ไทยขึ้นอันดับ 9 ประเทศที่มีความเสี่ยง ‘เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’

ทีมข่าว TCIJ : 19 พ.ย. 2560 | อ่านแล้ว 19045 ครั้ง

ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง เช่น พายุ ฝนที่ตกอย่างรุนแรง และภัยแล้ง  สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก จากการจัดอันดับดัชนีความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลกระหว่างปี 1997–2016 ในรายงาน Global Climate Risk Index 2018 ไทยขยับขึ้นอันดับ 9 ของโลกแล้ว พบอุทกภัยปีล่าสุดสร้างความเสียหายภาคเกษตรไทยถึง 14,198.21 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ปัจจุบัน ปัญหาภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น มีช่วงฤดูร้อนที่ยาว นานขึ้น ฤดูหนาวที่สั้นลง ภาวะแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ฤดูฝนจะมีฝนตกชุกเพิ่มขึ้น สภาวะอากาศแปรปรวนและสภาพอากาศรุนแรง เหล่านี้ได้สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก

เนื่องในวาระการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 23 (COP 23) ระหว่างวันที่ 6-17 พ.ย. 2017 ที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี มีการเปิดเผยรายงาน Global Climate Risk Index 2018 ขององค์กร Germanwatch  ซึ่งได้จัดอันดัชนีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างปี ค.ศ. 1997–2016 (Global Climate Risk Index for 1997–2016) โดยในการจัดอันดับ (ดัชนีระยะยาว) พบว่าประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งสูงขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่แล้วที่ไทยอยู่อันดับที่ 10

ในรายงาน Global Climate Risk Index 2018 ระบุว่าระหว่างปี ค.ศ. 1997 ถึง 2016 มีเหตุภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรงมากกว่า 11,000 เหตุการณ์  มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากเหตุการณ์เหล่านั้นสูงกว่า 524,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยประเทศฮอนดูรัส, เฮติ และพม่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้รุนแรงมากที่สุด

ข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997-2016 พบว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) จะยิ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด (ค.ศ. 1997-2016) พบว่า 9 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ปานกลางระดับต่ำ ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางมีเพียงประเทศเดียวเท่านั้น

โดยการจัดอันดับประเทศความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างปี 1997–2016 (ดัชนีระยะยาว) 10 อันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ฮอนดูรัส, อันดับ 2 เฮติ อันดับ 3 พม่า อันดับ 4 นิคารากัว อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ อันดับ 6 บังกลาเทศ อันดับ 7 ปากีสถาน อันดับ 8 เวียดนาม อันดับ 9 ไทย และอันดับ 10 โดมินิกัน

แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2016 ประเทศที่มีค่าดัชนีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกมากที่สุด 10 อันดับแรก อันดับ 1 เฮติ อันดับ 2 ซิมบับเว อันดับ 3 ฟิจิ อันดับ 4 ศรีลังกา อันดับ 5 เวียดนาม อันดับ 6 อินเดีย อันดับ 7 ไต้หวัน อันดับ 8 มาเซโดเนีย อันดับ 9 โบลิเวีย และอันดับ 10 สหรัฐอเมริกา

อนึ่งประเด็นสำคัญของเวที COP 23 ครั้งนี้ คือการเน้นหารือแนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดการบังคับใช้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) จะหมดอายุลงในปี ค.ศ. 2020 เพื่อผลักดันความมั่นใจลดก๊าซเรือนกระจก รักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยแต่ละประเทศต้องเพิ่มเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกอีก 11 - 13.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์ ภายในปี ค.ศ. 2030 การติดตาม ทบทวน เสนอกติกาที่ให้แต่ละประเทศส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนทุก 5 ปี ซึ่งจะหารือกับกลุ่มประเทศ 77 (G77) จีน และสหภาพยุโรป (EU) ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง

COP 23 คืออะไร?


ป้ายแนะนำประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 23 (COP 23) ที่มาภาพ: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า COP หรือในชื่อเต็มคือ Conference of the Parties เป็นการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นสมัยที่ 23 ถือเป็นการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยมีผู้เข้าประชุมจากทั่วโลก กว่า 50,000 คน จากหลากหลายภาคส่วน อาทิ การเมือง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และประชาสังคม โดยในการประชุมนี้ยังประกอบด้วยการประชุมใหญ่ ๆ อีก 2 งานคือ การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 13 (CMP 13) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 1.2 (CMA 1.2)

ทำไมทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับ COP มีเพียงไม่กี่การประชุมในประวัติศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคนทั่วโลก และนี่คือหนึ่งในงานประชุมนั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมของมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงต่อโลกของเรา ดังจะเห็นได้จากการที่เราทุกคนต้องเผชิญต่อสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วอันเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิยังอาจส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และคุกคามแหล่งน้ำของประชาชนนับล้าน ทำลายความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล สัตว์และพืชเริ่มอพยพสู่พื้นที่แห่งใหม่ เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคชนิดใหม่ที่อาจเป็นภัยต่อมนุษย์

COP 23 และประเทศไทย ในการประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากประเทศสมาชิก 196 ประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศหมู่เกาะ บรรลุข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน หลังจากการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาและรับมือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเกิดเป็น ‘ความตกลงปารีส (Paris Agreement)’ ที่กำหนดเป้าหมายร่วมกันว่า จะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อสิ้นสุดทศวรรษที่ 20 หรือ ปี ค.ศ. 2100 และหากเป็นไปได้จะพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศในการลดโลกร้อน เมื่อครั้งการประชุม COP 21 ไว้เช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีของไทยได้เรียกร้องให้ทุก ๆ ประเทศให้ความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องของเงินทุน งานวิจัยและองค์ความรู้เพื่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้ตั้งเป้าไว้ว่าประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 - 25 ภายในปี ค.ศ. 2030

สำหรับการประชุม COP 23 นี้ ประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ได้ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 20-25 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และเสนอรายงานการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจากทุกภาคส่วนผ่านนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “Thailand Climate Actions through Multi – Stakeholder Partnership”

 

โลกร้อนขึ้น น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น

100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวพื้นของโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.74 องศาเซลเซียส ส่วนอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั้งโลกมีค่าสูงขึ้นเป็น 3.4 มิลลิเมตรต่อปี ที่มาภาพประกอบ: nasa.gov

นอกจากภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแล้ว ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังได้ส่งผลต่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น (และมีแนวโน้มสูงขึ้น)  รวมทั้งปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไป โดยในรายงานการประเมินครั้งที่ 4 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เมื่อปี  ค.ศ. 2007 ได้สรุปเกี่ยวกับอุณหภูมิผิวพื้นของโลกไว้ว่าในช่วงปี ค.ศ. 1995-2006  มีจำนวน 11 ปี จาก 12 ปี ที่เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้โดยตรงตั้งแต่ ปี ค.ศ.1850 และในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 1906-2005) อุณหภูมิผิวพื้นของโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.74 องศาเซลเซียส ในช่วงปี ค.ศ. 1979-2005 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวพื้นของโลกหรือเหนือพื้นดินมีอัตราสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลประมาณ 2 เท่า คือ 0.27 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ เทียบกับ 0.13 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วอุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยทั้งโลกสูงขึ้นและมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการเพิ่มขึ้นในระยะหลังสูงกว่าในอดีต ทั้งนี้ จากข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำระหว่างปี ค.ศ. 1961-2003 แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั้งโลกเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ย 1.8  มิลลิเมตรต่อปี ส่วนการตรวจวัดด้วยดาวเทียมระหว่างปี ค.ศ. 1993-2003 พบว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั้งโลกเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา 3.1 มิลลิเมตรต่อปี และระหว่างปี ค.ศ. 1993-2008 พบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั้งโลกมีค่าสูงขึ้นเป็น 3.4 มิลลิเมตรต่อปี การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเกิดเนื่องจากการขยายตัวของน้ำทะเลจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของมวลน้ำทะเลจากการละลายของธารน้ำแข็งบนแผ่นดินและการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกทั้งจากเกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกา (ข้อมูลที่ยกมานี้อ้างจาก ‘แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593’)

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

นอกเหนือจากที่ไทยต้องเผชิญเหตุภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศบ่อยครั้งแล้ว ข้อมูลจาก Global Climate Risk Index 2018 ระบุว่าระหว่างปี พ.ศ. 2540-2559 มีเหตุภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรงในประเทศไทยถึง 137 เหตุการณ์ ใน ‘แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593’ ยังระบุว่า ประเทศไทยได้มีการศึกษาทั้งในเชิงสถิติและการคาด การณ์โดยแบบจำลองภูมิอากาศ ข้อมูลการตรวจวัดที่ผิวพื้นและในบรรยากาศจากสถานีอุตุนิยมวิทยาทั่วประเทศ บ่งชี้ว่าอุณหภูมิในประเทศไทยในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2498-2552) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 99 หรือค่า p<0.001) โดยค่าเฉลี่ยรายปีของอุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ย และอุณหภูมิต่ำสุด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.86, 0.95 และ 1.45 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และมีอัตราการเปลี่ยนแปลงต่อทศวรรษเท่ากับ 0.156, 0.174 และ 0.263 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยต่อทศวรรษของไทย (0.174 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ) มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงกว่าของโลก (0.126 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ) อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 0.1 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ในรอบ 50 ปี (พ.ศ. 2510 -  2549) สำหรับระดับน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำ 4 สถานีในอ่าวไทยในรอบกว่า 60 ปี (พ.ศ. 2488 – 2547) พบว่าระดับน้ำ ทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยอัตรา 3.0-5.0 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ข้อมูลจากจานดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเลในรอบ 17 ปี (พ.ศ. 2536-2552) ก็แสดงอัตราเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยที่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน แต่สำหรับในทะเลอันดามันยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ค่าเฉลี่ยรายปีของความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการระเหยของน้ำกลับลดลง สำหรับปริมาณฝนสะสมรายปีของประเทศไทยในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 แต่พบว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนสะสมของประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอ็นโซ่ โดยจะมีปริมาณฝนสะสมรายปีต่ำกว่าปกติในปีที่เกิดเหตุการณ์เอลนีโญ่ และปริมาณฝนสะสมรายปีจะเพิ่มขึ้นในปีที่ตรงกับเหตุการณ์ลานีญ่า

พบอุทกภัยปี 2560 สร้างความเสียหายภาคเกษตรไทย 14,198.21 ล้านบาท

อุกภัยปี 2560 สร้างความเสียหายให้ภาคเกษตรไทยไม่ต่ำกว่า 14,198.21 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 3,648.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.04 ของมูลค่า GDP รวมทั้งประเทศ ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ระบุว่าอุทกภัย ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยทุก ๆ ปี เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตมรสุมตลอดทั้งปี อุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลโดยเฉพาะภาคเกษตร ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain Disruption) ในหลายอุตสาหกรรมของไทยและอาจรวมไปถึงผู้ผลิตรายอื่นของอีกหลายประเทศ แม้ที่ผ่านมาพื้นที่เสียหายทางการเกษตรในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 ล้านไร่ แต่ในบางปีก็มีระดับน้ำท่วมสูงและพื้นที่การเกษตรเสียหายมากกว่า 5 ล้านไร่ เช่นปี 2551, 2553 และ 2554 โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554 ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมากถึง 12.22 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 1.289 ล้านราย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยปี พ.ศ. 2560 ผลสำรวจเบื้องต้นจากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่การเกษตร (ด้านพืช) เสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 3.41 ล้านไร่ (เฉพาะช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.)  หรือคิดเป็นร้อยละ 27.90 ของพื้นที่เสียหายในปี พ.ศ.2554 โดยสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค. (พายุตาลัส-เซินกา) สำรวจความเสียหายแล้ว จำนวน 43 จังหวัด เกษตรกรรวม 444,854 ราย วงเงินช่วยเหลือ 3,869.39 ล้านบาท ช่วงที่ 2 ช่วงภัยตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค. – 30 ก.ย. (พายุทกซูรี) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 51,565 ราย และช่วงที่ 3 ช่วงภัยตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.- ปัจจุบัน  (หย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 194,692 ราย

จากการคำนวณเบื้องต้น โดยศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ย.) พบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (ช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.) ด้านพืช 3.41 ล้านไร่ ประมงพื้นที่บ่อปลา 12,253 ไร่ และด้านปศุสัตว์ สัตว์ตายและสูญหาย 60,591 ตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 11,959.65 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายด้านพืช 11,817.04 ล้านบาท ประมง 133.68 ล้านบาท และปศุสัตว์ 8.93 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายคือ อุทกภัยช่วงวันที่ 16 ส.ค. ถึงปัจจุบัน อีกประมาณ 1.94 ล้านไร่ ซึ่งศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ว่าจะเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณร้อยละ 20 จึงประมาณการว่าจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายอีกประมาณ 2,238.57 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 3 ช่วงภัยเป็น 14,198.21 ล้านบาท เมื่อประเมินผลกระทบจากมูลค่าความเสียหายของอุทกภัยที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่าส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 3,648.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.04 ของมูลค่า GDP รวมทั้งประเทศ และ 0.59 ของมูลค่า GDP สาขาเกษตร โดยผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุดคือสาขาพืช มีมูลค่าความเสียหาย 3,593.17 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาประมง 53.47 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท ตามลำดับ

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: แผนที่แสดงดัชนีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (1997-2016)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: