10 ปี iPhone และวิบากกรรมของแรงงานจีน

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 23 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 5397 ครั้ง

10 ปี iPhone และวิบากกรรมของแรงงานจีน

10 ปีหลังการเปิดตัว iPhone ออกสู่ตลาด สินค้ายอดฮิตที่ว่ากันว่าได้เปลี่ยนโลกแห่งสิ่งประดิษฐ์ยุคใหม่ แต่เบื้องหลังพบคือการตรากตรำทำงานหนักและถูกละเมิดสิทธิมากมายของ ‘แรงงานจีน’ ที่มาภาพประกอบ: Greenpeace Switzerland/flickr, CC BY-NC-ND

10 ปีที่ผ่านมาที่ได้มีการเปิดตัวสินค้า iPhone ออกสู่ตลาด สินค้ายอดฮิตที่นอกจากจะเปลี่ยนโลกแห่งสิ่งประดิษฐ์ยุคใหม่ ยังสร้างกระแสการบริโภคและกำไรมหาศาลให้แก่บริษัทเช่นกัน ซึ่งโลกใบนี้จะเป็นไปไม่ได้หากปราศจากการทำงานตรากตรำของแรงงานนับล้าน ๆ คนในสายการผลิต

เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เห็นว่าเป็นยุคของการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรงโดยเฉพาะโรงงานในประเทศจีน เช่น โรงงานฟอกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีลูกจ้างมากกว่ากองกำลังทหารในสหรัฐอเมริการวมกัน

Foxconn ทำกำไรจากการประกอบอุปกรณ์ iPhone iPad iMac และ iPod มีชื่อเสียงในทางไม่ดี จากการบริหารกองทัพแรงงานนับล้านคนที่ก่อให้เกิดกรณีการฆ่าตัวตายของพนักงานจำนวน 17 คนในปี 2010

โรงงานพยายามจะหยุดยั้งการฆ่าตัวตายของพนักงาน แต่ไม่ใช่ด้วยการยุติการขูดรีดอย่างถึงรากถึงโคน แต่เป็นการติดตั้งตาข่ายชั้นล่างของตึกต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้พนักงานกระโดดถึงพื้น

โรงงานแห่งนี้เป็นเพียงส่วนเดียวของอาณาจักร Apple มีห่วงโซ่การผลิตที่ยาวและซับซ้อน มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การบาดเจ็บ โรคจากการทำงาน และการเสียชีวิต จนมาถึงปัจจุบัน Apple ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงความเสียหายที่เกิดกับเหยื่อดังกล่าว และ Foxconn ก็ไม่แสดงความรับผิดชอบ

เพื่อที่จะทำงานเลี้ยงชีพได้ คนงานจำต้องฝ่าฝืนกฎหมาย

Apple อ้างว่าสินค้าของตนได้สร้างผลสะเทือนทางบวกให้แก่โลกและผู้ที่ผลิตสินค้า และบริษัทยังอ้างว่า ได้กำชับผู้รับจ้างผลิต (Supplier) ให้ผลิตด้วย “มาตรฐานขั้นสูงสุด”

แต่ในความเป็นจริง ระเบียบปฏิบัติของบริษัทไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดแรงงานในประเทศ รวมทั้งจรรยาบรรณในการผลิตสมาร์ทโฟนแบบเดียวกับบริษัท Fairphone

ค่าจ้างแรงงานยังคงต่ำ จากข้อมูลขององค์กรนักศึกษาและนักวิชาการต่อต้านพฤติกรรมไม่เหมาะสมของบรรษัท (Students & Scholars Against Corporate Misbehaviour) ได้คำนวณไว้ว่า ค่าจ้างยังชีพได้ของพนักงานผลิต iPhone ในเซินเจิ้น (Shenzhen) ควรอยู่ที่เดือนละ 650 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อที่จะให้ได้ตามนี้ คนงานต้องทำงานล่วงเวลาโดยเฉลี่ยเดือนละ 80-90 ชั่วโมง ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 36 ชั่วโมงถึง 2 เท่า

พูดง่าย ๆ คือ หากจะทำงานเลี้ยงชีพต่อไป คนงานไม่มีทางอื่นนอกจากต้องฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องชั่วโมงการทำงาน

เมื่อย้อนกลับไปในปี 2012 Apple สัญญาว่าจะร่วมกับ Foxconn ลดจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาไม่ให้เกิน 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ต่อมาก็ละเมิดสัญญาและถอยกลับ ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางการค้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EICC ที่ระบุว่าจะต้องไม่ให้เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

มาตรฐานของ EICC ยังต่ำกว่ากฎหมายของประเทศจีน 25% แต่ทำไม Apple จึงปฏิบัติต่ำกว่ากฎหมายภายในประเทศ แทนที่จะสร้างมาตรฐานสูงสุดดังที่กล่าวอ้าง ซึ่ง CEO ของ Apple ยังไม่ได้อธิบายประเด็นนี้

แม้ว่าด้วยมาตรฐานของ EICC คนงานจะปฏิเสธทำงานล่วงเวลาเกินที่กฎหมายกำหนด แต่ด้วยอัตราค่าจ้างปัจจุบันที่ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ทางเดียวที่จะดำรงชีพได้โดยไม่ต้องทำงานล่วงเวลาเกินไปและคำนึงถึงสุขภาพทั้งทางร่างกายจิตใจและสังคม Apple กับซับพลายเออร์ควรต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นพื้นฐาน

ในรายงานความก้าวหน้าหน้านั้น มีความก้าวหน้าจริงหรือ

Apple ยังมีแผนพัฒนาฝึกอบรมพนักงาน สืบจากรายงานความก้าวหน้าความรับผิดชอบของผู้ผลิต ปี 2017 บริษัทที่ร่วมผลิตกับ Apple จะต้องฝึกอบรมพนักงานกว่า 2.4 ล้านคนในเรื่องสิทธิแรงงาน และสิทธิพื้นฐานหนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งสภาพแรงงาน

ทว่าฝ่ายบริหารของ Foxconn กลับดำเนินงานสภาพแรงงานด้วยตัวเอง เป็นสหภาพแรงงานจอมปลอมที่ไม่มีประสิทธิภาพ

หาก Apple จริงใจ ก็ควรให้พนักงานได้รู้และใช้สิทธิของตนเอง ทั้งมีตัวแทนแรงงานอย่างแท้จริง แต่โชคร้ายกลับไม่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แล้วมันจะเกิดในอีก 10 ปีต่อไปหรือไม่

เมื่อพิจารณาในประเด็นหน่วยตรวจสอบบุคคลที่สามคือ Fair Labor Association ของ Apple ซึ่งตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่บริษัท เป็นที่น่าสงสัยเพราะไม่มีระบบตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเลย จึงไม่ใช่ “มาตรฐานสูงสุด” ทว่า Apple ก็ไม่ได้ขอให้หน่วยออดิทตรวจประเมินสภาพการจ้างงานในบริษัทซับพลายเออร์อีก

กระนั้น Apple ยังระบุในรายงานผลการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมว่า ยังคงร่วมงานกับหน่วยตรวจสอบอิสระอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตรวจสอบในรายงานเลย และไม่ระบุถึงการรับประกันความเป็นอิสระของหน่วยตรวจสอบด้วย ซึ่งแย้งกับการที่ Apple ถูกยกว่าเป็นบริษัทไอทีที่โปร่งใสที่สุดตามรายงานประเมินความโปร่งใสของบริษัท (Corporate Information Transparency Index) ปี 2015

สิ่งที่เป็นมาตรฐานสูงสุดคืออะไรกันแน่ อย่างน้อยที่สุดที่ Apple ทำได้คือ ให้สหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศตรวจสอบ Foxconn และผู้ผลิตรายอื่น ๆ เพื่อประกันว่าคนงานไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน หาก Apple และ Foxcon ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองกระทำต่อพนักงานแล้วพวกเขาจะกลัวทำไม

Apple ควรจะหยุดเสแสร้งว่าตัวเองไม่รู้จัก Fairphone ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสมาร์ทโฟน ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ชนะรางวัลผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านไอทีที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในยุโรปในปี 2015

Fairphone ได้ปฏิวัติการออกแบบ การผลิตให้มีจริยธรรมโปร่งใส ส่งเสริมสวัสดิการของพนักงาน มีระบบรีไซเคิลโทรศัพท์ 

เมื่อเดือน ส.ค. 2017 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เยี่ยมชมโรงงาน Hi-P โรงงานแห่งหนึ่งในเมืองซูโจว (Suzhou) ทางตะวันออกของประเทศจีน ที่ประกอบสมาร์ทโฟนของ Fairphone โรงงาน Hi-P ยังรับจ้างผลิตให้ Apple ด้วย จากการพูดคุยกับพนักงานคนหนึ่ง เธอและเพื่อนร่วมงานชอบผลิต Fairphone มากกว่าเพราะจ่ายค่าตอบแทนมากกว่า

“เราทำงานให้ Apple หนักมาก” พนักงานสายการผลิตยังเล่าอีกว่า “ผู้จัดการของเราได้ขอให้ Apple จ่ายโบนัสเหมือนกับ Fairphone หลายครั้ง แต่ท้ายสุดก็ไม่ได้อะไร”

คนงานธรรมดาคนหนึ่งพิสูจน์แล้วว่า ในความเป็นจริงนั้น Apple ไม่เคยมี “มาตรฐานสูงสุด” ถึงเวลาที่บริษัทจะหยุดเพิกเฉยการละเมิดสิทธิแรงงานในซับพลายเออร์ของตัวเองได้แล้ว คงไม่มีคำแก้ตัวใด ๆ ให้แก่ Apple อีกแล้ว ในข้อหาได้สร้างความอัปยศในทศวรรษที่ผ่านมา

 

แปลและเรียบเรียงจาก
A bloody decade of the iPhone (theconversation.com, 13/9/2560)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: