ครม.เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกรายการ โมโต จีพี (MotoGP) ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2563 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ก่อนหน้านี้หลังมีเสียงคัดค้าน 'เนวิน' ระบุไทยลงทุน 100 ล้าน จะได้กลับ 10,000 ล้าน หากเป็นเจ้าภาพรายการนี้ ด้าน โพลล์' ชี้ 49.64% เห็นด้วย อีก 31.19% ไม่เห็นด้วย หวั่นสิ้นเปลืองงบประมาณ ที่มาภาพประกอบ: motogp.com
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโครงการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกรายการ โมโต จีพี ประจำปี พ.ศ. 2561 – 2563 (3 ปี) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ โดยสาระสำคัญของเรื่อง กก. รายงานว่า 1. ปัจจุบันการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกรายการ โมโต จีพี (World Series) ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการแข่งขันเพื่อชิงแชมป์โลก 18 สนามต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2560 ดอร์น่า สปอร์ต กรุ๊ป เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันฯ ได้ประกาศรายชื่อสนามที่จะดำเนินการจัดการแข่งขันฯ และในปี พ.ศ. 2561 มีแผนเพิ่มเติมจำนวนสนามที่จะจัดการแข่งขันไม่เกิน 21 สนามต่อปี ซึ่งในขณะนี้ประเทศฟินแลนด์ได้ลงนามในสัญญาเพื่อจัดการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงเหลือเพียง 2 สนาม ที่กำลังดำเนินการสรรหาประเทศเจ้าภาพที่มีความเหมาะสมและความพร้อมในองค์ประกอบอื่น ๆ และได้มีประเทศต่าง ๆ ที่เสนอตัวเพื่อขอรับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฯ จำนวน 4 ประเทศ ประกอบด้วย คาซัคสถาน อินโดนีเซีย ฮังการี และประเทศไทย (อย่างไม่เป็นทางการ) ซึ่งการเสนอตัวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560 และ 2. การจัดการแข่งขันฯ จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลกจากการถ่ายทอดสดมากกว่า 200 ประเทศ ผ่านสายตาผู้ชมกว่า 600 ล้านคน จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านกีฬา ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง เกิดการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ อันดับที่ 1 ของอาเซียน
ทั้งนี้การได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฯ จะเพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างมหาศาล และจะตอกย้ำความเป็นผู้นำของประเทศไทย รวมถึงจะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้จะมีการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้เกี่ยวกับวงการอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เข้ามา และยังเป็นการยกระดับการจัดการแข่งขันในประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล สร้างความนิยมในกีฬามอเตอร์สปอร์ตให้มีความตื่นตัวแบบก้าวกระโดด สร้างความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจให้กับคนไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ต (รถจักรยานยนต์) ระดับโลก
'เนวิน'อัดหนักพวกค้านจัด'โมโตจีพี'! ยัน'รัฐบาล'ลงทุน100ล้านได้กลับหมื่นล้าน
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. 2560 ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่าหลังจากนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินการเตรียมทำเรื่องขอเป็นเจ้าภาพขอจัดการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบ “โมโตจีพี” ในปี 2018 ทว่ากลับมีปัญหาในเรื่องการของบประมาณในการจัดการแข่งขัน ซึ่งทางเนวิน ชิดชอบ ประธานบริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของการจัดการแข่งขันโมโตจีพี ก่อนอื่นขอให้กำลังใจนางกอบกาญจน์ และนายสกล ที่เข้าใจผลักดันนโยบายสปอร์ตทัวริซึม ให้เกิดขึ้น การแข่งขันโมโตจีพีถือว่าเป็นแนวคิดสปอร์ตทัวริซึมที่ดีเยี่ยม เพราะจะนำมาสู่การท่องเที่ยวและรายได้มหาศาล
“ผมกล้าการันตีว่าการจัดการแข่งขันโมโตจีพี จะได้รายได้การจากท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน ด้วยการที่รัฐบาลประกาศเป็นเจ้าภาพและลงทุนไม่ถึง 40 เปอร์เซนต์ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการแข่งขัน ทั่วโลกรัฐบาลต้องสร้างสนามจัดการแข่งขันเอง แต่ประเทศไทยมีสนามแข่งขันอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และออกเงินเพียง 40 เปอร์เซนต์ แต่รายได้ที่กลับมาซึ่งนับได้ว่าเกินกว่าหมื่นล้าน ในขณะเดียวกันแบรนด์คำว่าไทยแลนด์ที่จะเกิดในการท่องเที่ยวเชิงมอเตอร์สปอร์ตจะเกิดขึ้นมากมายมหาศาล”นายเนวินกล่าว
ประธานบริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต กล่าวต่อว่า ไทยเคยจัดเอเชี่ยนบีชเกมส์รัฐบาลอนุมัติงบประมาณมา 1,200 ล้านบาท ได้นักกีฬามาแข่งขัน 3,000 คน แต่ไม่แน่ใจว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามากี่คน รายได้เข้ามาเท่าไหร่ คนที่เข้ามาดูเท่าไหร่ แต่โมโตจีพีจ่ายเพียงแค่ร้อยกว่าล้านบาท มีคนชมมากถึงพันกว่าล้านคน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน รายได้สะพัดเชื่อว่าเกินหมื่นล้านบาท ต้องเข้าใจโลกว่าคนที่คัดค้านไม่ให้จัดนั่นคือคนที่ไม่เคยไปดูโมโตจีพี เรื่องที่พักในบุรีรัมย์อาจจะมีไม่ถึง แต่ถ้าลองมองรอบๆจังหวัดบุรีรัมย์ ที่พักรวมกันนี่มากกว่าบาห์เรนด้วยซ้ำไป มันไม่ใช่ประโยชน์บุรีรัมย์อย่างเดียว แต่มันมีผลประโยชน์ทั้งประเทศ แต่มันสามารถต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่งเสริมเกื้อกูลกัน
“ถ้าเงิน 100 ล้าน ไม่ได้รับการอนุมัติ ก็คงเป็นกรรมของประเทศนี้ ถ้ารายได้จากการจัดครั้งนี้รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แลกกับเงินร้อยล้านไม่ทำ คงเป็นเวรกรรมของคนไทย” นายเนวินกล่าว
'เคบียู สปอร์ต โพลล์' ชี้ 49.64% เห็นด้วย อีก 31.19% ไม่เห็นด้วย หวั่นสิ้นเปลืองงบประมาณ
จากนั้นในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2560 เคบียู สปอร์ต โพลล์ ของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ประเด็น "ศึกโมโตจีพีในมุมมองของคนไทย" โดยสำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่างประชาชนในเขต กทม. และปริมณฑล ที่สนใจและติดตามจักรยานยนต์ทางเรียบและประชาชนทั่วไปในวิชาชีพต่างๆ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 1,223 คน แยกเป็น ชาย 847 คน คิดเป็นร้อยละ 69.26 หญิง 376 คน คิดเป็นร้อยละ 30.74 ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2560
โดยผลปรากฏว่า 1.ความคิดเห็นที่มีต่อการจัดจักรยานยนต์ทางเรียบโมโตจีพีในไทย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 49.64 เห็นด้วย รองลงมาร้อยละ 31.19 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 19.17 ไม่แสดงความคิดเห็น 2.ข้อดีในการจัดแข่งขัน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 31.45 เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกีฬา รองลงมาร้อยละ 28.74 นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ, ร้อยละ 24.10 สร้างรายได้ให้กับประเทศ, ร้อยละ10.32 ส่งเสริมอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ และอื่น ๆ ร้อยละ 5.39 3.ข้อเสียในการจัดแข่งขัน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 30.03 เห็นว่า สิ้นเปลืองงบประมาณ, รองลงมาร้อยละ 28.99 ใช้งบฯดำเนินการสูง, ร้อยละ 25.89 ไม่สามารถคาดถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน, ร้อยละ 8.42 ประโยชน์ตกเป็นของต่างชาติ และอื่น ๆ ร้อยละ 6.67
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ