จับตา: วีธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ผู้ป่วยนิติจิตเวช

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6073 ครั้ง


ข้อมูลจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ระบุถึงวีธีพิจารณาความอาญาผู้ป่วยนิติจิตเวช ตามมาตรา 14 ให้พิจารณาตามขั้นตอนบริการผู้ป่วยนิติจิตเวช โดยขั้นตอนการจำหน่ายผู้ป่วยนิติจิตเวช ให้แยกเป็นกรณี หลังแพทย์ประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยว่ามีอาการสงบและไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น  ที่มาภาพ: Marco Castellani (CC-BY-SA-2.0)

ผู้ป่วยนิติจิตเวช หมายถึง บุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือโรคทางจิตเวชและมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมหรือความเป็นธรรมทางสังคม 
ผู้นำส่ง ส่วนใหญ่นำส่งโดยตำรวจหรือศาล (โดยศาลให้เรือนจำเป็นผู้นำส่ง) หรือญาติ กรณีมีประกันตัว

ประมวงกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 (ม.14)

หมายถึง  หน่วยงานนำส่งเห็นว่า ขณะก่อคดีผู้ป่วยน่าจะมีอาการทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ การพิจารณาหรือตัดสินคดีอาจเกิดความไม่เป็นธรรม จึงส่งมาให้ทำการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวช ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการต่อสู่คดีเพื่อพิจารณาว่า

     1. ขณะก่อคดีนั้น มีสภาพจิตเป็นอย่างไร

     2. รู้ผิดชอบในการกระทำหรือไม่

     3. ปัจจุบันนี้ต่อสู้คดีได้หรือไม่ หมายถึง ความสามารถในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และจะต้องส่งผลการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชให้หน่วยงานนำส่งทราบ และหน่วยงานนำส่งอาจเรียกแพทย์ไปเป็นพยานในชั้นศาลเพิ่มเติม เมื่อผู้ป่วยอาการทุเลาหรือสงบ จึงจะจำหน่าย โดยแจ้งให้หน่วยงานที่นำส่งมารับผู้ป่วยกลับไปดำเนินการต่อตามกระบวนการยุติธรรม

ขั้นตอนบริการผู้ป่วยนิติจิตเวช

     1. การรวบรวมข้อมูลและประเมิน โดยจะมีการรวบรวมและประเมินด้านร่างกาย ประเมินสภาพจิต และประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยทีมสหวิชาชีพของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์

     2. การบำบัดรักษา ประกอบด้วย การรักษาด้วยยากลุ่มเฉพาะ กลุ่มทั่วไปและการฟื้นฟูสมรรถภาพ

     3. การประชุมวินิจฉัยทางนิติจิตเวชและรายงานผลการตรวจวินิจฉัย

     4. การเตรียมจำหน่าย โดยการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน

     5. การจำหน่าย

     6. การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความก้าวหน้าและผลของคดี

     7. กรณีคดีไม่สิ้นสุด ติดตามต่อเนื่องหลังจำหน่ายกรณีคดีสิ้นสุด ผู้ป่วยพื้นโทษติดตามต่อเนื่อง 1 ปี

การบำบัดรักษา

     1. การบำบัดด้วยยา

     2. การรักษาด้วยไฟฟ้า (ECT) กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะวิกฤต-ฉุกเฉินทางจิต หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทางจิตเวช

     3. กลุ่มบำบัดตามประเภทผู้ป่วย เช่น กลุ่มเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดี กลุ่มทั่วไป ได้แก่ กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนจำหน่าย กลุ่มสุขศึกษา เป็นต้น

     4. สิ่งแวดล้อมบำบัดเป็นการจัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อม สภาพหอผู้ป่วย เพื่อการบำบัด

     5. การฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการฝึกทักษะด้านต่างๆ เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะทางอาชีพ เป็นต้น

ขั้นตอนการจำหน่ายผู้ป่วยนิติจิตเวช

     เมื่อแพทย์ประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยว่ามีอาการทางจิตสงบลง ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น แพทย์จะแจ้งผู้นำส่งให้มารับผู้ป่วยกลับไปดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม โดยการไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน หรือไปต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

กรณีตำรวจส่ง ตำรวจจะมารับเพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

     1. กรณีตำรวจไม่ส่งฟ้องจะปล่อยตัวหรือให้ญาติรับกลับไปดูแล โดยจะต้องมีหนังสือปล่อยตัวที่เป็นลายลักษณ์อักษร (คดีสิ้นสุด)

     2. กรณีตำรวจส่งฟ้อง ผู้ป่วยจะถูกฝากขังที่ศาลและควบคุมตัวในเรือนจำต่อไป (คดีไม่สิ้นสุด)

กรณีศาลส่ง ศาลจะให้เรือนจำมารับตัวไปดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยเรือนจำพิเศษธนบุรีจะเป็นผู้มารับกลับและรอส่งกลับเรือนจำของศาลที่ผู้ป่วยถูกดำเนินคดีอยู่

กรณีประกันตัว ญาติจะเป็นผู้มารับผู้ป่วยไปดูแลต่อที่บ้าน โดยจะต้องนำหลักฐานการประกันตัวที่มีหมายเลขคดีเดียวกันมาด้วย

การดูแลต่อเนื่องหลังจำหน่าย กรณีคดีไม่สิ้นสุด ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอาการทางจิตกำเริบ โดย

กรณีผู้ป่วยในเรือนจำ ผู้ป่วยที่ถูกส่งมาจากศาลต่างๆ ก่อนที่จะถูกส่งมาตรวจวินิจฉัยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จะต้องถูกย้ายมาควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษธนบุรีก่อนจึงจะมาเข้ารับการรักษา และเมื่ออาการทางจิตสงบจะถูกส่งกลับไปดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ก่อนจะย้ายกลับเรือนจำเดิม จะไปพักชั่วคราวอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรีก่อน

      1. เมื่อผู้ป่วยจำหน่ายออกจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แพทย์จะให้ยาไปด้วยประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ และจะมีหนังสือส่งตัว ซึ่งจะมีรายละเอียดของการบำบัดรักษาของผู้ป่วย เพื่อส่งต่อไปรับการรักษาในเรือนจำ

     2. กรณีที่เรือนจำไม่มียาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ ญาติต้องเป็นผู้ติดต่อแพทย์เพื่อรับยาแทนผู้ป่วย ซึ่งญาติควรไปเยี่ยมผู้ป่วยก่อน เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ฟัง

     3. กรณีที่ญาติไปรับยาจากโรงพยาบาลอื่นๆ ควรมีหนังสือส่งตัวเพื่อแพทย์ที่รับรักษาต่อจะได้รู้ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยญาติสามารถขอหนังสือส่งตัวจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

     4. การนำยาเข้าเรือนจำ จะต้องขอใบรับรองแพทย์นำยาเข้าเรือนจำ เนื่องจากระเบียบเรือนจำจะให้ยาตามใบรับรองแพทย์เท่านั้น

กรณีเยี่ยมผู้ป่วยในเรือนจำ 

     ญาติควรเยี่ยมผู้ป่วยในเรือนจำเป็นระยะๆ เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยและช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น เพื่อประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยขณะอยู่ในเรือนจำและความก้าวหน้าของการดำเนินงานทางคดี

การดูแลผู้ป่วยหลังจำหน่าย กรณีคดีสิ้นสุด

      การดูแลหลังจำหน่ายกรณีคดีสิ้นสุด ผู้ปวยจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยมีการติดตามหลังจำหน่าย 1 ปี

ที่มาข้อมูล: สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: