'ปืน' เป็นเหตุคร่าชีวิตมากสุด ไทยติดอันดับโลกนำเข้า

ฐานันดร ชมภูศรี : ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ : 24 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 7904 ครั้ง

ไม่ใช่ ‘อาวุธหนัก’ อย่าง เครื่องบิน รถถัง หรือขีปนาวุธ ที่ทำลายชีวิตมนุษย์ในโลกนี้มากที่สุด แต่กลับเป็น ‘อาวุธเบา’ อย่าง ‘ปืน’ กว่า 875 ล้านกระบอกที่หมุนเวียนทั่วโลก ผลิตจากบริษัทยิบย่อยกว่า 1,000 แห่ง จากเกือบ 100 ประเทศ หาซื้อง่ายผ่านตลาดมืด ไร้การควบคุม คร่าชีวิตหลายแสนคนต่อปี Small Arms Survey จัดไทยอยู่ในระดับ Tier 3 'ประเทศผู้นำเข้าหลัก' ร่วมกับอีก 13 ประเทศ อย่าง อังกฤษ รัสเซีย และอิสราเอล ที่มาภาพประกอบ: smallarmssurvey.org

ทั่วโลกยังเสียชีวิตจากสงครามและการปราบปรามยาเสพติด

สถิติผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกในปี 2016 พบว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 157,000 ราย ลดลงจาก 167,000 รายในปี 2015 และ 180,000 รายในปี 2014 โดยสงครามในซีเรียยังคงเป็นสถานการณ์ที่ ‘ร้ายแรงที่สุดในโลก’ ที่มีผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่เริ่มสงครามในปี 2011 มาถึงปัจจุบันรวมกว่า 290,000 รายแล้ว ส่วนสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานปี 2016 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 17,000 ราย และ 16,000 ราย ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือประเทศที่เสียชีวิตรองลงมาจากซีเรีย กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อและประชาคมระหว่างประเทศ นั่นคือ ‘สงครามยาเสพติด’ ที่ประเทศเม็กซิโก มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2016 ประมาณ 23,000 ราย จำนวนผู้ถูกฆาตกรรมเพิ่มขึ้นใน 22 รัฐจาก 32 รัฐของเม็กซิโก โดยในปี 2015 เสียชีวิต 17,000 ราย และ 15,000 รายในปี 2014 [1] [2]

ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งที่อิรัก ณ เดือน ก.ค. 2017 กองกำลังรัฐบาลอิรักเข้าเคลียร์พื้นที่ยึดครองแห่งสุดท้ายของกลุ่มไอเอส (ISIS) ในเมืองโมซุล (Mosul) ได้สำเร็จ ทำให้เมืองแห่งนี้ได้รับการปลดปล่อยอย่างสมบูรณ์หลังตกอยู่ใต้เงาของไอเอสมาเป็นเวลานานถึง 3 ปี ทั้งนี้การสู้รบเพื่อชิงเมืองโมซุลคืนจากการยึดครองของไอเอส ใช้เวลาทั้งสิ้น 9 เดือน ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปหลายพันคน และมีผู้พลัดถิ่นที่อยู่อาศัยอีกราว 920,000 คน สหประชาชาติประมาณการว่า การสู้รบได้ทำให้อาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าของเมืองโมซุล ถูกทำลายไป 490 แห่ง และได้รับความเสียหายอีกกว่า 5,000 แห่ง การสู้รบยังทำให้ชาวเมืองโมซุลต้องเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง โดยผู้พลัดถิ่นที่หนีภัยการสู้รบขาดแคลนทั้งน้ำ อาหาร และการรักษาพยาบาลที่จำเป็น [3]

อุตสาหกรรม ‘อาวุธหนัก’ เฟื่องสูงสุดหลังสงครามเย็น

ปัจจุบันการค้าขาย 'อาวุธหนัก' (heavy arms) ในโลกได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่หลังสงครามเย็น ที่มาภาพประกอบ: defense.gov

สำนักข่าว Aljazeera รายงานไว้เมื่อต้นปี 2017 ว่าการค้าขาย 'อาวุธหนัก' (heavy arms) ในโลกได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่หลังสงครามเย็น ตามรายงานของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ระบุว่า 10 ประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดคิดเป็น 90% ของยอดขายทั่วโลก มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการค้าอาวุธของโลกได้ถึงจุดสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นในปี 1991 ผู้ส่งออกอาวุธมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน คิดเป็นสัดส่วน 74% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด รายงานของ SIPRI ยังกล่าวว่าในตะวันออกกลางการนำเข้าอาวุธได้เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธที่สำคัญที่สุด [4]

ปริมาณการถ่ายโอนอาวุธได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2004 และเพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2007-2011 และ 2012-2016 ตามข้อมูลใหม่ที่เผยแพร่โดย SIPRI โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายโอนอาวุธในช่วงปี 2012-16 มีจำนวนมากที่สุดเมื่อนับเป็นช่วง ช่วงละ 5 ปี นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น การหลั่งไหลของอาวุธเข้าสู่เอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2007–11 เมื่อเทียบกับช่วง 2012-16 ขณะที่ในยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ-ใต้ ได้ลดลง ยกเว้นเม็กซิโกที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 184% ในช่วง 2012-16 เมื่อเทียบกับ 2007-11 การนำเข้าอาวุธของประเทศในเอเชียและโอเชียเนียเพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงปี 2007-11 เมื่อเทียบกับ 2012-16 และคิดเป็น 43% ของการนำเข้าทั่วโลกในช่วงปี 2012-16 ซึ่งมีอินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2012-16 โดยคิดเป็น 13% ของยอดรวมทั่วโลก ช่วงปี 2007-11 เมื่อเทียบกับ 2012-16 อินเดียได้เพิ่มการนำเข้าอาวุธ 43% การนำเข้าของอินเดียในปี 2012-16

การนำเข้าโดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 6.2% จากช่วง 2007-11 เมื่อเทียบกับ 2012-16 อัตราการนำเข้าของเวียดนามสูงขึ้นอย่างมากจากการเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 29 ของโลกในช่วง 2007-11 ขยับขึ้นสู่อันดับที่ 10 ของโลกในช่วง 2012-16 จากการนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นถึง 202% สำหรับประเทศในตะวันออกกลางจากช่วงปี 2007-11 เทียบกับ 2012-16 การนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นถึง 86% และคิดเป็น 29% ของการซื้อทั่วโลกในปี 2012-16 โดยซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้น 212% และกาตาร์เพิ่มขึ้น 245%

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกอาวุธอันดับหนึ่งของโลก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด ด้วยส่วนแบ่งการส่งออกอาวุธทั่วโลก 1 ใน 3 โดยในช่วง 2012-16 เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วง 2007-11 เกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกได้เข้าไปสู่ตะวันออกกลาง และได้ให้บริการอาวุธแก่ประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 100 ประเทศทั่วโลก อันดับ 2 คือรัสเซียที่มีสัดส่วน 23% ของการส่งออกทั้งโลกในช่วงปี 2012-16 โดย 70% ของการส่งออกได้เข้าไปสู่ 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม จีน และแอลจีเรีย สัดส่วนการขายอาวุธของจีนเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 6.2% จากอาวุธที่ขายกันทั่วโลกเมื่อเทียบระหว่างช่วง 2007-11 กับ 2012-16 ซึ่งเป็นการขยับขึ้นมาสู่ระดับเดียวกันกับฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 6% และ 5.6% ตามลำดับ แม้ว่าการนำเข้าโดยประเทศในยุโรปลดลงอย่างมากถึง 36% แต่การส่งมอบเครื่องบินรบขั้นสูงไปยังยุโรปที่เริ่มขึ้นในช่วง 2012-16 ก็ยังจะมีการส่งมอบเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะทำให้ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในหลายปีข้างหน้า [5]

‘อาวุธเบา’ คร่าชีวิตมนุษย์มากกว่า ‘อาวุธหนัก’

อาวุธเบา (small arms และ light weapons หรือที่เรียกรวมกันว่า SALW) ได้เพิ่มความถี่และความรุนแรงของความขัดแย้งในปัจจุบันและทำให้การฟื้นฟูสันติภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น อาวุธดังกล่าวสามารถหาได้จากตลาดนานาชาติทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ที่มาภาพประกอบ: seesac.org

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้ระบุเรื่องสงครามยาเสพติดในเม็กซิโกไว้ข้างต้น John Chipman หัวหน้าฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการ International Institute for Strategic Studies (IISS) ให้ความเห็นไว้ว่า "นี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในเม็กซิโก กลับเป็นเรื่องของอาวุธประเภทที่มนุษย์คนเดียวสามารถใช้งานได้" [6]

เช่นเดียวกับในหนังสือ Light Weapons and Civil Conflict: Controlling the Tools of Violence มีส่วนหนึ่งระบุว่า "อีกลักษณะหนึ่งของความขัดแย้ง คือความจริงที่ว่าการตายและความทุกข์ทรมานอย่างกว้างขวางไม่ใช่ผลมาจากอาวุธจำพวก รถถัง เครื่องบินรบ เรือรบ แต่เกิดจาก small arms และ light weapons" (มักเขียนสั้น ๆ ว่า ‘SALW’ โดยในรายงานชิ้นนี้จะขอเรียกว่า ‘อาวุธเบา’) โดยใช้คำจำกัดความของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (8 ธ.ค. 2005) ที่ว่า small arms คือ อาวุธที่มนุษย์คนเดียวสามารถถือ เคลื่อนย้าย ใช้งานได้, ส่วน light weapons คือ อาวุธที่มนุษย์ประมาณ 3 คน สามารถเคลื่อนย้ายได้ แม้เมื่อถึงเวลาใช้งาน จะมีเพียงคนเดียวที่ลงมือ ซึ่งองค์กร Small Arms Survey จะใช้เพียงคำว่า small arms แต่จะหมายถึงทั้ง small arms และ light weapons หรือ SALW ที่รวมถึง ลูกกระสุน และส่วนต่าง ๆ ของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งอาวุธเบาที่แพร่หลายอยู่ทั่วโลกนั้นได้เพิ่มความถี่และความรุนแรงของความขัดแย้งในปัจจุบัน และทำให้การฟื้นฟูสันติภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น อาวุธดังกล่าวสามารถหาได้จากตลาดนานาชาติทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย [7] [8] [9]

หากพิจารณาตามนี้ เมื่อดูข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตจากสงครามในซีเรียและอิรัก จะพบว่าซีเรียที่ดำเนินสงครามมาตั้งแต่ปี 2011-ปัจจุบัน เสียชีวิตจากอาวุธเบา (โดนยิง+โดนระเบิด) ใกล้เคียงกับอาวุธขนาดใหญ่ (ปืนใหญ่จากเครื่องบิน+รถถัง) ข้อมูลนี้ถูกรวบรวมโดย Violations Documentation Center in Syria (VDC) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีฐานในสวิตเซอร์แลนด์ [10] (ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตที่มักปรากฏในสื่อว่าสงครามในซีเรียเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4 แสนราย เป็นข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งยังมิได้แจกแจงรายละเอียดของข้อมูลแต่อย่างใด) ส่วนสงครามในอิรักนั้น Iraq Body Count ได้รวบรวมข้อมูลไว้ ซึ่งชัดเจนว่าเสียชีวิตจากอาวุธเบาเป็นส่วนใหญ่ [11]

ปัจจุบันมีอาวุธเบาประมาณ 875 ล้านชิ้นที่หมุนเวียนทั่วโลก ผลิตโดยกว่า 1,000 บริษัท จากเกือบ 100 ประเทศ Small Arms Survey องค์กรที่รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา ตั้งอยู่ที่เจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประเมินการค้าขายอาวุธเบาไว้ โดยระบุว่าการประเมินที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ยากและซับซ้อนเนื่องจากความไม่สมัครใจของหลาย ๆ ชาติในการรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการผลิต, การส่งออก และการนำเข้าอาวุธเบา ทำให้การวิเคราะห์กิจกรรมที่ผิดกฎหมายของบริษัทประเภทนี้ทำได้ยากมากขึ้น และผู้ส่งออกที่สำคัญจำนวนมากไม่ได้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ [12]

Small Arms Survey ได้เผยแพร่รายงาน Monitoring Trends in Violent Deaths เมื่อ ก.ย. 2016 ประเมินค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธเบารวมสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ในช่วงปี 2010-2015 ในทุก ๆ ปีมีประมาณ 535,000 ชีวิตที่ถูกฆ่า แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธทั่วโลก (เช่น ซีเรีย เม็กซิโก อิรัก อัฟกานิสถาน ฯลฯ) โดยประมาณ ได้แก่ 157,000 รายในปี 2016, 167,000 รายในปี 2015 และ 180,000 รายในปี 2014 ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยอาวุธเบา ในช่วง 2010-2015 นั้น สูงกว่าช่วง 2004-09 และ 2007-12 ซึ่งเมื่อแยกเอาเพียงจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวเฉลี่ยแล้วในช่วงปี 2004-09 อยู่ที่ปีละประมาณ 55,000 ราย ช่วงปี 2007-12 เพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 70,000 ราย และในช่วง 2010-15 ยังเพิ่มขึ้นอีกเป็นปีละประมาณ 90,000 ราย โดยเกิดขึ้นที่ อัฟกานิสถาน อิรัก ซีเรีย เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าอัตราการฆาตกรรมทั่วโลกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มากพอที่จะชดเชยการเสียชีวิตจากความขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่เพิ่มขึ้นในปี 2010-15 กระนั้นก็ตาม 83% ของผู้เสียชีวิตอยู่ 'นอก' สถานการณ์ความขัดแย้ง ส่วนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ดังกล่าวโดยตรงมีเพียง 17% เท่านั้น [13]

อาวุธกับผู้ลี้ภัย

เด็กชาวเคิร์ดเล่นกับอาวุธของกองทัพสหภาพโซเวีตเมื่อปี 1991 ที่มาภาพ: wikimedia.org

The Transnational Institute (TNI) ระบุว่า ผู้ลี้ภัยในปี 2016 มีผู้เสียชีวิต 4,700 รายระหว่างข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนสูงกว่าปี 2015 ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่เข้าไปในทวีปยุโรปลดลงเนื่องจากนโยบายด้านความมั่นคงชายแดนของสหภาพยุโรปที่มีขึ้นเพื่อห้ามคนเข้าไปในยุโรปผ่านเส้นทางอพยพที่เคยเข้าไปกันได้มากที่สุด ซึ่งทำให้ผู้ลี้ภัยต้องใช้เส้นทางที่อันตรายกว่าเดิม ประเทศในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม และสเปน ได้ส่งออกอาวุธไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในปี 2016 โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบียที่โปร่งใสน้อยที่สุด (least transparent) [14] ทั้งนี้ มีซีเรียและเยเมนเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมสงครามและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย งบประมาณเพื่อความมั่นคงชายแดนของสำนักงานความมั่นคงชายแดนและชายฝั่งของสหภาพยุโรป (Frontex) ยังคงขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว ในปี 2016 ซึ่งมีมูลค่า 238.7 ล้านยูโรเพิ่มขึ้น 67.4% เมื่อเทียบกับ 142.6 ล้านยูโรในปี 2015 โดยคาดว่าจะขยายตัวเป็นประมาณ 322 ล้านยูโรในปี 2020 และมีมูลค่าถึง 6.3 ล้านยูโรในปี 2005 ถึง 50 เท่า กองทุนความมั่นคงภายในของสหภาพยุโรปในปี 2016 ได้เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปี 2015 เป็นจำนวน 116.4 ล้านยูโรรวมเป็นเงิน 647.5 ล้านยูโร สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของงบประมาณเหล่านี้ได้ให้ประโยชน์แก่บริษัทอาวุธและบริษัทรักษาความปลอดภัยในตลาดการรักษาความปลอดภัยชายแดนที่กำลังเติบโตประมาณ 8% ต่อปี บริษัทที่ชื่อ Airbus, Leonardo, Safran และ Thales ปรากฏในข่าวปี 2016 ในฐานะบริษัทที่ทำสัญญาด้านความปลอดภัยชายแดน ส่วนบริษัทด้านไอทีอย่าง Indra, Advent และ ATOS ได้รับสัญญาที่สำคัญของโครงการต่าง ๆ สำหรับระบุตัวตนและติดตามผู้ลี้ภัย รั้วสำหรับรักษาความปลอดภัยที่ชายแดนของยุโรปมีการขยายตัวที่ ออสเตรีย บัลแกเรีย โครเอเชีย เอสโตเนีย ฮังการี มาซิโดเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย ตุรกี และยูเครน พร้อมกับรายงานความรุนแรงต่อผู้ลี้ภัยโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายแดน ตลอดจนกลุ่มหัวรุนแรงที่บางครั้งร่วมมือกับตำรวจ [15]

องค์กร Oxfam ระบุว่า ความหนาแน่นของอาวุธเบาที่ไม่สามารถควบคุมได้จำนวนกว่า 100 ล้านชิ้นโดยประมาณ ในพื้นที่ที่ขัดแย้งกันด้วยอาวุธและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายต่อความปลอดภัยอื่น ๆ มักทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อ [16] ผู้ลี้ภัยในปี 2016 จาก 10 ประเทศต้นกำเนิดมีประมาณ 13.5 ล้านคนหรือ 79% ของประชากรผู้ลี้ภัยทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับปี 2015 ประเทศต้นทางหลัก ๆ ของผู้ลี้ภัยในปี 2016 คือประเทศซีเรียที่มีผู้ลี้ภัย 5.5 ล้านคนเมื่อนับถึงช่วงสิ้นปี โดยปี 2015 อยู่ที่ 4.9 ล้านคน ซึ่งผู้ลี้ภัยที่มากมายได้กระจัดกระจายไปยัง 123 ประเทศใน 6 ทวีป โดยประเทศที่เคยส่งอาวุธให้แก่รัฐบาลซีเรีย ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน ส่วนประเทศที่เคยขายอาวุธให้แก่ฝ่ายกบฏซีเรียหรือไอเอส ได้แก่ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย โครเอเชีย ลิเบีย สหรัฐอเมริกา ตุรกี จอร์แดน อิรัก เลบานอน [17] ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ประมาณ 87% ยังคงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ตุรกีเป็นประเทศที่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอพยพไปอยู่มากที่สุด ซึ่งได้เพิ่มขึ้นตลอดปี 2016 และถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 2.8 ล้านคนเมื่อนับถึงสิ้นปี ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมากโดยประมาณ ได้แก่ เลบานอน 1.0 ล้านคน จอร์แดน 648,800 คน อิรัก 230,800 คน และอียิปต์ 116,000 คน นอกภูมิภาคที่มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมาก ได้แก่ เยอรมนี 375,100คน สวีเดน 96,900 คน ออสเตรีย 31,000 คน และเนเธอร์แลนด์ 28,400 คน

ผู้ลี้ภัยที่อพยพออกจากอัฟกานิสถานเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง ส่วนเรื่องอาวุธ ตลาดมืดได้อาวุธมาจากที่สหรัฐฯ ส่งเข้าไปให้กองทัพอัฟกานิสถาน [18] เมื่อไหร่ที่ 'อับดุลลาห์' ผู้บัญชาการกลุ่มตาลิบันในอัฟกานิสถานตอนกลางต้องการปืนและกระสุนเพิ่มเติม เขาจะหันไปหาคนกลุ่มที่จ่ายเงินเดือน 580 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนให้เขา นั่นก็คือผู้สนับสนุนชาวอิหร่าน "อิหร่านจัดหาสิ่งที่เราต้องการ" ชายผู้หนึ่งกล่าว, เจ้าหน้าที่ของอัฟกานิสถานและทางการของชาติตะวันตกกล่าวว่ากรุงเตหะรานได้เพิ่มกำลังอาวุธ กระสุนปืน และเงินทุนอย่างเงียบ ๆ [19] ถึงแม้ว่าจำนวนจะลดลงก็ตาม ณ สิ้นปี 2016 มีผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานมี 2.5 ล้านคน ขณะที่ปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 2.7 ล้านคน โดยการลดลงนี้เป็นผลมาจากผู้ที่เคยลี้ภัยในปากีสถานจำนวนหนึ่งได้เดินทางกลับหรือถูกส่งกลับ อย่างไรก็ตามปากีสถานยังคงเป็นแหล่งพักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 1.4 ล้านคน ตามมาด้วยอิหร่าน 951,100 คน เยอรมนี 46,300 คน ออสเตรีย 20,200 คน สวีเดน 16,600 คน อิตาลี 16,000 คน และกรีซ 11,400 คน

วิกฤตในประเทศซูดานใต้ ได้ทำให้ผู้คนหนีออกจากประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2016 โดยอาวุธในซูดานใต้มาจากประเทศบัลแกเรียและอิสราเอล [20] ในช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ลี้ภัยจากซูดานใต้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 778,700 คนเมื่อสิ้นปี 2015 เป็น 1.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2016 โดยประเทศที่ชาวซูดานใต้อพยพไปพักพิงมากที่สุดคือ ยูกันดา 639,000 คน ตามมาด้วยเอธิโอเปีย 338,800 คน ซูดาน 297,200 คน เคนยา 87,100 คน คองโก 66,700 คน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง 4,900 คน

จำนวนผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียทั่วโลกลดลงเล็กน้อยเนื่องจากการย้ายกลับและถูกส่งกลับจากเคนย่า ความอุดมสมบูรณ์ของอาวุธที่ผิดกฎหมายที่ซื้อขายกันโดยง่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ธำรงความขัดแย้งอันรุนแรงให้ยืดเยื้อ [21] ตอนสิ้นปี 2015 มีผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียจำนวน 1.1 ล้านคน จำนวนนี้ได้ลดลงเหลือ 1 ล้านคนเมื่อสิ้นปี 2016 เคนยายังคงเป็นที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียที่ใหญ่ที่สุดที่จำนวนประมาณ 324,400 คน ตามมาด้วยเยเมน 255,100 คน เนื่องจากทั้งการกำเนิดบุตรและการถูกระบุในระบบข้อมูลแม้จะมีความขัดแย้งกันด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องก็ตาม ขณะที่ผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียในเอธิโอเปียมีประมาณ 242,000 คน ยูกันดา 30,700 คน แอฟริกาใต้ 28,700 คน สวีเดน 22,500 คน เนเธอร์แลนด์ 16,500 คน และอิตาลี 14,300 คน

จำนวนผู้ลี้ภัยที่อพยพออกจากประเทศซูดานมีจำนวนทั้งสิ้น 650,600 คนในปี 2016 เพิ่มขึ้นจาก 627,100 คนในปีก่อนหน้า อาวุธจากประเทศจีนถูกส่งเข้าไปให้ทั้งซูดานและซูดานใต้ที่กำลังขัดแย้งกัน [22] ประเทศชาดยังคงเป็นแหล่งพักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยชาวซูดานที่ใหญ่ที่สุดซึ่งมีประมาณ 312,500 คนในขณะที่ผู้ลี้ภัยซูดาน 241,500 คนอาศัยอยู่ในซูดานใต้ ประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้ลี้ภัยชาวซูดานจำนวนมากโดยประมาณเมื่อนับถึงสิ้นปี 2016 ได้แก่ เอธิโอเปีย 39,900 คน อียิปต์ 13,800 คน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ 7,300 คน และฝรั่งเศส 7,000 คน

นอกจากนั้น เกาหลีเหนือได้ส่งอาวุธและครูฝึกทหารเข้าไปยังประเทศคองโก [23] สำหรับสาธารณรัฐแอฟริกากลางนั้น อาวุธจากจีน อิหร่าน เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี ซูดาน และแคเมอรูน มีส่วนต่อความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายในประเทศ [24] อาวุธจากอิสราเอลมีส่วนสำคัญในการ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ที่เมียนมาร์และบุรุนดี [25] ส่วนเอริเทรียมีความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ [26] [27]

 

‘แอฟริกา’ สังเวียนหลัก ในการประลองอาวุธเบา

ในแอฟริกา กลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐซื้ออาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตลาดมืดและอาวุธที่ถูกผลิตตามท้องถิ่น ที่มาภาพประกอบ: Sven Torfinn/Oxfam

คำถามเกี่ยวกับอาวุธที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้น องค์กร Oxfam ได้จัดทำรายงาน THE HUMAN COST OF UNCONTROLLED ARMS IN AFRICA เผยแพร่เมื่อ มี.ค. 2017 โดยระบุว่าการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนอาวุธอย่างผิดกฎหมาย เป็นปัญหาสำคัญสำหรับความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทวีปแอฟริกา ความหนาแน่นของอาวุธเบาที่ไม่สามารถควบคุมได้จำนวนกว่า 100 ล้านชิ้น ในพื้นที่ที่ขัดแย้งกันด้วยอาวุธและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายต่อความปลอดภัยอื่น ๆ มักทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามัคคีและความไว้วางใจทางสังคมจนเป็นเหตุให้ต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย การประสบกับความรุนแรงทางเพศ การบาดเจ็บและการเสียชีวิต ความขัดแย้งส่วนใหญ่ในแอฟริกาเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อาวุธที่ได้มาแบบผิดกฎหมาย พวกเขาใช้วิธีการซื้ออาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเฉพาะจากตลาดมืดและอาวุธที่ถูกผลิตตามท้องถิ่น

ข้อมูลจาก Council of Foreign Relations ระบุว่าการค้าอาวุธแบบผิดกฎหมายในปี 2012 มีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนระหว่าง 10% ถึง 20% ของการค้าอาวุธเบาทั่วโลก โดยประมาณการกันว่ามี 100 ล้านชิ้นที่หมุนเวียนในทวีปแอฟริกา หากแยกเอาเฉพาะอาวุธปืน การครอบครองปืนต่อประชากร 100 คน ที่มีข้อมูลได้แก่ แอลจีเรีย 7.6, แองโกลา 17.3, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง 1.0, ไอเวอรีโคสต์ 2.4, คองโก 1.4, กานา 8.55, ลิเบีย 15.5, มาลี 1.1, โมซัมบิก 5.1, ไนจีเรีย 1.5, แอฟริกาใต้ 6.61, ซูดานใต้ 28.23, ซูดาน 5.5, โซมาเลีย 9.1, ยูกันดา 1.4

การเติบโตและกิจกรรมของกลุ่มศาสนาที่ฝักใฝ่อุดมการณ์หัวรุนแรง มีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายและการใช้อาวุธผิดกฎหมายในแอฟริกา การครอบครองอาวุธเบา โดยกลุ่มหัวรุนแรงได้สร้างความเสียหายต่อความมั่นคงในตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนเหนือของทวีปแอฟริกา จากประมาณการของ UNDP มีผู้เสียชีวิต 24,771 รายและบาดเจ็บ 5,507 คนในช่วงปี 2011-2015 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไนจีเรียและโซมาเลีย

การนำเข้าอาวุธอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2005-09 กับ 2010-14 แต่ยังเป็นเพียง 1.5% ของการถ่ายโอนอาวุธทั่วโลก อาวุธส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายมาจากนอกทวีป เพราะนอกเหนือจากแอฟริกาใต้ อียิปต์ และซูดานแล้ว ประเทศที่เหลือมีข้อจำกัดในการผลิตอาวุธและกระสุน โดย 95% ของอาวุธที่ใช้ในแอฟริกามาจากนอกทวีป บางประเทศที่ส่งออกอาวุธเข้าไปยังแอฟริกา เช่น จีน อิสราเอล ตุรกี ยูเครน และสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้สัตยาบันหรือเข้าร่วมในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธของสหประชาชาติ (Arms Trade Treaty) [28]

สถานการณ์ ‘ปืน’ ในไทย

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผบช.สกบ. ได้เดินทางไปยังโรงงานผลิตอาวุธปืน SIG Sauer ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจสอบและตรวจรับมอบปืน SIG Sauer P320SP เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจ เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับจำนวนการครอบครองอาวุธปืนของคนไทยในปี พ.ศ.2555 พบมีตัวเลขของผู้ขึ้นทะเบียนอาวุธปืนถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยรวมทั้งสิ้นสูงถึงจำนวน 6,221,180 กระบอก แบ่งเป็น อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก และอาวุธปืนยาว จำนวน 2,476,303 กระบอก หรือประมาณเฉลี่ย ทุก ๆ 10 คน จะพบคนมีปืน 1 คน [29] ส่วนการประเมินของ GunPolicy.org เว็บไซต์ที่ดำเนินการโดยคณะสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ประมาณการจำนวนปืนทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่พลเรือนไทยครอบครองมีประมาณ 10 ล้านกระบอก ด้าน พอล แชมเบอส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Institute of Southeast Asian Affairs - ISEAA) ระบุว่าอาวุธปืนผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายอย่างมากในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา [30]

ล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำเข้าปืน SIG Sauer P320SP ของบริษัท SIG Sauer Inc. จำนวน 12,468 กระบอก ตามโครงการจัดหาอาวุธปืนพกเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจ สำหรับโครงการจัดหาอาวุธปืนพกสั้นยี่ห้อ SIG Sauer P320SP จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจนั้น เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นในสมัย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร.ในสมัยนั้น ได้มีวิทยุราชการด่วนถึงผู้บัญชาการและผู้บังคับการทุกหน่วย แจ้งว่า ตำรวจจะจัดทำโครงการสวัสดิการสำหรับตำรวจ โดยจัดหาปืนพกสั้นยี่ห้อ SIG Sauer P320SP ขนาด 9 มม. ราคา 18,000 บาท เพื่อไว้ใช้และป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง โครงการนี้ปิดรับจองเมื่อ 20 เม.ย. 2558 แต่เมื่อเคาะราคาจริง ตกกระบอกละ 23,890 บาท สั่งซื้อวันสุดท้าย 30 พ.ย.2558 [31]


ไทยติดอันดับ
‘ผู้นำเข้าหลัก’ ในตลาดอาวุธเบาโลก

การซื้อขายเฉพาะอาวุธเบา ที่สื่อระดับโลกมักไม่ได้รายงานนั้น Small Arms Survey ได้เผยแพร่ข้อมูล Trade Update 2016 Transfers and Transparency เมื่อ มิ.ย. 2016 ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย ระบุว่าในปี 2013 มี 57 ประเทศที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำเข้าอาวุธเบา ‘รายหลัก’ (major importers) ที่มีมูลค่าการนำเข้าอาวุธอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ส่วนผู้นำเข้า ‘รายใหญ่’ (top importers) ที่นำเข้าอาวุธเบามูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ในปี 2013 เฉพาะผู้นำเข้ารายหลักและรายใหญ่นี้มีมูลค่าการซื้อ-ขายประมาณ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2012

ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ‘รายใหญ่’ คือกลุ่ม Tier 1 มี 1 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา กลุ่ม Tier 2 มี 7 ประเทศได้แก่ แคนาดา เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และนอร์เวย์ ส่วนผู้นำเข้าอาวุธเบา ‘รายหลัก’  กลุ่ม Tier 3 มี 13 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ไทย รัสเซีย อินโดนีเซีย อิตาลี ตุรกี เบลเยียม มาเลเซีย เม็กซิโก จอร์แดน สเปนอิสราเอล และฟิลิปปินส์ และกลุ่ม Tier 4 มี 36 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เลบานอน เดนมาร์ก โคลัมเบีย สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน โปรตุเกส เนเธอแลนด์ ปากีสถาน แอฟริกาใต้ เชค เกาหลีใต้ อียิปต์ โปแลนด์ สโลวาเกีย ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ยูเครน เอสโตเนีย คูเวต คาซัคสถาน ชิลี กาตาร์ กัวเตมาลา บราซิล ปารากวัย เปรู อาร์เจนตินา โอมาน ฮังการี อิรัก ลัตเวีย ซูดาน และโดมินิกัน

มูลค่ารวมของอาวุธเบาที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ได้เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2012 คือจาก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เป็น 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าโดยสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1.9 พันล้านดอลลาร์ และในปี 2013 การนำเข้าอาวุธเบาของผู้นำเข้ารายใหญ่และรายหลักในตะวันออกกลางมีมูลค่ามากกว่าปี 2012 มากถึง 84%

ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่หน้าใหม่เมื่อดูจากปี 2012 กับ 2013 ได้แก่ นอร์เวย์ ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน เป็น 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกัน มูลค่าการนำเข้าอินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และไทย ลดลงประมาณ 25% ทำให้ประเทศกลุ่มนี้เลื่อนลงมาจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าหลัก จากปี 2012 กับ 2013 อินโดนีเซียนำเข้าลดลงจาก 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเหลือ 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรจาก 121 ล้านดอลลาร์ เป็น 91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศไทยจาก 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในบรรดาผู้นำเข้าหลักรายใหม่ที่คิดมีมูลค่าการนำเข้าอาวุธเบา มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2013 กาตาร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  กลายเป็น 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2012 และ 2013 เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างสูงแบบเดียวกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ในปี 2013 การนำเข้าของประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่และผู้นำเข้ารายหลักในตะวันออกกลางมีมูลค่าสูงปี 2012 ถึง 84% ในปี 2555 โดยเพิ่มขึ้นจาก 342 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้นำเข้ารายใหญ่และรายหลักคิดเป็น 95% ของการค้าอาวุธเบาทั้งโลกในปี 2013 โดยรายใหญ่คิดเป็น 63% และรายหลักคิดเป็น 32% และในปีเดียวกัน การนำเข้าของสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวคิดเป็นสัดส่วนถึง 42% ของการนำเข้าอาวุธเบาทั้งโลก 

ตามที่ระบุไว้ข้างต้นว่า การประเมินที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ยากและซับซ้อนเนื่องจากความไม่สมัครใจของหลาย ๆ ชาติในการรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการผลิต, การส่งออก และการนำเข้า ทำให้การวิเคราะห์กิจกรรมที่ผิดกฎหมายของบริษัทประเภทนี้ทำได้ยากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายงานของ Small Arms Survey ก็ได้ระบุประเทศที่ส่งออกอย่างโปร่งใสที่สุด (most transparent) ว่ามีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ส่วนกลุ่มที่โปร่งใสน้อยที่สุด (least transparent) ได้แก่ อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ [32]

นอกจากนี้ ความสลับซับซ้อนในการตรวจสอบตลาดอาวุธเบา ข้อมูลหลายแหล่งมักจะประเมินตัวเลขการซื้อขายอาวุธเบานี้ไม่ตรงกัน แต่กระนั้นตลาดนี้ก็มีมูลค่าในระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างแน่นอน โดยในปี 2014 นั้น Global Financial Integrity ได้ระบุไว้ในรายงาน Transnational Crime and the Developing World คาดว่าการซื้อขายอาวุธเบามีมูลค่าประมาณ 1.7 ถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [33] ส่วนงานวิจัยของ Grand View Research ประเมินว่าในปี 2015 ตลาดการซื้อขายอาวุธที่ต้องใช้งานโดยคน 3 คน หรือ light weapons มีมูลค่ากว่า 55% ของการซื้อขายทั้งหมด เป็นการซื้อขายเพื่อนำไปใช้ในการทหารมีมูลค่ากว่า 50% ของทั้งหมด ส่วนที่ซื้อขายเพื่อนำไปใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย (ให้แก่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ) มีมูลค่ากว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [34]

หมายเหตุ: คำว่า ‘อาวุธเบา’ ในรายงานชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ TCIJ ได้ใช้ตามความจำกัดความของ 'SALW' ที่หมายความคลอบคลุมถึง small arms และ light weapons

 

อ้างอิง

[1] Armed Conflict Survey The worldwide review of political, military and humanitarian trends in current conflicts (Editor’s Introduction) (iiss.org, 9/5/2017)
[2] Report: Mexico was second deadliest country in 2016 (cnn.com, 11/5/2017)
[3] ผู้นำอิรักประกาศชัยชนะเหนือไอเอสอย่างเป็นทางการ (bbc.com, 10/7/2017)
[4] The 10 countries that export the most major weapons (aljazeera.com, 22/2/2017)
[5] Increase in arms transfers driven by demand in the Middle East and Asia, says SIPRI (sipri.org, 20/2/2017)
[6] Report: Mexico was second deadliest country in 2016 (cnn.com, 11/5/2017)
[7] Small Arms and Light Weapons (wikipedia.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[8] Definitions of Small Arms and Light Weapons (smallarmssurvey.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[9] Small Arms and Light Weapons: Controlling the Real Instruments of War (armscontrol.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[10] STATISTICAL REPORT ON VICTIMS (vdc-sy.net, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[11] Documented civilian deaths from violence (iraqbodycount.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[12] Weapons and Markets (smallarmssurvey.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[13] Small Arms Survey Research Notes • Number 59 • September 2016 (smallarmssurvey.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[24] Trade Update 2016: Transfers and Transparency (smallarmssurvey.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[15] Border Wars II: An update on the arms industry profiting from Europe's refugee tragedy (tni.org, 19/12/2016)
[16] THE HUMAN COST OF UNCONTROLLED ARMS IN AFRICA, Cross-national research on seven African countries, OXFAM RESEARCH REPORTS MARCH 2017 (oxfam.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[17]  Who is supplying weapons to the warring sides in Syria? (bbc.com, 14/6/2013)
[18]  ARMING THE ENEMY IN AFGHANISTAN (newsweek.com, 18/5/2015)
[19] Iran Backs Taliban With Cash and Arms (wsj.com, 11/6/2015)
[20] EUROPEAN AND ISRAELI ARMS FUELLING SOUTH SUDAN CONFLICT: U.N. (newsweek.com, 21/10/2016)
[21] THE HUMAN COST OF UNCONTROLLED ARMS IN AFRICA, Cross-national research on seven African countries, OXFAM RESEARCH REPORTS MARCH 2017 (oxfam.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[22] Chinese weapons being supplied to both sides of Sudan-South Sudan conflict (worldtribune.com, 29/8/2016)
[23] North Korea sent arms and military trainers to Congo, U.N. report says (upi.com, 13/5/2016)
[24] How European, Chinese Weapons Fuel Conflict In Central African Republic (ibtimes.com, 21/1/2015)
[25] Israeli weapons aid potential genocides in Myanmar and Burundi (electronicintifada.net, 18/1/2016)
[26] Report of the Panel of Experts established pursuant to resolution 1874 (2009) (un.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[27] US Imposes New Sanctions on Eritrea’s Navy Over North Korea Links (voanews.com, 8/4/2017)
[28] THE HUMAN COST OF UNCONTROLLED ARMS IN AFRICA, Cross-national research on seven African countries, OXFAM RESEARCH REPORTS MARCH 2017 (oxfam.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[29] อยากรู้ไหม... เมืองไทยมีปืนถูกกฎหมายกี่กระบอก? (สำนักข่าวอิศรา, 8/12/2555)
[30] A look at Thailand's fervent gun culture (dw.com, 19/2/2016)
[31] ตำรวจเฮทั้งประเทศ! ปืนสวัสดิการมาแล้ว ‘ซิกซาวเออร์’ ลอตแรก 5 พันกระบอก (ไทยรัฐ, 25/7/2560)
[32] Trade Update 2016: Transfers and Transparency (smallarmssurvey.org, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8/7/2017)
[33] Transnational Crime and the Developing World (gfintegrity.org, 27/3/2017)
[34] Small Arms Light Weapons (SALW) Market Analysis By Type (Small Arms, Light Weapons), By Application (Military, Law Enforcement), By Region (North America, Europe, Asia Pacific, Rest of the World), And Segment Forecasts, 2014 - 2024 (grandviewresearch.com, January 2017)

  

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ราคาปืน อาก้า ในที่ต่าง ๆ ของโลก
เผยคนไทยขอมีปืนง่ายแค่จ่ายใต้โต๊ะ มท.ชี้ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 6 ล้านกระบอก (รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด, TCIJ, 5/11/2557)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: