DUNKIRK: ผู้ปราชัย หรือ วีรบุรุษ?

ธนเวศม์ สัญญานุจิต 25 ก.ค. 2560 | อ่านแล้ว 6514 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

“...เราต้องระมัดระวังอย่างมาก ที่จะไม่คิดว่าปาฏิหาริย์ครั้งนี้คือชัยชนะ สงครามมิอาจชนะได้ด้วยการอพยพ...”
นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลของอังกฤษ, 4 มิถุนายน 1940

 

Dunkirk ในฐานะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับเชื้อสายอังกฤษ นำเอาเหตุการณ์จริงจากประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 มานำเสนอ คือ เหตุการณ์ “การอพยพที่ดันเคิร์ก” หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า “ปาฏิหาริย์แห่งดันเคิร์ก” ในทางการทหาร มีชื่อว่า “ปฏิบัติการณ์ไดนาโม” (Operation Dynamo)

วันที่ 26 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 1940 ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Force) เกือบ 4 แสนนาย ถูกกองทัพนาซีเยอรมนีปิดล้อมที่เมืองดันเคิร์ก ซึ่งเป็นเมืองติดทะเลในสมรภูมิฝรั่งเศส นับเป็น หายนะทางการทหารครั้งมโหฬาร ของกองทัพอังกฤษ เพราะทหารส่วนมากที่ติดอยู่เป็นทหารอังกฤษ ทำให้มีการสั่งอพยพที่ดันเคิร์ก

โนแลน เล่าเรื่องราว 3 ช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันในการอพยพ พร้อมๆ กัน และ ไล่เลี่ยกัน คือ 1 สัปดาห์ บนสะพานหิน สะพานเทียบเรืออพยพที่ชายหาดดันเคิร์ก เนื่องจากชายหาดตื้นเกินไป เรือใหญ่เข้าไม่ได้ จำเป็นต้องมีสะพานหินยื่นออกไป นายทหารหนุ่ม 3 คน ที่เพิ่งพบเจอกัน ต่างพยายามหาทางหลบลี้ออกจากดันเคิร์ก ไม่ว่าจะด้วยเรือพยาบาล เรือกวาดทุ่นระเบิด หรือเรือประมงทิ้งร้างที่ชายหาด พวกเขาต้องหาทางรอดจากข้าศึก ที่ผู้กำกับจงใจไม่ให้ปรากฏตัวบนแผ่นฟิล์ม มีเพียงเสียงจากอาวุธของข้าศึกเท่านั้น ที่กระแทกกระทั้นเข้ารุกรานโสตประสาทผู้ชม

1 วันบนท้องทะเลโนแลนเล่าเรื่องนี้ไปที่มุมพลเรือน ชายชรา ลูกชาย และเพื่อนลูกชาย ออกเดินทางด้วยเรือสำราญเพื่อไปช่วยเหล่าทหารให้ได้กลับบ้าน ซึ่งในขณะนั้นกองทัพอังกฤษสั่งระดมพลให้เรือพลเรือนจำนวนมากเข้าช่วยการอพยพที่ดันเคิร์ก ก่อนพบเจอกับ นายทหารเรือแตก ที่ตื่นสงคราม (Shell-shocked) ขึ้นเรือมาด้วย สิ่งเร่งเร้าเข้ารบกวน หรือเป็นภัยต่อการเดินเรือของชายชรา คือนายทหารเรือแตกต้องการให้เขาหันเรือกลับบ้าน

1 ชั่วโมง บนท้องนภา “แฟร์ริเออร์” นักบินเครื่องบินขับไล่สปิทไฟร์ ในฝูงบินเล็ก 3 ลำ กับภารกิจ เข้าถ่วงเวลาให้กับการอพยพที่ดันเคิร์ก ทุกการตัดสินใจของเขา ถูกเร่งเร้ากดดันด้วยสภาวการณ์ตึงเครียด เขาลอยอยู่บนฟ้าด้วยเครื่องบินที่เกจวัดน้ำมันเสียหาย และไม่รู้ว่าน้ำมันรั่วหรือเปล่า เขาต้องพึ่งพาการบอกน้ำมันจากเพื่อนร่วมฝูง กับนาฬิกาข้อมือที่คอยย้ำเตือนเขาเสมอว่า “เข็มนาฬิกายังคงเดินไป” สวนทางกับเวลาของภารกิจของเขาที่กำลังลดทอนลงไปเรื่อยๆ

3 สถานที่ 3 ช่วงเวลา ถูกไล่เรียงเล่าเรื่องราว การเอาชีวิตรอด ความกล้าหาญ และ ความเป็นมนุษย์ อย่างเท่าเทียมกัน สุดท้ายแล้ว นายทหารหนุ่มที่รอดกลับจากสะพานหิน กลับบ้านด้วยความรู้สึก ถูกไล่ต้อน และบอบช้ำ พวกเขาไม่ได้ตอบโต้สู้รบกับข้าศึกเลย สิ่งที่พวกเขาทำมีเพียงหนีหัวซุกหัวซุนกลับบ้าน พวกเขาไม่กล้าแม้จะสบตาพลเรือนที่คอยต้อนรับ หัวใจของพวกเขาแบกรับความอับอายกลับบ้านอย่างเต็มกลืนฝืนทน เพราะรู้ดีว่า แนวป้องกันสุดท้ายได้แตกพ่ายลง และไม่รู้ว่านาซีจะข้ามช่องแคบอังกฤษมาเมื่อใด แต่พลเรือนต่างยินดีและขอบคุณพวกเขาในความกล้าหาญดั่ง “วีรบุรุษ” เพราะรับรู้เรื่องราวผ่านรัฐบาลอังกฤษ มิใช่ปากคำพวกเขา

ชายชรา ผู้ฝืนทนเดินเรือต่อ แม้นายทหารเรือแตกจะเผลอทำร้ายเพื่อนของลูกชายจนบาดเจ็บสาหัสด้วยความตื่นตระหนก สุดท้าย พวกเขาได้เข้าช่วยทหารที่ดันเคิร์ก จนในที่สุดเพื่อนของลูกชายเสียชีวิตเพราะอาการบาดเจ็บ แต่ลูกชายของชายชรา เลือกที่จะไม่บอกเรื่องนี้แก่นายทหารเรือแตก เพื่อรักษา ความเป็นมนุษย์ ของนายทหารเรือแตก ที่สภาพจิตใจบอบช้ำอยู่แล้วเอาไว้ หากนายทหารคนนั้นรู้ว่าการกระทำของตัวเองเผลอทำให้พลเรือนที่เกี่ยวข้องเสียชีวิต สภาพจิตใจเขาที่เพิ่งช็อคจากสงครามอาจจะแตกสลายโดยไม่มีทางฟื้นกลับคืน และพวกเขาทำได้แค่ บอกเล่าเรื่องราว (ที่อาจจะไม่เป็นความจริง) ว่า เพื่อนของลูกชาย เสียชีวิตในฐานะ “วีรบุรุษ” ในการอพยพที่ดันเคิร์ก

ส่วนแฟริเออร์ ตัดสินใจทำภารกิจต่อ แม้จะเหลือเพียงลำเดียวในฝูง โดยไม่เผื่อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับขากลับ ได้เข้าช่วยเหลือการอพยพจนสำเร็จลุล่วง แม้เครื่องยนต์ดับไปแล้ว เขายังคงร่อนค้างอยู่บนฟ้าเพื่อคุ้มภัยเพื่อนทหาร เขาตัดสินใจร่อนเครื่องลงบนชายหาดดันเคิร์ก ก่อนถูกจับไปเป็นเชลยสงคราม

สุดท้ายการอพยพที่ดันเคิร์กสำเร็จลุล่วง ทหารเกือบสี่แสนนายได้กลับบ้าน แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้และตกอยู่ใต้การยึดครองของนาซีเยอรมนี ตามประวัติศาสตร์แล้วอาจนับได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่มืดหม่นอนธการที่สุดช่วงหนึ่งของฝ่ายสัมพันธมิตรยุโรป ที่ประหวั่นพรั่นพรึงจากแสนยานุภาพของกองทัพนาซีเยอรมนี

เรื่องราวของภาพยนตร์ทั้งหมดถูกขมวดเข้าเพื่อร้อยเรียงเรื่องเล่าแห่งการอพยพนี้ ที่ความจริงสามารถเล่าได้อย่าง “องอาจและกล้าหาญเกรียงไกร” หรือดราม่าเรียกน้ำตาอย่างยิ่งใหญ่ แต่โนแลนกลับเล่าเรื่องคล้ายอังกฤษเป็นผู้ปราชัย และบีบคั้นกัดกินหัวใจผู้ชมให้บอบช้ำไปพร้อมๆ กับเหล่าทหารบนสะพานหิน

ภาพยนตร์เลือกที่จะจบลงที่นายทหารหนุ่มกลับบ้านบนรถไฟ โดยมีพลเรือนรอต้อนรับกลับบ้าน ชายชราและลูกชายนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เรื่องราวของเพื่อนที่เสียชีวิตบนเรือว่าเขาเป็นหนึ่งในวีรบุรุษที่ดันเคิร์ก กับ แฟริเออร์ที่เผาทำลายเครื่องบินตัวเองหลังจบภารกิจก่อนจะถูกจับกุม พร้อมๆ กับ การอ่าน “ถ้อยแถลง” ของวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น เพื่อเตือนให้ระวังอย่าหลงคิดว่าความสำเร็จในการอพยพนี้คือชัยชนะของสงคราม และเพื่อปลอบประโลมวิญญาณของเหล่าทหารที่บอบช้ำ คล้ายบอกเป็นนัยว่า สงครามยังไม่ได้จบลง ณ ตรงนี้ คล้ายบอกเป็นนัยว่า อังกฤษยังมิได้พ่ายแพ้

เราจักปกปักษ์เกาะแห่งนี้ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม; เราจะสู้บนชายหาด, เราจะสู้บนลานบิน, เราจะสู้ในทุ่งกว้าง และท้องถนน, เราจะสู้บนเนินเขา; เราจักไม่มีวันยอมแพ้...”นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลแห่งอังกฤษ 4 มิถุนายน 1940, สภาผู้แทนราษฎรแห่งอังกฤษ

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: WP Film

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: