ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่เปิดเผยเมื่อเดือน ต.ค. 2560 ระบุว่าปัจจุบันบรรยากาศและวิถีการใช้ชีวิตของชาวพม่าที่พัฒนาสู่สังคมเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จึงอยากนำประเด็นดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังให้ผู้อ่านได้เกาะติดเทรนด์ฮิตสังคมออนไลน์ในพม่าไปพร้อม ๆ กัน เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกลยุทธ์การรุกตลาดพม่าให้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของชาวพม่ายุคใหม่อย่างแท้จริง
ประชากรออนไลน์ในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
หลังจากเปิดเสรีให้นักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2556 จากเดิมที่ผูกขาดโดยบริษัท Myanma Posts and Telecommunications (MPT) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มายาวนานกว่า 40 ปี การเข้ามาของผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของโลกอย่างบริษัท Telenor จากนอร์เวย์ และบริษัท Ooredoo จากกาตาร์ ไม่เพียงเร่งจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์มือถือในพม่าให้ขยายตัวสูงแตะระดับ 50 ล้านคนในปี 2559 หรือราว 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ยังได้นำพาชาวพม่าให้ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว สะท้อนจากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในพม่าเพิ่มขึ้นจาก 100,000 คนในปี 2553 เป็น 17 ล้านคนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรของพม่าเกือบต่ำที่สุดในอาเซียน แต่อัตราการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 170 เท่าภายใน 6 ปี ชี้ให้เห็นว่าตลาดออนไลน์ในพม่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมากทีเดียว
ปัจจัยด้านราคา...จุดเริ่มต้นกระแสความนิยมสังคมออนไลน์
ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นยอดการใช้โทรศัพท์มือถือของชาวพม่าให้พุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น น่าจะมาจากราคาซิมการ์ด ซึ่งเคยสูงถึง 7,000 บาทในช่วงปี 2556 แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 60 บาท อีกทั้งยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าประกอบกับราคาโทรศัพท์ถูกลงมาก (Smartphone แบรนด์ Samsung เริ่มต้นเพียง 3,000 บาท) ทำให้ชาวพม่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือได้ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดย Samsung เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาคือ Xiaomi และ Huawei ตามลำดับ ขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมทั้ง 3 รายต่างพากันเสนอแพ็กเกจค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตด้วยราคาที่ค่อนข้างถูก เพื่อแย่งชิงลูกค้าในตลาด (จากข้อมูล Telenor ของพม่า ระบบเติมเงิน ค่าโทรนาทีละ 1 บาท อินเทอร์เน็ต 0.32 บาทต่อเมกะไบต์ เทียบกับผู้ให้บริการเครือข่ายของไทย ระบบเติมเงิน ราคา 49 บาท ค่าโทรนาทีละ 0.55 บาท ฟรีอินเทอร์เน็ต)
3 อันดับเพจยอดนิยมใน Facebook...เทรนด์ยุคใหม่ใส่ใจข่าวสารบ้านเมือง
เมืองย่างกุ้งในวันนี้จะสามารถพบเห็นชาวพม่านั่งเล่นโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตได้ทั่วไปตามสถานที่สาธารณะ ดังที่เราพบเห็นพฤติกรรมแบบนี้ในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันร้านอาหารและร้านกาแฟส่วนใหญ่ในเมืองย่างกุ้งต่างมีบริการ Free Wifi เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักข่าวท้องถิ่นพม่ารายงานผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตว่า ชาวพม่าเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 2.4 ชั่วโมงต่อวัน กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ทำแบบสำรวจทั้งหมดระบุว่า ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้า Social Media เป็นหลัก ขณะที่บางส่วนใช้ส่งข้อความและดูวิดีโอออนไลน์ และอย่างที่ทราบกันดีว่า Social Media ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพม่า คือ Facebook ล่าสุดจำนวนผู้ใช้ Facebook ในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 1 ล้านบัญชีในปี 2556 เป็น 14 ล้านบัญชีในปัจจุบัน (มากเป็นอันดับ 6 ในอาเซียน) นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Website Myanmar Entrepreneur ระบุว่า ชาวพม่าเข้าใช้งาน Facebook เฉลี่ยอยู่ที่ราว 3 ครั้งต่อชั่วโมง โดยกลุ่มผู้ใช้ Facebook ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เป็นหลัก และกว่า 60% เป็นกลุ่มวัยรุ่นชายช่วงอายุราว 18-35 ปี ขณะที่ผู้หญิงยังไม่คุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมากนัก โดยเพจ Facebook ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกล้วนมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับข่าวสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ 7 Days News Journal (มีชาวพม่ากดไลค์ราว 16 ล้านคน) Eleven Media Group (14 ล้านคน) และ BBC Burmese (11 ล้านคน)
Viber และ Facebook Messenger…2 ช่องทางแช็ตสุดฮิตในพม่า
นอกจาก Facebook แล้ว ชาวพม่ายังนิยมส่งข้อความหรือแช็ตค่อนข้างมากเช่นกัน ซึ่งแอปพลิเคชันสำหรับแช็ตในพม่ามีให้เลือกหลากหลายเหมือนกับในไทย อาทิ Viber, Facebook Messenger, Line, Whatsapp, BeeTalk และ WeChat แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพม่า คือ Viber (เทียบกับไทยใช้ Line มากเป็นอันดับ 1) ด้วยจำนวนผู้ลงทะเบียนกว่า 9 ล้านบัญชี เนื่องจากวิธีใช้งานค่อนข้างง่ายและสะดวก เพียงแค่มีเบอร์โทรศัพท์ก็สามารถลงทะเบียนใช้งานได้ทันที ประกอบกับระบบการใช้งานค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขณะที่ Facebook Messenger ได้รับความนิยมรองลงมา อาจเป็นเพราะขั้นตอนการสมัครเข้าใช้งานที่ยุ่งยากกว่า เนื่องจากต้องลงทะเบียนด้วย E-mail Address ก่อน
การรุกทำตลาดพม่าด้วยช่องทางหรือรูปแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงชาวพม่ายุคใหม่ได้อีกต่อไป ช่องทางลัดที่จะช่วยสร้างตัวตนของสินค้าและบริการไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดพม่าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพคงไม่อาจมองข้ามสื่อออนไลน์ที่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการเข้าถึงตลาดพม่า โดยเฉพาะกลุ่มประชากรออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ กระแสความนิยมอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพลิกโฉมพฤติกรรมผู้บริโภคในพม่า แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเกิดใหม่ตามไปด้วยอย่าง Grab และ Uber ผู้ให้บริการด้านแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึง Airbnb ธุรกิจแบ่งปันที่พักออนไลน์ ก็เริ่มได้รับความสนใจจากชาวพม่ามากขึ้น ซึ่งจะเก็บข้อมูลและรายละเอียดมาฝากในโอกาสต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ