จับตา: สถานะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทย (ต.ค.2559)

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 พ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4529 ครั้ง


ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ต.ค. 2559) ไทยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (COD) แล้ว 6,985 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 6,471 เมกะวัตต์ แต่ถ้ารวมโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐมีรวม 7,218 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 9,215 เมกะวัตต์ยังรอรอ COD จำนวน 211 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 2,279 เมกะวัตต์ ที่มาภาพประกอบ: กฟผ.

ข้อมูลจาก มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2559 (ครั้งที่ 10) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 ได้รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนี้

  1. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ เดือน ตุลาคม 2559 มีโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว 7,218 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 9,215 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า (COD) แล้ว 6,985 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 6,471 เมกะวัตต์ (2) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและรอ COD จำนวน 211 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 2,279 เมกะวัตต์ และ (3) ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 22 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐเพิ่มขึ้นจากที่ได้เสนอ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 รวม 60 เมกะวัตต์ ดังนี้ (1) การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้น 42 เมกะวัตต์ (2) การขยายโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น กลุ่มเชื้อเพลิงขยะชุมชนเพิ่มขึ้น 1 เมกะวัตต์ กลุ่มเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้น 23 เมกะวัตต์ และกลุ่มเชื้อเพลิง ก๊าซชีวภาพ เพิ่มขึ้น 4 เมกะวัตต์ และ (3) การปรับปรุงข้อมูลของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยแก้ไขกำลังการผลิตติดตั้งในโครงการที่มีข้อมูลซ้ำกัน ทำให้กำลังการผลิตติดตั้งลดลง 10 เมกะวัตต์
  2. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 และวันที่ 18 เมษายน 2559 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2558 โดยมีโครงการที่ผ่านคุณสมบัติ ได้เข้าร่วมจำนวน 167 ราย ต่อมาได้จับสลากเพื่อคัดเลือกและประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิเข้าทำสัญญากับการไฟฟ้าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 จำนวน 67 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 281 เมกะวัตต์ โดยต้องลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 สถานภาพปัจจุบัน ได้ลงนาม PPA แล้ว 65 โครงการ อยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกตอบรับซื้อไฟฟ้า 2 โครงการ ทั้งนี้ โครงการส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาต
  3. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 กกพ. ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) รับซื้อไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เป็นลำดับแรก เป้าหมาย 10 เมกะวัตต์ และประเภทชีวมวลเป็นลำดับที่สอง เป้าหมาย 36 เมกะวัตต์ โดยสรุปได้ดังนี้ (1) ประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ได้รับการคัดเลือก 1 ราย คือ บริษัท พลังงานไทยเสริมสุข จำกัด เสนอส่วนลด FiTF ร้อยละ 10.25 กำลังการผลิตติดตั้ง 2.00 เมกะวัตต์ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต (2) ประเภทชีวมวล ได้รับการคัดเลือก 4 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 36 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จำกัด ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จำกัด ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลรุ่งทิวาไบโอแมส ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จำกัด ขนาด 6.3 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการลงนามสัญญาฯ ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เพิ่มเติมเพื่อให้ครบตามเป้าหมาย 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งปรับปรุงข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลาที่เหลือจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการระยะที่ 1
  4. การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน ดังนี้ (1) ขยะอุตสาหกรรม กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ได้เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม สำหรับประกาศรับซื้อปี 2558 - 2562 ปริมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยให้เป็นส่วนเพิ่มจากเป้าหมาย AEDP และเห็นชอบอัตรารับซื้อ FiT ขยะอุตสาหกรรม และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 กพช. ได้เห็นชอบให้ลำดับความสำคัญเชื้อเพลิงจากขยะเป็นอันดับแรก และให้รับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม สำหรับประกาศรับซื้อปี 2558 - 2562 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 และดำเนินการรับยื่นคำร้องข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในวันที่ 22 - 28 กันยายน 2559 และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกฯ จำนวน 7 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวมไม่เกิน 30.78 เมกะวัตต์ กำลังผลิตติดตั้งรวมไม่เกิน 41.83 เมกะวัตต์ โดยต้องลงนาม PPA ภายใน 25 กุมภาพันธ์ 2560 และกำหนด วันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายใน 31 ธันวาคม 2560 และ (2) ขยะชุมชน กกพ. ได้ประกาศ การจัดหาไฟฟ้าและหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าโครงการขยะชุมชน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 โดยมีเป้าหมายรับซื้อในระยะนี้ 8 จังหวัด ตามโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการระยะแรก (Quick Win Project) จากกระทรวงมหาดไทย โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายใน 31 ธันวาคม 2560
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: