เผยนักลงทุนไทย-จีนจับมือผุดโรงไฟฟ้าขยะ 85 แห่งทั่วประเทศ ระบุ 'ประชาชน-อปท.' หนุน

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.พ. 2560 | อ่านแล้ว 10125 ครั้ง

เผยนักลงทุนไทย-จีนจับมือผุดโรงไฟฟ้าขยะ 85 แห่งทั่วประเทศ ระบุ 'ประชาชน-อปท.' หนุน

นักลงทุนไทย-จีน จับมือลงทุนผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนขาย กฟภ. วางเป้าผุดโรงงาน 85 แห่ง ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ มูลค่าลงทุนกว่า 4.8 หมื่นล้าน ระบุได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ที่มาภาพประกอบ: ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่โรงแรมลีโอซอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มบริษัทพลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด ด้วยความร่วมมือระหว่างนักลงทุนชาวไทยกับนักลงทุนจากประเทศจีน จัดแถลงข่าวโครงการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชนขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ทั้ง สำนักงานพลังงานจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายสุระ วีระเกียรติคุณ ผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มบริษัท พลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท พลังงานยั่งยืนสยาม จำกัด เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ประกอบด้วย 5 บริษัท หลัก คือ บริษัท โคราช พาวเวอร์ จำกัด บริษัท สระบุรีพาวเวอร์ จำกัด บริษัท อรัญญบุรีพาวเวอร์ จำกัด บริษัท แกลงพาวเวอร์ จำกัด และบริษัท พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จำกัด มีเป้าหมายหลักช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ แก้ไขปัญหาการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

ภายใต้แนวนโยบาย 4 ประการ คือ 1. ต้องมีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การรับขยะเข้าสู่โรงงานที่เป็นอาคารระบบปิด ป้องกันกลิ่นฟุ้งกระจาย การชะล้างขยะ และน้ำเสียออกนอกบริเวณโรงงาน ตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ

2. ใช้ระบบทันสมัยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยรับขยะชุมชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการมาดำเนินการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศจีน ที่เรียกว่า “ระบบแก๊สซิฟิเคชั่น” ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมปริมาณอากาศออกซิเจนในห้องแปรสภาพขยะในปริมาณจำกัด ทำให้ไม่เกิดการลุกไหม้เป็นเปลวเพลิง หมดปัญหาเรื่องควัน ฝุ่นละออง และกลิ่นได้เป็นอย่างดี ด้วยขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ใช้ขยะชุมชน เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต วันละประมาณ 100 ตัน/วัน

3. การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองให้แก่ท้องถิ่นและประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ดีที่สุดคือ การทำให้ขยะนั้นหมดสิ้นไป ไม่มีขยะตกค้าง และไม่สร้างผลกระทบตามมาในอนาคต และ 4. เป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประชาชนและชุมชน ที่ตั้งโรงงาน โดยบริษัทกำหนดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจ จำนวน 2% หรือ ประมาณ 2,400,000 บาท/ปี ของรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตลอดระยะสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี ประชาชนในชุมชนสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ในพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ตามความประสงค์

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงินกองทุนพลังงานที่ทางรัฐบาลจะสนับสนุนให้ประมาณ 400,000 บาท/ปี รวมแล้วท้องถิ่นจะมีรายได้จากโรงงานกำจัดขยะเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เป็นเงินประมาณ 2,800,000 บาท/ปี ตลอดระยะสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 56,000,000 บาท

นายสุระกล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนกว่า 42 จังหวัด รวม 85 แห่ง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 48,000 ล้านบาท โดย จ.นครราชสีมา มี 4 โครงการ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต.หนองไข่น้ำ 2 แห่ง, ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา 1 แห่ง และ ต.กลางดง อ.ปากช่อง 1 แห่ง ซึ่งฝ่ายเอกชนรับผิดชอบเงินลงทุนทั้งหมด โครงการละประมาณ 600 ล้านบาท รวมกว่า 2,400 ล้านบาท

สำหรับการก่อสร้างโครงการตามเป้าหมายข้างต้นนั้น ทางบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีที่รัฐบาลประกาศรับซื้อกระแสไฟฟ้าโรงงานกำจัดขยะ และงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากนั้นเพราะตอนนี้ทางบริษัทได้เตรียมการไว้หมดแล้ว ทั้งแหล่งเงินทุน ที่ดินก่อสร้างโครงการ การรับฟังความคิดเห็นและประชามติจากประชาชน และลงนามสัญญาส่งมอบขยะชุมชน ให้แก่โครงการแล้วกว่า 600 สัญญา เป็นต้น

นายสุระกล่าวอีกว่า จากข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน กรมควบคุมมลพิษได้สำรวจปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,782 แห่ง เมื่อปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย รวม 26.85 ล้านตันต่อปี หรือ 73,560 ตันต่อวัน ขณะที่ขยะมูลฝอยตกค้างในสถานที่กําจัด ขยะมูลฝอยทั่วประเทศมีถึง 30.49 ล้านตัน กำจัดได้เพียง 22.47 ล้านตัน หรือ 74% เท่านั้น

ในปัจจุบันหลายจังหวัดได้มีการพัฒนา¬ไปสู่ความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม ทำให้จำนวนประชากร และชุมชน มีการขยายตัวและหนาแน่นมากขึ้น จากชุมชนชนบทในอดีตสู่ชุมชนเมืองซึ่งปัญหาที่ตามมาควบคู่กับความเจริญ และจากประชากรที่เพิ่มขึ้น คือ ปริมาณขยะล้นเมือง คาดว่าหากไม่มีการจัดการกำจัดขยะในระยะเวลาอันใกล้นี้ปริมาณขยะจะเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนอย่างแน่นอน

“การนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับกฎหมายที่ออกมาสอดรับกับการแก้ไขปัญหา จึงเป็นทางออกของรัฐบาลและประเทศไทยในขณะนี้” นายสุระกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: