โรงกลั่นค้าน 'น้ำมันยูโร 5' ที่ช่วยลดมลพิษ

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 3788 ครั้ง

โรงกลั่นค้าน 'น้ำมันยูโร 5' ที่ช่วยลดมลพิษ

โรงกลั่นค้านไอเดียกรมควบคุมมลพิษดันน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันได้ไม่เกิน 10 PPM ชี้ใช้เงินลงทุนสูง 6 โรงต้องใช้เงินถึง 84,000 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: Kaz (CC0)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาว่าปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทุกโรงต้องผลิตน้ำมันภายใต้ "มาตรฐานยูโร 4" ตามนโยบายของกรมควบคุมมลพิษ ที่ต้องการลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในทางเทคนิคน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 จะมีค่ากำมะถันไม่เกิน 50 PPM ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังคงใช้มาตรฐานยูโร 2 ค่ากำมะถัน 200 PPM แต่ล่าสุด กรมควบคุมลพิษเตรียมที่จะปรับมาตรฐานน้ำมันใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้โรงกลั่นทุกโรงต้องผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หรือ น้ำมันที่มีค่ากำมะถันได้ไม่เกิน 10 PPM และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้เรียกบรรดาโรงกลั่นน้ำมันเข้ามาหารืออย่างเป็นทางการแล้ว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมนี้ได้เรียกกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตรถยนต์ เข้ามารับทราบนโยบายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากไอเสียของรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ โดยเสนอให้โรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งต้องปรับปรุงน้ำมันให้ได้มาตรฐานยูโร 5 ปรากฏ ข้อเสนอดังกล่าวยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้คือ 1)โรงกลั่นมองว่า การปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 ในช่วงนี้ยังไม่เหมาะสม 2)รถยนต์ในปัจจุบันรองรับน้ำมันยูโร 5 ได้หรือไม่ และ 3)ระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันเตรียมความพร้อม จากปัจจุบันที่ในประเทศแถบยุโรปต่างกำหนดมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 หมดแล้ว

ดังนั้นเมื่อพิจารณาประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยควรปรับปรุงน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 เช่นกัน

"เรายังต้องมีการหารือร่วมกับเอกชนอีกหลายครั้ง ต้องดูก่อนว่า ทั้งโรงกลั่นน้ำมันและค่ายรถยนต์จะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเท่าที่หารือส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ละโรงกลั่นต่างก็มีศักยภาพในการลงทุนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามกรมควบคุมฯมองว่า ถ้าปรับปรุงมาตรฐานเป็นยูโร 5 ได้ก็จะเกิดผลดีต่อภาพรวมของประเทศอย่างมาก" นายจตุพรกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่กล่าวภายหลังจากร่วมหารือกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐานยูโร5ว่า เท่าที่ฟังมายังมีหลายอีกประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจนคือ 1)เหตุผลหรือความจำเป็นที่ต้องการให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่แท้จริง เนื่องจากทางกรมควบคุมฯให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจค่อนข้างมาก แต่กลับไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจน 2)ไม่มีการยืนยันจากผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศว่า รถยนต์ในปัจจุบันสามารถใช้น้ำมันยูโร 5 ได้หรือไม่

3)ต้นทุนการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะบริหารจัดการอย่างไร และ 4)ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับนั้น "คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่" เนื่องจากเมื่อประเมินการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ/โรง หรือ 14,000 ล้านบาท/โรง ดังนั้นโรงกลั่นในประเทศที่มีอยู่ 6 โรงเท่ากับว่า จะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 84,000 ล้านบาท

"กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันได้ลงทุนปรับปรุงน้ำมันให้ได้มาตรฐานยูโร 4 ยังไม่ถึง 10 ปีเลย มาตอนนี้ภาครัฐก็จะให้ปรับเป็นยูโร 5 อีกแล้ว ทุกคนพร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ เพียงแต่ต้องชัดเจนใน 4 ประเด็นข้างต้นก่อนและต้องถามผู้ใช้น้ำมันด้วยว่า สามารถแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับมาตรฐานเป็นน้ำมันยูโร 5 ได้หรือไม่ด้วย"

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนระหว่างน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 กับยูโร 5 แล้วคาดว่า การลงทุนสำหรับน้ำมันยูโร 5 "จะต้องลงทุนสูงกว่าประมาณร้อยละ 10-20" เนื่องจากทางเทคนิคจะต้องติดตั้งระบบเพิ่มความดัน อุปกรณ์สำหรับควบคุมอุณหภูมิ และระบบอื่น ๆ เพื่อให้น้ำมันภายใต้มาตรฐานดังกล่าว สามารถลดค่ากำมะถันให้เหลือเพียง 10 PPM ในขณะที่น้ำมันมาตรฐานยูโร 4 ปล่อยค่ากำมะถันอยู่ที่ 50 PPM

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังในช่วงที่โรงกลั่นต้องปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 นั้น มีการศึกษาต้นทุนราคาน้ำมันโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) พบว่า ต้นทุนน้ำมันเบนซินปรับขึ้น 1.20 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1 บาท/ลิตร

ดังนั้นแนวโน้มต้นทุนของราคาน้ำมันภายใต้มาตรฐานยูโร 5 ที่ประชาชนต้องรับภาระคาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า/ลิตรเช่นกัน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการใช้น้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านยังพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 2 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 500 PPM) ภาครัฐต้องพิจารณาประเด็นของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยว่าในแง่ของการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจด้านของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันจะไม่สามารถขยายตลาดไปยังเพื่อนบ้านได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: