วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดพื้นที่ทำนาปรังรอบ 2

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 เม.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3387 ครั้ง

วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดพื้นที่ทำนาปรังรอบ 2

รมว.เกษตรฯ วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดพื้นที่ทำนาปรังรอบ 2 รอปลูกนาปีพร้อมกันช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.นี้ ปัจจุบันมีการทำนาปรังรอบ 2 ไปแล้วกว่า 130,000 ไร่ ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่น ๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2560 ว่าพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมามีการทำนาปรัง 5.35 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.68 ล้านไร่ ประกอบกับ ปัจจุบันมีการทำนาปรังรอบ 2 ไปแล้วกว่า 130,000 ไร่ ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่น ๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น จึงขอความร่วมมือเกษตรกรลดพื้นที่การทำนาปรังรอบ 2 โดยขอให้อดใจรอไปทำนาปีพร้อมกันทั้งระบบช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม 2560

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ วันที่ 18 เมษายนมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 42,295 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ รวมกันมากกว่าปี 2559 รวม 7,248 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 18,476 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก รวมกัน 11,573 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,848 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 4,877 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 27 ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,251 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนจัดสรรน้ำฯ จากแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กำหนดไว้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเกินแผนมากถึง 2.68 ล้านไร่ ทำให้มีการดึงน้ำไปใช้มากเกินกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งคาดว่าการระบายน้ำตลอดฤดูแล้งนี้จะอยู่ในเกณฑ์รวมกันประมาณ 6,650 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากช่วงฤดูแล้งอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าวันที่1 พฤษภาคม 2560 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใช้การได้ประมาณ 4,463 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าวางแผนไว้เดิมประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือวางแผนสนับสนุนการเพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นพื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เริ่มส่งน้ำทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา ส่วนพื้นที่ดอนอีกประมาณ 1.92 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำจากระบบชลประทาน สำหรับในพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 1.15 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ได้แก่บริเวณทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งเจ้าเจ็ด เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ดอนที่มีพื้นที่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ให้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำจากระบบชลประทานเช่นกัน

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 13 -17 เมษายนที่ผ่านมา สภาพอากาศเอื้อต่อการทำฝนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงปฏิบัติภารกิจการทำฝน ซึ่งพบว่ามีจังหวัดที่มีวันฝนตกรวม 31 จังหวัด มีน้ำไหลเข้า 36 อ่างเก็บน้ำสำคัญ รวม 123.63 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ 42.19 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 11.30 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.59 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1.33 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 62.22 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำช่วงเวลาเดียวกันปี 2559/2560 มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558/2559 และจากรายงานสถานการณ์หมอกควันของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด วันที่ 18 เมษายน 2560 พบว่าแต่ละจังหวัดที่ประสบปัญหาหมอกควัน มีค่ามาตรฐานฝุ่นละอองในอากาศ หรือ PM10 ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งเป็นคุณภาพอากาศที่ดี ไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนในด้านการยับยั้งพายุลูกเห็บ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ได้ช่วงชิงโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจจนเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้อีกเช่นกัน สามารถช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควัน พายุลูกเห็บ และสามารถเติมน้ำในเขื่อน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและพื้นที่การเกษตร ได้อย่างประสบความสำเร็จ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: