กรมควบคุมมลพิษยืนยันแก้ปัญหาปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณ 'ห้วยคลิตี้' ด้วยการจ้างเอกชน 'บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)' ดำเนินการภายใต้งบ 454 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 นี้ ในช่วงระยะเวลาการฟื้นฟูตามสัญญา 1,000 วัน ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่าตั้งแต่บริษัท ตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด ปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ็บป่วยและเสียชีวิต ซึ่งหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ คพ. เร่งดำเนินการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ภายใน 90 วัน แต่ คพ. ใช้เวลากว่า 4 ปี ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. คพ.รับเรื่องร้องเรียนและลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่ เม.ย. 2541 และมีแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แต่กลับไม่ดำเนินการโดยอ้างว่าจะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟู และ 2. การไม่กำจัดมลพิษและการฝังกลบในพื้นที่ป่า ส่งผลให้ลำห้วยคลิตี้ไม่ปราศจากมลพิษ และน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจะไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯและคนฝั่งตะวันตกและไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ
โดยประเด็นที่ 1 คพ. ขอชี้แจงว่า ตั้งแต่ได้มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2556 คพ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่คลิตี้มาโดยตลอด โดยได้จัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ฟ้องคดี การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการประชาสัมพันธ์ข้อมูล การจัดทำฝายดักตะกอน การขุดรื้อหลุมฝังกลบตะกอนริมลำห้วย และการป้องกันการปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้จากพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงกระบวนการทำงานและประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องให้ชาวบ้านคลิตี้รับทราบ และได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานดังกล่าวให้กับสำนักงานศาลปกครองทราบมาอย่างต่อเนื่องทุก 4 เดือน ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนก.ค. 2560 ในส่วนของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้นั้น คพ. ได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการภายใต้งบประมาณ 454 ล้านบาท ซึ่งกำหนดการเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560เป็นต้นไป โดยมีระยะเวลาการดำเนินการฟื้นฟูตามสัญญา 1,000 วัน
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับและความเชื่อมั่นในผลการดำนเนินงาน คพ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูให้คณะกรรมการทราบเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 ทั้งนี้ นับตั้งแต่ได้มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คพ. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อศึกษาแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และผ่านการพิจารณาของคณะทำงานด้านวิชาการซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษา นำมาสู่การตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตลอดจนคัดเลือกผู้รับจ้างตามระเบียบของทางราชการเพื่อเข้ามาดำเนินโครงการในปัจจุบัน
สำหรับประเด็นที่ 2 นั้น คพ. ขอเรียนชี้แจงว่าปัจจัยที่สำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้คือการที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งศักยภาพแร่ตะกั่ว คพ. จึงได้เลือกใช้แนวทางการขุดลอกด้วยระบบปิดและบรรจุตะกอนที่ปนเปื้อนลงในหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการฟื้นฟูการปนเปื้อนซึ่งได้ผ่านการศึกษาและพิจารณาของนักวิชาการแล้วตามที่ได้ชี้แจงข้างต้นและการเลือกพื้นที่ก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยบริเวณใกล้กับเหมืองตะกั่วเดิมจึงเป็นเสมือนเป็นการนำตะกั่วกลับไปสู่ที่อยู่เดิมโดยได้มีการศึกษาสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่และกำหนดให้มีบ่อสังเกตการณ์เพื่อให้มีความมั่นใจได้ว่าตะกั่วที่บรรจุในหลุมฝังกลบดังกล่าวจะไปส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ คพ. ได้ติดตรวจสอบคุณภาพน้ำและตะกอนดินท้องน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง มาอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่พบว่ามีปัญหาการปนเปื้อนของตะกั่วตามที่กล่าวอ้าง โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำแม่กลองในปัจจุบันมีปริมาณตะกั่วในน้ำน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าที่มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินซึ่งกำหนดไว้ที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ