พบ 9 ปัญหาแรงงานภาคอิเล็กฯ-ยานยนต์ไทย ปี 2559-60

พัชณีย์ คำหนัก ผู้ประสานงานระหว่างประเทศเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย 19 มิ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 5886 ครั้ง

พบ 9 ปัญหาแรงงานภาคอิเล็กฯ-ยานยนต์ไทย ปี 2559-60

พบ 9 ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อแรงงานไทยในภาคอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ การใช้แรงงานนักศึกษาฝึกงานตามฤดูกาล, อันตรายจากการใช้สารเคมี, การทำลายสหภาพแรงงาน, การเลิกจ้าง, การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศของรัฐบาลทหาร, การแทรกแซงกิจการสหภาพแรงงานของทหาร, นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ที่มาภาพประกอบ: thaiauto.or.th

สมาชิกของเครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย ซึ่งเป็นนักกิจกรรมแรงงาน นักสหภาพแรงงานและนักพัฒนาเอกชนได้ประชุมแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาของแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี และภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นทั้งการติดตามและแก้ไขปัญหาเดิมอย่างต่อเนื่อง และเป็นสถานการณ์ใหม่ของปี 2559-2560 ทั้งหมด 9 ประเด็น ดังนี้

  1. การใช้แรงงานนักศึกษาฝึกงานตามฤดูกาล

ในปี 2560 นี้โรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป เครื่อเสียงติดรถยนต์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีรับนักศึกษาฝึกงานประมาณ 2,000 คน จากวิทยาลัยสายอาชีพในจังหวัดต่างๆ เช่น แพร่ อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ทำงานเยี่ยงลูกจ้างในบริษัท และยังเป็นการทดแทนแรงงานซับคอนแทร็คบางส่วนในช่วงที่มีคำสั่งผลิตสูง สิ่งที่พบคือ นักศึกษาไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิของตัวเอง และไม่ได้รับการอบรมทักษะความรู้และความปลอดภัยในการทำงานที่เพียงพอ คาดว่า ในอนาคตโครงสร้างกำลังแรงงานไทยจะประกอบด้วยนักศึกษาฝึกงานมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลทหารที่มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานคนรุ่นใหม่ โดยให้นักศึกษาสายอาชีพไปฝึกงานกับสถานประกอบการในหลักสูตรทวิภาคี เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้

นอกจากนี้ เมื่อปี 2559 บริษัทมีนโยบายรับสมัครพนักงานซับคอนแทร็คด้วยสัญญาจ้าง 11 เดือน (จากเดิมไม่มีกำหนด) เมื่อครบสัญญาจ้าง 11 เดือนก็ยุติการจ้างงาน  ทั้งนี้มองว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ซึ่งหากจ้างงานครบ 1 ปีลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย 3 เดือน  และยังเป็นการหลีกเลี่ยงไม่จ่ายโบนัส ดังนั้น สหภาพแรงงานจึงควรเข้าไปดูเงื่อนไข ตรวจสอบผลประโยชน์ในสัญญา 11 เดือนดังกล่าว เช่น ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

  1. อันตรายจากการใช้สารเคมี

โรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ทำการผลิตด้วยสารตะกั่ว ดีบุก ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพของคนงาน  ดังนั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2560 คนงานไปตรวจเลือด พบว่า มีสารตะกั่วในเลือดสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า ขาดการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการใช้สารเคมี นอกจากนี้ โรงงานยังปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว ลงในลำธารธรรมชาติที่ไหลผ่านชุมชนและลงสู่แหล่งเก็บน้ำสาธารณะซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชุมชนต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภครวมกัน ทำให้เห็นการบริหารจัดการที่ขาดความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงควรมีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีในการผลิต

  1. การทำลายสหภาพแรงงาน

ที่ผ่านมา การดำเนินคดีของนายจ้างต่อสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย (จีเอ็ม) (ชุมนุมประท้วงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของนายจ้าง ถูกกล่าวว่าบุกรุกพื้นที่ของบริษัทฯ เมื่อปี 2556) การขออนุญาตศาลเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานซูซุกิมอเตอร์ ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้มีการดำเนินคดีในชั้นศาลมาเป็นเวลา 3-4 ปี

การต่อสู้ทำให้เห็นว่า จากการที่นายจ้าง บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งความดำเนินคดีอาญากับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่ร่วมชุมนุมอยู่ในพื้นที่หน้าโรงงาน และกระบวนการ/รูปแบบการต่อสู้ไปไกลกว่าที่กฎหมาย/อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐจะรับมือได้ กล่าวคือ การปิดงานที่ไม่มีระยะเวลากำหนด ทำให้นายจ้างปิดงานลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้อย่างถาวร (ซึ่งไม่ใช่การเลิกจ้าง) ส่งผลต่อการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยหากลูกจ้างและนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบภายใน 6 เดือนทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆ และการปิดงาน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าชดเชยใดๆ ทำให้คนงานจีเอ็มถูกลอยแพ อันเป็นการกลั่นแกล้งสมาชิกสหภาพแรงงาน แม้จะร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559  แต่รัฐมนตรีก็ไม่ออกคำสั่งระงับการปิดงานของนายจ้างแต่อย่างใด โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจกระทำได้

หรือการที่นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องให้กับสมาชิกหรือกรรมการสหภาพแรงงานเป็นรายบุคคล และใช้สิทธิ์ปิดงานสมาชิกหรือกรรมการสหภาพแรงงานเป็นรายบุคคลตามมา แม้สมาชิกสหภาพแรงงานจะยอมรับตามข้อเรียกร้องของนายจ้างทุกประการ แต่นายจ้างก็ยังคงปฏิเสธการเจรจาและใช้สิทธิ์ปิดงานต่อไป เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีอำนาจในการไกล่เกลี่ยหรือระงับข้อพิพาทแรงงานได้

อีกกรณีหนื่ง คือ สหภาพแรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อสหภาพแรงงานมีการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ตามขั้นตอนของกฎหมายนายจ้างกลับปฏิเสธที่จะเจรจา ทำให้เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงาน แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถที่จะบังคับให้นายจ้างมาเจรจากับลูกจ้างได้ ลูกจ้างเองก็มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรม ไม่สามารถนัดหยุดงานได้ เนื่องจากติดปัญหาพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ และการเฝ้าติดตามการดำเนินกิจกรรมจากเจ้าหน้าที่ทางหาร

และวิธีการของนายจ้างหลายแห่งหยิบใช้ คือ ผู้นำแรงงานถูกให้ออกนอกโรงงาน เช่น กรณีประธานสหภาพแรงงานซูซุกิฯ แม้จะได้รับเงินเดือนและยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง แต่ไม่สามารถดำเนินการต่อสู้และทำกิจกรรมสหภาพแรงงานได้อย่างต่อเนื่อง กอปรกับขบวนการพิจารณาคดีใช้เวลานาน และนี่คือการทำลายสหภาพฯ รวมถึงกรณีของบุญยืน สุขใหม่ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟ ที่นายจ้างขออำนาจศาลเลิกจ้างเมื่อเดือนธันวาคม 2558

  1. การเลิกจ้าง

การเลิกจ้างคนงานหญิงอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีอายุงานนาน 15  ปีขึ้นไปด้วยโครงการสมัครใจลาออก ทั้งนี้ มีสมมติฐานว่า นายจ้างต้องการเปลี่ยนถ่ายคนงานที่ทำงานมาเป็นเวลานาน มีสารเคมีสะสมอยู่ในร่างกาย เนื่องจากเกิดกรณีที่คนงานหญิงในโรงงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่ง เมื่อลาออกและกลับบ้านต่างจังหวัด พบว่า ป่วยเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตในที่สุด ไม่แตกต่างจากกรณีคนงานซัมซุงเกาหลีใต้ สหภาพแรงงานจึงควรเข้าไปตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการทำงาน สารเคมี ความปลอดภัย อุปกรณ์กำจัดกลิ่นจากสารเคมี เพื่อให้คำแนะนำ เช่น การซักเสื้อผ้าชุดทำงานไม่ควรปนกับของคนในครอบครัว

สาเหตุที่คนงานจำนวนมากเข้าโครงการสมัครใจลาออก เพราะต้องการเงินก้อนไปลงทุนค้าขาย เช่น ขายอาหาร อย่างไรก็ตาม มีบางรายกลับมาทำงานเป็นพนักงานซับคอนแทร็ค บางรายไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น เขตสมุทรปราการ ซึ่งถูกยกเว้นกฏหมายบางฉบับ เช่น ก.ม.แรงงาน ทำให้คนงานกลายเป็นคนชายขอบไร้อำนาจการต่อรอง

นอกจากนี้ ในการเลิกจ้างคนงานก็จะเลิกจ้างคนงานเหมาช่วงเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับในอดีต แต่ในบางแห่งเลิกจ้างพนักงานประจำและซับคอนแทร็คพร้อมกัน

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง

การเปลี่ยนระบบการทำงานของบริษัทอิเล็คทรอนิคส์แห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ เปลี่ยนจากระบบทำ 6 หยุด 1 เป็นทำ 4 หยุด 2 ไปพร้อมกับการทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างแต่อย่างใด เพราะทำให้ลูกจ้างขาดรายได้ เกิดภาวะปั่นป่วนกับวันหยุดงานประจำสัปดาห์ ทั้งถูกบังคับให้ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงรวมโอทีด้วย สหภาพแรงงานจึงดำเนินการฟ้องศาลแรงงาน ไม่ยอมรับการทำ 4 หยุด 2 หลังจากทำการนัดหยุดงานประท้วงเมื่อปี 2556 ซึ่งปัจจุบัน คดียังไม่สิ้นสุด

  1. การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศของรัฐบาลทหาร

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อมกราคม 2560 ไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนงานแต่อย่างใด เนื่องจากปรับขึ้นเพียงวันละ 1-10 บาท บางพื้นที่ไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ขณะเดียวกันลูกจ้างได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

  1. การแทรกแซงกิจการสหภาพแรงงานของทหาร

เมื่อสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้อง ชุมนุม และนัดหยุดงาน หรือจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่สมาชิกสหภาพแรงงาน ทหารจะเข้าไปสอดส่อง ติดตามการทำงานของผู้นำแรงงาน การเรียกผู้นำแรงงาน (บุญยืน สุขใหม่) ไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหาร

  1. นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลทหาร

เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ในเขตชายแดนที่ปราศจากสิทธิการรวมกลุ่มสหภาพแรงงาน และการงดการบังคับใช้กฏหมายบางฉบับที่ฝ่ายแรงงานคาดการณ์ได้ว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและสภาพการจ้างที่เลวร้ายตามมา ทั้งยังเป็นนโยบายที่ตอกย้ำความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานไม่เป็นธรรมอีกด้วย

  1. การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

การปกครองด้วยระบอบทหารไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เห็นแย้ง วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ กระชับพื้นที่การชุมนุมของฝ่ายแรงงาน และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานบางแห่ง แต่บางแห่งยังดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องตามปกติ เนื่องจากประเด็นปากท้องและบริบทในสถานที่ทำงานเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันต่อสู้มากกว่าปัจจัยทางการเมือง และขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของสหภาพแรงงานด้วย อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศที่เป็นอยู่ส่งผลให้อำนาจการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงานลดลง

จากกรณีข้างต้น เห็นได้ว่า ปัญหาของแรงงานนอกจากจะต้องแก้ไขเรื่องเดิม คดีเก่าแล้ว ยังเผชิญกับเงื่อนไขใหม่ คือ การปกครองด้วยมาตรา 44 ของรัฐบาลทหารไม่เอื้อให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงาน ทำให้นายจ้างเป็นฝ่ายได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม โดยหลักการ การเรียกร้องเป็นสิทธิตามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีอำนาจสั่งการยับยั้งได้ หากยับยั้งถือเป็นการไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของฝ่ายแรงงาน และความยุติธรรมก็จะไม่เกิด.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: