ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ 'ไม่เท่ากันทั้งประเทศ' ยิ่งใกล้โรงไฟฟ้าค่าไฟยิ่งถูก

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 4110 ครั้ง

ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ 'ไม่เท่ากันทั้งประเทศ' ยิ่งใกล้โรงไฟฟ้าค่าไฟยิ่งถูก

กกพ.ศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่แตกต่างตามต้นทุนรายภาค ยิ่งใกล้โรงไฟฟ้า ค่าไฟยิ่งถูก โดยโครงสร้างใหม่รองรับ Disruptive Technology ส่งเสริมตั้งปั๊มชาร์จ อีวี ยอมรับศึกษาพ่วงเก็บ BACK UP พลังงานแสงอาทิตย์-ลม ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 ว่านายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำหนดแผนงานให้ กกพ.ศึกษาค่าไฟฟ้ารายภาค กำหนดอัตราที่แตกต่างกันตามต้นทุนระยะทาง หากใกล้โรงฟฟ้าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะต่ำลง เพราะไม่ต้องลงทุนปักเสาพาดสายระยะไกล เหมือนกับราคาน้ำมัน หากใกล้โรงกลั่นน้ำมันราคาจะถูกกว่าพื้นที่ห่างไกล ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ดังนั้น ทาง กกพ.จึงมอบหมายให้ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ที่ปรึกษาการปรับอัตราโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ไปศึกษาว่า เหมาะสมจะคิดค่าไฟเป็นรายภาคหรือไม่จากปัจจุบันเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศจะศึกษาเสร็จภายใน 5-6 เดือนข้างหน้า

ในขณะเดียวกันจะมีการศึกษาเรื่องไมโครกริด แก้ปัญหาไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะ หรือพื้นที่บนภูเขา ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่มีพลังงานหลากหลาย ขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังศึกษาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนบนพื้นที่เกาะ เดิมนั้น ต้องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันต้นทุน 10-20 บาทต่อหน่วย ปัจจุบัน หลายเกาะ ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต่อสายเคเบิลมูลค่าหลายพันล้านบาทไปบริการ หากมีไมโครกริดเกิดขึ้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะคิดจากพื้นที่จุดนั้นๆซึ่งผู้ประกอบการก็อาจจะจ่ายสูงกว่าไฟฟ้าชาวบ้าน เพราะถือว่าไฟฟ้าเสถียรบริการนักท่องเที่ยวและถูกกว่าการผลิตด้วยตัวเองที่ใช้ดีเซล

“โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่คาดว่าจะประกาศได้ราวค่าไฟฟ้างวดที่ 2 ปีหน้า หรือรอบ เดือน พ .ค.-ส.ค. ยังตอบไม่ได้ว่าราคาจะปรับขึ้นหรือไม่ หรือจะเก็บเป็นรายภาคหรือไม่ ขณะเดียวกันมีการศึกษาเรื่องค่าสำรองไฟฟ้า (BACK UP )ว่าควรดำเนินการอย่างไร ควรเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และลมหรือไม่จากปัจจุบันไม่มีการจัดเก็บ แต่ก็เป็นที่ทราบดีว่า ไฟฟ้าจากส่วนนี้จะเข้ามามากขึ้นในอนาคต และต้องวางแผนรับมือให้เหมาะสม” นายวีระพล กล่าว

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธาน กกพ.กล่าวด้วยว่า โครงสร้างใหม่จะใช้ไปอีก 4 ปีข้างหน้าภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564) มีการกำหนดค่าไฟฟ้าเพื่อให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป เช่น การสนับสนุนการลดใช้พลังงานในช่วง Peak อัตราค่าไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังจะเข้าไปกำกับดูแลรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าปลายทางได้ภายในปี 2561

“ในขณะนี้มีผู้ยื่นขอติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์อีวี โดยขณะนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกาศอัตราค่าส่งชั่วคราวแล้วเป็นอัตราทีโอยู ส่วนการไฟฟ้านครหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศ ส่วนอัตราถาวรก็คาดว่ากระทรวงพลังงานจะกำหนดชัดเจนในปีหน้า ภาพรวมแล้วขณะนี้คุมการจำหน่ายของการไฟฟ้ากับปั๊มชารจ์เป็นอัตราทีโอยู ส่วยปั๊มจะขายปลีกเท่าใดไม่มีการควบคุม”ประธาน กกพ. กล่าว

ทั้งนี้ กกพ. ได้เตรียมแผนงานสะท้อนยุทธ์ศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) การกำกับกิจการพลังงานเป็นเลิศ (2) ส่งเสริมการแข่งขันและก้าวทันนวัตกรรมพลังงาน (3) สื่อสารงานกำกับกิจการพลังงานให้เข้าถึง และ (4) องค์กรมีสมรรถนะสูง เป็นมืออาชีพ อาทิ ดำเนินการทบทวน และผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการในกิจการไฟฟ้าใหม่ โดยคำนึงถึงต้นทุน เป็นธรรม โปร่งใส และรองรับกับรูปแบบกิจการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจทั้งในและนอกภาคพลังงาน

“ผมเชื่อว่า ในอีกไม่นานปรากฏการณ์ Disruptive Technology จะเกิดขึ้นในทุกวงการ ซึ่งหน่วยงานด้านพลังงานต้องพร้อมรับมือ” นายพรเทพฯ กล่าว

สำนักงาน กกพ. ยังมีแผนจัดตั้ง “ศูนย์วิเคราะห์ และพยากรณ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และข้อมูลเพื่อประกอบการกำกับกิจการพลังงาน” โดยภายในปี 63 สำนักงาน กกพ. จะเป็นศูนย์กลางเครือข่ายด้านการพยากรณ์และการควบคุมระบบไฟฟ้า สำหรับนโยบายการกำกับดูแล และจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้ได้ทยอยประกาศหลักเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี ในส่วนของการศึกษา หลักเกณฑ์ และกำหนดอัตราค่าบริการการขนส่งน้ำมันทางระบบท่อ ก็จะทยอยดำเนินการเช่นกันหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถกำกับอัตราค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อได้ก่อนสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ฯ ภายในปี 64

ส่วนกลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ ขณะนี้มีการประกาศได้จัดทำโครงการแล้วกว่า 35,000 โครงการ หรือคิดเป็นมูลค่า กว่า 12,800 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: