ชวนดูตัวอย่างการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศแคนาดา, สหรัฐฯ, เยอรมนี, อังกฤษ และญี่ปุ่น
ในรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษาประเมินผลสำเร็จกองทุนยุติธรรม เสนอ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล 2558 ได้ระบุถึง การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ไว้ดังนี้
แคนาดา
การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในแคนาดามักจะประสบปัญหาคล้าย ๆ กันทุกแห่ง คือ ปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังพบด้วยว่านักกฎหมายที่เข้ามาทำงานช่วยเหลือทางกฎหมายมักจะถอนตัวจากการให้บริการ เนื่องจากค่าใช้จ่ายและบางครั้งปัญหาทางกฎหมายก็เป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีรายจ่ายสูงกว่าที่กำหนด จึงต้องอาศัยบุคคลที่มีประสบการณ์ ในแคนาดาได้มีการกำหนดสิทธิของผู้ต้องหาไว้ในกฎหมายอาญา ในการได้รับคำปรึกษาอย่างเต็มที่ ในการตอบคำถามและในการต่อสู้คดี โดยรัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวก็จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายคดีไป
ในแคนาดา มีหน่วยงาน National Council of Welfare ริเริ่มจัดให้บริการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนยากจน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เมื่อเริ่มมีโครงการช่วยเหลือทางกฎหมาย (Legal Aid Program) ครั้งแรก โดยการช่วยเหลือทางกฎหมายถูกระบบเป็นนโยบายหลักของรัฐที่จะช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนที่ขาดโอกาสจะเข้าถึงความยุติธรรม เนื่องจากการมีรายได้น้อย จึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในการต่อสู้คดีได้ โอกาสแพ้หรือยอมความหรือไม่ต่อสู้จึงมีมาก โดยรัฐมองว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดผลไม่คุ้มค่า
ในด้านการช่วยเหลือกฎหมายอาญา คนส่วนใหญ่มักจะพิจารณาว่า ผู้ประกอบอาชญากรรมโดยเฉพาะอาชญากรรมประเภทความรุนแรงไม่ควรจะได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย คนที่เป็นอาชญากรรมควรจะได้รับการลงโทษอย่างสาสมมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พบว่า อาชญากรรมประเภทรุนแรงหรือคดีอุกฉกรรจ์มีเพียง10% และผู้ประกอบอาชญากรรมกับผู้เสียหายมักเป็นญาติหรือเพื่อนกัน ที่สำคัญในหลักกฎหมายอาญาต้องเป็นการสันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ การให้ความช่วยเหลือก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่มีนักกฎหมายเข้ามาช่วยเหลือ ตลอดจนผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นคนจน
สหรัฐอเมริกา
การเข้าถึงความยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา มีประวัติและพัฒนาการที่ยาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 แต่การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้ โดยต้นปี ค.ศ. 1960 มูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) เป็นผู้จัดสรรทุนให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ให้บริการทางสังคม และบริการทางกฎหมาย หรือความพยายามที่จะต่อสู้กับความยากจน ต่อมาศาลสูงหรือศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาได้วางหลักว่า ชาวอเมริกันมีสิทธิที่จะได้รับการช่วย เหลือทางกฎหมายจากรัฐ ไม่เพียงแต่ในคดีอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคดีอาญา (Quasi criminal case) ด้วยเช่นกัน และบางมลรัฐก็มีการดำเนินการจัดหาอัยการของรัฐ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในขณะที่บางมลรัฐก็จะมีการจ้างนักกฎหมายจากสำนักกฎหมายเอกชนให้ว่าความให้
ใน ปี ค.ศ. 1974 รัฐสภาสหรัฐได้อนุมัติจัดตั้งองค์กรชื่อ Legal Service Corporation (LSC) เพื่อดำเนินการดูแลและจัดสรรทุนเพื่อการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ขยายไปสู่คดีแพ่งและการจัดตั้งคลินิกกฎหมายชุมชน (Communication legal clinic) แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนการดำเนินการ LSC อยู่ และขยายขอบเขตคดีในการให้ความช่วยเหลือออกไป ในปัจจุบัน มีความพยายามขยายแนวทางการเข้าถึงความยุติธรรมทางแพ่งมากขึ้น นอกเหนือจากการเข้าถึงความยุติธรรมทางอาญา มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการให้การช่วยเหลือจากกองทุน โดยองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ชื่อ LSC (Legal Service Corporation) รวมทั้งมีการพัฒนามาตรการและกลไกการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายมากขึ้น เช่น การใช้ข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต การรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาคเอกชน และมีการให้ผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholders) มาร่วมดำเนินการด้วย
เยอรมัน
แม้จะไม่มีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยตรงในเยอรมัน เนื่องจากในเยอรมัน การดำเนินคดีอาญาและการต่อสู้คดีอาญาเป็นเรื่องสภาพบังคับตามกฎเกณฑ์ ซึ่งจะมีสภาพบังคับที่เข้มข้นมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำหรือข้อหา ซึ่งไม่จำเป็นที่รัฐจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือ กล่าวคือ บุคคลใดก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญามีสิทธิในการที่จะได้รับการดูแลจาก “ทนายความที่ศาลแต่งตั้ง (Court-appointed law)” ตามการทดสอบด้านสินทรัพย์ที่สามารถประเมินราคา (Financial test) นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้ต้องหาสามารถระบุหรือร้องขอทนายความที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้น นักกฎหมายทุกคน อาจจะได้รับการแต่งตั้งโดยศาลให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางคดีได้ นอกจากนี้ ในเยอรมันก็ไม่มีกรอบการดำเนินการแบบ Public defender scheme แม้การว่าความนั้น นักกฎหมายที่ศาลแต่งตั้งอาจจะไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือหากได้ก็จะได้รับเมื่อการพิจารณาสิ้นสุดลง ซึ่งหากพบว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง ก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทนายความ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนเยอรมันทั่วไป จะไปซื้อประกันภัยการเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ความเสี่ยงที่เอาประกันขึ้นอยู่กับแต่ละคดี แต่ถ้าเป็นคนยากจน รัฐก็จะจ่ายเงินค่าตอบแทนนักกฎหมายที่ศาลตั้งให้แทน ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีรายได้น้อยของเยอรมัน ประกอบด้วย 2 ลักษณะ คือการช่วยเหลือโดยการให้คำแนะนำทางกฎหมายและการช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาล
อังกฤษ
อังกฤษและเวลล์ มีประวัติการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายมาเป็นเวลานาน มีจุดเด่นด้านการจ่ายเงินเพื่อความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนสูงสุด รวมทั้ง ยังมีจุดเด่นในการให้ความช่วยเหลือคดีอาญาและคดีแพ่งที่หลากหลายที่สุด ยกเว้นกรณีหมิ่นประมาท
นอกจากนี้ กองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของอังกฤษนั้น จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการให้บริการของรัฐในด้านทนายความ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรและให้ค่าตอบแทนแก่ทนายความ รายได้ส่วนหนึ่งของกองทุนมาจากผู้ร้องขอความช่วยเหลือที่พอมีรายได้บ้าง ซึ่งต้องจ่ายให้แก่ทนายความตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนค่าตอบแทนที่ทนายความจะได้รับนั้น จะได้มาจากงานที่เข้ามาช่วยเหลือตามอัตรามาตรฐาน โดยพิจารณาจากงานที่ปฏิบัติเป็นรายชั่วโมงของการทำงานและพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน ตามอัตราในมหานครลอนดอน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานประเทศอื่นเล็กน้อย
ฝรั่งเศส
การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและด้านเงินทุนในฝรั่งเศสนั้น ดำเนินการโดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย (Legal aid committee) ที่ชื่อ Le bureau d’ aidejurislictionnelle โดยผ่านระบบศาลยุติธรรมของฝรั่งเศส กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ต้องไปยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือที่ศาล เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งประกอบด้วย มาจิสเตรต (Magistrate) ประชาชนทั่วไป (General public) สมาชิกสามัญของเนติบัณฑิตในท้องที่ (local bar) และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติให้ได้รับการช่วยเหลือแล้ว เนติบัณฑิตจะดำเนินการแต่งตั้งนักกฎหมายให้เข้าไปช่วยเหลือดูแล
หากเป็นกรณีข้อพิพาทในกฎหมายเฉพาะด้าน สมาคมเนติบัณฑิตจะเป็นผู้ว่าจ้างนักกฎหมายให้ ทั้งนี้ การกำหนดคุณสมบัติและการขึ้นทะเบียนนักกฎหมายเพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายนั้น เนติบัณฑิตจะเป็นผู้ดำเนินการ และจะพิจารณาจัดสรรทนายความให้อย่างเหมาะสม
การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในฝรั่งเศส มีการดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ 1. การช่วยเหลือการดำเนินคดีทั้งในและนอกศาล ทั้งในทางคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง และ 2. การให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรเงินทุนช่วยเหลือทางกฎหมายโดยผ่านกระทรวงยุติธรรม ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 2012 มีการจัดสรรเงินทุน 351 ล้านเหรียญยูโร หรือ ประมาณ 0.02% ของ GDP ซึ่งในงบประมาณดังกล่าวนั้น 1 ใน 3 เป็นการจ่ายเงินให้ ความช่วยเหลือในด้านคดีอาญา สมาคมเนติบัณฑิตเอกชน (Private bar associations) จะจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือในด้านคดีอาญา ในขณะที่องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (NGOs) และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization) จะดำเนินการ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับส่วนบุคคลและได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลด้วยเช่นกัน การจ่ายเงินให้นักกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือนั้น คำนวณตามคดีที่จัดสรรให้ ซึ่งเนติบัณฑิตจะเป็นผู้กำหนด โดยหน่วยละ 300 เหรียญยูโร ซึ่งการเสีย ค่าธรรมเนียมศาลนั้น ศาลแต่ละที่จะเป็นผู้กำหนด อาจกล่าวได้ว่ามีการจำแนกบทบาท โดยคณะกรรมการให้การช่วยเหลือทางกฎหมายจะเป็นผู้ให้การพิจารณาคุณสมบัติผู้มาขอรับบริการ ส่วนการจัดหานักกฎหมาย การจ่าย ค่าตอบแทน การประเมินคุณภาพการบริการของนักกฎหมาย เป็นหน้าที่ของเนติบัณฑิต และหากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับนักกฎหมายให้ร้องเรียนไปที่เนติบัณฑิต
จุดเด่นของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของฝรั่งเศส คือ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน โดยในปี คศ. 2011 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฎหมาย ชื่อ Garde a Vue procedure บังคับใช้ตั้งแต่บุคคลที่ถูกจับในชั้นพนักงานสอบสวนและถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจ ซึ่งเดิมมีการกำหนดให้เพียงผู้ถูกคุมขังสามารถพบทนายความได้ 30 นาทีเพื่อปรึกษา แต่ในปัจจุบันได้ขยายไป 2 ชั่วโมง เนื่องจากบางครั้ง การเดินทางมาสถานีตำรวจต้องใช้เวลา ซึ่งก็จะมีการจัดหาโทรศัพท์ hotline ให้สามารถโทรหาทนายความ โดยโทรไปที่เนติบัณฑิตเพื่อขอความช่วยเหลือ ผู้ต้องหาสามารถขอทนายความที่ยินดีจะชำระค่าทนายความ หรือ หากยากจนจะขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ฟรี ยกเว้นในคดีค้ายาเสพติด อาชญากรรมที่กระทำเป็นองค์กร การก่อการร้าย การสมคบกันกระทำความผิดในลักษณะอั้งยี่ซ่องโจร (แก๊งอาชญากรรม)
ในฝรั่งเศส แบ่งอาชีพนักกฎหมายออกเป็น 2 เส้นทาง คือ สายผู้พิพากษาและอัยการ จะได้รับการฝึกอบรมในสถานที่เดียวกัน และเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ ส่วนนักกฎหมายหรือทนายความจะเป็นอีกสายอาชีพหนึ่ง ซึ่งมีคนหนุ่มสาวที่สำเร็จทางกฎหมายเข้ามาทำงาน แต่จะได้รับค่าตอบแทนน้อย จนกว่าจะมีประสบการณ์และอายุมากขึ้น ที่สามารถเข้าสู่สายอาชีพผู้พิพากษาและอัยการก็จะเปลี่ยนสายงานไป
ญี่ปุ่น
การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในญี่ปุ่นนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1952 โดยเริ่มจากการตั้ง “สมาคมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายญี่ปุ่น (Japan Legal Aid Association)” ขึ้น ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวญี่ปุ่นที่มีรายได้น้อย และประสบปัญหาในการต่อสู้ ฟ้องร้องคดี รวมทั้งการขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ต่อมาในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ได้มีการบัญญัติว่ารัฐต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนในด้าน “สิทธิการเข้าถึงการดำเนินการทางศาล (right of access to the courts)” ดังนั้น รัฐจะต้องดำเนินการจัดหาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายให้ประชาชนได้รับคำปรึกษาทางกฎหมาย การต่อสู้คดี รวมทั้งจัดการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในคดีแพ่ง เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2000 และในการดำเนินการช่วงแรกก็ยังไม่ได้มีการตั้งสถาบันใด ๆ มารองรับ รวมทั้ง รัฐยังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณในการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกระทั่งปี ค.ศ.2004 ที่มีการปฏิรูปกระบวนการทางศาลและพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือประชาชน จึงได้มีการออกกฎหมาย The Comprehensive Legal Support Law 2004 ขึ้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางกฎหมายหรือ The Japan Legal Support Center ขึ้นรองรับกฎหมายดังกล่าว แต่เปิดดำเนินการในปี ค.ศ.2006 เริ่มแรกการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เน้นไปที่ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับ เปลี่ยนไปเป็นการเน้นคุณภาพการให้บริการ
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: succo (CC0)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ