วันแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ กับการ Make China Great Again!

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ 24 ม.ค. 2560 | อ่านแล้ว 4508 ครั้ง


ช่วงที่มีการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มข้น มีภาพถ่าย viral ภาพหนึ่ง เป็นรูปหมวกที่ใช้ใส่ในการรณรงค์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งปักแคมเปญหลักที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียง คือ “Make America Great Again” ในขณะที่ด้านในของหมวกมีป้าย “Made in China”

นับเป็นเรื่องตลกร้ายและย้อนแย้งอย่างที่สุด เพราะขณะที่ทรัมป์มุ่งปราศรัยหาเสียงโจมตีนโยบายหลักทางเศรษฐกิจในการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของโอบามา ที่ยกเอาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) เป็นหนึ่งกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ว่าเป็นนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่ลง ประชาชนในประเทศไม่มีงานทำเพราะโอบามาเอาเงินภาษีของคนอเมริกันไปอุ้มเศรษฐกิจของประเทศอื่น ตัวเขาเองกลับไม่ได้สนใจว่าแม้กระทั่งหมวกที่เขาใช้ในการหาเสียงในเรื่องนี้ กลับกลายเป็นของที่ผลิตในประเทศจีน จนใครๆ พากันแซวว่า หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีจริง เขาน่าจะเป็นผู้ "Make China Great Again" เสียมากกว่า

ตลกร้ายในวันนั้น อาจกลายเป็นเรื่องไม่ตลกสำหรับคนอเมริกันเสียแล้วในวันนี้ เมื่อทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจริงๆ แถมด้วยในวันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำสูงสุดของประเทศที่ทรงอำนาจมากที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา สิ่งแรกๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำ คือการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อนำพาประเทศถอนตัวจาก TPP ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน คำสั่งนี้ไม่เพียงทำให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนไป แต่มันอาจกระทบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และปฏิเสธไม่ได้ว่า "จีน" คือผู้ที่ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ไปเต็มๆ ซึ่งผมจะขอสาธยายอธิบายขยายความโดยย่อดังนี้

TPP ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ

แม้ว่าโดยเนื้อหาของ TPP จะเป็นเรื่องการค้า แต่มีความหมายต่อการเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคงไม่น้อย เป็นที่ทราบกันว่าภายหลังหมดยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาหันเหความสนใจจากเอเชียแปซิฟิคทั้งในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการเมือง กว่าสหรัฐอเมริกาจะรู้ตัว จีน ก็ได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ในทุกๆด้าน TPP คือนโยบายที่สหรัฐอเมริกาจะได้เอาตัวกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้อีกครั้ง จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ TPP คือการริเริ่มในการสร้างความร่วมมือทางการค้าของประเทศเล็กๆ สี่ประเทศ คือ บรูไน ชิลี สิงคโปร์ และ นิวซีแลนด์ ในปี 2005 และเริ่มบังคับใช้ในปีต่อมา และในตอนนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจไปกว่าข้อตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีธรรมดาทั่วไป จนกระทั่ง สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาเจรจากับประเทศทั้งสี่เมื่อปี 2008 จึงทำให้เริ่มเป็นที่สนใจและมีประเทศที่อยากเข้าร่วมมากขึ้น ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย (ซึ่งปกติก็ไปไหนไปกันเป็นแพ็คคู่กับนิวซีแลนด์) เปรู และเวียดนาม ในปี 2010 มีเพิ่มเข้ามาอีก คือ มาเลเซีย ความพีคก็เริ่มบังเกิดเมื่อ แคนาดาและเม็กซิโกเข้าร่วมเจรจาด้วยในปี 2012 เท่ากับว่า ประเทศที่อยู่ในเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ทั้งหมดกลายมาเป็นประเทศคู่เจรจา ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชักชวนให้เข้าร่วม

ทำให้ หลายประเทศให้ความสนใจ TPP เป็นอย่างมากเนื่องจาก TPP ได้กลายมาเป็นตลาดขนาดใหญ่ น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วม เมื่อการเจรจาไปสู่ขั้นการลงนามผูกพันว่าจะมีการใช้ข้อตกลงนี้ร่วมกันจริงๆ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (แต่จะมีผลบังคับใช้ในอีกสองปีจากวันลงนาม) นั้น มีประเทศที่ลงนามทั้งสิ้น 12 ประเทศ คือ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม หลังจากลงนามก็มีประเทศใหม่ๆ อย่าง อินโดนีเซียประกาศจะเข้าร่วม และ ประเทศอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย และ โคลอมเบีย

ใครที่พอจะติดตามการเมืองระหว่างประเทศจะพอทราบว่า สหรัฐอเมริกามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก มากขนาดที่มีฐานปฏิบัติการทางการทหารขนาดใหญ่ มีกำลังพลสหรัฐประจำการอยู่ในประเทศเหล่านี้ เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องการผลักดันให้ TPP เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ประเทศเหล่านี้ก็ต้องเต็มใจเข้าร่วมแน่นอนอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยก็ต้องแสดงความสนใจอยากเข้าร่วม ใครจะกล้าขัดใจพี่ใหญ่ ประเทศไทยเองก็แบ่งรับแบ่งสู้มาโดยตลอด ทั้งสหรัฐอเมริกาก็อยากให้ไทยเข้าร่วม การเดินทางมาเยือนไทยของโอบามาในสมัย นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการหยิบเรื่องนี้มาหารือ จนไทยต้องเอาใจด้วยการแถลงร่วมกันว่า ไทย ให้ความสนใจ[1] แม้กระทั่งในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ถูกสหรัฐอเมริกาจีบให้เข้าร่วมจนประกาศจะเข้าร่วมหลังจากศึกษาผลกระทบ[2] นอกจากนี้เป็นที่รู้กันว่า ญี่ปุ่นเองก็อยากให้ไทยเข้าร่วม มีการหารือทั้งในระดับทางการและการกดดันผ่านทางภาคเอกชนของญี่ปุ่น[3]

ดูเผินๆเหมือนเป็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า นี่ความพยายามที่จะกลับเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคนี้อีกครั้ง เป็นการใช้อำนาจอ่อน หรือ soft power ของอเมริกา โดยจุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือการถ่วงดุลอำนาจของจีนที่มีเหนือทุกประเทศในภูมิภาคนี้

งานศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เข้าร่วม TPP จะได้รับอานิสงค์ทางเศรษฐกิจมหาศาล GDP ของเวียดนามจะเติบโตถึง 11% เมื่อ ข้อตกลง TPP มีผลบังคับใช้[4]

ความขัดแย้งในข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลในบริเวณทะเลจีนใต้ ระหว่าง จีน กับ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย ทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนเหล่านี้หวังจะพึ่งบารมีสหรัฐอเมริกาในการเจรจากับจีน ซึ่งเรื่องนี้เองก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้สนใจที่จะเข้าร่วม TPP นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้นี้ยังทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนต้องแตกความสามัคคีจนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กัมพูชาเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดเหตุการณ์นี้นับแต่มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเป็นต้นมา

เมื่อ TPP ปะทะ RCEP และแผนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน

ขณะที่ TPP เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่มี สหรัฐอเมริกาเป็นตัวขับเคลื่อน ทางฟากเอเชียก็มียุทธศาสตร์ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Comprehensive Partnership – RCEP) ที่มี อาเซียนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ซึ่งพัฒนามาก่อนหน้านั้นจากเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Free Trade Area –AFTA) โดยขยายจาก AFTA ไปยังคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ (ASEAN+6) คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า TPP และ RCEP มีผู้เล่นหลักที่เป็นขั้วอำนาจคือ สหรัฐอเมริกาและจีน การผลักดัน TPP ด้วยการเชิญชวนชาติสมาชิกอาเซียน และคู่เจรจา RCEP ให้เข้าร่วม TPP เป็นการทำให้กรอบเจรจา RCEP นั้นชะงักชะงันไม่มากก็น้อย และ TPP เองนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นยาขม ของ จีน และชาติสมาชิกอาเซียน จนอาจกล่าวได้ว่าอาเซียนกำลังเผชิญสงครามเย็นในยุคใหม่ เป็นสงครามเย็นทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

เมื่อสหรัฐอเมริกามี TPP เป็นยุทธศาสตร์ จีน ก็ไม่อาจนิ่งเฉย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ประกาศนโยบายจะสร้าง “เส้นทางสายไหม” หรือ “Silk Road” อันเป็นที่ที่รู้จักในอดีต ทั้งในแง่ของการขยายอิทธิพลทางการค้าและเผยแพร่วัฒนธรรมของจีน ขึ้นมาอีกครั้ง ช้เพื่อขยายอิทธิพลทางการค้าและวัฒนธรรมของตนให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งมีชื่อเรียกใหม่ว่า “One Belt and One Road - OBOR” หรือเส้นทางเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21

ความเหนือเมฆของ จีน คือการวางตำแหน่งให้ OBOR เป็นยุทธศาสตร์ร่ม และผนวกเอายุทธศาสตร์ต่างๆของ ASEAN ไม่ว่าจะเป็น RCEP หรือ ความเชื่อมโยงของอาเซียน ASEAN Connectivity เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบของยุทธศาสตร์ OBOR อย่างแนบเนียน จีนแผ่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาค ASEAN จนกลายเป็นส่วนหนึ่ง เข้ามาลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้ง ถนน ระบบราง ไฟฟ้า พลังงาน และอีกสารพัด รวมไปถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งในรูปแบบของการลงทุน ร่วมลงทุน และสนับสนุนการลงทุน เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งกองทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยตรง อาทิ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) และ บริษัทเงินทุนเพื่อความร่วมมือ จีน-อาเซียน (China-ASEAN Investment Cooperation Fund – CAF) เป็นต้น การพยายามในการทำตัวเป็นแหล่งทุนเหล่านี้ของจีนนอกจากต้องการจะแข่งขันกับสหรัฐอเมริกายังทำให้จีนมีอิทธิพลทางการลงทุนในสาธารณูปโภคในภูมิภาคนี้แข่งกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ที่มีญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ อียู เป็นผู้ถือหุ้นหลัก

เมื่อเร็วๆนี้เราได้ทราบข่าวการยินยอมให้มีการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นสามารถขนถ่ายสินค้าได้ เงินสนับสนุนโครงการนี้ก็มาจาก AIIB นี่เอง

ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างในภูมิภาค สหรัฐอเมริกาและจีน ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจาก TPP ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง คำสั่งของทรัมป์ส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่านับจากนี้ ภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นมาเป็นแกนกลางขับเคลื่อน TPP แทนสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หรือTPP จะล้มไปในที่สุด ชาติสมาชิกอาเซียน จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับ RCEP มากขึ้นหรือไม่ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นคำถามที่น่าสนใจและยังรอคอยคำตอบ

และเป็นไปได้อย่างมากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะมีส่วนร่วมช่วย Make China Great Again!!

  

[1] http://www.thairath.co.th/content/307073

[2] http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/676015

[3] http://www.manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9590000011880

[4] https://www.iseas.edu.sg/images/pdf/ISEAS_Perspective_2015_63.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: