จากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของประเทศไทย และการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เป็นต้นมา มีผู้หนีภัยจากการสู้รบเดินทางข้ามชายแดนเข้ามาเพื่อขอพักพิงในประเทศไทย (ที่มาภาพ: UNHCR)
รัฐบาลไทยในขณะนั้นพิจารณาด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม จึงผ่อนปรนให้ผู้หนีภัยฯ เหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตไทยได้เป็นการชั่วคราวในพื้นที่พักพิงต่าง ๆ รวม 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก ราชบุรี และกาญจนบุรี [1]
ที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า (ที่มาภาพ: UNHCR)
ไม่เพียง‘รัฐไทย หรือ UNHCR’ แต่เป็นภารกิจร่วมของนานาชาติ
ที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้เป็นภาระงบประมาณการเลี้ยงดูที่ประเทศไทยต้องแบกรับ หรือในทางตรงกันข้าม อาจมีผู้ที่เชื่อว่ารัฐบาลไทยผลักภาระทั้งหมดให้แก่องค์กรระหว่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้ เป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนขององค์กรระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และ องค์กรเอกชน รับภารกิจการให้ความคุ้มครองและการจัดบริการขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบ ในปัจจุบันมีองค์กรเอกชนจำนวน 15 องค์กร รวมตัวกันในนาม กรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย (CCSDPT) รับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น องค์กร The Border Consortium (TBC) รับผิดชอบแจกจ่ายเครื่องอุปโภค - บริโภค ประกอบด้วย ข้าวสาร, เกลือ, น้ำมันพืช, เชื้อเพลิงหุงต้ม รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างที่พัก อง์กร IRC ให้บริการด้านสาธารณสุข องค์กร JRS ดูแลด้านการศึกษา และ องค์กร COERR ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า เป็นต้น [2]
ขณะที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลไทย มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดนโยบายยุทธศาสตร์เพื่อการรองรับปัญหากลุ่มผู้หนีภัยฯ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านอนุมัติโครงการประจำปี และการอนุญาตเดินทางเข้าพื้นที่พักพิงฯ ของ UNHCR และ องค์กรเอกชน กรมการปกครอง เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจระดับปฏิบัติ โดยให้จังหวัดและอำเภอแต่งตั้งปลัดอำเภอผู้ทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่พักพิงฯ และให้มีสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.) ปฏิบัติงานเป็นประจำ ณ พื้นที่พักพิงฯ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการจัดระเบียบควบคุมดูแลผู้หนีภัยฯ ดังนั้น การรักษาความปลอดภัย การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การจัดทำทะเบียน การประสานงาน กำกับดูแลเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ยังจัดงบประมาณสำหรับส่งเสริมโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมกลับสู่ถิ่นฐานเดิมอีกด้วย
มาตรการบรรเทาปัญหา-การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม
สถานการณ์การเป็นผู้หนีภัยการสู้รบที่ยืดเยื้อ (Protracted Refugee Situation) เกือบสามทศวรรษ ส่งผลให้รัฐบาลไทยและประชาคมนานาชาติ ร่วมมือกันผลักดันการแก้ไขปัญหาด้วยการนำผู้หนีภัยการสู้รบไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยและองค์กรนานาชาติประสบความสำเร็จในการอำนวยความสะดวกให้ประเทศต่าง ๆ นำผู้หนีภัยการสู้รบจำนวนมากจากพื้นที่พักพิงฯทั้ง 9 แห่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่ องค์กรเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ หรือ IOM ระบุในเว็บไซต์ว่า ในปี 2559 ทางองค์กรได้ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามจำนวน 6,077 คน [3] ทำให้ยอดรวมของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ระหว่างปี 2548-2559 ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของ UNHCR มีจำนวนรวมถึง 107,117 คน [4] อย่างไรก็ตาม การเปิดรับผู้หนีภัยการสู้รบไปตั้งถิ่นฐานใหม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องร่วมกันค้นหาแนวทางอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการมีผู้หนีภัยฯที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงฯอย่างยาวนานต่อไป
ไทย-พม่าหารือแก้ปัญหาถาวร ส่งผู้หนีภัยฯกลับบ้าน
การริเริ่มหารือระหว่างรัฐบาลสหภาพพม่า และผู้นำชนกลุ่มน้อย เมื่อปี 2555 เป็นจุดเริ่มต้นของการประชุมเจรจาอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่ข้อตกลงการลงนามหยุดยิงระหว่างรัฐบาลสหภาพพม่า และผู้นำชนกลุ่มน้อย 8 กลุ่มเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 นอกจากนี้ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 พรรค NLD ซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย และทำให้ประเทศพม่ามีความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆจากการที่มีรัฐบาลพลเรือนเป็นผู้บริหารประเทศเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นภายในประเทศพม่า ทั้งด้านความปรองดองในชาติ และการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยในพม่า สร้างความหวังให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบที่จะกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม ประกอบกับมีผู้พบเห็นว่า ภายหลังการลงนามหยุดยิง มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและผู้หนีภัยการสู้รบบางส่วนทยอยเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานเดิมด้วยตัวเองบ้างแล้ว สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศ และทางการไทยเริ่มต้นการหารือถึงความเป็นไปได้ ที่จะสร้างกระบวนการช่วยเหลือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงฯให้เดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิมด้วยความสมัครใจ
ส่งผลให้ปลายปี 2558 เกิดการสำรวจประชากรผู้พักอาศัยในพื้นที่พักพิงฯ โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย UNHCR และองค์กรเอกชน เพื่อเก็บข้อมูลรายบุคคลด้วยการสแกนม่านตา และเก็บลายพิมพ์นิ้วมือด้วยระบบดิจิตอล รวมทั้งออกบัตร UNHCR e-การ์ด สำหรับใช้ยืนยันตัวบุคคลเพื่อรับความช่วยเหลือ หากประสงค์จะเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิม
ผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันทุกหน่วยงานสามารถใช้ข้อมูลจำนวนประชากรจากระบบนี้ในการยืนยันจำนวน และตัวบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงฯ ทั้ง 9 แห่ง และสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวยืนยันกับทางการพม่าเพื่อประกอบการพิจารณาในกระบวนการช่วยเหลือผู้สมัครใจกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม [5]
กลับสู่ถิ่นฐานเดิมโดยสมัครใจ
นอกจากการสำรวจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลประชากรแล้ว การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบกลับสู่ถิ่นฐานเดิมด้วยสมัครใจ หรือที่เรียกว่า The Voluntary Repatriation Center (VRC) ในพื้นที่พักพิงฯทั้ง 9 แห่ง [6] เป็นอีกความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย UNHCR และองค์กรเอกชน เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูล และคำปรึกษาแก่ผู้หนีภัยการสู้รบที่สมัครใจจะเดินทางกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม
แหล่งข่าวจากกรมการปกครอง กล่าวว่า การให้คำปรึกษาของ VRC จะเน้นไปที่การให้ข้อมูลทั้งในระดับแบบตัวบุคคลและแบบเป็นครอบครัว มีการตรวจสอบความสมัครใจเป็นรายบุคคล และ มีการจัดทำมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedures: SOPs) ของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการกับผู้ที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ผู้มีความต้องการทางการแพทย์ระหว่างการเดินทาง เป็นต้น
นอกจากการให้คำปรึกษาแล้ว กระบวนการอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิมนี้ ผู้สมัครใจจะได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ ตามที่ระบุในเอกสารประชาสัมพันธ์ของ UNHCR [7] ตัวอย่างเช่น ได้รับเงินค่าเดินทางเพื่อกลับสู่ถิ่นฐานเดิม และเงินตั้งต้นเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในช่วงการกลับไปตั้งต้นใหม่ ความช่วยเหลือด้านอาหารช่วงเวลาสามเดือนแรก เป็นต้น นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือในช่วงของการอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับแล้ว UNHCR จะติดตามผู้ที่กลับถิ่นฐานเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความคุ้มครองทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต การได้รับเอกสารเพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นพลเมือง การให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ส่งเสริมการเข้าถึงการบริการสาธารณะ รวมทั้งโอกาสในการประกอบอาชีพ
ผู้สมัครใจกลับสู่ถิ่นฐานเดิมกลุ่มแรก
ผลจากการดำเนินการของ VRC ตั้งแต่กลางปี 2559 การอำนวยความสะดวกแก่ผู้หนีภัยการสู้รบเพื่อกลับสู่ถิ่นฐานเดิมกลุ่มแรกก็เกิดขึ้น สำนักข่าวเดอะเนชั่น รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ระหว่างวันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2559 ทางการไทยและพม่า ร่วมมือกันอำนวยความสะดวกให้ผู้หนีภัยการสู้รบกลุ่มนำร่องจำนวน 71 คน เดินทางกลับพม่าด้วยความสมัครใจ โดยผู้หนีภัยการสู้รบกลุ่มนำร่องดังกล่าว จำนวน 65 คน เป็นผู้หนีภัยการสู้รบจากพื้นที่พักพิงฯบ้านนุโพ จังหวัดตาก และผู้หนีภัยการสู้รบ 6 คนจากพื้นที่พักพิงฯบ้านถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี โดยมี UNHCR และIOM เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานครั้งนี้ [8]
แหล่งข่าวจากจังหวัดราชบุรีให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 เวลา 10.30 น ที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี นายสิงค์ วิเศษพจนกิจ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง สมช. เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และ Mr.Hau Khan Sum เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายพม่า โดยหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยกล่าวส่งมอบผู้หนีภัยการสู้รบจำนวน 6 คน ได้แก่นาย ทุนทุน วิน และครอบครัว พร้อมทั้งเอกสาร CI ให้หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายพม่า และมีการถ่ายภาพร่วมกันเป็นหลักฐาน
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ของ ทุนทุน วิน (Tun Tun Win)
ภายหลังการอำนวยความสะดวกการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมแก่ผู้หนีภัยการสู้รบกลุ่มแรก วันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เว็บไซต์ของ UNHCR เปิดเผยข้อมูลจากการติดตามชีวิตของ ทุนทุน วิน และครอบครัวที่ได้รับการอำนวยความสะดวกให้กลับไปอยู่ที่เมือง Myitta ในเขต Tanintharyi [9]
ทุนทุน วิน เป็นผู้หนีภัยการสู้รบจากพื้นที่พักพิงฯ บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ด้วยความที่เขาอยากกลับสู่บ้านเกิดจึงไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ VRC ในช่วงแรกเขาเองก็มีความกังวลในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ทุนทุนวินและครอบครัวได้รับข้อมูลทั้งในเรื่องสถานการณ์ความปลอดภัยในเมือง Myitta ที่เขาต้องการกลับไป รวมถึงข้อมูลด้านสวัสดิการสังคม และโอกาสการประกอบอาชีพ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังให้คำแนะนำให้เขาขอใบรับรองด้านการศึกษาของบุตรทั้งสี่คนเพื่อนำกลับไปด้วย
เมื่อทุนทุน วิน และครอบครัวเดินทางกลับไปถึงเมือง Myitta เขานำเอกสารใบรับรองด้านการศึกษาไปแสดง และโรงเรียนของรัฐก็รับบุตรของเขาเข้าเรียนทันที อย่างไรก็ตาม ทุนทุน วิน ยอมรับว่า ชีวิตใหม่ในถิ่นฐานเดิมอาจไม่ง่าย และไม่สะดวกสบาย แต่ด้วยความช่วยเหลือที่เขาได้รับ ทำให้เขากำหนดแผนสำหรับอนาคตของตนที่จะประกอบอาชีพที่เขาถนัด คือการขายไอศกรีม และโรตี
“ความฝันของผมคือการมีเงินจากการค้าขายเพื่อสร้างอนาคตให้แก่ลูกๆ” นอกจากนี้เขาและภรรยา ยังร้องขอให้ UNHCR คอยติดตามครอบครับของเขาเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงฯ คนอื่น ๆ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีคนจำนวนมากที่ต้องการกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม เพียงแต่ยังขาดความมั่นใจที่จะกลับมา” ทุนทุน วิน กล่าว
ทุนทุน วิน กลับไปยังมาตุภูมิเมือง Myitta ประเทศพม่า (ที่มาภาพ: UNHCR)
ไม่มีการผลักดันอย่างที่กังวล กลับถิ่นฐานเดิมอย่างสมัครใจ
ที่ผ่านมา ทั้งตัวผู้หนีภัยการสู้รบ นักสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้ปฏิบัติงานองค์กรเอกชน อาจมีความกังวลว่า เมื่อมีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้หนีภัยการสู้รบกลุ่มแรกในการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมได้แล้ว จะนำมาซึ่งการเร่งผลักดันเพื่อส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบ และปิดพื้นที่พักพิงฯทั้งหมดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว พบว่า กว่าครึ่งปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ประสงค์จะกลับสู่ถิ่นฐานเดิมเพิ่มเติมจากกลุ่มแรกแต่อย่างใด
ในเรื่องดังกล่าว แหล่งข่าวกระทรวงมหาดไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับโดยสมัครใจยังคงดำเนินต่อไป ตามกระบวนการที่ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นระหว่างทางการไทย UNHCR และทางการพม่า โดย VRC ในพื้นที่พักพิงทั้ง 9 แห่งก็ยังคงดำเนินการตามปกติในการให้ข้อมูล และคำ ปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจ ปัจจุบัน ยอดรวม ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 มีผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงฯหลายแห่ง เช่น พื้นที่พักพิงฯบ้านแม่หละ พื้นที่พักพิงฯบ้านอุ้มเปี้ยม และพื้นที่พักพิงฯบ้านใหม่ในสอย มาสมัครรับคำปรึกษา และแสดงความประสงค์จะกลับสู่ถิ่นฐานเดิมด้วยสมัครใจ จำนวน 59 ครอบครัว รวม 223 คน อย่างไรก็ตาม ทางการไทย และUNHCR ยังรอการตอบรับจากทางการพม่าในการรับผู้สมัครใจจะเดินทางกลับสู่ถิ่นฐานเดิมรอบต่อไป
มีผู้หนีภัยฯจำนวนไม่น้อยที่เทิดทูน นางอองซานซูจีว่าเป็นแม่ และเรียกนางอองซานซูจี ว่า’เมซู’ คนจำนวนมากมีความหวังที่จะเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขามีความสงบสุขเมื่อ’เมซู’ของพวกเขาได้เป็นผู้ปกครองประเทศ และวันนี้หลายคนยังรอคอยโอกาสที่ ‘เมซู’จะเปิดรับพวกเขากลับคือสู่แผ่นดินแม่อีกครั้งในอนาคตอันใกล้
อ้างอิง
[1] UNHCR เข้าถึงได้ที่ http://data.unhcr.org/thailand/download.php?id=1266
[2] ข้อมูลจากกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย (CCSDPT)
[3] Refugee Resettlement Program โดยองค์กรเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ (IOM)
[4] UNHCR เข้าถึงได้ที่ http://data.unhcr.org/thailand/download.php?id=1586
[5] UNHCR เข้าถึงได้ที่ http://data.unhcr.org/thailand/download.php?id=1579
[6] UNHCR เข้าถึงได้ที่ http://data.unhcr.org/thailand/download.php?id=1512
[7] UNHCR เข้าถึงได้ที่ http://data.unhcr.org/thailand/download.php?id=1565
[8] The Nation
[9] UNHCR เข้าถึงได้ที่ http://data.unhcr.org/thailand/download.php?id=1479
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: จำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ