อลหม่านสารพิษ 'พาราควอต' เมื่อ 'สุขภาพ vs ต้นทุนผลผลิตเกษตร'

ดลวรรฒ สุนสุข ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ : 24 ธ.ค. 2560 | อ่านแล้ว 10136 ครั้ง

จะใช้ต่อหรือเลิกใช้ ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชที่คนไทยคุ้นหูในชื่อการค้า‘กรัมม็อกโซน’ กำลังเป็นข้อถกเถียงในสังคม ฟังเหตุผล 2 ฝ่าย ‘สุขภาพ vs ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร’ ฝ่ายยกเลิกชี้หลายประเทศไม่ใช้แล้ว มีพิษเฉียบพลันสูง ฝ่ายหนุนใช้ระบุเป็น ‘สารที่ไม่อันตรายสูง’ หากยกเลิกจะทำต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของไทยพุ่งขึ้นเกือบ 4 หมื่นล้านบาท/ปี ภาครัฐก็แบ่งเป็น 2 ขั้ว ‘สายสุขภาพ’ เดินหน้าให้ ลด-ละ-เลิก ‘สายอุตสาหกรรม’ หวั่นหากไม่ต่อทะเบียนให้เอกชน ภาครัฐอาจถูกฟ้องร้อง พบ 1 ใน 3 บริษัทที่ได้ต่อทะเบียนพาราควอตมีรายได้กว่า 4.9 พันล้านบาทต่อปี  2 ใน 3 รายเป็นทุนเนเธอร์แลนด์และสหรัฐฯ 

แม้ว่าข้อถกเถียงเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดวัชพืช ‘พาราควอต’ (Paraquat) จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นสาเหตุของปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่กรมวิชาการเกษตรก็ได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้ใช้สารเคมีพาราควอตต่อไปอีก 6 ปี หลังจะหมดอายุลงในปีนี้ แม้จะมีเสียงต่อต้านจากเครือข่ายต่อต้านสารพิษและกลุ่มเครือข่ายด้านสุขภาพหลายกลุ่ม

‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่เกษตรกรพืชไร่พืชสวน อาทิ ยางพารา, อ้อย, มันสำปะหลัง คนไทยรู้จักกันในชื่อการค้า ‘กรัมม็อกโซน’ (Gramoxone) ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรในปี 2559 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารตั้งต้น 'พาราควอตไดคลอไรด์' 31.52 ล้านกิโลกรัมและสารสำคัญ 12 ล้านกิโลกรัม มีมูลค่า 2,110 ล้านบาท

ข้อถกเถียงเรื่อง 'พาราครอต’ ทางสองแพร่ง ‘สุขภาพ Vs ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร’

ฝ่ายยกเลิกการใช้พาราควอต ประกอบไปด้วยมูลนิธิชีววิถี (Biothai), เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN), สภาเกษตรกรแห่งชาติ, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และตัวแทนองค์กรชุมชนท้องถิ่นที่ตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบของสารพิษกำจัดศัตรูพืช

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จัดทำเอกสารเหตุผลสนับสนุน การยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ระบุว่าสหภาพยุโรป (EU) ไม่อนุญาตให้มีการใช้พาราควอต (ไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน) ซึ่งเป็นผลจากคำตัดสินของศาลของประชาคมยุโรป เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2550 ครอบคลุมทั้ง 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ถ้าไล่เรียงการเคลื่อนไหวในการยกเลิกการใช้ในแต่ละประเทศสมาชิก จะพบว่ามีการยกเลิกมาเป็นลำดับ เช่น สวีเดน ห้ามใช้พาราควอตในปี 1983 ฟินแลนด์ ยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1986 เนื่องจากพาราควอตมีความเป็นพิษสูง ถึงแม้ได้รับในปริมาณน้อย และส่งผลให้เสียชีวิตได้ ฮังการียกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1991 เนื่องจากมีอัตราการตายที่สูง เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ เดนมาร์กยกเลิกการใช้พาราควอตในปี 1995 เนื่องจากพาราควอตสามารถตกค้างในดินได้นาน และมีพิษร้ายแรง กระต่ายที่กินหรือเดินบนหญ้าที่มีพาราควอตปนเปื้อนทำให้เสียชีวิตได้ แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ซินเจนทา      ครอป โปรเทคชั่น จำกัด (บริษัทที่จำหน่ายพาราควอตรายใหญ่ในประเทศไทย) ไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี 1990 ขณะที่เวียดนามยกเลิกการใช้พาราควอตเมื่อ 8 ก.พ. 2560 โดยกำหนดระยะเวลา fade out ภายใน 2 ปี จากการประมวลข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าพาราควอตไม่ได้รับอนุญาตให้มีการใช้ใน 47 ประเทศทั่วโลก

ในด้านสุขภาพ ฝ่ายที่ต้องการยกเลิกเห็นว่าพาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูงและมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมากเกินกว่าที่จะนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชประเภทเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ไม่เลือกทำลาย มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูงแม้ได้รับสัมผัสเพียงปริมาณน้อย การที่บริษัท ซินเจนทาฯ อ้างว่าพาราควอตเป็น ‘สารที่ไม่อันตรายสูง’ เป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป แม้ว่าค่าความเป็นพิษ (LD50) ที่ระดับ 113.5มก./กก. ของพาราควอต (WHO 2002) หมายถึงการได้รับพาราควอตทางปากเพียง 6.15 ซีซี (หรือประมาณมากกว่าหนึ่งช้อนชาเล็กน้อย) ก็ทำให้ผู้ได้รับสารพิษมีโอกาสเสียชีวิตได้ อัตราการตายของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ได้รับสารพิษนี้สูงถึง 10.2% กรณีที่ผู้ป่วยสัมผัสทางผิวหนัง และสูงถึง 14.5% ในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ตั้งใจ สารพิษนี้จึงมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมากเกินกว่าที่จะนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยแม้จะมีการป้องกันที่ดีก็ตาม ข้อสรุปนี้สอดคล้องกันทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพยุโรปได้รายงานประมาณการจากการสัมผัสพาราควอต พบว่า การสัมผัสพาราควอตจากการใช้เครื่องพ่นแบบสะพายหลัง สูงมากกว่าระดับมาตรฐาน (AOEL) 3 ถึง 60 เท่ากรณีสวมอุปกรณ์ป้องกัน และเกิน 100 เท่า หากไม่ได้สวมใส่

โดยสรุปแล้วข้อเสนอของ ‘ฝ่ายยกเลิกการใช้พาราควอต’ คือ ยกเลิกการต่ออายุ เพราะเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ฝ่ายสนับสนุนให้ใช้พาราควอตต่อไป ประกอบไปด้วยสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย (FSA), บริษัทผลิตจำหน่าย และกลุ่มเกษตรสนับสนุนการใช้พาราควอต กังวลว่าหากยกเลิกจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น เพราะมีความสำคัญกับเกษตรกรทั้งผู้เพาะปลูก พืชไร่ พืชสวน ที่ใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืชจำนวนมาก หากให้เลือกเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออก และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 442,600 ล้านบาท ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้น 39,794 ล้านบาท/ปี หรือ ผลผลิตลดลงรวมมูลค่า 112,435 ล้านบาท/ปี ยกตัวอย่าง อ้อย ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2,200% จาก 135 บาท เป็น 3,200 บาทต่อไร่ และหากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตอ้อยจะลดลง 20% หรือ 22 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวมประมาณ 110 ล้านตัน/ปี หรือสูญเสียมูลค่าผลผลิตอ้อยประมาณ 22,000 ล้านบาท/ปี อันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน มูลค่าผลผลิตรวม 44,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 148% จากต้นทุน 290 บาทเพิ่มเป็น 430 บาทต่อไร่ หรือมูลค่า 1,940 ล้านบาท หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิตจะลดลง 20% คิดเป็นผลผลิตที่หายไป 2.2 ล้านตัน หรือ มูลค่าผลผลิตจะหายไปรวม 8,800 ล้านบาท/ปี และ ยางพารา มูลค่าผลผลิต 210,000 ล้านบาท หากเลิกใช้พาราควอตต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที 148% จาก 290 บาท เป็น 430 บาทต่อไร่ หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 8,410 บาท/ปี และหากไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลงทันที 20% หรือผลผลิตหายไป 0.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่สูญเสียไป 42,000 ล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสนับสนุนใช้พาราควอต ยืนยันว่าปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนการใช้มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องของการอนุญาตให้ใช้สารเคมี อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น เป็นต้น และผู้ส่งออกในต่างประเทศยอมรับการเพาะปลูกโดยใช้สารพาราควอต ว่ามีความปลอดภัย โดยสารพาราควอตไม่ได้อยู่ในบัญชีสารเคมีเฝ้าระวังหรือมีมาตรการพิเศษของสหประชาชาติ (UN) แต่อย่างใด [1]

โดยสรุป ‘ฝ่ายสนับสนุนให้ใช้พาราควอต' ให้เหตุผลว่ายังไม่เห็นผลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโทษภัยของพาราควอตที่มีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ภาครัฐอลหม่าน ! เอายังไงกันแน่กับพาราควอต

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเดือน เม.ย. 2560 ที่มาภาพ: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

จุดเริ่มต้นของความอลหม่านมาจากในปีนี้ (2560) ใบอนุญาตการนำเข้าและจำหน่ายพาราควอตจะหมดลง ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และใบอนุญาตมีระยะเวลา 6 ปี โดยภาครัฐสายสุขภาพได้ตั้ง 'คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง’ ซึ่งในการประชุม ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ ‘พาราควอต’ และ ‘คลอร์ไพริฟอส’ ภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2562 ซึ่งสารเคมีทั้ง 2 ตัวนี้ถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้ โดยหน่วยงานที่ควบคุมกำกับคือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมวิชาการการเกษตร ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียน ยุติการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2561 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร มีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด ทั้งนี้สารพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีการใช้ 29.8 ล้านกิโลกรัม ในปี 2558 มีพิษเฉียบพลันสูงและยังไม่มียาถอนพิษ 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ส่วนคลอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือนกำจัดมด ปลวก เห็บ แมลงสาบ สารตัวนี้พบตกค้างสูงสุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักผลไม้

สำหรับ '(ร่าง)แผนปฎิบัติการเพื่อลด ละ เลิก การใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส' มีดังนี้ 1.กำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 2.ให้บริษัทรายงานปริมาณการนำเข้า ปริมาณการขายและปริมาณคงค้างแก่กรมวิชาการการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุก 3 เดือน และ 3.บริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาดให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2562  4.เฝ้าระวัง/สุ่มตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และในส่วนสารไกลโฟเสตเป็นสารกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่มีปริมาณนำเข้าสูงสุด 58.1 ล้านกิโลกรัมและมีการใช้ในประเทศ 57.6 ล้านกิโลกรัม ในปี 2558 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น 22 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น ที่ประชุมมีข้อเสนอให้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่โดยจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ดังนี้ 1.ห้ามใช้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ 2.ห้ามใช้ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง  3.ห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ และ 4.ห้ามใช้ในเขตชุมชน โดยจะมีการให้ความรู้/สร้างความเข้าใจ/มาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ผู้ เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐผู้ประกอบการ เกษตรกร ก่อนที่จะออกประกาศเงื่อนไขพื้นที่ห้ามใช้และเขตห้ามใช้ต่อไป [2]

แต่ต่อมา เนื่องจากใบอนุญาตพาราควอตจะหมดลงในเดือน ธ.ค. 2560 นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าพาราควอตอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมอยู่ การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2560 ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า พาราควอตยังคงสามารถใช้ในภาคการเกษตรได้ต่อ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และกรมวิชาการเกษตรก็ได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด (3 รายการ) 2. บริษัท เอเลฟองเต้ อโกรเคมิคอล จำกัด (1 รายการ) และ 3.บริษัท ดาวอะโกรไซแอนส์ (ประเทศไทย) จำกัด (1 รายการ) และอีก 1 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้เนื่องจากคณะอนุกรรมการวัตถุอันตรายรับมอบอำนาจพิจารณาขึ้นทะเบียน ส่วนการที่จะยกเลิกการต่อทะเบียนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 ควบคุมอยู่ ในเมื่อยังไม่มีมติแบนสารพาราควอต หากไม่ต่อทะเบียนให้บริษัทเอกชน หน่วยงานภาครัฐอาจถูกฟ้องร้องได้ ทั้งนี้        พาราควอตที่พิจารณาต่อทะเบียนไปแล้วจะมีกำหนดเวลาใช้ได้ถึงอีก 6 ปี [3]

รู้จัก 3 บริษัทที่ได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตพาราควอต

บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงเมื่อ 22 ธ.ค.2560)  เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105524002031 จดทะเบียนเมื่อ 26 ม.ค. 2524 ทุนจดทะเบียน 149,000,000 บาท ที่ตั้ง 90 อาคารเอ ซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ชั้นที่ 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : 20210 การผลิตยาปราบศัตรูพืชและเคมีภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อการเกษตร วัตถุประสงค์ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีเกษตร กรรมการ : 1. นายสุรศักดิ์ กิจเสรี 2. นายธนัษ อภินิเวศ 3. นายอเล็กซานเดอร์ เบอคอจสกี้ ตามข้อมูลการลงทุนตามสัญชาติ ผู้ลงทุนสัญชาติดัชท์ 2 ราย ลงทุน 100% (149,000,000 บาท) ในปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,909,856,011 บาท กำไรสุทธิ 104,299,559 บาท

บริษัท เอเลฟองเต้ อโกรเคมิคอล จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงเมื่อ 22 ธ.ค.2560) เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105549118628 จดทะเบียนเมื่อ 3 ต.ค. 2549 ทุนจดทะเบียน 50,000,000 บาท ที่ตั้ง  15/12 ซอยลาดพร้าว 33 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : 47733 ร้านขายปลีกดอกไม้ต้นไม้และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : จำหน่ายสินค้าเคมีทางการเกษตร กรรมการ 1.นายเสรี สุพรรณธะริดา 2.นางกุลรัตน์ สุพรรณธะริดา 3.นายชนาวีร์ สุพรรณธะริดา 4.นายไพน์ทวี สุพรรณธะริดา และ 5.นางสาววรรณา ปิติสุขสมบัติ ตามข้อมูลการลงทุนตามสัญชาติ ผู้ลงทุนสัญชาติเป็นผู้ลงทุนไทย 100% (50,000,000 บาท) ในปี 2559 มีรายได้รวม 290,825,496.97 บาท กำไรสุทธิ 7,544,347.26 บาท

บริษัท ดาวอะโกรไซแอนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงเมื่อ 22 ธ.ค.2560) เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105534011229 จดทะเบียนเมื่อ 4 ก.พ. 2534 ทุนจดทะเบียน  บาท ที่ตั้ง : 75 ซอยรูเบีย (สุขุมวิท 42) ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร หมวดธุรกิจ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : 47733 ร้านขายปลีกดอกไม้ต้นไม้และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ (มาจากงบการเงินปีล่าสุด) : ซื้อขายเคมีภัณฑ์เกษตร กรรมการ : 1.นายเคเรียล ริชาร์ด ทอร์นทัน 2.นางกิ่งแก้ว เอื้อดุลยธรรม 3.นางกิติวรรณ ทางธนกุล และ 4.นายชวลิต มลิเครือ ในปี 2559 ตามข้อมูลการลงทุนตามสัญชาติพบว่าเป็นการลงทุนของผู้ลงทุนชาวอเมริกัน 100% (31,000,000 บาท) ในปี 2559 มีรายได้รวม 685,664,330 บาท กำไรสุทธิ 14,690,320 บาท

อนึ่ง จากรายงานภาพรวมอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจ 20210 : การผลิตยาปราบศัตรูพืชและเคมีภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อการเกษตร ข้อมูล ณ ปี 2559 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 22 ธ.ค. 2560) พบว่าในปี 2559 มีจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 175 ราย มีสินทรัพย์รวม 52,101.16 ล้านบาท มีรายได้รวม 53,608.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวมทั้งอุตสาหกรรม 12,515.02 ล้านบาท โดยในจำนวนนิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 175 ราย เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 158 ราย มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 28.14 % ขนาดกลาง (M) 10 ราย มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 19.51 % และขนาดใหญ่ (L) 7 ราย แต่มีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 52.36 % ซึ่งรายได้รวมของ 7 รายนี้มีถึง 28,067.94 ล้านบาท เลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม 'จับตา: ภาพรวมอุตสาหกรรมยาปราบศัตรูพืช-เคมีการเกษตรของไทย')

ภาคประชาชนจับตา ภาครัฐทำอะไรกัน?

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้อัพเดทข้อมูลว่าปัจจุบันมีประเทศแบนพาราควอตเพิ่มขึ้นเป็น 52 ประเทศ ประเทศที่จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด (เช่น ให้ใช้แทรกเตอร์ฉีดพ่นเท่านั้น หรือเฉพาะผู้ฉีดพ่นที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น) มีจำนวน 17 ประเทศ ที่มาภาพ: เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)

ทั้งนี้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เครือข่ายองค์กรชุมชน และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการเพิกถอนและยุติการต่อทะเบียนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 2 ชนิด คือสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต สารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอส พร้อมทั้งให้มีการควบคุมสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด มิให้มีการนำมาใช้ในเขตต้นน้ำ แหล่งน้ำ และใกล้ที่อยู่อาศัย เครือข่ายฯ ได้แถลงข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการ 4 ข้อ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ซึ่งข้อเสนอของเครือข่ายมีดังนี้ 1) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29  พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ไม่ต่ออายุใบอนุญาตแก่สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส 2) ในระหว่างที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมิได้ดำเนินการจัดประเภทให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นการแบนสารทั้งสองชนิด ให้กรมวิชาการเกษตรอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพิ่มเติมเงื่อนไขลดจำนวนการนำเข้าสารทั้งสองชนิดลงเป็นลำดับ ตามกำหนดเวลา (Road map) ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ 3) สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยนำเอาข้อมูล เหตุผล และมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จำกัดการใช้ไกลโฟเซตตามข้อเสนอโดยเร็ว และ 4) ในระหว่างที่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่แล้วเสร็จ ให้มีการพิจารณาสั่งการในผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ห้ามหรือจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดตามความเหมาะสม เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน [4]

ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ให้สัมภาษณ์กับ TCIJ เกี่ยวกับเรื่องราวอลหม่านครั้งนี้ว่า เมื่อต้นปีมีมติจากทางสาธารณะสุขให้ยกเลิกสารพิษที่เป็นอันตรายรายในปี 2562 แต่ภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล กลับต่อใบ อนุญาตออกไปอีก 6 ปี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตสารเคมีและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต, คลอไพริฟอส และไกลโฟเสต ซึ่ง Thai-PAN และภาคประชาชน ต้องการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกใช้เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้แก้ไขบัญชีสารเคมีเหล่านี้จากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นประเภทที่ 4

“กรมโรงงานตั้งอนุกรรมาธิการ มีวาระ 3 เดือนในการพิจารณาเรื่องนี้ และได้ต่ออายุใบอนุญาตพาราควอตไปแบบมีเงื่อนไข กำลังพิจารณาอยู่ตามข้อมูลที่ได้รับหากเห็นผลกระทบจะเพิกถอนใบอนุญาต  ในส่วนของภาคประชาชนกังวลว่าจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในอนุกรรมาธิการชุดนี้ รวมไปถึงงานวิจัยที่นำมาจากทางฝั่งของบริษัทสารเคมี ที่บอกว่าสารเคมีเหล่านี้ไม่มีอันตราย แต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆในไทยก็ทยอยออกมาสนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีพวกนี้ ภาคประชาชนเราก็งงมาก! ทั้งที่มีมติจากกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว แต่ทำไมยังบอกว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กับการแพทย์รองรับ ทำให้ต้องต่อใบอนุญาตไปก่อน”

TCIJ ชวนจับตาดูต่อไปว่าภาครัฐจะทำยังไงกับปัญหา ‘อลหม่านสารพิษ’ นี้

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] “เกษตรกร-นักวิชาการ” ค้านเลิก “พาราควอต” ยกผลสำรวจชี้ทำพืชเศรษฐกิจพังกว่าแสนล้านบาท (ประชาชาติธุรกิจ, 21/9/2560)
[2] คกก.ขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เตรียมยกเลิกสารเคมีอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค (สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 5/4/2560)
[3] “พาราควอต” ได้ไปต่ออีก 6 ปี อุตฯโบ้ยเกษตรไม่มีผลวิเคราะห์อันตราย  (ประชาชาติธุรกิจ, 19/11/2560)
[4] เครือข่ายหนุนแบนสารพิษอันตรายร้ายแรงร้องรัฐ ยกเลิกสารพาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส (ประชาไท, 19/9/2560)

 

อ่านเพิ่มเติม
จับตา: ภาพรวมอุตสาหกรรมยาปราบศัตรูพืช-เคมีการเกษตรของไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: