ภาพเด็กชายสามคนถูกครูกล้อนผมจนเว้าแหว่ง และนำมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของครูหนุ่มคนหนึ่งพร้อมระบุข้อความว่า “ไอ้พวกอยากลองของ ครูจัดการลงของให้เรียบร้อย” ถูกกระจายไปทั่วโลกโซเชียลทำให้เกิดข้อวิพากษ์มากมายจนสื่อกระสื่อหลักนำไปขยายต่อ ท้ายที่สุดครูหนุ่มออกมาโพสต์ขอโทษ อ้างว่า "ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์" เรื่องนี้สะท้อนอะไรในระบบการศึกษาไทยได้บ้าง?
ก่อนเขียนบทความนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กหลายๆ คนทั้งชายและหญิงที่มาจากต่างโรงเรียน เมื่อถามถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องใดมากที่สุด สิ่งที่นักเรียนตอบไปในทิศทางเดียวกันคือ ทรงผมไม่ต้องสั้นมากจนเกินไป ใส่ถุงเท้าพื้นสีดำได้ ใส่เสื้อกันหนาวที่หนากว่าสวยกว่าเสื้อกันหนาวของโรงเรียนได้ ใส่ต่างหูและริสแบรนด์ได้ ทุกอย่างดูวนเวียนอยู่กับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ไม่มีใครพูดถึงวิธีการเรียนการสอนเลย อาจเป็นเพราะเรื่องนี้ติดอยู่ในใจของพวกเขาเพราะถูกตีกรอบมากจนเกินไป
เมื่อถามเรื่องการกล้อนผมตามที่เป็นข่าวดัง เด็กชายคนหนึ่งบอกว่า ไม่ต้องถามว่าใครเคยโดนกล้อนผมบ้าง ให้ถามว่าใครไม่เคยโดนบ้างจะดีกว่าเพราะทุกคนเคยโดนหมด จนอยากจะถามครูว่าเดือนๆ หนึ่งจะต้องให้เด็กตัดผมสักกี่ครั้งถึงจะสั้นพอ แน่นอนเขาเป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นและยังจดจำได้ดี
“ผมรู้สึกเสียเวลานะ บางครั้งเราไม่มีเวลาไปตัดผมหลังเลิกเรียน เพราะกว่าจะถึงบ้านก็ค่ำแล้ว ต้องเดินแบบผมแหว่งๆ ไปทั่วโรงเรียนทั้งสัปดาห์จนกว่าจะเสาร์อาทิตย์ ถามว่าอายไหมก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เราคนเดียวที่โดนแบบนี้”
เด็กๆ บอกในทำนองเดียวกันว่า อยากให้ทางโรงเรียนเอาเวลาไปพัฒนาเรื่องการเรียนการสอนมากกว่า มาจับผิดเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายหรือแม้แต่ทรงผมของพวกเขา พร้อมย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เวลาเรียนเราใช้หัว ไม่ได้ใช้ผม”
เห็นด้วยที่ว่ากฎระเบียบเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีเพื่อทำให้คนหมู่มากอยู่ด้วยกันอย่างสงบสันติ แต่จะมีวิธีใดที่จะสามารถรักษากฎระเบียบไว้ได้ โดยเป็นไปในแนวทางที่เคารพความเป็นคนของนักเรียน ไม่สร้างความอับอายและอยู่ในเหตุผลที่คุยกันได้ มากกว่าการใช้อำนาจนิยมตามที่เคยปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูทุกคนต่างหวังดีและปรารถนาที่จะเห็นลูกศิษย์ได้ดี ต้องการให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน แต่เมื่อแนวทางการลงโทษของกระทรวงการศึกษาก็ยังเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากเดิมที่ใช้ไม้เรียวสร้างคนก็ยกเลิกไปเสีย ดังนั้นแนวทางการเข้าถึงใจเด็กเพื่อขอความร่วมมือให้เขาอยู่ในกฎระเบียบก็คงต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี นักจิตวิทยา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังจากเกิดเหตุการณ์กล้อนผมเด็กดังในโลกโซเชียลระบุว่า ครูต้องเข้าใจหลักจิตวิทยาวัยรุ่นและธรรมชาติของวัยรุ่น มากกว่าการคิดเพียงการใช้อำนาจที่เหนือกว่าควบคุม การฝึกวินัยนั้นควรใช้หลักวินัยเชิงบวกไม่ใช่วินัยแบบลงโทษสถานเดียว และต้องยกระดับพัฒนาศักยภาพครูในการจัดการห้องเรียนแบบสร้างสรรค์ ( Class room management) หลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัวของตนเอง นี่ถึงจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างครูกับนักเรียนได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน “ไทยแลนด์ 4.0” ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหลักในการพัฒนาของประเทศ โดยเน้นเรื่องนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี ดังนั้นถึงเวลาที่ประเทศของเราจะต้องเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องโครงสร้างอำนาจนิยมในระบบการศึกษาไทย เพื่อให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตได้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองและอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกันโดยไม่ต้องหวาดกลัวและอับอายเหมือนที่แล้วมา
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: @So_I_Hip
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ