จากสถิติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถของกรุงเทพมหานครในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2559) อาคารจอดรถบางลำพู จัดเก็บได้รวม 232,158,518 บาท อาคารจอดรถสวนมะลิ รวม 94,885,140 บาท ถนนสายต่าง ๆ 65 สาย เก็บได้รวม 110,709,182 บาท และเขตทางถนนราชดำริ สวนลุมพินี เก็บได้รวม 61,813,566 บาท รวมทั้งสิ้น 499,566,406 บาท
ทั้งนี้เมื่อเดือน มี.ค. 2560 นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อาคารที่จอดรถของกรุงเทพมหานคร 2 แห่ง ที่บางลำพู และสวนมะลิบางส่วนยังใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า เช่น ที่อาคารจอดรถสวนมะลิ มีบางชั้นที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถจอดรถได้เต็มพื้นที่ ประกอบกับอัตราค่าธรรมเนียมจอดรถตั้งแต่เริ่มเปิดใช้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการปรับขึ้น ทำให้ยังเก็บรายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ในส่วนของการปรับปรุงอาคารจอดรถสวนมะลิ เป็นอาคาร 8 ชั้น จอดรถได้ 426 ช่องจอด ปัจจุบันใช้งานเต็มพื้นที่ 6 ชั้น ในชั้น 7-8 ใช้งานได้บางส่วน มีพื้นที่ที่ต้องปรับปรุงให้รถสามารถเข้าจอดได้เพิ่มเต็มพื้นที่ ส่วนอาคารจอดรถบางลำพู จอดรถได้เต็มพื้นที่ 550 ช่องจอด ไม่ต้องมีการปรับปรุง ซึ่งขณะนี้สำนักการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาค่าธรรมเนียมจอดรถอัตราใหม่ สำหรับอาคารจอดรถสวนมะลิ ตั้งแต่เริ่มเปิดทำการปี 2547 ถึงปัจจุบัน คิดค่าธรรมเนียมจอดรถ 2 ประเภท คือ 1.รายเดือน 3 อัตรา ได้แก่ 1,100 บาท 1,500 บาท และ 3,000 บาท ปรับอัตราใหม่เพิ่มเป็น 1,500 บาท 3,000 บาท และ 4,000 บาท 2.รายปี 30,000 บาท ปรับไม่ให้มีจอดรายปี ส่วนอาคารจอดรถบางลำพู เริ่มเปิดทำการปี 2533 ถึงปัจจุบัน คิดค่าธรรมเนียมจอดรถ 2 ประเภท คือ 1.รายเดือน 2,000 บาท อัตราใหม่เพิ่มเป็น 3,500 บาท 2.รายชั่วโมง 15 บาท/ชม. เพิ่มเป็น 20 บาท/ชม. โดยการปรับขึ้นนี้เพื่อให้สอดคล้องกับอาคารจอดรถของเอกชนในบริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาของสำนักการคลังก่อน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของถนนสายต่าง ๆ 65 สาย และเขตทางถนนราชดำริ สวนลุมพินี ที่กรุงเทพมหานครให้จอดรถได้ ก็จะมีการพิจารณาปรับอัตราค่าธรรมเนียมใหม่เช่นกัน ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: wikimedia.org
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ