เปิดสถิติ 'กองทุนยุติธรรม' จ่าย 'ประกันตัว-ทนายความ' มากสุด

ทีมข่าว TCIJ : 22 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 8333 ครั้ง

สถิติ ‘กองทุนยุติธรรม’ ปี 2549-2559 มีผู้มายื่นคำขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ รวม 17,436 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือไปทั้งสิ้น 438,925,005.77 บาท พบอนุมัติ ‘ค่าประกันตัว’ เป็นอันดับแรก ตามมาด้วย ‘ค่าทนายความ’ ช่วยเหลือประกันตัวคดี ‘ลักทรัพย์-บุกรุก-พยายามฆ่า-ทำร้ายร่างกาย-คดีฉ้อโกง’ มากที่สุด

‘กองทุนยุติธรรม’ เป็นอีกหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหา ‘ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ’ ของกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นปัจจัยให้คนยากไร้และคนจน ไม่สามารถต่อสู้คดี หรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งกองทุนฯ นี้ขึ้นมาเมื่อปี 2549 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีการออก ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 ขึ้น ต่อมาพบว่าข้อจำกัดของระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 มีหลายประการ เช่น การไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่จะทำนิติกรรมสัญญาที่สมบูรณ์ รายได้มาจากงบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียว วัตถุประสงค์ค่อนข้างจำกัด ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้พัฒนายกระดับระเบียบกระทรวงยุติธรรม เป็น พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมการช่วยเหลือมากขึ้น และเกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น

พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกว่า 'กองทุนยุติธรรม' มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

มาตรา 9 เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
(1) การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี
(2) การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
(3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
(4) การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
(5) การดำเนินงานกองทุนหรือการบริหารกองทุน และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุน

มาตรา 11 ให้จัดตั้งสำนักงานกองทุนยุติธรรมขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการให้กับกองทุน คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) รับคำขอรับความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้
(2) เสนอความเห็นประกอบคำขอตาม (1) เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา
(3) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานเอกชน ในการดำเนินงานของกองทุน
(4) รับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินของกองทุนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
(5) พัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการ และการให้บริการของกองทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน
(6) เก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน
(7) ปฏิบัติการอื่นหรือกระทำกิจการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ

 

ปัจจุบันการช่วยเหลือโดยกองทุนยุติธรรมมี 8 กรณี คือ 1.การประกันการปล่อยตัวชั่วคราว 2.จ้างทนายความในคดีอาญา แพ่ง ปกครองหรือบังคับคดี 3.ค่าธรรมเนียมขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 4.ค่าใช้จ่ายการพิสูจน์ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ 5.ค่าพาหนะ ที่พัก ค่าตอบแทนอื่นตามความจำเป็น 6.การคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัย 7.ความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ปกครอง หรือละเมิดที่กระทบต่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และ 8.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามวัตถุประสงค์

(อ่านเพิ่มเติม: หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีจากกองทุนยุติธรรม)

ชี้ ‘จุดอ่อน’ กองทุนยุติธรรม

ในรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษาประเมินผลสำเร็จกองทุนยุติธรรม เสนอ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล 2558 ได้ระบุปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานกองทุนยุติธรรมที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 การบริหารจัดการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดได้ประสบผลสำเร็จมาตามลำดับ แม้ว่าประสบปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดหลายประการที่จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

ปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานกองทุนยุติธรรมส่วนกลาง โดยทั่วไปเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่มีภารกิจที่เป็นงานประจำมาก ในขณะที่การร้องขอรับการช่วยเหลือมีจำนวนมากและในหลายเรื่องมีความจำเป็นในการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงในต่างพื้นที่ รวมไปถึงการประมวลข้อมูลให้กับคณะ กรรมการที่พิจารณา ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินการ การร้องขอรับความช่วยเหลือแทบทุกเรื่องจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน มีการตรวจสอบและประมวลผลเพื่อการพิจารณาแนวโน้มการแพ้ชนะด้วย

ปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานกองทุนยุติธรรมส่วนภูมิภาค (1) ปัญหาด้านระยะเวลาในการดำเนินการ ซึ่งการแจ้งผลการขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ ในกรณีมอบหมายให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดพิจารณา อาจมีการตั้งคณะกรรมการในจังหวัดมาร่วมพิจารณาอีก ทำให้กินระยะเวลาดำเนินการนาน (2) ปัญหาด้านข้อเท็จจริงที่ผู้ขอรับการช่วยเหลือ ซึ่งให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ถูกต้อง ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ขอรับความช่วยเหลือยังให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง (3) ปัญหาการจัดจ้างทนายความ เนื่องจากการดำเนินการจัดจ้างทนายความ ดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งยังไม่ยืดหยุ่นในการดำเนินการ นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ขอรับการช่วยเหลือมีทนายความอยู่แล้ว ไม่สามารถขอรับการช่วยเหลือได้ หรือ การที่ผู้ขอรับการช่วยเหลือกับทนายความที่จัดหาให้ไม่สามารถร่วมงานกันได้ดี และ (4) ปัญหาด้านปริมาณบุคลากรที่ปฏิบัติงานมีจำนวนไม่เพียงพอ และเจ้าหน้าที่มีภารกิจงานด้านอื่นๆ อีก ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการและเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาเรื่องศักยภาพเจ้าหน้าที่ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรม มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม ตามผลการสัมมนา เรื่อง ‘ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม’ โดยในเบื้องต้น ฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดให้มีโครงการศึกษาดูงานการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม เนื่องจากในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ยังมีบางเรื่องที่เจ้าหน้าที่ ยังต้องทำความรู้ความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงาน เช่น การสรุปประเด็นข้อเท็จจริง การสรุปสำนวนแห่งคดี การจัดทำความเห็นเบื้องต้น ฯลฯ  บางครั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน จึงทำให้การดำเนินงานกองทุนยุติธรรมเกิดความล่าช้า ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที 

มุมมองปัญหาจากภาคประชาชน นอกจากนี้โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เคยเผยแพร่รายงาน 'กฎหมายกองทุนยุติธรรมกับหกปัญหาที่หลงเหลือก่อนบังคับใช้จริง' ระบุถึง 6 ปัญหาของ พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม ดังนี้ (1) คนไร้ญาติ คนไม่มีงานทำ ฟรีแลนซ์ อาจขอเงินกองทุนมาประกันตัวไม่ได้ (2) การไม่กำหนดระยะเวลาการพิจารณาขอรับความช่วยเหลือเอาไว้ในชั้นพระราชบัญญัติ (3) หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาให้การช่วยเหลืออาจทำให้คณะกรรมการตัดสินความผิดล่วงหน้าแทนศาล (4) คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมยังขาดสมดุลระหว่างภาครัฐกับประชาชน (5) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดไม่มีที่นั่งให้ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ และ (6) ขาดช่องทางร้องเรียนหรืออุทธรณ์กรณีที่การพิจารณาให้การช่วยเหลือนั้นไม่เป็นธรรม ให้ชัดเจน

 

จากข้อมูลของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่าตั้งแต่จัดตั้งกองทุนยุติธรรมเมื่อปี 2549-2558 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2558) มีผู้มายื่นคำขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ รวม 17,436 ราย พิจารณาไปแล้ว 16,484 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือไปทั้งสิ้น 438,925,005.77 บาท โดยเริ่มแรกเมื่อก่อนตั้งกองทุนในปี 2549 นั้น มีผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนแค่ 8 ราย มาในปี 2559 มีผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนถึง 4,529 รายเลยทีเดียวปี 2549-2558 จ่ายช่วยเหลือแล้ว 438,925,005.77 บาท

ทั้งนี้ เมื่อปี 2557 เคยมีการเสนอ ‘โครงการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา’ โดยเสนอแนวคิดในการใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมช่วยประกันตัวผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจากศาล ที่ต้องโทษคดีลหุโทษ เช่น คดีการพนัน คดีบุกรุกที่ดินรัฐ หรือบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผู้ต้องขังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน เมื่อถูกจับกุมจะไม่มีเงินวางศาลเพื่อประกันตัวออกไปสู้คดี ทำให้เสียโอกาสในการทำมาหากินหรือดูแลครอบครัว ในตอนนั้น มีการประเมินกันว่าหากใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมเพียง 120 ล้านบาท ก็จะสามารถช่วยประกันตัวผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจากศาลได้ถึง 59,000 ราย เลยทีเดียว

 

ตัวอย่างคดีดังที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

คดีคนเก็บขยะตั้งแผงขายซีดี นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา พนักงานประจำรถขยะของกรุงเทพมหานคร จำเลยในคดีมีแผ่นซีดีเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 โดยกองทุนยุติธรรมอนุมัติหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเงิน 240,000 บาท ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

คดีสมาชิกสวัสดิการกองทุนหมู่บ้านบางปลา กรณีชาวบ้านชุมชนบางปลา หมู่ 4 ต.บ้านเกาะ อ.เมืองสมุทรสาคร ได้นำเงินสมทบกับกองทุนสวัสดิการสมาคมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับแจ้งว่า กองทุนหมู่บ้านฯ สาขานครปฐม ขาดสภาพคล่องทางการเงินมานานหลายปี แต่ไม่ได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบและยังคงเก็บเงินกับสมาชิกทุกเดือนเหมือนมีเจตนาปกปิดสถานภาพทางการเงิน คดีนี้กองทุนยุติธรรมได้ช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายที่มีรายได้น้อย

กรณีกลุ่มชาวนา จ.ลพบุรี จำนวน 35 ราย ขายข้าวเปลือกให้โรงสีข้าวแล้วไม่ได้เงิน โดยกองทุนยุติธรรมได้อนุมัติค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาลในการต่อสู้คดี เป็นเงิน 210,000 บาท

กรณีชาวเลหาดราไวย์ กองทุนยุติธรรมได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าตรวจพิสูจน์พันธุกรรมและค่าประกันตัวช่วยต่อสู้คดีที่ถูกฟ้องขับไล่ที่ช่วยเหลือทั้งศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกา จำนวน 36 ราย เป็นเงิน 323,440 บาท และช่วยเหลือเงินประกันตัว จำนวน 9 ราย เป็นเงิน 45,000 บาท

คดี 2 ผู้เฒ่าตัดไม้พะยูงในที่ดินตัวเอง กองทุนยุติธรรมได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือนายทองสุข พันชมภู อายุ 80 ปี และนายเดิน จันทกล อายุ 70 ปี ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตัดไม้พะยูงในที่นาของตัวเอง จ.มหาสารคาม โดยกองทุนยุติธรรมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีตั้งแต่ค่าปล่อยตัวชั่วคราว และค่าจ้างทนายความในการดำเนินคดี

 

รูปแบบ-แบบแผน การอนุมัติจ่ายเงินกองทุน


เมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่จัดตั้งกองทุนยุติธรรม ปี 2549-2558  จากการจ่ายเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 438,925,005.77 บาท หากคำนวณสัดส่วนเม็ดเงินในการช่วยเหลือ พบว่าอันดับ 1 เป็นการจ่ายช่วยเหลือเงินประกันตัวถึง 353,325,303.02 บาท คิดเป็น 87.70% อันดับ 2 ค่าทนายความ 25,932,949.00 บาท คิดเป็น 6.44% อันดับ 3 ค่าธรรมเนียมศาล 14,293,906.00 บาท คิดเป็น 3.55% อันดับ 4 ค่าตรวจพิสูจน์ 2,603,927.00 บาท คิดเป็น 0.65% อันดับ 5 คุ้มครองพยาน 434,400.00 บาท คิดเป็น 0.11% อันดับ 6 ค่าพาหนะ 302,359.00 บาท คิดเป็น 0.08% อันดับ 7 อาญากลุ่ม 230,000.00 บาท คิดเป็น 0.06% และอื่น ๆ 5,693,620.00 บาท คิดเป็น 1.41%  

พิจารณาในด้านสถิติประเภทคดีที่มีการยื่นคำขอนั้น พบว่าการให้ความช่วยเหลือหรืออนุมัติจ่ายเงินกองทุนยุติธรรม 5 ลำดับคดีแรก ในแต่ละกรณีปรากฏดังนี้ การประกัน ลำดับแรกที่อนุมัติ คือ 1. คดีลักทรัพย์ 2. คดีบุกรุก ที่มีอัตราโทษไม่สูง/กระทำความผิดครั้งแรก 3. พยายามฆ่า 4. ทำร้ายร่างกาย และ 5. คดีฉ้อโกง (โดยคดีลักทรัพย์, พยายามฆ่า, ทำร้ายร่างกาย และฉ้อโกง จะมีพฤติการณ์ให้การปฏิเสธ) ค่าทนาย ลำดับแรกที่อนุมัติ คือ 1. คดีเอกเทศสัญญา 2. คดีที่ดิน 3. คดีครอบครัว 4. คดีละเมิด และ 5. คดีอาญา (ทุกคดีจะมีพฤติการณ์คุ้มครองสิทธิและเป็นคนยากไร้) ค่าธรรมเนียมศาล ลำดับแรกที่อนุมัติ คือ 1. คดีครอบครัว 2. คดีที่ดิน 3. คดีละเมิด 4. คดีเอกเทศสัญญา และ 5. คดีมรดก (ทุกคดีจะมีพฤติการณ์คุ้มครองสิทธิและเป็นคนยากไร้) ค่าตรวจพิสูจน์ ลำดับแรกที่อนุมัติ คือ 1. คดี DNA 2. คดีครอบครัว 3. คดีอาญา 4. คดีเอกเทศสัญญา 5. คดีที่ดิน (ทุกคดีจะมีพฤติการณ์คุ้มครองสิทธิและเป็นคนยากไร้) และ ค่าพาหนะ ลำดับแรกที่อนุมัติ คือ 1. คดี DNA 2. คดีที่ดิน 3. คดีครอบครัว 4. คดีอาญา 5. คดีละเมิด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าสนใจคือประเด็น ‘พื้นที่’ โดยข้อมูลในปี 2558 พบว่าจากภาพรวมของผู้ยื่นคำขอทั้งหมด 4,542ราย เมื่อแยกออกเป็นแต่ละภูมิภาค อันดับแรกที่มีผู้มาร้องเรียนมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ (สำนักงานส่วนกลาง) จำนวน 1,315 ราย คิดเป็น 28.95% รองลงมาคือ ภาคกลาง จำนวน 1,028 ราย คิดเป็น 22.63% ตามมาด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 883 ราย คิดเป็น 19.44% ตามมาด้วยภาคเหนือ จำนวน 865 ราย คิดเป็น 19.04% และภาคใต้ จำนวน 451 ราย คิดเป็น 9.94%

อนึ่ง ข้อมูลของกองทุนยุติธรรมใน ปี 2559 ยังเป็นข้อมูลไม่สมบูรณ์ จึงขอนำข้อมูลใน ปี 2558 ที่มีความสมบูรณ์กว่ามาใช้ในการวิเคราะห์ (เข้าถึงข้อมูล ณ กลางเดือน ม.ค. 2560 ซึ่งรายงานประจำปี 2559 ของกองทุนยุติธรรมยังไม่เผยแพร่)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ตัวอย่าง การให้ความช่วยเหลือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายของต่างประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: