กฟผ.เผยเลิกสัญญาประมูลสร้างท่าเทียบเรือคลองรั้วกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จากจีน กำลังพิจารณาจะเลิกสัญญาหรือยืดเวลาต่อไปอีก 1 ปี เตรียมสรรหาที่ปรึกษาจัดทำ EIA และ EHIA รอบใหม่ คาดรู้ผล1-2 เดือนนี้ ที่มาภาพประกอบ: greennewstv.com
เว็บไซต์ Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่านายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม็นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้ชนะการประมูลก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ ได้แจ้งขอยกเลิกสัญญาการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว กับทาง กฟผ.แล้วเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถรอเวลาการตัดสินของภาครัฐในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้ ขณะที่กลุ่มกิจการค้าร่วมPower Construction Corporation of China ผู้ชนะประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเลิกสัญญา หรือจะขอต่อระยะเวลาออกไปอีก1ปี ตามที่กฟผ.ยื่นขอเสนอ
ที่ผ่านมา กฟผ.ได้แจ้งกับผู้ชนะประมูลทั้ง 2 ราย ว่าต้องการขอขยายเวลาพิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ออกไปอีก 1 ปี แต่หากผู้ชนะประมูลทั้ง 2 รายไม่ยินยอมก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะยังไม่มีการลงนามสัญญาการก่อสร้าง โดยหากมีการยกเลิกสัญญาระหว่างกัน ทาง กฟผ.จะต้องเปิดประมูลเพื่อหาผู้ดำเนินการก่อสร้างรายใหม่ต่อไป
สำหรับสาเหตุที่ กฟผ.ต้องขอขยายเวลาพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไปอีก 1 ปี เนื่องจากภาครัฐกำหนดให้ กฟผ.ต้องกลับมาสู่การเริ่มต้นทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA)ใหม่อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการสรรหาที่ปรึกษาเพื่อจัดทำ EIA และ EHIA คาดว่าจะรู้ผลใน 1-2 เดือนนี้
ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือถึงกฟผ.โดยระบุว่าในการจัดทำ.จัดทำ EIA และ EHIA รอบใหม่นี้ให้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น
ทั้งนี้เมื่อจัดทำ EIA และ EHIA เสร็จแล้ว ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) โดยหากมีแนวโน้มว่ารายงานดังกล่าวจะผ่านความเห็น คชก. ทาง กฟผ.ก็จะเริ่มเปิดประมูลการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วคู่ขนาดกับกระบวนการพิจารณาของ คชก.ทันที เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า หากเป็นไปตามแผนงานก็คาดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะเสร็จในปี 2567 ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2566 โดยขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณา EHIA ครั้งที่ 3 ของ คชก. ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ทั้ง 2 โรงนี้ จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าจากวิกฤติก๊าซธรรมชาติของไทยในปี 2564-2565 ได้ทัน ซึ่งในช่วงเวลาวิกฤติดังกล่าวภาคใต้ต้องอาศัยไฟฟ้าที่ส่งมาจากภาคกลางเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้เสนอทางเลือกหลายกรณีหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาไม่ได้ เช่น ให้เปลี่ยนเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะอยู่ติดทะเลรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ และต่อเชื่อมกับระบบส่วยส่งเพื่อป้อนไฟฟ้าให้พื้นที่ฝั่งอันดามันของไทย ส่วนกรณีที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่ได้ ให้เปลี่ยนไปสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 3 ที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงแทน โดยการตัดสินใจว่าจะเป็นทางเลือกใดจะ ขึ้นอยู่กับการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ(พ.ศ. 2558-2579) หรือ PDP 2015 ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นปี 2560 นี้
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีแผนจะสร้างขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีแผนก่อสร้างขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 กฟผ.เปิดเผยผลการประมูลการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยกลุ่มกิจการค้าร่วมPower Construction Corporation of China และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม็นต์ จำกัด(มหาชน). หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุดที่ประมาณ 32,000 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูลไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ