ชาติตะวันตกและชาติที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมหลายชาติเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนของพม่าแสดงบทบาทนำในความพยายามเพื่อยุติความรุนแรงทางทหารต่อชาวโรฮิงญามุสลิม หลังจากที่นาย Boris Johnson รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อหารือในประเด็นนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กันยายน นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ที่นครนิวยอร์ก
ในการประชุมมีรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 8 ชาติ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เข้าร่วมการหารือแบบที่ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม และเป็นการหารือร่วมกับนาง Nikki Haley เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ รวมถึงกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของพม่า โดยภายหลังสำนักงานการทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติแถลงว่านาย Boris Johnson ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่ารัฐบาลพลเรือนของพม่าต้องเป็นฝ่ายริเริ่มความพยายามเพื่อยุติความรุนแรงทางทหารก่อน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ที่เข้าร่วมการหารือได้เรียกร้องให้ทางการพม่ารับความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมที่จะส่งให้แก่ชาวโรฮิงญามุสลิมโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพม่าได้กล่าวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับความรุนแรงในประเทศที่กำลังทำให้คนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาหนีออกจากพม่า โดยเธอได้เปิดเผยว่าจะพิจารณาวิธีการคลี่คลายปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่าจะให้สัญชาติพม่าแก่ชาวโรฮิงญาหรือไม่ พร้อมทั้งกล่าวว่ารัฐบาลพม่าประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ และว่ารัฐบาลมีพันธกิจในการฟื้นฟูสันติภาพ เสถียรภาพ ตามหลักนิติธรรม
นอกจากนี้นางออง ซาน ซูจี ยังกล่าวด้วยว่ารัฐบาลพม่าจะนำข้อเสนอของคณะกรรมการที่ปรึกษาที่นำโดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติมาปฏิบัติ
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: NHK, 20/9/2017
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ