ภาพทิวทัศน์ ‘ดอยหลวงเชียงดาว’อันเป็นฉากหลังและจุดเซลฟี่ของ‘ระเบียงชมดอย’ตามเกสต์เฮาส์ต่าง ๆ กลายเป็นภาพจำของการท่องเที่ยว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไปแล้ว
ศักยภาพ-นโยบายท่องเที่ยว ‘เชียงดาว’
อ.เชียงดาว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 2,169 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,355,625 ไร่ จากการสำรวจในปี 2553 มีจำนวนประชากรทั้งหมด 81,291 คน จาก 27,414 ครัวเรือน สภาพทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของ อ.เชียงดาว ขึ้นอยู่กับภาวะทางการเกษตร โดยประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ประกอบอาชีพด้าน เกษตรกรรม ค้าขาย ร้อยละ 3 และอื่น ๆ ร้อยละ 7 ในอดีตเศรษฐกิจของเชียงดาวจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ อ.เชียงดาว เป็นอีกอำเภอหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ ดอยหลวงเชียงดาว, ถ้ำเชียงดาว, พระสถูปเจดีย์พระนเรศวรเมืองงาย, น้ำตกศรีสังวาลย์, น้ำตกแม่แมะ และบ่อน้ำร้อนโป่งอาง เป็นต้น
โดยเฉพาะ 'ดอยหลวงเชียงดาว' เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2516 ต่อมาปี 2424 ได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีพื้นที่ประมาณ 230,000 ไร่ และมีสถานีวิจัยพันธุ์สัตว์ป่า ดอยหลวงเชียงดาวมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพืชและสัตว์ป่า มีพันธุ์ไม้หายาก และจากกระแส ‘การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์’ ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันดอยหลวงเชียงดาวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวไปเดินป่าเพื่อผจญภัยและศึกษาความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการชมดอกไม้ป่า หรือดูนกหายากนานาชนิด นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงดอยหลวงเชียงดาวยังมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ กระแสการท่องเที่ยวเชียงดาวที่คึกคักขึ้น ทำคนในพื้นที่และต่างถิ่นลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น เกิดโฮมสเตย์และที่พักผุดขึ้นมากมาย
นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเชียงดาว
นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเชียงดาว ให้สัมภาษณ์แก่ TCIJ School ว่า อ.เชียงดาว เป็นเมืองเก่าแก่ สถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงมายาวนาน หลังจากที่เริ่มมีการเดินขึ้นดอยหลวงเชียวดาวเมื่อ 17 ปีก่อน ต่อมามีนักท่องเที่ยวมาพิชิตยอดดอยเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันต้องมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยในฤดูการท่องเที่ยวอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นดอยหลวงได้ 150 คนต่อวัน และฤดูกาลท่องเที่ยวเปิดเพียง 4 เดือน (พ.ย.-ก.พ.) ส่วนอีกที่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักคือ ‘บ้านนาเลา’ โดยเมื่อปลายปี 2557 กลายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศเนื่องจาก ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ มาถ่ายทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทำให้นาเลากลายเป็นจุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
นายอำเภอยังเล่าว่า “เราเพิ่งมีสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงดาว เมื่อประมาณปี 2557 และชมรมผู้ประกอบการเชียงดาว ทั้งกลุ่มที่พักและร้านอาหาร มีการจัดตั้งกลุ่มในโซเชียลมีเดียเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 130 คน แต่ก็ยอมรับครับว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวยังไม่เป็นผลสำเร็จมาก เนื่องจากขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารการท่องเที่ยว การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมปั่นจักรยานเปิดฤดูการท่องเที่ยว เป็นต้น”
พิธีกรเล่าข่าวชื่อดังของไทย 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา' เคยมาจัดรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้สัญจร' ที่บ้านระเบียงดาว บ้านนาเลา อ.เชียงดาว เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวเชียงดาวคึกคักขึ้นมา
นายอำเภอเชียงดาวให้ความเห็นว่า “ถ้าจะพัฒนาการท่องเที่ยว มันต้องเป็นความคิดของคนเชียงดาวจริง ๆ จึงจะยั่งยืนมากกว่า ต้องทำตามความต้องการของคนในพื้นที่เพราะเขาได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนราชการท้องถิ่นก็ต้องสนับสนุนและให้คำปรึกษา ให้ชาวบ้านสามารถเป็นฐานการท่องเที่ยวที่พึ่งตนเองได้โดยพึ่งพารัฐให้น้อยที่สุด แต่ตอนนี้ชาวบ้านมีข้อจำกัดด้านความรู้ในการทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คิดได้แค่ทำโฮมสเตย์”
เมื่อถามถึงปัญหาสำคัญสุดของการท่องเที่ยวในพื้นที่เชียงดาว นายสราวุธชี้ว่า “อำเภอเชียงดาวยังขาดระบบการจัดการ DMC (Destination Management Constant) ที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ไม่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ไม่มีการเก็บรวมรวมสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละปี ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของเชียงดาว และขาดงบ ประมาณสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยว”
"ถ้าจะพัฒนาการท่องเที่ยว มันต้องเป็นความคิดของคนเชียงดาวจริง ๆ จึงจะยั่งยืนมากกว่า ต้องทำตามความต้องการของคนในพื้นที่เพราะเขาได้รับผลกระทบโดยตรง"
สราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเชียงดาว
ในส่วนปัญหาด้านนโยบายจากบนลงล่างและงบประมาณ นายสราวุธอธิบายว่า เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณการท่องเที่ยวให้แต่ละอำเภอหรือจังหวัด มีแค่การสนับสนุนการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ตนเห็นว่า เชียงดาวก็น่าจะเป็นที่นิยมได้ยาวนาน ถ้าผู้ประกอบการเชียงดาวไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว มีอาหารอร่อยราคาเหมาะสม ชาวบ้านมีความรู้ความสามารถด้านการบริการ และช่วยกันเรื่องการรักษาความสะอาด แต่ความจริงคือปัจจุบันบริการรับ-ส่ง หรือการนำเที่ยวในเชียงดาวยังมีไม่มากนัก ยังไม่ใช่การท่องเที่ยวแบบครบวงจร คือมีที่เที่ยว ที่กิน ที่นอน ผู้นำเที่ยว บริการรับส่ง มีกิจกรรมหลากหลายให้สามารถเที่ยวได้ทั้งปี และเที่ยวได้หลายที่ไม่ใช่เฉพาะดอยหลวงที่เดียว เชียงดาวยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอีกมากที่อาจเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น สันป่าเกี๊ยะ ดอยแม่ตะมาน บ่อน้ำร้อนยังมีอีกหลายแห่งที่อยู่ในที่ดินชาวบ้านและพื้นที่ป่าที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์มากกว่าที่เป็นอยู่
“อยากให้มีการประชาสัมพันธ์เชียงดาวมากกว่านี้ อยากให้มีนักเขียนมาเขียนเรื่องราวของเชียงดาว ให้มีสื่อประชาสัมพันธ์เชียงดาวมากขึ้นหลากหลาย อยากให้มีการจัดทำนิตยสารของเชียงดาวโดยเฉพาะเหมือนนิตยสาร Compass (นิตยสารแจกฟรีของเชียงใหม่) อยากประชาสัมพันธ์เชียงดาวให้เป็นที่รู้จักมาก ๆ แต่ขาดกำลังสนับสนุนและบุคลากรที่มีความเชียวชาญด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ” นายสราวุฒิ สรุปทิ้งท้าย
‘เชียงดาว’ ในความเปลี่ยนแปลง จะซ้ำรอย’ปาย-เชียงคาน’หรือไม่?
กระแสการท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้ามาสู่เชียงดาวเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อวิถีชีวิตเดิมของคนเชียง ดาวหรือไม่?
น่าสังเกตว่าแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทยที่ ‘บูม’ ขึ้นมา มักจะเกิดปัญหาตามมานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อก่อสร้างที่พักรองรับนักท่องเที่ยว ปัญหาขยะ ปัญหาการสูญเสียที่ดินของคนท้องถิ่น รวมไปถึงปัญหาด้านสังคมและประชากร เช่น การเกิดอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งเชียงดาวเองก็ถูกจับตามองว่าจะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยวได้หรือไม่?
นิคม พุทธา นักอนุรักษ์ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า จุดเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่การตัดถนนบายพาสในช่วงปี 2540 ที่เชื่อม อ.เชียงดาว เข้ากับโครงข่ายการท่องเที่ยว ที่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน นำมาซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมกับราคาที่ดินพุ่งสูง
“เชียงดาวลำพังตัวมันเองก็มีดีระดับหนึ่ง แต่พอไปเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น ๆ มันก็บวกต้นทุนคุณค่าเข้าไปอีก ตอนนี้ขี่มอเตอร์ไซค์จากปายมาเชียงดาวได้เลย อย่างงานชัมบาลา (เทศกาลดนตรีแนวอินดี้) คนญี่ปุ่นที่มาจัดงานก็ขี่มอเตอร์ไซค์กันมาจากปาย”
นิคม พุทธา นักอนุรักษ์ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ อ.เชียงดาว กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยเริ่มนิยมคือ ‘สื่อ’ เริ่มตั้งแต่รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ที่มาจัดรายการกันที่บ้านระเบียงดาว เมื่อปลายปี 2557 โดยมีฉากหลังเป็นความสวยงามของทะเลหมอกยามเช้าและดอยหลวงเชียงดาว ที่เป็นภาพคุ้นตามาจนถึงยุคโซเชียลมีเดียที่ผู้คนนิยมถ่ายรูปโพสต์ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เป็นจุดเริ่มต้นให้เชียงดาวต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่จากกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มีจุดหมายการเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวเหมือนเมื่อก่อน” นิคมขยายความ
แต่ทั้งนี้ เชียงดาวก็กำลังเผชิญกับปัญหานักท่องเที่ยวสองกลุ่ม ที่มาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ ขยะบนดอยหลวงกับรีสอร์ทที่เพิ่มขึ้น
นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกคือคนที่มาเดินเทรคกิ้ง เสพธรรมชาติแบบผจญภัย และคนที่สนใจศึกษาธรรมชาติ เพราะเชียงดาวเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ รวมทั้งสัตว์หายากอย่าง กวางผา หรือม้าเทวดา ที่มีอยู่ไม่กี่ที่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการมาเที่ยวเชียงดาว นิคมระบุว่า “ทุกวันนี้ เอเจนซี่ที่พานักท่องเที่ยวขึ้นดอยหลวงเชียงดาวมีมากเกือบ 20 บริษัท และยังไม่เคยมีการประชุมพูดคุยกันเรื่องแนวทางการท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติในหมู่ผู้ประกอบการเลย”
นิคมเล่าถึงการเดินขึ้นดอยหลวงในปี 2559 ที่ผ่านมา เขาและผู้ร่วมเดินทางเก็บขยะลงมาได้ถึง 170 กิโลกรัม เขาคิดว่าดอยหลวงเชียงดาวและระบบนิเวศกำลังได้รับผลกระทบจากขยะที่เพิ่มขึ้น
“เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวด้วยตัวเองและรับผิดชอบขยะของตัวเอง แต่พอมีการซื้อทัวร์ ทัวร์ก็ไปจ้างชาวบ้านต่อ ชาวบ้านก็จะรับผิดชอบเต็นท์ อาหาร น้ำดื่ม และขยะ ทีนี้ขยะพอพ้นมือจากนักท่องเที่ยวก็กลายเป็นภาระของลูกหาบ สถานการณ์มันแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะปริมาณนักท่องเที่ยวมากขึ้น ถึงแม้จะพยายามจำกัดเวลาที่สามารถขึ้นไปได้”
“ผมเคยขึ้นไปเก็บขยะสวนทางกับนักท่องเที่ยวชุดสุดท้าย ไฟไหม้พอดี สอบถามชาวบ้านที่นำทางเขาบอกว่า นักท่องเที่ยวก่อไฟบนเตาอั้งโล่ ข้างบนห้ามก่อไฟ แต่อากาศมันหนาวเขาก็ลักลอบก่อไฟกัน ดอยหลวงเชียงดาวมีปัจจัยเรื่องลมแรง ถ้าคนไม่มีประสบการณ์จะคิดว่าไฟมันดับแล้ว แต่บางทีมันยังไม่ดับทันทีก็เลยลุกไหม้ และไม่มีเจ้าหน้าที่ไปคอยเฝ้าตลอด เจ้าหน้าที่ไม่มีใครอยากขึ้นไปทำงานข้างบนนะ มันไม่มีห้องน้ำไม่มีอาหารไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขา”
ซึ่งในความเห็นของภาครัฐ นายอำเภอเชียงดาวชี้แจงกับ TCIJ School ว่า เชียงดาวจะไม่บูมเหมือนปาย เพราะติดขัดเรื่องระเบียบกฎหมาย เช่น นโยบายกรมป่าไม้ ไม่ให้มีการท่องเที่ยวในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ดังนั้นบริเวณ ดอยหลวงซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ฯ ไม่สามารถสร้างห้องน้ำหรือก่อสร้างสถานที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวได้
“ป่าเชียงดาวเป็นป่าต้นน้ำแม่ปิง ควรได้รับการดูแลให้มีอะไรปนเปื้อนน้อยที่สุด เพื่อจะเป็นต้นน้ำที่สะอาด จากการที่ผมเดินธรรมยาตราตามแม่น้ำปิงทุกปี เห็นการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ปี เมื่อ 2-3 ปีก่อนสองฝั่งแม่น้ำยังมีป่า ตอนนี้มีแต่ไร่ข้าวโพด มีการใช้ยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก”
นิคม พุทธา นักอนุรักษ์ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว
ในขณะที่ข้างบนดอยหลวงกำลังเผชิญกับปัญหาขยะ ข้างล่างก็เจอกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายจากนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มที่ตามหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ จากโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อมาพักผ่อนเสพกินบรรยากาศ ถ่ายรูปคู่กับดอยหลวงเชียงดาว อันเป็นไฮไลท์ของบรรดารีสอร์ทและโฮมสเตย์นิคมยังเล่าว่า หลายปีก่อนที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ท้องถิ่น ทำวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวดอย หลวงเชียงดาวในรูปแบบที่เหมาะสม เคยมีการสร้างการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมทั้งชาวบ้าน ลูกหาบ เจ้าหน้าที่ ประชุมระดม ความคิดกัน จนกระทั่งออกมาเป็นแนวทางในการท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวให้หัวหน้าเขตนำไปประกาศใช้ แต่เมื่อเปลี่ยนหัวหน้าเขต กฎที่ตั้งไว้ก็เปลี่ยนบ้างหย่อนบ้าง “ต้องช่วยกันระดมความคิดเรื่องวิสัยทัศน์ของเชียงดาว เรามีต้นทุน ทางสังคมคือความหลากหลายของชาติพันธุ์และมีต้นทุนทางธรรมชาติ เราควรมาช่วยกันคิดว่าเชียงดาวที่ยั่งยืนควรจะเป็นยังไง ซึ่งยังไม่เคยมีเลย”
“มีการสร้างรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว รีสอร์ทใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก แน่นอนว่ามีพื้นที่ป่าที่ได้รับผลกระทบ มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน เช่น กรณีรื้อรีสอร์ทบ้านนาเลา รวมทั้งการซื้อที่ดินทำ รีสอร์ทของนายทุนต่างถิ่น ทำให้ชาวบ้านต้องรุกที่ดินป่าเข้าไปจับจองที่ใหม่ทดแทนที่ดินเดิม มีปัญหาการแย่งทรัพยากรน้ำ การจัดการขยะ และปัญหาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามมาอีกหลายอย่าง” นิคมระบุ
นอกจากการท่องเที่ยว ความสวยงามของดอยหลวงเชียงดาวและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ยังดึงดูดคนต่างถิ่นให้ย้ายเข้ามาจับจองทำเลทอง ทั้งที่เข้ามาสร้างบ้านหลังที่สองไว้พักผ่อน และทำธุรกิจการเกษตร โดยภาพรวมตอนนี้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นถึงไร่ละ 500,000-1,000,000 บาท ต่างจากเมื่อยี่สิบปีก่อนที่นิคมเคยซื้อที่ดิน 12 ไร่ในราคา 500,000 บาท
“พื้นที่รอบดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่ สค.1ทำให้ซื้อขายที่ดินได้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร น้ำดี ดินดี อากาศดี สามารถปลูก ชา กาแฟ อโวคาโด และพืชเมืองหนาวได้ดี ทำให้มีการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ มีนายทุนซื้อที่เพื่อปลูกผักออร์แกนิค แต่ปัญหาคือเมื่อชาวบ้านขายที่ดินแล้วก็ไปบุกรุกป่าเพิ่ม”
สำหรับนิคม สิ่งที่เขากังวลที่สุดคือปัญหาการบุกรุกป่าของชาวบ้านเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งตามมาด้วยการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร
“ป่าเชียงดาวเป็นป่าต้นน้ำแม่ปิง ควรได้รับการดูแลให้มีอะไรปนเปื้อนน้อยที่สุด เพื่อจะเป็นต้นน้ำที่สะอาด จากการที่ผมเดินธรรมยาตราตามแม่น้ำปิงทุกปี เห็นการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ ปี เมื่อ 2-3 ปีก่อนสองฝั่งแม่น้ำยังมีป่า ตอนนี้มีแต่ไร่ข้าวโพด มีการใช้ยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก”
นอกจากนี้ นิคมยังมองว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่เชียงดาวจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากเหมือนปายและเชียงคาน สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่ชาวบ้านและข้าราชการในพื้นที่เองก็ตามกระแสกันไปหมด โดยไม่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ของอำเภอเชียงดาวร่วมกัน อีกทั้งพื้นที่ของการพูดคุยเพื่อหยิบยกปัญหามาถกเถียงกันนั้น แทบไม่มีเหมือนในอดีต ทั้งที่เชียงดาวเคยเป็นอำเภอเดียวที่มีเครือข่ายป่าชุมชนระดับอำเภอและทุกหมู่บ้านมีป่าชุมชน แต่ความเข้มแข็งนั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว
คุณค่าการท่องเที่ยวเชียงดาวในแง่มุมที่หลากหลายแตกต่าง
ธุรกิจท่องเที่ยวที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านนาเลาต้องสั่งอุปกรณ์ก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นมาสร้างที่พัก เนื่องจากทาง ราชการเข้มงวดเรื่องการตัดไม้ที่เคยเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างที่พักก่อนหน้านี้
‘คุณค่าของการท่องเที่ยวเชียงดาว’ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ทั้งนักวิชาการ นักอนุรักษ์ ชาวบ้านพื้นถิ่น และผู้ประกอบการที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการท่องเที่ยว
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ให้ความเห็นว่าคุณค่าของเชียงดาวนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มคนทั้งในเชิงวัฒนธรรมหรือตำนานประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ หรือความพิเศษในทางนิเวศ ซึ่งแต่ละกลุ่มคนจะมีความรู้และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป แต่ตนเห็นว่าทั้งคุณค่าในแง่ระบบนิเวศและในแง่เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ทั้งสองอย่างนี้สามารถผสมผสานกันได้ในรูปของ ’การท่องเที่ยวเชิงสังคม’ พูดให้เข้าใจได้โดยง่าย คือทุกสิ่งต้องพึ่งพาและไปพร้อมกัน ในการ ‘เปลี่ยนแปลง’ นั้นก็ต้องมีการ ‘รักษา’ ไว้ด้วย
“เราจะเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในระยะหลังมานี้ ทั้งคนกรุงเทพและคนต่างชาติที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินเยอะมาก เราก็เป็นห่วง อย่างในตัวเมืองเขาก็ขยายถนน บ้านเก่าสองข้างถนนหายไป มีคนที่ต้องการความเจริญในลักษณะที่เราอาจจะไม่ชอบ แต่ก็แช่แข็งไว้ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยน แต่ในความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี การเปลี่ยนแปลงยังคงรักษาสิ่งที่เป็นรากเหง้าและมรดกของพื้นที่”
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว
ส่วนในสายตานักอนุรักษ์ แน่นอนว่าเชียงดาวถูกให้คุณค่าในแง่ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้งเชียงดาวยังเป็นต้นกำเนิดของสายแม่น้ำปิง โดยศักยภาพของทรัพยากรน้ำ ดิน ต้นไม้ จึงเป็นดั่งสำลีคอยซับน้ำจากฝน แล้วปลดปล่อยไหลไปตามธรรมชาติ แต่การจะรักษาความสมบูรณ์ของเชียงดาวให้คงอยู่ต่อไปคงไม่ใช่เรื่องง่าย ความเห็นนี้สอดคล้องกันทั้ง ดร.สรณรัชฏ์ และนิคมที่กล่าวว่า “มนุษย์มีอำนาจและความรู้ แต่ทำไมถึงเก็บรักษาป่าไว้ไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เห็นว่าป่ามีความสำคัญ ทางระบบนิเวศ มีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์และมนุษย์ แต่ทำไมเรารักษาป่าไว้ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ ผมคิดว่ามันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในงานอนุรักษ์ตลอด 30 ปี ของผม”ดร.สรณรัชฎ์ อธิบายให้เห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงที่ดีว่า “การท่องเที่ยวนี่เราคงห้ามไม่ได้ เพราะยังไงก็จะมีคนหลั่งไหลมาอยู่ดี ซึ่งคนก็กลัวจะเป็นอย่างปายหรืออะไรอย่างนั้น ส่วนตัวมองว่าเราจะมุ่งไปเป็นเมืองท่องเที่ยวก็ได้ แต่แทนที่เราจะให้คนเข้ามาแล้วเป็นผู้บริโภคอย่างเดียว เรามาทำให้คนได้สัมผัสหรือรู้จักเชียงดาวลึกซึ้งดีไหม มาเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวสร้างปัญหาก็จริง แต่ถ้าเราไปใช้วิธีห้าม มันไม่ได้ช่วยอะไร โอเคใช้การจำกัดจำนวนอันนี้จำเป็น แต่เราต้องหาวิธีต่าง ๆ ให้คนเรียนรู้ ถ้าหากคุณไม่สัมผัสคุณจะรักมันได้อย่างไร คุณไม่รักคุณก็รักษามันไม่ได้”
ด้าน ดร.สรณรัชฏ์ สรุปสั้น ๆ ว่าปัญหาการท่องเที่ยวแบบตั้งรับของเชียงดาวนั้นมาจาก “การให้คุณค่าและความเข้าใจในคุณค่าของเชียงดาวที่แตกต่างกัน” เช่นกันกับที่นิคมสรุปว่า “ต้องช่วยกันระดมความคิดเรื่องวิสัยทัศน์ของเชียงดาว เรามีต้นทุนทางสังคมคือความหลากหลายของชาติพันธุ์และมีต้นทุนทางธรรมชาติ เราควรมาช่วยกันคิดว่าเชียงดาวที่ยั่งยืนควรจะเป็นยังไง”
“จากประสบการณ์ของเรา ถ้าทำกิจกรรมอะไรที่ชาวบ้านไม่เอาด้วยก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งแล้ว ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ”
ศิริวรรณ รู้ดี กรรมการหมู่บ้านหัวทุ่ง หมู่14 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ศิริวรรณ เล่าว่าบ้านหัวทุ่งมีโฮมสเตย์จำนวน 5 หลังที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว เจ้าของบ้านที่รับนักท่องเที่ยวจะต้องหักเงินรายเข้ากลุ่มสหกรณ์การท่องเที่ยวของหมู่บ้าน เพื่อเป็นเงินออมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของชุมชน โฮมสเตย์บ้านหัวทุ่งจะคิดค่าบริการแขกผู้มาพักรวมกับค่าอาหารในแต่ละมื้อ มีการต้อนรับนักท่องเที่ยวเหมือนต้อนรับญาติมิตรและมีกิจกรรมให้เลือก เช่น เที่ยวชมหมู่บ้านและการสานก๋วย (กระบุง) หรือไปเดินป่าศึกษาป่าชุมชน หรือเยี่ยมชมฟาร์มหมูและการทำก๊าซชีวภาพที่เป็นพลังงานทางเลือกที่ชาวบ้านได้ใช้จริง ซึ่งถ้านักท่องเที่ยวต้องการมีกิจกรรมด้วยก็จะคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นขณะที่ ศิริวรรณ รู้ดี หนึ่งในกรรมการหมู่บ้านหัวทุ่ง ซึ่งเป็นชุมชนพื้นราบที่มีการจัดการท่องเที่ยวทางเลือกแบบมีส่วนร่วมที่โดดเด่น ในรูปแบบการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์การท่องเที่ยว มีโฮมสเตย์และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ป่าชุมชน การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ภายใต้กฎกติกาที่สมาชิกจัดทำร่วมกัน มีการใช้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมในกิจกรรมที่เน้นสร้างความเข้มแข็งชุมชน ให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมและหวงแหนทรัพยากร มีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งด้วย
ศิริวรรณ รู้ดี กรรมการหมู่บ้านหัวทุ่ง หมู่14 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ศิริวรรณบอกว่า “จากประสบการณ์ของเรา ถ้าทำกิจกรรมอะไรที่ชาวบ้านไม่เอาด้วยก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งแล้ว ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ” ทั้งนี้หมู่บ้านหัวทุ่งเคยได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ นอกจากจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเยือนบ่อยครั้งแล้ว ยังมีหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้ามาดูงานที่หมู่บ้านหัวทุ่งเป็นประจำ
‘พี่นิคม’ หรือชื่อจริง ‘คมศักดิ์ วงษ์สุข’ เจ้าของบ้านพักระเบียงดาว ที่บ้านนาเลา
ในฟากของผู้ประกอบการโฮฒสเตย์บนดอยสูง ซึ่งคือชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านนาเลา พวกเขากลับบอกเล่าว่า ป่าที่อุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม แต่ไร้การเยี่ยมเยียนก็จะถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว ดังนั้นการที่พวกเขาใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ สายหมอก ภูเขา ป่าไม้ เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ก็เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันของมนุษย์กับธรรมชาติ โดยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านด้วย นี่จึงเป็นคุณค่าของเชียงดาวในอีกแง่หนึ่ง
“การท่องเที่ยวของบ้านนาเลาไม่ได้โด่งดังขึ้นอย่างพรวดพราด แต่เป็นไปในลักษณะที่มาเรื่อย ๆ จากการบอกต่อ ตั้งแต่คุณแหม่ม สุริวิภา มาทำรายการท่องเที่ยว ‘คู่เลิฟตะลอนทัวร์’ เมื่อปี 2555 ในตอนนั้นยังมีแค่บ้าน ’ระเบียงดาว’ ของผม แต่หลังจากปี 2557 ก็มีการสร้างโฮมสเตย์ของชาวบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก็มาจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ หลังจากนั้นบ้านระเบียงดาวและโฮมสเตย์บ้านนาเลาก็มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมา” พี่นิคม หรือชื่อจริงคือ คมศักดิ์ วงษ์สุข เจ้าของบ้านพักระเบียงดาว เล่าถึงความเป็นมา
"อยากเห็นเชียงดาวอยู่แบบธรรมชาติเหมือนเดิม แต่ขอให้ภาครัฐเปิดโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น หากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการตกลงกันระหว่างผู้ประกอบการ ก็จะเป็นการสมานปัญหาการบุกรุกที่ป่าได้ ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ภายใต้กติกาที่เหมาะสม"
‘พี่นิคม’ หรือชื่อจริง ‘คมศักดิ์ วงษ์สุข’ เจ้าของบ้านพักระเบียงดาว ที่บ้านนาเลา
เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ต้องลดจำนวนห้องพักลง เงินรายได้ที่ชาวบ้านเคยได้ก็หดหาย ก่อเกิดความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ทางการต้องการ เพราะ ‘รายได้จากการท่องเที่ยว’ ถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสุดในขณะที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำดิ่งเหวเช่นนี้แน่นอนว่าการเผยแพร่อย่างกว้างขวางผ่านสื่อ หรือแม้แต่การบอกต่อของคนที่มา ส่งผลให้การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มปรับตัวและมองหาพื้นที่สร้างบ้านพักรองรับผู้มาเยือนเพิ่มขึ้น แต่ด้วยความโด่งดังของเชียงดาวกับภาพจำของดอยหลวงเชียงดาวที่นักท่องเที่ยวโพสต์และแชร์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีบางส่วนระบุว่าการเพิ่มขึ้นของที่พักต่าง ๆ ในพื้นที่นี้เป็นการทำลายธรรมชาติ การปราบปรามจากภาครัฐจึงเกิดขึ้น โดยเมื่อต้นปี 2560 มีคนนอกพื้นที่ไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่ว่าทำไมธุรกิจที่พักที่ภูทับเบิกโดนรื้อถอน แต่ที่บ้านนาเลายังอยู่ได้ จึงทำให้อธิบดีกรมป่าไม้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังทหาร ตำรวจตะเวนชายแดน ตำรวจท้องที่ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้ามารื้อถอนโฮมสเตย์ของชาวบ้านทั้งหมด แต่ชาวบ้านต่อรองเจรจาจนหน่วยราชการให้การอนุโลมว่า ให้สร้างโฮมสเตย์ได้เพียงครัวเรือนละ 2 ห้อง มีพื้นที่ลานกางเต้นท์ได้ 4 หลัง และระเบียงสำหรับชมวิวดอยหลวง เชียงดาวได้ 1 จุด
มองไปถึงอนาคต ผู้ประกอบการโฮมสเตย์บนบ้านนาเลาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายังอยากเห็นเชียงดาวมีธรรมชาติอุดม สมบูรณ์สวยงามเหมือนเดิม แต่ขอให้ภาครัฐเปิดโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดีระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานรับผิดชอบ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าได้ เพราะชาวบ้านมีรายได้ภายใต้กติกาที่เหมาะสม
ตราบเท่าที่เข็มนาฬิกาและเวลายังเดินอยู่ เชียงดาวคงไม่อาจ ’แช่แข็ง’ ความเปลี่ยนแปลงไว้ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะสามารถจัดความสัมพันธ์ของตนกับธรรมชาติให้เหมาะสม สมดุลเพียงใด
รายงานพิเศษ ‘วันนี้ที่เชียงดาว: เมื่อท้องถิ่นถูกท่องเที่ยว ใครชอบ? ใครช้ำ?’
เป็นผลงานของนักเรียนโรงเรียนนักข่าว TCIJ School รุ่นที่ 4 จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-18 มิ.ย. 2560
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: 2 โมเดลการท่องเที่ยวเชียงดาว ‘บ้านหัวทุ่ง-บ้านนาเลา’
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ