กระทรวงพลังงานพาคณะสื่อดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่น

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 2959 ครั้ง

กระทรวงพลังงานพาคณะสื่อดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่น

เผยกระทรวงพลังงานพาคณะสื่อดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินญี่ปุ่น ระบุมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ ความเข้าใจการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการสร้างความมีส่วนร่วม ด้านนักวิชาการชี้กระบวนการดำเนินงานและจัดการโรงไฟฟ้าถ่านหินของญี่ปุ่นกับในไทยอาจไม่เหมือนกัน ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

BBC Thai รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาว่าพล.อ.ธนา วิทยวิโรจน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการโรงไฟฟ้ากับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินกระบี่ โดยกระทรวงพลังงานระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ญี่ปุ่น "สะอาด" และการดูงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ ความเข้าใจการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการสร้างความมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติและพัฒนาประเทศ ให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิชาการที่เคยไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า กระบวนการดำเนินงานและจัดการโรงไฟฟ้าถ่านหินของญี่ปุ่นกับในไทยอาจไม่เหมือนกัน โดย ดร.สมพร ยกตัวอย่างเกรดของถ่านหินที่ญี่ปุ่นใช้และไทยจะนำมาใช้ในอนาคต รวมถึงระบบจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสีย และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาและตรวจสอบโครงการจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน พร้อมยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถูกเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ฟ้องร้องเพราะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สะท้อนภาพการจัดการของหน่วยงานรัฐได้อย่างชัดเจน

ดร.สมพร ระบุด้วยว่า สถานที่ดูงานที่ไปกับกระทรวงพลังงาน คือ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่เมืองมัตสึอูระและเมืองฮิตาชินากะ ก่อนจะก่อสร้างถูกคัดค้านจากประชาชนบางส่วนในพื้นที่เช่นกัน แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามเปิดพื้นที่อภิปรายถกเถียงและให้ความรู้กับประชาชนในท้องที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเปิดให้กลุ่มต่อต้านเข้าไปตรวจสอบและติดตามดูการทำงานภายในโรงไฟฟ้าได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนภายนอกที่สนใจยื่นเรื่องขอเข้าชมการทำงานของโรงไฟฟ้าได้ตลอด และมีการนำข้อเรียกร้องของคนในพื้นที่ไปพิจารณาทบทวนและปรับปรุง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: