ส่องกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ป่วยจิตเภท ‘ไทย-สหรัฐ-อิสราเอล-เนเธอร์แลนด์’ พบ ‘เนเธอร์แลนด์’ ส่งตัวผู้ป่วยคดีไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทาง ต่างกับโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป มีโปรแกรมการบำบัดที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงการก่อความรุนแรงของผู้ป่วยในอนาคต ที่มาภาพ: Joe Skinner Photography (CC BY-NC-ND 2.0)
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ป่วยจิตเภทของไทย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการจิตเภทเป็น ‘โรค’ ไม่ใช่ ‘นิสัย’ เมื่อเป็นโรค สิ่งที่ตามมาคือ สิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษา และสิทธิทางกฎหมายที่ต้องต่างจากบุคคลธรรมดา แต่เมื่อระบบกฎหมายของไทยยังไม่มีการบัญญัติคำว่า ‘จิตเภท’ โดยตรง มีเพียงคำว่า ‘จิตฟั่นเฟือน’ ‘จิตบกพร่อง’ หรือ ‘วิกลจริต’ เท่านั้น จึงยังทำให้เป็นปัญหาในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งแพทย์หลายท่านเห็นว่าคำว่า ‘จิตเภท’ เป็นเพียงอาการของโรค นักกฎหมายต่างหากที่จะต้องตีความว่าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นหนึ่งในประเภทผู้ไร้ความสามารถทางกฎหมาย ที่จะต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายต่อไป
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายอยู่หลายประการ เพื่อควบคุมดูแลและให้การคุ้มครองผู้ กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ ตั้งแต่การคุ้มครองสิทธิในการต่อสู้คดี การคุ้มครองด้านการรับผิดทางอาญา การคุ้มครองด้านการรับโทษหลังคำพิพากษา และมาตรการป้องกันสังคมจากการก่อเหตุร้ายโดยผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ
การดำเนินคดีกับผู้ป่วยจิตเภทนั้น เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนพบว่ามีการก่ออาชญากรรม แล้วเกิดข้อสงสัยว่าผู้ต้องหามีความวิกลจริตหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นยากที่จะพิสูจน์ แต่หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหามีความวิกลจริตและไม่สามารถให้การได้แล้ว ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ระบุว่าให้งดการสอบสวนจนกว่าผู้นั้นจะหายวิกลจริต โดยตำรวจจะส่งผู้ต้องหาไปวินิจฉัยทางจิตเวช เพื่อให้แพทย์ประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี เพื่อพิจารณาว่าขณะก่อคดีนั้นมีสภาพจิตเป็นอย่างไร รู้ผิดชอบในการกระทำหรือไม่ จากนั้นแพทย์จึงส่งผลตรวจกลับให้พนักงานสอบสวน เมื่อผู้ป่วยอาการทุเลาหรือสงบ จึงจะจำหน่ายโดยแจ้งให้หน่วยงานที่นำส่งมารับผู้ป่วยกลับไปดำเนินการต่อตามกระบวนการยุติธรรม โดยตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่าไม่ส่งฟ้องและให้ญาติรับกลับไปดูแล กรณีนี้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว หรือตำรวจอาจส่งฟ้องเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยฝากขังผู้ป่วยที่ศาลและควบคุมตัวในเรือนจำก็ได้ ซึ่งกรณีจะต้องดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ในกรณีที่คดียังไม่สิ้นสุด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการในการพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในข่ายไม่ต้องรับโทษ และมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่หากปรากฏจากหลักเกณฑ์ทางแพทย์ว่าบุคคลดังกล่าวยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง พนักงานอัยการก็อาจฟ้องต่อศาล โดยศาลมีดุลยพินิจในการพิพากษาว่ามีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ หรือพิพากษาให้รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งฟ้องผู้กระทำความผิดที่มีจิตไม่ปกติจนถึงชั้นศาลแล้ว โดยพบว่าขณะกระทำผิดผู้ต้องหาอาจรู้ผิดชอบอยู่บ้างตามมาตรา 65 วรรคสอง แต่หากศาลพบว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในชั้นพิจารณาคดี ก็ต้องงดการดำเนินคดีจนกว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้อยู่ดี
ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหรือให้ประหารชีวิตจำเลย แต่หากบุคคลนั้นเกิดวิกลจริต ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มีมาตรการคุ้มครองผู้กระทำผิดที่วิกลจริตไว้ด้วย คือ ให้ควบคุมตัวนักโทษในสถานที่อันควรไว้จนกว่าจะมีอาการปกติแล้วค่อยรับโทษจำคุกตามมาตรา 246 ส่วนในกรณีต้องโทษประหารชีวิตให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อน จนกว่าผู้นั้นจะหาย หรือให้รับเพียงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนตามมาตรา 248
อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายทั้งกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีบัญญัติไว้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติอยู่แล้วก็ตาม ในทางปฏิบัติก็ยังมีขัดข้องทั้งทางด้านการบังคับใช้และข้อขัดข้องในเรื่องของบท บัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ ซึ่งควรได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยทางจิตที่กระทำผิดอาญา และเพื่อคุ้มครองสังคม ให้ปลอดภัยจากการก่อเหตุร้ายโดยบุคคลดังกล่าว
ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การที่บุคคลในกระบวนการยุติธรรมมีความรู้ความเข้าใจไม่ตรงกัน และไม่มีมาตรฐานกลางในการกำหนดเกณฑ์วินิจฉัยเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต เช่น ในบางคดี แพทย์ที่ตรวจอาการผู้ป่วย วินิจฉัยว่าเขาเป็นจิตเภท แต่แพทย์กลับระบุกับศาลว่าเขาสามารถต่อสู้คดีได้ กลายเป็นว่าผู้ป่วยก็ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป ทำให้ตัวผู้กระทำผิดซึ่งควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษตามกฎหมาย ก็อาจไม่ได้รับการคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หรือผู้กระทำผิดบางคนที่ไม่สมควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเพราะสภาพจิตยังไม่เข้าลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลับได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเพราะเกณฑ์วินิจฉัยคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในการบังคับใช้กฎหมายว่า ใช้เป็นข้ออ้างในการสู้คดีและอาจทำให้ผู้กระทำผิดรอดพ้นจากการลงโทษ ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ มีผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม
จึงมีคำถามที่ว่า เราควรพัฒนาตัวบทกฎหมายให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้อย่างครบวงจรหรือไม่ เช่น หากจำเลยได้รับโทษเป็นเวลา 5 ปี แต่ต้องรักษาตัวถึง 10 ปีถึงจะหาย ก็ควรแก้กฎหมายให้ยกโทษจำเลยเสียเลยแทนที่จะให้มารับโทษทีหลัง รวมถึงมาตรการเชิงป้องกันให้มีการดำเนินการกับผู้วิกลจริตที่อาจก่อเหตุร้ายได้ด้วย เพื่อคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยโดยมีกระบวนการตรวจสอบอย่างรัดกุมด้วย เพื่อมิให้มีการนำตัวบุคคลไปควบคุมในโรงพยาบาลโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้วย
กระบวนการยุติธรรมต่อผู้ป่วยจิตเภท ‘สหรัฐ-อิสราเอล-เนเธอร์แลนด์’
เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรมกับผู้ป่วยจิตเภท (Schizophrenia) เราจะเห็นได้ว่ายังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการนำผู้ป่วยจิตเภทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่เสมอ คนส่วนใหญ่กังวลว่าหากรัฐไม่ดำเนินคดีและปล่อยผู้ป่วยจิตเภทออกสู่สังคมหลังการก่ออาชญากรรม จะมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ป่วยจิตเภทอาจก่ออาชญากรรมซ้ำอีก และทำให้สังคมที่พวกเขาอยู่นั้นไม่ปลอดภัย
โดยทั่วไป เมื่อบุคคลไร้ความสามารถต้องขึ้นศาล ศาลจะต้องเลื่อนการพิจารณา ยิ่งถ้าพบว่าจำเลยป่วยขณะกระทำความผิดและยังคงป่วยอยู่ ผู้ป่วยจะถูกส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากขณะถูกจับกุมผู้ป่วยไม่ได้ป่วยแล้ว ศาลต้องพิจารณาประเด็นนี้ในการให้รับโทษเพื่อความปลอดภัยของสังคม
แนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน ไม่มีการยกเว้นโทษให้กับผู้ป่วยทางจิต ซึ่งรวมถึง ผู้ป่วยจิตเภท อีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับโทษ แต่หลายประเทศใช้การลงโทษจำคุกและรักษาผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กัน บางประเทศจำคุกผู้ป่วยก่อนแล้วจึงนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในขณะเดียวกันก็มีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญต่อการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่ให้อำนาจศาลในการตัดสินว่าผู้ป่วยจิตเวชจะต้องได้รับการรักษาเป็นจำนวนกี่ปี (treatment years) โดยพิจารณาจากอาชญากรรมที่ผู้ป่วยจิตเวชได้ก่อขึ้น
จะเห็นว่ายังไม่มีข้อสรุปตายตัวว่ามาตรการไหนจะเหมาะสมที่สุดในการดำเนินคดีกับผู้ป่วยที่กระทำผิด แต่นักกฎหมายทั่วโลกตระหนักดีว่าข้อพิจารณาสำคัญในการดำเนินคดีประเภทนี้คือการคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา (right of the patient) และหน้าที่ของศาลที่ต้องประกันความปลอดภัยของสังคม
หลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association หรือ APA) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ป่วยทางจิตไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะมีอาการหลงผิด อาการประสาทหลอน พูดจาสับสนมาก มักเปลี่ยนเรื่องจนฟังไม่เข้าใจ พฤติกรรมเรื่อยเปื่อย วุ่นวาย หรือมีท่าทางแปลก ๆ และมีอาการด้านลบ เช่น อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด หรือเฉื่อยชา ประกอบกัน อย่างน้อยสองอาการขึ้นไปนานหนึ่งเดือน หรือหากมีอาการหลงผิดที่แปลกประหลาด หรือหูแว่วเพียงอาการเดียว ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์โรคจิตเภท
กระบวนการของสหรัฐอเมริกาน่าสนใจที่ว่า กฎหมายของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ ความสามารถในการขึ้นศาล (competence to stand trial) กับการรับผิดทางอาญา (criminal responsibility) มีความแตกต่างกัน ก่อนที่จะมีการรับผิดทางอาญา จำเลยจะต้องถูกตรวจก่อนว่ามีความสามารถในการขึ้นศาลต่อสู้คดีหรือไม่ ความสามารถนี้วัดจากความตระหนักรู้ ณ เวลาที่จำเลยมีสิทธิจะปรึกษาทนายและเข้าใจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับว่ามีขณะก่ออาชญากรรมนั้น จำเลยมีความสำนึกหรือไม่ ดังนั้น ถ้าพบว่าผู้ต้องหามีสภาพจิตปกติ ณ ขณะให้การและเป็นผู้มีความสามารถในทางกฎหมาย เขายังคงอ้างได้ว่า เขามีสภาพจิตไม่ปกติขณะกระทำความผิด และอัยการไม่อาจใช้ข้อพิสูจน์ที่จำเลยเป็นผู้มีความสามารถมาเป็นหลักฐานในการฟ้องเขาได้ เราจึงพบว่ามีอาชญกรจำนวนมากลอยนวลเพราะอ้างเหตุนี้
ในปี 1975 ในรัฐมิชิแกนเริ่มมีแนวคิดว่า มีความผิดแต่วิกลจริต (guilty but mentally ill) และหลายรัฐได้ใช้หลักนี้ตามกับผู้ต้องหาที่ป่วยวิกลจริต ซึ่งหมายความว่า แม้ผู้ต้องหาจะเป็นผู้ป่วยวิกลจริต ก็ยังถือว่าผู้นั้นควรจะเข้าใจในการกระทำของตนอยู่ แม้ว่าจะไม่เข้าใจผลของการกระทำก็ตาม ดังนี้ผู้นั้นจึงควรได้รับโทษทางอาญา อย่างไรก็ตามหลักการนี้ไม่ได้ทำให้ศาลยกเว้นความรับผิดของอาชญากรที่อ้างเหตุวิกลจริตมีจำนวนน้อยลง
หลายปีมานี้ สังคมจึงได้กดดันไม่ให้ผู้ก่ออาชญากรรมใช้เหตุวิกลจริตเป็นข้ออ้างอีกต่อไป ทำให้บางรัฐอย่าง มอนทานา ยูทาร์ ไอดาโฮ คันซัส และเนวาดา ได้ยกเลิกการอ้างเหตุวิกลจริตเพื่อไม่ต้องรับโทษ (insanity defence) ไปแล้วในบางส่วน แต่ยังสามารถใช้เหตุความผิดปกติทางจิตเป็นหลักฐานในการสู้คดีได้และยังสามารถใช้หลักเจตนาขณะกระทำความผิดมาพิสูจน์ได้อยู่
ขณะที่ประเทศ อิสราเอล นั้นกลับให้ความสำคัญกับการบำบัดรักษามากกว่าการให้ผู้ป่วยรับโทษ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดอาญาไม่ร้ายแรง เช่น ขโมยจักรยาน ศาลจะสั่งให้เข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยา แต่หากรักษาเป็นเวลาหลายปีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้พิพากษาศาลฏีกาได้วางหลักไว้ว่าระยะเวลาที่รักษาผู้ป่วยทางจิตนั้นไม่ควรจะนานกว่าระยะเวลาของโทษจำคุกในความผิดนั้น และในกรณีที่ผู้ป่วยยังต้องได้รับการรักษาต่อไปอีก ให้ส่งผู้ป่วยคนนั้นไปรับการรักษาอย่างผู้ป่วยทางจิตทั่วไปที่ไม่ต้องโทษ
ส่วนหลายประเทศในยุโรปใช้วิธีบูรณาการการบำบัดรักษาผู้ป่วยและการลงโทษไปพร้อมๆกัน เช่น การปล่อยตัวแต่มีเงื่อนไขบังคับ (mandatory conditional discharge) หรือการบังคับบำบัดตามคำสั่งศาล (compulsory ambulatory care) วิธีการเหล่านี้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือตัวผู้ป่วยและเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ดังจะเห็นได้ในประเทศเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ ที่การปล่อยตัวผู้ป่วยทางจิตเป็นประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาเสมอ ซึ่งระบบศาลใน เนเธอร์แลนด์ แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้พิจารณาว่าผู้ป่วยจะขึ้นศาลได้หรือไม่ เพราะจำเลยสามารถถูกเรียกตัวมาขึ้นศาลในทุกกรณี แต่ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาของเนเธอร์แลนด์ระบุให้กระบวนการพิจารณาทางศาลมีอำนาจที่จะเลื่อนการพิจารณาคดี หากผู้ถูกกล่าวหามีความผิดปกติทางจิตอย่างร้ายแรงจนเขาไม่อาจเข้าใจข้อกล่าวหาได้ และให้ทนายความของจำเลยมีหน้าที่รักษาสิทธิของจำเลยแทน
นอกจากนี้กฎหมายของเนเธอร์แลนด์ได้แยกการลงโทษการกระทำความผิดและการลงโทษตัวจำเลยออกจากกัน จึงทำให้ผู้กระทำความผิดที่มีอาการทางจิตไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
โมเดลของมาตรการการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยทางจิตในเนเธอร์แลนด์
ที่เนเธอแลนด์มีกระบวนการ TBS ที่ไม่ใช่การลงโทษผู้ปวยจิตเภทที่กระทำผิด แต่คือการคุ้มครองความปลอดภัยในสังคมโดยการกักขังผู้กระทำผิดระยะสั้น และบำบัดระยะยาว ที่มาภาพประกอบ: Metronieuws ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการลงโทษทางอาญาสองแบบ คือบทลงโทษตามคำสั่งศาล (punishment) เพื่อรับผิดชอบกับการกระทำผิดของตน เช่น โทษจำคุก และมาตรการเชิงบังคับ (coercive measure) เพื่อความสงบสุขของประชาชน เช่น การบังคับให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งศาลจะพิจารณาให้โทษอย่างใดอย่างหนึ่งโดยประเมินจากระดับความรับผิดของจำเลย (degree of responsibility) หลักการนี้ไม่ได้รับการยอมรับในสหรัฐอเมริกาที่ศาลไม่เปิดช่องให้พิจารณาระดับความรับผิดของจำเลย เพราะระบบกฎหมายสหรัฐไม่เชื่อว่าศาลสามารถพิจารณาจำกัดความรับผิดเพียงบางส่วนได้ และอาชญากรรมประเภทใดที่จะยอมให้มีความรับผิดบางส่วนได้ นอกจากนี้กฎหมายอาญาของเนเธอร์แลนด์ยังมีสองมาตรการที่ใช้กับผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติทางจิต อย่างแรก คือ ถ้าพบว่าจำเลยไม่มีความผิดทางอาญา กฎหมายให้สิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช หากเขาอยู่ในภาวะที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อผู้อื่นหรือต่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สิน อย่างที่สอง คือ ถ้าพบว่าจำเลยมีความผิดปกติทางจิตขณะก่ออาชญากรรม อาจ ได้รับคำสั่งศาลให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลจิตเภท (TBS order) ซึ่งปัจจุบันมีด้วยกัน 9 ที่ โดยศาลจะออกคำสั่งนี้ก็ต่อเมื่อ 1.จำเลยต้องเป็นผู้ป่วยทางจิต (mental disorder) ซึ่งจะส่งผลให้ความรับผิดทางอาญาของเขาต้องลดลงหรือไม่มีเลย 2.อาชญากรรมนั้นต้องมีโทษจำคุกอย่างน้อย 4 ปี หรือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีการระบุไว้เฉพาะในกฎหมายให้รับโทษน้อยลงได้ และ 3.ต้องมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือความปลอดภัยทั่วไปของบุคคลหรือทรัพย์สิน Terbeschikkingstelling (TBS) มีความหมายตามตัวว่า การใช้ดุลยพินิจของรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศเนเธอแลนด์ ในการจัดการกับผู้ป่วยทางจิตที่มีความผิดอาญา โดยศาลจะต้องตัดสินให้จำเลยมีโทษจำคุกเสียก่อนและตามด้วยมาตรการ TBS ดังนั้นมาตรการ TBS จึงไม่ใช้มาตรการลงโทษตามกฎหมายอาญาทั่วไป แต่เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้เฉพาะกับผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น TBS เริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากมีการปล่อยตัวผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยทางจิตจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี TBS จึงนำมาใช้เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายอาญานี้ แรกเริ่ม พ.ร.บ.ผู้ป่วยทางจิตของเนเธอร์แลนด์ ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1928 นั้น TBS ได้ถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยทางจิตที่ต้องคดีทั่วๆไป เช่น ลักทรัพย์ อนาจารในที่สาธารณะ หรือใช้กำลัง ต่อมาในปี 1988 เมื่อมีจำนวนผุ้ถูกกักขังภายใต้มาตรการ TBS มากขึ้น จึงมีการแก้ไขให้มาตรการ TBS ให้ใช้กับเฉพาะกรณีที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และ/หรือต่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สิน ดังนั้นปัจจุบัน TBS จึงใช้กับการกระทำความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์นี้มาจากการอภิปรายที่ยืดเยื้อกันในรัฐสภาของเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ในช่วงแรกที่มีการบังคับใช้ TBS นั้น อำนาจในการออกคำสั่ง TBS อยู่ที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่ต่อมาในปี 1988 กระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีหน้าที่ออกคำสั่ง TBS กับผู้ป่วยทางจิตแล้ว เหลือเพียงหน้าที่ในการเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์บังคับที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทางจิต โดยให้ศาลได้มีอำนาจในการตัดสินคดีแทน อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมยังมีหน้าที่ในการบังคับคดีเหล่านี้ให้เป็นไปตามกฎหมายและให้เงินสนับสนุนกับโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้โครงการ TBS อยู่ ในทางปฏิบัติ TBS-order มีระยะเวลาที่ไม่มีกำหนด โดยเริ่มต้นที่ 2 ปี แต่อาจขยายเพิ่ม 1-2 ปีแล้วแต่ดุลพินิจของศาลว่าผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดภัยต่อความปลอดภัยของสังคมสูงหรือไม่ TBS ยังมุ่งส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางซึ่งแตกต่างกับโรงพยาบาลจิตเวชทั่วไป เพราะมีโปรแกรมการบำบัดภายใต้กฎเกณฑ์เฉพาะของ TBS ที่มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงโครงสร้างเพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงการก่อความรุนแรงของผู้ป่วยต่อไปในอนาคต วัตถุประสงค์หลักของ TBS จึงไม่ใช่การลงโทษผู้กระทำผิด แต่คือการคุ้มครองความปลอดภัยในสังคมโดยการกักขังผู้กระทำผิดระยะสั้น และบำบัดระยะยาว อย่างไรก็ตาม ข้อท้าทายสำคัญในการบังคับใช้มาตรการนี้คือ การวินิจฉัยอย่างถูกต้องว่าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ป่วยทางจิตหรือไม่ เพราะถ้าวินิจฉัยผิด บุคคลนั้นอาจถูกกักขังเป็นเวลานานกว่าความเป็นจริง หรือถูกปล่อยตัวไปให้ไปก่อเหตุซ้ำในสังคมได้อีก |
ผู้ป่วยจิตเภทก่อคดีและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากแค่ไหน?
ในรายงานชิ้นนี้พยายามยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นถึงตัวอย่างกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดแล้วก็อาจต้องกลับมาหาคำตอบคำถามว่าแท้จริงแล้วผู้ป่วยจิตเภทนั้นก็อาชญากรรมมากน้อยเพียงใด?
จากข้อมูลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติครั้งล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อปี 2557 มีการประมาณว่ามีผู้ป่วยทางจิตทั้งหมดประมาณ 5 แสนคน และได้เข้าถึงการรักษาแล้วร้อยละ 57 ที่น่าสนใจมากกว่านั้นจากรายงานการบำบัดรักษา การจำหน่ายผู้ป่วยและการติดตามผลการบำบัดรักษาตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ในปี 2557 พบว่ามีผู้ป่วยทางจิตก่อคดีเพียง 172 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 1 และมีการก่อความผิดอาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆ่า หรือ พยายามฆ่า เป็นจำนวนเพียง 1 ใน 5 ส่วนที่เหลือเป็นการกระทำความผิดอื่น ๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย บุกรุก ยาเสพติด และวางเพลิง เป็นต้น และในปี 2559 มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาด เสี่ยงเกิดอันตรายกับตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น ตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ได้รับการช่วยเหลือรวม 1,638 คน กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปที่อยู่ในบ้านและชุมชนจำนวน 1,172 คน ที่เหลืออีก 466 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีที่นำส่งตามกระบวนการยุติธรรม โดยผู้ป่วยเหล่านี้จะได้เข้ารับการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานเดียวกันป้องกันไม่ให้เกิดการก่อคดีซ้ำ
ทั้งนี้ตามทัศนะของ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะเนื่องในวันสุขภาพจิตโลกไว้เมื่อปี 2557 ว่าสังคมยังมีอคติกับผู้ป่วยจิตเวช และเมื่อผู้ป่วยก่อเหตุรุนแรงมักปรากฏเป็นข่าวใหญ่โต ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าป่วยจริงหรือไม่ หรือใช้เป็นเพียงข้ออ้างทางกฎหมายให้ไม่ต้องรับโทษ ทั้งที่จากสถิติแล้วผู้ป่วยทางจิตมีเพียงจำนวนน้อยที่ก่อเหตุรุนแรงในสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการกระทำความผิดจากบุคคลที่มีสภาพจิตปกติ ซึ่งโรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ หากผู้ป่วยกินยาหรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ ข้อควรระวังพิเศษคือ การขาดยา ลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง การดูแลรักษาคนไข้ทางจิตที่ดี จึงต้องประสานกันทั้ง 3 ส่วน คือ โรงพยาบาล ครอบครัว และชุมชน โดยต้องให้การยอมรับและให้โอกาสกับผู้ป่วย การมีโอกาสเข้าถึงบริการ และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตดี
จากการนำเสนอข้อมูลข้างต้น จะพบว่าประเทศต่าง ๆ ก็มีการรักษาเยียวยาผู้ป่วยที่กระทำผิดทางอาญาแตกต่างกัน ตั้งแต่กระบวนการไต่สวนไปจนถึงการรับโทษ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกระทำความผิดในสังคมได้อีก แต่ท้ายสุดเราก็อาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่าสังคมมองข้ามประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้ป่วยทางจิตหรือไม่? พวกเขาควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเสมือนว่าเขาเป็นผู้ป่วยทางร่างกายทั่วไป ส่วน การกักขัง หรือ ให้โทษจำคุกนั้นควรจะสงวนไว้สำหรับการกระทำผิดอาญาที่ร้ายแรงจริง ๆ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ป่วยที่ไม่มีความผิดโดยอ้างมาตรการเชิงป้องกันไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป แม้สังคมไม่ควรยอมให้ช่องว่างทางกฎหมายเหล่านี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีกับผู้ป่วยทางจิต แต่การปฏิรูปกฎหมายทั้งทางปฏิบัติและวิธีพิจารณาให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษามีความจำเป็นอย่างยิ่งกว่าการดำเนินคดี
นอกจากนี้จิตแพทย์เองต้องใส่ใจกับการประเมินว่าผู้ต้องหาเป็นผู้มีความสามารถทางกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่ผู้ป่วยจะต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญา รวมไปถึงศาลที่ต้องมีความระมัดระวังในการพิจารณาว่าจำเลยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในขณะขึ้นศาลหรือไม่ หากจิตแพทย์มีความเข้าใจและตระหนักเรื่องความสามารถของบุคคลในการขึ้นศาลและพิจารณาสภาพจิตใจของผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างถี่ถ้วนก่อนส่งเรื่องให้ศาล ก็จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับความยุติธรรม และถูกต้อง ในการดำเนินคดีอาญา และลดปัญหาการปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ลอยนวลได้อีกด้วย
*มนัชญา ญาณกิตติกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: วีธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ผู้ป่วยนิติจิตเวช
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ