iLaw เปิดร่างกฎหมายจดทะเบียนสื่อ เผย 5 วิธีรัฐแทรกแซงการกำกับดูแลกันเอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 2889 ครั้ง

iLaw เปิดร่างกฎหมายจดทะเบียนสื่อ เผย 5 วิธีรัฐแทรกแซงการกำกับดูแลกันเอง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ชี้หัวใจสำคัญของร่าง คือการกำหนดให้อาชีพสื่อเป็นอาชีพที่ต้องขึ้นทะเบียน และตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสื่อไม่จำกัดประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือสื่อออฟไลน์ เผย 5 วิธีรัฐแทรกแซงการกำกับดูแลกันเอง ที่มาภาพประกอบ: Alexas_Fotos (CC0)

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เปิดเผย ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... รวมทั้งวิเคราะห์ร่างกฎหมายนี้ โดยระบุว่าสื่อมวลชนในยุคข้อมูลข่าวสารเป็นจำเลยของปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย ข้อเสนอจาก สปท. รอบนี้ขอให้จัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ สื่อทุกแห่งต้องจดทะเบียน กำหนดมาตรฐานกลางเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนใช้กับสื่อทุกแห่ง และให้มีกลไกร้องเรียนลงโทษ

ยิ่งโลกข้อมูลข่าวสารวิ่งหมุนไปอย่างรวดเร็วเท่าใด รัฐก็ยิ่งวิ่งไล่กวดเพื่อหาวิธีกำกับควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการทำงานของสื่อ ดังเช่นที่รัฐบาลไทยภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังพุ่งเป้าไปที่ปัญหามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน โดยหวังจะหาวิธีกำกับดูแลสื่อทั้ง “ในระบบ” และ “นอกระบบ” 
 
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 และสั่งให้คณะกรรมการสามฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการปฏิรูปประเทศ 
 
หัวใจสำคัญของร่าง คือการกำหนดให้อาชีพสื่อเป็นอาชีพที่ต้องขึ้นทะเบียน และตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสื่อไม่จำกัดประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือสื่อออฟไลน์ สาระสำคัญ มีดังนี้ 
 
 
1. ให้งานสื่อสารมวลชนเป็นกิจการที่ต้องจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ
ร่างกฎหมายนี้วางระบบให้สื่อหนึ่งๆ ต้องขึ้นทะเบียนกับ “องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งคือกลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนจะออกใบรับรองสำหรับประกอบกิจการให้ จากนั้น องค์กรสื่อก็จะสามารถออกบัตรประจำตัวให้แก่นักข่าวหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ ตัวอย่างเช่น 
 
      
สื่อมวลชน   องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ แนวหน้า 
ข่าวสด เดอะเนชั่น บางกอกโพสต์ ฯลฯ
ขึ้นทะเบียนกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ช่องเจ็ด ช่องสาม เวิร์คพอยท์ทีวี
ช่อง ONEช่อง PPTVฯลฯ 
ขึ้นทะเบียนกับ สมาพันธุ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ประชาไท ไทยพับลิกา TCIJ
เดอะแมทเทอร์ โมเมนตัม ไอลอว์
ขึ้นทะเบียนกับ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
 
 
เมื่อมีองค์การวิชาชีพสื่อรับรองและให้ใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว สำนักข่าวเหล่านั้นก็สามารถออกบัตรประจำตัวให้นักข่าวได้
ตามร่างฉบับที่เผยแพร่เมื่อ 13 มกราคม 2560 ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังไม่ชัดเจนว่าสื่อกลุ่มไหนบ้างที่เข้าข่ายตามกฎหมายนี้? แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายเขียนไว้เพื่อหวังกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โดยกำหนดนิยามคำว่าสื่อมวลชนให้ครอบคลุมถึงสื่อทุกประเภท รวมไปถึง "สื่อมวลชนที่อยู่นอกระบบ"  
 
นอกจากนี้ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นต่อสนช.ว่า ควรมีระบบการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้อำนาจลงโทษสื่อมวลชนเป็นอำนาจของรัฐ และสร้างแรงจูงใจให้สื่อมวลชนเข้าระบบหรือสังกัดองค์กร เช่น ให้ทุนสนับสนุน ทุนวิจัย และศึกษาดูงาน  
 
 
2. ให้ตั้ง "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" มาคุมสื่อ
กฎหมายนี้จะตั้งองค์กรใหม่ที่ชื่อว่า "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" มีอำนาจเหนือการกำกับดูแลกันเองตามที่องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนพยายามดำเนินการอยู่  
 
สภาวิชาชีพฯ ทำหน้าที่รับจดทะเบียนสมาชิก เพิกถอนใบรับรองสมาชิก ตรวจสอบและเฝ้าระวังการกระทำอันไม่เหมาะสมของสื่อมวลชน และจัดทำ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ของคนทำงานสื่อ รับเรื่องร้องเรียนเมื่อองค์กรสื่อฝ่าฝืนจริยธรรม และเมื่อสื่อถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ คณะกรรมการฯ มาจากองค์ประกอบดังนี้
 
• คนทำงานสื่อ จำแนกประเภทตามช่องทางสื่อและตามหมวดของเนื้อหา ได้แก่ ด้านวิทยุกระจายเสียง ด้านวิทยุโทรทัศน์ ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ด้านสื่อออนไลน์ ด้านโฆษณา ด้านข่าว ด้านบันเทิง ด้านอื่นๆ และตัวแทนภูมิภาค รวมแปดคน 
• ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์  สื่อสารมวลชน สองคน ด้านกฎหมายมหาชนหนึ่งคน ด้านสังคมสองคน และด้านอื่นๆ หนึ่งคน
• ผู้แทนผู้บริโภค หนึ่งคน
 
กรรมการจะมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาซึ่งมาจากองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ นายกสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
 
 
3. กำหนดมาตรฐานกลางว่าด้วยจริยธรรมสื่อมวลชน (มาตรา 37)
องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนต้องกำกับให้องค์กรสื่อในสังกัดตัวเองปฏิบัติตาม "มาตรฐานกลาง" ของเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมี 6 ข้อ คือ
1) ต้องถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
2) ต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น คำนึงถึงสิทธิบุคคล ไม่ซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์กรรม หลีกเลี่ยงการสร้างความเกลียดชังหรือใช้ความรุนแรง
3) ต้องเป็นไปโดยอิสระ ไม่อยู่ใต้อาณัติของบุคคลหรือองค์กรใดในทางที่มิชอบ
4) ต้องไม่รับผลประโยชน์ใดๆ อย่างมิชอบ
5) ต้องมีผู้รับผิดชอบและประกาศแก้ไขข้อบกพร่องในกรณีที่การนำเสนอผิดพลาดหรือสร้างผลกระทบ 
6) ต้องเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ขัดต่อศีลธรรมของสังคม ไม่ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ
 
4. การรับเรื่องร้องเรียน
สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะรับเรื่องราวร้องเรียนทั้งในกรณีที่สื่อมวลชนถูกละเมิดเสรีภาพ และกรณีที่ประชาชนถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิ โดยมีลำดับขั้นของการร้องเรียนไว้ว่า 

ขั้นที่หนึ่ง เมื่อคนทำสื่อถูกร้องเรียน องค์กรต้นสังกัดพิจารณาเรื่องเสียก่อน 
ขั้นที่สอง เมื่อองค์กรสื่อเป็นผู้ถูกร้องเรียน ให้องค์การวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้พิจารณา
ขั้นที่สาม หากสื่อที่ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ให้คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นผู้สอบสวนเรื่องนั้น (มาตรา 67)
 
นอกจากนี้ หากองค์กรสื่อหรือองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนเพิกเฉย ก็ให้คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นผู้สอบสวนเรื่องนั้น 
 
สำหรับเรื่องบทลงโทษนั้น ตามร่างของสปท. กำหนดโทษทางปกครอง เป็นโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ส่วนในกรณีที่สื่อถูกวินิจฉัยว่าฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จะถูกลงโทษโดยการเพิกถอนบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือเพิกถอนใบรับรองสมาชิกขององค์กรนั้นๆ ขณะที่ในที่ประชุมของสนช.เห็นว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติควรทำหน้าที่เพียงวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน โดยปล่อยให้การลงโทษเป็นหน้าที่หน่วยงานอื่นของรัฐ 
 
 
5. งบประมาณของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 
สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีรายได้สองทาง คือ มาจากเงินร้อยละ 5 ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน และอีกส่วนหนึ่ง เจียดมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: