พบผู้ป่วยจิตเภทสูบบุหรี่มากขึ้น บางส่วนสูบ 21-30 มวนต่อวัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 5203 ครั้ง

พบผู้ป่วยจิตเภทสูบบุหรี่มากขึ้น บางส่วนสูบ 21-30 มวนต่อวัน

กรมสุขภาพจิตเผยสถิติพบผู้ป่วยจิตเวชหันไปสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 50 บางคนติดอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรมสูบเฉลี่ยคนละประมาณ 21-30 มวนต่อวัน ร้อยละ 98 เป็นผู้ชาย ทั้งนี้เพราะมองว่าสารนิโคตินในบุรีทำให้มีความสุข เพิ่มสมาธิ ลดหูแว่ว แต่ขณะเดียวกันสารนิโคตินจะเข้าไปลดประสิทธิภาพของยารักษา ที่มาภาพประกอบ: Schizophrenia Fellowship of Australia

เว็บไซต์โลกวันนี้ รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 ว่า นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ จ.สระแก้ว ว่า ในภาพรวมพบว่าผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการได้ตามเป้าหมายคือสูงกว่าร้อยละ 70 และมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาว่าผู้ป่วยจิตเวชหันไปสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 50 บางคนติดอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางความคิดและพฤติกรรม สูบเฉลี่ยคนละประมาณ 21-30 มวนต่อวัน ร้อยละ 98 เป็นผู้ชาย ทั้งนี้ เพราะมองว่าสารนิโคตินในบุรีทำให้มีความสุข เพิ่มสมาธิ ลดหูแว่ว แต่ขณะเดียวกันสารนิโคตินจะเข้าไปลดประสิทธิภาพของยารักษา ทำให้ต้องปรับปริมาณยาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลเสียต่อการควบคุมอาการ ทำให้อาการกำเริบ ก้าวร้าว หงุดหงิด ต้องมารักษาซ้ำ

ทั้งนี้ รพ.จิตเวชสระแก้ว เป็น รพ.เดียวที่ได้ศึกษาทดลองนำชาหญ้าดอกขาว หรือหญ้าหมอน้อย มาชงให้ผู้ป่วยจิตเวชที่สูบบุหรี่ดื่มรักษาการติดนิโคติน และลดการอยากบุหรี่ พบว่าได้ผลดี ไม่พบอาการข้างเคียง จึงจะขยายผลศึกษาต่อในปี 2561 ใช้งบประมาณ 3 แสนบาท เพื่อพัฒนาขั้นตอนการรักษาให้เป็นมาตรฐานระดับประเทศ และขยายผลรักษากลุ่มประชาชนที่ติดบุหรี่และมีพฤติกรรมและอารมณ์ผิดปกติ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ซึ่งผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2556 และปี 2559ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปพบผู้มีปัญหามากถึง 3 ล้านกว่าคน โดยเป็นเยาวชนอายุ 13-17 ปี เกือบ 1 แสนคน

ด้าน พญ.จุฬาพันธุ์ เหมกูล ผอ.รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ กล่าวว่า ทางรพ.ได้ศึกษาการใช้ชาชงหญ้าดอกขาว 1 ซอง ต่อน้ำ 250 มิลลิลิตร แช่ไว้ 15 นาที ให้ผู้ป่วยดื่มก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ร่วมกับการเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจผู้ป่วยในการเลิกสูบบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 37 คน ส่วนใหญ่สูบบุหรี่ นาน 6-10 ปีและเคยเลิกสูบมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ผลการศึกษาพบว่า ช่วยลดระดับความรุนแรงการติดนิโคตินได้ร้อยละ 96 เลิกสูบได้ร้อยละ 30 ที่เหลือสูบลดลงจากวันละ 21 มวน เหลือ 7 มวน

ทั้งนี้ ในปี 2561 จะศึกษาในระดับคลินิกในกลุ่มใหญ่ขึ้นตามหลักสากล เพื่อให้ได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการรักษาและปริมาณการใช้ ทั้งนี้การเลิกบุหรี่สำเร็จจากหญ้าดอกขาว 1 คน ใช้งบเฉลี่ย 10,080 บาท ถูกกว่ายาแผนปัจจุบัน 3-6 เท่าตัว แต่ประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน ดังนั้นคิดว่าหญ้าดอกขาวน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ช่วยเลิกบุหรี่ เป็นการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยด้วย ซึ่งขณะนี้มีคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 11 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกมีประมาณ 1,000 ล้านคน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: