงามน่าค้นหา ทรงคุณค่าเสน่หาแห่งท้องทะเลอันดามัน ยิ่งกับคำขวัญ "กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก" ที่นี่จึงเหมาะเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง
"Thailand Biennale 2018" โปรเจคก์แสดงศิลปกรรมร่วมสมัย นานาชาติ ถูกหยิบยกมาพูดในแวดวงคนทำสื่อและศิลปะ ด้วยเพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนที่พยายามผลักดันการท่องเที่ยวควบคู่เทศกาลศิลปะ "กระบี่" จังหวัดเล็ก ๆ ริมชายฝั่งอันดามันได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพสานงานนี้ โดยจุดขายและความพิเศษเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเบียนนาเล่ (biennale) คือบริเวณจัดแสดงงานจะถูกจัดวางอยู่กลางแจ้งในพื้นที่ทางธรรมชาติหลายพื้นที่ในกระบี่ ด้วยรูปแบบศิลปะเฉพาะที่ (site – specific art) เป็นงานที่สร้างขึ้นบนตำแหน่งเฉพาะเจาะจง ศิลปินจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่จะสร้างศิลปะเป็นสำคัญ
ก่อนเทศกาลนั้นจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ผู้เขียนมีโอกาสลงไปสัมผัส "กระบี่" พร้อมสำนักงานศิลปะร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อจะบอกเล่าเรื่องราวความสวยงามของที่นี่ ผ่านภาพวันสวยงามของแหล่งเที่ยวยอดนิยมทั้ง เกาะปอดะ ทะเลแหวก ไร่เลย์เรื่อยไปถึง ท่าปอม เขาขนาบน้ำ ฯลฯ นอกจากภายใต้ ความงามที่ว่านั้นแล้ว บางจังหวะขณะเดินทางทั้งรถยนต์และเรือโดยสาร ผู้เขียนกลับนึกถึง อีกฉากและชีวิตของกระบี่ ที่อาจมีมลพิษซุกซ่อนรอวันปะทุอยู่ แน่นอนว่าเรากำลังจะพูดถึง "โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ "
“กระบี่เคยทำคลิปบางอัน ถามนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วเขาก็สงสัยอย่างมาก ทำไมสถานที่ที่สวยงามขนาดนี้ จะมีแผนเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ่านหินมันมีความเสี่ยงและผลกระทบหนัก โดยเฉพาะกับที่ที่ควรรักษาไว้” คำพูดของสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLaw องค์กรที่ติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตั้งแต่แรกเริ่ม
หลังบอกเล่าเรื่องลงพื้นที่เก็บข้อมูล สบโอกาสเรานัดหมายกับเธอไว้ที่สำนักงานย่านรามคำแหง 39 ‘สุภาภรณ์’ หรือ ที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘พี่หนู’ เริ่มออกตัวอย่างถ่อมตนว่า ไม่ได้คุ้นเคยพื้นที่ซะทีเดียว เคยไปจัดอบรมกฎหมายให้ชาวบ้านเรื่องช่องทางต่อสู้บ้าง จากที่ทราบกระบี่เคยมีโรงไฟฟ้าที่ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว (ปี 1964) ห้วงขณะนั้นก็มีการเล่าถึงผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของชาวบ้านปกาศัยที่โรงไฟฟ้าลิกไนต์มาตั้งใกล้ชุมชน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์เรื่องนี้มากนัก พอมาตอนนี้ ประเด็นสำคัญนอกจากมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้น 10 เท่าแล้วก็จะมี การขนถ่ายถ่านหิน สร้างทั้งท่าเรือจุดเชื่อมต่อมาโรงไฟฟ้า ที่จะตัดผ่านเส้นทางป่าที่ค่อนข้างยาว และแม้ กฟผ. จะอ้างว่า เป็นเส้นทางเดิม ที่ไม่กระทบกับประมงและแหล่งท่องเที่ยว แต่พอชาวบ้านได้ไปดูและวาดแผนที่ เขาก็รู้สึกว่ามันได้รับผลกระทบอยู่ดี ยิ่งกับการทำ EIA (การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) 2 เล่ม บางจุดไม่ได้ทำ ไม่ได้มองภาพรวมทั้งโครงการ เป็นอีกโครงการที่ชาวบ้านกังวลและควรประเมินข้อดีข้อเสีย ว่ามันควรจะมีหรือไม่มี
จากปี 2015 จุดเริ่มโครงการนี้ ทำไมต้องกระบี่?
พี่หนูรับว่า เป็นเรื่องที่เธอและคนทำงานด้านสิ่งแวดต้องถูกถามจากคนในพื้นที่ตลอดเวลาเข้าไป ซึ่งยากที่บอกได้ แต่หากเข้าไปดูในเว็บไซต์จะเห็นว่า รัฐเขาวางโครงการไว้แล้ว และกระบี่ก็เคยมีโครงการลักษณะนี้ก่อนหน้า เพียงแค่ขยายขนาดขึ้น
ท่าเรือก็ขยายเพิ่มมากขึ้น เหมือนเป็นจุดในการรับซื้อถ่านหิน แต่ไม่ได้เลือกผ่านการประเมินศักยภาพ ว่ากระบี่ควรพัฒนาไปทิศทางไหน "เป็นจุดที่เราเองและชาวบ้านเองก็ถามเรื่องนี้ จู่ ๆ มีแผนนโยบายไปเลย ว่ากระบี่จะเพิ่มขนาดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปอีกหลายเท่าตัว" พี่หนูเปรยไว้อีกตอน
อีกคำถามของชาวบ้านคือ ไฟฟ้าจะผลิตไปไหน ขนาดกำลังผลิตระดับนี้ ไม่ได้ใช้แค่ที่กระบี่แน่นอน ข้อกังวลอีกอย่างคือ มันจะมีโครงการอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมารองรับอีกไหม (ตอนนี้ภาคใต้มีไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ 45%) และเห็นว่าก็คงเหมือนหลาย ๆ พื้นที่ เช่น เทพา ปากบารา ที่เป็นแผนพัฒนาภาคใต้ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่จะไปสนับสนุนโครงการดังกล่าว
ภาคใต้เองอย่าง กระบี่ สตูล มันคือเมืองท่องเที่ยว ที่ไม่ได้ต้องการพลังงานเยอะมากมหาศาลอยู่แล้ว เลยมีคำถามเกิดขึ้นตลอดว่าด้วยขนาดของโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เขาจะเอาไฟไปป้อนอะไร ไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอ ต้องผลิตให้คนภาคใต้ใช้ แต่มันไม่น่าจะเพิ่มขนาดนี้
“แกนนำที่ออกมา เขาก็ทำงานร่วมกลุ่มประมง และการท่องเที่ยวที่เห็นผลกระทบ นำไปสู่การชุมนุมหน้ากระทวงการท่องเที่ยวฯ เพราะเขารู้สึกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวควรปกป้องการท่องเที่ยวของประชาชน นอกจากนี้พวกเขาต้องการ ชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์กระบี่คือเรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องมุ่งไปข้างหน้า”
ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีความเสี่ยงสูงมาก แม้รัฐบาลจะบอกว่ากระบวนการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด แต่ก่อนหน้า“กระบี่เคยทำคลิปบางอัน ถามนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วเขาก็สงสัยอย่างมาก ทำไมสถานที่ที่สวยงามขนาดนี้ จะมีแผนเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ่านหินมันมีความเสี่ยงและผลกระทบหนัก โดยเฉพาะกับที่ที่ควรรักษาไว้” (การทำประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับชุมชน หรือ CHIAสอบถามนักท่องเที่ยว 684 คน จาก 77 ประเทศ พบว่าร้อยละ 88 เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อถามว่าหากมีสิ่งแวดล้อมจะกลับมาเที่ยวกระบี่อีกหรือไม่ ร้อยละ 85 ตอบว่าจะไม่กลับมา)
ด้วยความสงสัยใคร่ครวญ "ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลคิดอะไรอยู่ นักท่องเที่ยวก็คิดประมาณนี้ ความสวยงามและสงบยังเป็นอย่างนั้นอยู่ และกลุ่มคนที่มาท่องเที่ยวที่กระบี่ส่วนมากเขามาดูความสวยงามของท้องทะเล ปะการังอะไรแบบนี้"
ยิ่งในภูมิทัศน์ธรรมชาติ การเป็นที่ท่องเที่ยวแต่มีเรือใหญ่ ๆ วิ่งผ่าน โดยเฉพาะหากเรือนั้นเป็นเรือขนส่งถ่านหิน และมีการเผาถ่านหิน มันก็คงจะดูเป็นภาพที่ไม่น่าดูนัก และมันเป็นความเสี่ยงที่คนในพื้นที่เอง ไม่รู้สึกว่าควรจะได้รับความเสี่ยง ถ้าโจทย์คือพลังงาน พวกเขาคิดว่ามีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ถ่านหิน และการท่องเที่ยวกระบี่เป็นส่วนสำคัญ ที่คงดูแลรักษาไว้ พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน และกลุ่มคนที่ทำการประมงและอาหารสะอาด เขาก็ยังเชื่อว่ามันคงอยู่ได้ อย่างวิถีเดิม
สถานที่ที่เห็นได้ชัดว่าจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างคือ พื้นที่ชุ่มน้ำนับแสนไร่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ทั้งป่าชายเลน ระยะทางที่ยาว และผ่านพื้นที่ป่า ที่ยังไม่ถูกศึกษาผลกระทบ
นอกจากศึกษาผลกระทบที่สำคัญตอนนี้พวกเขาอยากพัฒนาการท่องเที่ยวกระบี่สีเขียวไปในทางที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นความเสี่ยง ที่ไม่มีอะไรรับรอง เราขอเลือกการเพิ่มพลังงานในทางที่มีความเสี่ยงน้อย โดยเฉพาะพลังงานทางเลือก
ไม่ปฏิเสธเรื่องพลังงาน เพียงแต่อยากเสนอบ้าง
พี่หนูย้ำชัดในประเด็นที่ว่าชาวกระบี่ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องพลังงานไม่พอ เขาเห็นด้วยว่ามันควรจะเพิ่ม แต่การหาพลังงานเพิ่มไม่ใช่แค่เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเดียว สิ่งที่เขาปฏิเสธแน่ ๆ คือถ่านหิน เพราะมันมีผลกระทบต่อสิงแวดล้อมและสุขภาพอย่างยิ่ง
แต่การเพิ่มพลังงาน ยุทธศาสตร์กระบี่ที่มีมูลค่าในการพัฒนาคือการท่องเที่ยว ชาวบ้านเลยไปคุยกับภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่าง ๆ กลายเป็นว่า จับมือกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ เพราะทุกคนต่างเห็นเป็นจุดเดียวกันว่าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมันจะกระทบต่อการท่องเที่ยวกระบี่
ด้วยปัญหาที่เขาเห็นเขาก็ยอมรับว่าพลังงานไม่พอจริง เช่นที่ เกาะลันตา ไฟมันก็ดับ ๆ ติด ๆ อะไรแบบนี้
เพราะฉะนั้นมันมีช่องทางอื่นไหม เช่นโรงงงานปาล์ม โรงงานเกษตร ที่เขาใช้ของเสียของเหลือ มาผ่านกระบวนการผลิตเป็นไฟฟ้าได้ เลยจุดประกายได้ว่าศักยภาพของการผลิตไฟฟ้ากระบี่มันสามารถทำพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยที่สะอาดด้วยได้ไหม
มูลนิธินโยบายสุขภาวะก็มีงานวิจัยออกมาว่าประมาณสองปี กระบี่ถ้าวางยุทธศาสตร์เรื่องนี้จริง ๆ จะสามารถผลิตพลังงานสะอาดใช้ที่กระบี่เองได้ 100%
“หมายความว่าต้องมีแผนและปฏิบัติ เลยคิดว่าที่นี่ โอเคตรงที่ภาคประชาชน กลุ่มประมง กับนักธุรกิจท่องเที่ยวที่ใช้ทรัพยากรท่องเที่ยวเป็นต้นทุนเหมือนกัน ไม่ว่าโรงแรมหรืออะไร”
ในคำว่า Krabi Go Green
เป็นปฏิญญาท่องเที่ยว เป็นหัวใจหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต รวมคนให้เป็นหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนในวงการท่องเที่ยว ทุกภาคส่วนมาร่วมลงนามกันหมด เกษตร ประมง อุตสาหกรรม องค์กรปกครองท้องถิ่น เป้าหมายคือความยั่งยืน กระบี่ต้องมุ่งไปที่สีเขียวเป็นหลัก โดยในภาคประมงเน้นเรื่องอาหารปลอดภัย ตั้งเป้าให้ภาคธุรกิจโรงแรมใช้วัตถุดิบจากประมงชายฝั่งเป็นหลัก ในภาคหอการค้ามีการประกาศชัดเจนว่ากระบี่ปลอดโฟม ซึ่งแขกจากต่างถิ่นจะเห็นได้ตั้งแต่ถนนคนเดินกับการเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนและนโยบายประหยัดพลังงานเปลี่ยนหลอดไฟเป็นชนิดแอลอีดี การบำบัดน้ำเสียหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีต้นแบบอยู่โรงแรมหลายแห่ง ย่านอ่าวนาง
นอกจากนี้การตกแต่งรีสอร์ทยังหันมาใช้ผ้าบาติกแทนผ้าไหมที่ต้องสั่งมาจากอื่นไกล มินิบาร์ก็ใช้ขนมจากพื้นบ้าน อาหารทะเลจากในถิ่น ไม่มีเมนูแบบปลาแซลมอน ไม่มีผลไม้จากเมืองนอกที่ต้องขนส่งนำเข้า คำว่ากระบี่โกกรีนจึงเป็นมีมาระหว่างการต่อสู้ โดยเฉพาะหลักคิดเรื่องพลังงาน ทุกสิ่งอย่างต้องนำจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะนำเอากระบี่โกกรีน พัฒนาอย่างยั่งยืนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม "คือเราไม่ได้ค้านอย่างเดียว แต่เราเสนอทางเลือกด้วย เราปฏิเสธสิ่งที่รัฐบอกมา แต่เราขอเลือกทางเลือกของเราเอง"
แต่ไม่ว่าจะเป็น Save AnDaMan From Coal หรือ Krabi Go Green
การมองความยั่งยืนของพื้นที่ การจัดการอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ประมง ธุรกิจรายย่อย จะเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องทะเลในพื้นที่
พี่หนูยกตัวอย่างอย่างจากปากบารา จังหวัดสตูล ที่คนในพื้นที่ยืนยันว่าต่อสู้เพื่อปกป้องสองฝั่งทะเล ทั้งสงขลาและสตูล ชาวบ้านจึงเข้าร่วมกัน เพราะท่าเรือนั้นเชื่อมสองฝั่ง เขากำลังสร้างให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วย
และ Save Andaman เขาพูดถึงชายฝั่งอันดามันทั้งแถบ ถ้าสังเกตเห็นการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านตั้งแต่ท่าเรือเชฟรอน จุดหนึ่งที่ชาวบ้านคลิกคือ ภาคใต้ยังเป็นภาคที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์อย่างมากทั้งป่าเขานาเล ตอนเชฟรอนก็คุยกันไม่เอาท่าเรือ แต่พอเขาไปคุยเห็นประเด็นสำคัญ คืออ่าวทองคำ
“มันชนะด้วยอ่าวทองคำ คือทุกคนเห็นร่วมกันว่าหากตรงนั้นจะเป็นท่าเรือ แค่ปักเสาจะสร้างแค่เสาเดียวเนี่ย มันก็กระทบกับวิถีชีวิตมหาศาลแล้ว ชาวบ้านจะวาดแผนที่ให้เลยว่าตรงนี้ มีปูปลาอาศัยอยู่ ชาวบ้านเลยเห็นว่านี่เป็นจุดสำคัญ เช่นแพปลา โรงแกะปู”
การพัฒนาต้องยั่งยืนไม่ว่าจะมิติท่องเที่ยว ทั้งอาหาร และทะเล "ชาวบ้านเขาคุยว่านี่จะเป็นการเชื่อมโยงกันของโครงการต่าง ๆ การสร้างแลนด์บริด การสร้างโรงไฟฟ้า ท่าเรือ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะไปตอบเรื่องการเพิ่มอุตสาหกรรม เช่นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก การสร้างสิ่งเหล่านี้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็มาจากโรงไฟฟ้า"
ถ้าภาคใต้เข้มแข็งและเป็นแบบนี้จะสู้ได้
ภาคใต้ตอนนี้เขาสามารถจะลุกขึ้นมาแบบนี้ได้ เขาเห็นภาคตะวันออก ทิศทางการพัฒนาที่ไม่มีการรับผิดชอบ เช่นทะเลที่หาดทรายมันหายไป ธุรกิจประมงก็คงไม่รอด บริเวณรอบ ๆ ปรากฏว่าเป็นโรงงานหมด เส้นทางสาธารณะถูกปิด เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพเดิม จากที่มีมูลค่าสูงที่ควรต่อยอดคุณค่าของพื้นที่
และโมเดลการอนุรักษ์อันดามันในลักษณะนี้มันเกิดจาก เขาเห็นว่าฝั่งทะเลตะวันออกอ่าวไทย เดิมก็เริ่มจากโรงไฟฟ้า แล้วจะมีปิโตรเคมีมา หรือมลพิษแปลกปลอมต่อสิ่งแวดล้อมอื่นตามมา
พอมายุคนี้ เราทำให้เขาคิดและเห็น คุณค่าหรือมูลค่าที่มีอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออก คนภาคใต้ ก็เห็นได้พร้อมๆกัน เพราะมันมีเฟซบุ๊กไลฟ์ จึงรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบ แต่ตอนนั้นครั้งภาคตะวันออก มันอาจไม่มีเครื่องมือสื่อสารอะไรแบบนี้
ตอนนี้อีกอันที่เห็นคือ "เราเห็นเรื่องปกติของเขาเป็นของแลปกและจุดขาย เช่นเขาโดดน้ำลงไปและเขาบอกว่าเขาฟังเสียงปลาได้ ว่าปลาอะไรมันจะอยู่ตรงไหน เราก็ตกใจ แต่เขาบอกทำได้นานแล้ว หรือการเจอโลมาสีชมพู เจอปลาโน่นนี่นั่นมันก็สะท้องถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่" พี่หนูกล่าวไว้ตอนหนึ่ง
แลการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
พี่หนูบอกว่า ชาวกระบี่จะขับเคลื่อน Krabi Go Green ต่อไป เอาประเด็นนี้มาต่อสู้ศึกษาต่อเนื่อง ยิ่งในพื้นที่เขาก็มองว่าต้องทำให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด และค้านตามช่องทางกฎหมายไปด้วย เหมือนพัทลุงที่ทำเรื่องอาหารปลอดภัย และสตูลทำเรื่องปะการัง และส่วนอื่น ๆ ที่รัฐมองข้ามไป นอกจากนี้ที่อื่น ๆ ยังพยายามที่จะสร้างรูปธรรมทางเลือก อันขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงพื้นที่ ศึกษาศักยภาพในพื้นที่และให้คนเลือกเอง
พี่หนูสรุปข้อคิดเห็นว่า หน่วยงานรัฐที่ข้องเกี่ยวด้านท่องเที่ยว ควรต้องไปสรุปว่าการท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวส่วนมากมาจากที่ไหน ง่าย ๆ เลยลองสำรวจ ผู้มีส่วนได้เสีย เช่นทำกับนักท่องเที่ยวว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรหากกระบี่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ การท่องเที่ยวทำได้ ถ้าเขาคิดว่าส่วนนี้กระทบหรือไม่กระทบอย่างไร
โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็เห็น ๆ กันว่ารายได้ต่อปีจากจุดนี้มันเข้าประเทศชาติเท่าไหร่ เขาก็คำนวณได้เลย และถ้าเขาบอกว่ามีโรงไฟฟ้าแล้วไม่มาอีก การท่องเที่ยวมันจะเสียหายเท่าไหร่
"จริง ๆ โจทย์เรื่องนี้คือพลังงานไม่พอ และมันมีทางเลือกอื่นไหม เพื่อให้คนมีทางเลือกอื่นด้วย ลองไปถามผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงอย่าง นักท่องเที่ยวเขาอาจมีข้อเสนอบ้างก็ได้"
ยิ่งถ้าเขาเห็นว่าทะเลแหวกสำคัญ เขาควรจะมีมาตรการร่วมกันว่า นั่นควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ ไม่ควรมีกิจกรรมบางกิจกรรมมากระทบหรือไม่?
หรือควรมีพื้นที่ที่ควรถูกคุ้มกันทางสิ่งแวดล้อม พื้นที่ที่เป็นนิเวศธรรมชาติสำคัญ ที่ควรได้รับการคุ้มครอง โดยเฉพาะคุ้มครองจากการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบ อย่างเช่นที่แล้วมามีที่ไหนสวยก็พาไปที่นั่น แล้วถ้ามันเกิดกระทบอะไรกับการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวก็ไม่มีสิทธิไปทำอะไรเลย ทั้งที่ที่แห่งนั้น มันควรจะสามารถส่งเสียงได้ว่า การพัฒนาในลักษณะการดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างถึงที่สุด
ไม่อาจคาดเดาว่าเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ จะประสบผลสำเร็จแค่ไหน และมูลค่าท่องเที่ยวกระบี่ปีหน้าตัวเลขจะพุ่งไปเท่าไหร่ แต่ภายใต้ม่านฉากงามงดที่ว่านั้น
ยังมีเรื่องหลากเรื่องราวซุกซ่อน และรอคอยคำตอบจากการต่อสู้อยู่
ภาพถ่ายโดย: Chanatda Ruengrath
ข้อมูลจาก นิตยสารสารคดี ฉบับ 385 มีนาคม 2560 และ คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ z-world.co
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ