กฟผ.ร่วมลงนามกับ 22 บริษัท ผุด 'เสื้อเบอร์ 5' ออกสู่ตลาด 1.7 ล้านตัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3727 ครั้ง

กฟผ.ร่วมลงนามกับ 22 บริษัท ผุด 'เสื้อเบอร์ 5' ออกสู่ตลาด 1.7 ล้านตัว

กฟผ.ได้ลงนามกับ 22 บริษัทเอกชน เพื่อร่วมกันจัดทำ "เสื้อเบอร์ 5" หรือ "เสื้อยับ" ซึ่งเป็นเสื้อที่มีการปรับปรุงเนื้อผ้าให้สามารถใส่สบายโดยไม่ต้องรีด เพื่อให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าในการรีดผ้าลง ทั้งนี้จะมีการทดลองดำเนินการ 1 ปี โดยมีเป้าหมายผลิตเสื้อไม่ต้องรีดประมาณ 1.7 ล้านตัว ออกสู่ตลาด ที่มาภาพ: Energy News Center

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่าในช่วงค่ำของวันที่ 20 ก.ย. 2560 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน “Sparking DSM” และมอบรางวัลการประกวดออกแบบเสื้อยับในระดับอุดมศึกษา พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือและมอบโล่โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ประจำปี 2560 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม A – C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว โดยมีนายวิทูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานในฐานะกรรมการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้บริหารระดับสูงของกฟผ.นำโดยนาย กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ.ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งคณะผู้บริหารระดับสูงของกฟผ. ยังได้ร่วมเดินแบบแฟชั่นเสื้อยับบนเวที เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานด้วย

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการเปิดงานว่า ถึงแม้ว่า กฟผ.จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทหลักในการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในกับประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กฟผ.ก็ได้ดำเนินโครงการการด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิ (Demand Side Managemant) มาจนถึงปัจจุบัน ได้ 24 ปีแล้ว โดยสามารถช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ถึง 4,300 เมกะวัตต์ (เทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่1,000 เมกะวัตต์ ที่ กฟผ.ลงทุนสร้างประมาณ 4 โรง ) และช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 14.8 ล้านตัน โดยมาตรการสำคัญของ DSM คือ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่สามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต นำเข้า จำหน่าย อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เกิดการประหยัดพลังงานได้มาก

ซึ่งในกิจกรรมล่าสุด กฟผ.ได้ลงนามกับ 22 บริษัทเอกชน เพื่อร่วมกันจัดทำ "เสื้อเบอร์ 5" หรือ "เสื้อยับ"ซึ่งเป็นเสื้อที่มีการปรับปรุงเนื้อผ้าให้สามารถใส่สบายโดยไม่ต้องรีด เพื่อให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าในการรีดผ้าลง ทั้งนี้จะมีการทดลองดำเนินการ 1 ปี โดยมีเป้าหมายผลิตเสื้อไม่ต้องรีดประมาณ 1.7 ล้านตัว ออกสู่ตลาด

ทั้งนี้หากผู้ประกอบดำเนินการคิดค้นผลิต "เสื้อยับ"สำเร็จ และผ่านมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ที่กำหนดไว้ รวมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของ กฟผ. จะได้รับรางวัลประหยัดไฟเบอร์ 5 ในปี 2561 ซึ่งคล้ายกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับรางวัลและติดฉลากเบอร์ 5 แต่สำหรับเสื้อผ้าจะจัดเป็นประเภท "อุปกรณ์เสื้อยับประหยัดไฟ" แทน โดยสหรัฐอเมริกามีการผลิตเสื้อยับ หรือเสื้อที่ไม่ต้องรีดออกมาจำหน่ายนานแล้ว ซึ่งหากนำมาใช้ในไทยให้เกิดการแพร่หลายจะเป็นจุดที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันประหยัดไฟฟ้าลงได้มาก โดยจะมีการเก็บรวมรวมข้อมูลว่าการไม่รีดผ้า 1 ตัวจะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้เท่าไหร่ต่อไป

ด้าน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2560 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการติดฉลากเบอร์ 5 แล้ว จำนวน 29 ผลิตภัณฑ์ จ่ายฉลากไปแล้วประมาณ 330 ล้านดวง ซึ่งนับรวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงนามความร่วมมือไปแล้ว และติดฉลากเบอร์ 5 ในปีนี้ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภค และเครื่องซักผ้าถังตั้ง ถังคู่

โดยในปี 2560 นี้ กฟผ. ได้ดำเนินงานตามรอยพระราชปณิธานด้านการประหยัด แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การลงนามข้อตกลงระหว่าง กฟผ. กับผู้ประกอบการในการจัดทำ “เสื้อเบอร์ 5” โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเสื้อ ทั้งจากโรงงานผลิตเสื้อและบริษัทต่าง ๆ รวมจำนวน 22 ราย ในการปรับปรุงเนื้อผ้า เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการรีด อันจะนำไปสู่การติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ในปี 2561 ซึ่งผู้ประกอบการเสื้ออาจจะนำไปผลิตและขายเสื้อเบอร์ 5 ต่อไป และ 2) การจัดประกวดการออกแบบเสื้อยับในระดับอุดมศึกษา ให้สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และมีความเหมาะสมในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวน 40 ทีม ทีมละไม่เกิน 3 คน และทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบเสื้อยับ ได้แก่ ทีมจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม จากผลงาน “Nature is calling” ซึ่งได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ทีมจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ตามลำดับ รวมทั้ง ทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ก็ได้รับรางวัล Popular Vote ด้วย

สำหรับผู้ประกอบการเสื้อ ที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 22 ราย ได้แก่ บริษัท กู๊ดสตาร์ท จำกัด , บริษัท เกียรติสวัสดิ์เท็กไทล์ จำกัด , ร้าน โกลเด้น การ์เม้นท์ , บริษัท เจ พี เอ็น อินเตอร์ (2016) จำกัด , บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ท็อป เทรดดิ้ง จำกัด , บริษัท ที ที เอช เทรดดิ้ง จำกัด , บริษัท เทพอินทราชัย แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด , บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด , บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยสินดีเทรดดิ้ง จำกัด , บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปุณยบุญทิพย์ จำกัด , บริษัท แปซิฟิคการทอ จำกัด , บริษัท พาลาติน เวิร์คแวร์ จำกัด , บริษัท ยูไนเต็ด เท็กซ์ไทล์มิลส์ จำกัด , บริษัท โรงพิมพ์ย้อมผ้าไทย จำกัด (มหาชน) , บริษัท อาร์ ที ดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ จำกัด , บริษัท อินเตอร์คอต จำกัด , บริษัท เอาท์ดอร์ อินโนเวชั่น จำกัด , บริษัท แอลฟ่าโปรเซสซิ่ง จำกัด และบริษัท ไอ ดี นิตติ้ง จำกัด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: